สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หนี้ล้นประเทศ เศรษฐกิจไม่ฟื้นภาระหนี้หนักอึ้งของผู้นำมะกันคนใหม่

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

ในนาทีนี้ต้องยอมรับว่าสายตาทุกคู่และสื่อมวลชนจากทั่วทุกมุมโลก ต่างหันไปจับจ้องและรายงานความเคลื่อนไหวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ มีขึ้นในวันนี้ ระหว่าง บารัก โอบามา จากพรรคเดโมแครต ที่ต้องการจะสานงานต่ออีกหนึ่งสมัย กับ มิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน ที่เสนอขายไอเดียว่าจะทำให้สหรัฐกลับมาแข็งแกร่งอีก อย่างกระชั้นชิด

เพราะความเปลี่ยนแปลงทางในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอภิมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลกนั้น ย่อมจะส่งกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ในขณะนี้จะยังไม่รู้และยากจะคาดเดาว่าใครจะได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดี สหรัฐคนต่อไป แต่เหล่านักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันก็คือ ไม่ว่าผู้สมัครคนใดได้รับเลือกขึ้นมาก็จะต้องเผชิญกับภาระที่หนักอึ้งรออยู่ ข้างหน้าอีกเพียบ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่ยังคงย่ำแย่ การเมืองที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขที่ยากลำบาก และการต่างประเทศ ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน

งานหินชิ้นแรกที่ประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐจะต้องเผชิญในวันแรกนับตั้งแต่ ยังไม่เริ่มเข้าไปทำงานที่ทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการก็คือ การเร่งหาทางแก้และผ่าทางตัน “ภาวะหน้าผาทางการคลัง หรือที่รู้จักกันดีว่า ฟิสคัล คลิฟ” ให้ทันก่อนจะถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งภาวะดังกล่าวกำลังสร้างความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐและต่อ เศรษฐกิจโลกในปีหน้าเป็นอย่างมาก

เนื่องจากหากยังไม่เร่งหาทางออกและกระตุ้นให้สภาคองเกรสและทำเนียบขาวหา ข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษี และการขยายระดับเพดานหนี้สาธารณะที่มีมากกว่า 16 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 480 ล้านล้านบาท) ให้ได้ก่อนจะถึงสิ้นปีนี้ ก็จะต้องเผชิญกับปัญหา 2 ด้านพร้อมกัน ทั้งการขึ้นภาษีอย่างรวดเร็ว และการตัดลดงบประมาณโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการลดหนี้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ผลกระทบที่จะตามมาก็คือจะทำให้เงินในระบบเศรษฐกิจสหรัฐหายออกไปทันที 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 18 ล้านล้านบาท) ซึ่งจะมีผลสั่นสะเทือนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ (จีดีพี) ปีหน้าหายลงไปในทันทีถึง 0.5% และนั่นย่อมส่งผลกระทบและซ้ำเติมต่อประชาชนและภาคธุรกิจในประเทศที่ย่ำแย่ อยู่แล้ว ให้ยิ่งเลวร้ายหนักลงไปอีก เพราะต้นทุนในการประกอบธุรกิจก็จะเพิ่มขึ้น และเงินในกระเป๋าประชาชนก็จะหายไปในทันที

“หากเกิดภาวะหน้าผาการคลังขึ้นจริง ก็จะส่งผลต่อการขยายตัวจีดีพีปีหน้าให้หายไป 0.5% อย่างแน่นอน และไม่แน่ว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่านั้นอีก 2 เท่า” แบรี ไอเชนกรีน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ส

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าวิตกกังวลมากกว่านั้นก็คือปัญหาหน้าผาการคลังอาจไม่สามารถแก้และ ผ่านพ้นไปด้วยการใช้การเลือกตั้งเป็นตัวชี้วัด เนื่องจากไม่ว่า โอบามาจะได้รับเลือกให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ในวันนี้ แกนนำจากพรรคเดโมแครตผู้นี้ก็จะต้องอยู่ในตำแหน่งต่อ ในฐานะผู้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีไปจนถึงวันที่ 20 ม.ค. 2556 อยู่ดี

ซึ่งนั่นจะหมายความว่าปัญหาดังกล่าวจะอยู่ในมือของโอบามาอยู่เช่นเดิม แม้ว่ารอมนีย์จะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีแล้วก็ตาม

 

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อดูจากข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายเพื่อหาทางออกจากภาวะหน้าผาทางการคลัง ก็ดูเหมือนที่แม้จะมีความเห็นตรงกัน โดยเฉพาะในเรื่องการต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีออกไป แต่เมื่อลงมาดูในรายละเอียดและข้อเรียกร้องปลีกย่อยแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากในการหาทางประนีประนอมยอมความกัน

เนื่องจากโอบามาต้องการที่จะลดหย่อนให้เฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 6 ล้านบาท) ต่อปี และสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 2.5 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 7.5 ล้านบาท) ต่อปีเท่านั้น ขณะที่รอมนีย์นั้นต้องการต่ออายุการลดภาษีให้ทุกชนชั้นออกไปโดยไม่มี เงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติมเข้ามาทั้งสิ้น

