สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เพิ่ม หักลดหย่อนภาษี แลกมัดใจประชาชนจนอ่วม

จาก โพสต์ทูเดย์

หลังจากจบอภิปรายไม่ไว้วางใจที่รัฐบาลช้ำไปทั้งตัว โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่มีความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

รัฐบาลก็ตั้งหลักกลับมาบริหารเศรษฐกิจเรียกคะแนนเสียงที่ตกหายไปกลับมาให้เป็นกอบเป็นกำอีกครั้ง

เป้าหมายบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลยังยึดมั่นยิงนกทีเดียวต้องได้หลายตัว มาตรการเศรษฐกิจที่ออกมานอกจากจะกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ต้องมัดใจประชาชนนักลงทุนให้อยู่หมัดด้วย

จะเห็นได้ชัดจากมาตรการทางภาษีของรัฐบาลที่ออกมาตั้งแต่