นอกจากนั้น ปัญหาด้านเศรษฐกิจในประเทศอีกอย่างหนึ่งที่จะรอให้ผู้นำสหรัฐคนใหม่มาแก้ไข ก็คือ อัตราการว่างงานของประชาชนที่อยู่ใกล้ระดับ 8% หรือประมาณ 23 ล้านคน รวมถึงการสร้างงานที่มั่นคงให้กับประชาชน ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้นำสหรัฐคนใหม่จะต้องขบคิดอย่างหนักหน่วง และต้องหาวิธีการต่างๆ ออกมาเพื่อเร่งสร้างการเติบโตและฟื้นการจ้างงานให้กลับคืนมาดีดังเดิมให้ได้

เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนมากที่สุดในเวลา นี้ ซึ่งนั่นจะทำให้กลายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของผู้นำสหรัฐคนใหม่ได้เป็น อย่างดีว่าสำเร็จหรือว่าล้มเหลวได้เลย

ไม่เพียงเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจภายในเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาด้านการต่างประเทศที่กำลังรอให้ผู้นำคนใหม่เข้ามาเร่ง สะสาง โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง

เริ่มจากความขัดแย้งกรณีโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐมาหลายปีเป็นกรณีแรก ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญต่อสหรัฐเพราะพันธมิตรหลักอย่างอิสราเอลได้ ไปประกาศกร้าวเอาไว้ว่าจะไม่ยอมให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ พร้อมกับตั้งเงื่อนไขว่า หากรอจนถึงหน้าร้อนปีหน้า ทุกอย่างยังไม่มีความคืบหน้าต่อการขัดขวางอิหร่าน อิสราเอลจะชิงโจมตีเอง

ดังนั้น ไม่ว่าอิสราเอลจะทำตามอย่างที่ขู่และลั่นวาจาไว้หรือไม่ แต่อย่างน้อยก็เป็นการสร้างแรงกดดันและความหนักใจต่อผู้นำใหม่สหรัฐที่จะ เข้ามาว่าจะดำเนินการกับอิหร่านอย่างจริงจังแค่ไหน และจะเลือกอยู่เคียงข้างพันธมิตรหลักอย่างอิสราเอลหรือไม่หากอิสราเอลทำ สงครามกับอิหร่านขึ้นมาจริงๆ

ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่บีบคั้นสหรัฐเป็นอย่างยิ่ง เพราะสหรัฐเพิ่งผ่านพ้นการทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานมาได้เพียงไม่กี่ปี เท่านั้น

ขณะที่ประเด็นด้านการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในปี 2557 ก็เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ว่าที่ผู้นำใหม่สหรัฐจะต้องเร่งตัดสินใจและกำหนดจุด ยืนให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการถอนกองกำลังกว่า 6.8 หมื่นนายออกมาเช่นไร และจะตกลงกับรัฐบาลอัฟกานิสถานในการคงกองกำลังส่วนหนึ่งเอาไว้หลังจากช่วง เวลาที่กองกำลังหลักถอนออกไปแล้วได้อย่างไร

นอกจากนั้น ด้วยความที่สหรัฐเป็นประเทศที่มีบทบาทต่อการเมืองความมั่นคงและเศรษฐกิจโลก ทำให้ปัญหาด้านการต่างประเทศอื่นๆ ของโลกจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ผู้นำสหรัฐจะต้องตัดสินใจและมีส่วน ร่วมไปด้วย ทั้งๆ ที่บางเรื่องดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสหรัฐเสียด้วยซ้ำ

ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดจุดยืนต่อปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่อต้านและ รัฐบาลในซีเรีย ที่ปัจจุบันมีคนเสียชีวิตไปกว่า 3 หมื่นคนแล้ว ว่าสุดท้ายจะตัดสินใช้กำลังเข้าไปแทรกแซง หรือจะคอยให้การสนับสนุนอาวุธอยู่ห่างๆ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล การมีบทบาทในการสนับสนุนการแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจภายในของสหรัฐ การปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติดในเม็กซิโก ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นประตูหลังบ้านของสหรัฐเอง และมาตรการปราบปรามผู้ก่อการร้ายทั่วโลกที่เสี่ยงเป็นภัยคุกคามชีวิต ชาวอเมริกันชน

นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงการกำหนดนโยบายต่อจีน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขาดดุลการค้า และปัญหาค่าเงินหยวนของจีนที่อ่อนค่ากว่าความเป็นจริง ซึ่งผู้สมัครทั้งสองได้นำเสนอแนวทางการจัดการที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะรอมนีย์ ที่ถึงขั้นลั่นวาจาอย่างเผ็ดร้อนว่าจะตราหน้าจีนว่าเป็นประเทศที่ปั่นค่า เงิน นับตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน จะทำในสิ่งที่พูดไว้ตอนหาเสียงได้จริงหรือไม่

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า สหรัฐกับจีนไม่ได้มีสถานะเป็นคู่แข่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมและผลประโยชน์ร่วมกันในหลายๆ เรื่อง อาทิ การรักษาความสงบในคาบสมุทรเกาหลี เป็นต้น

ฉะนั้น เมื่อลองมองดูภาระงานที่รอให้ผู้นำสหรัฐคนใหม่เข้ามาสะสางอยู่นั้น จึงเรียกได้ว่า “หนักอึ้ง”

และสำหรับชาวโลกก็ต้องไม่พลาด และต้องระวังตัวเพิ่มเป็น 2 เท่า กับผลกระทบ และผลข้างเคียงจากการใช้มาตรการหนักๆ เพื่อแก้ปัญหาที่หนักอึ้งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจจากสหรัฐด้วยเช่นกัน!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หนี้ล้นประเทศ เศรษฐกิจไม่ฟื้น ภาระหนี้ หนักอึ้ง ผู้นำมะกันคนใหม่

view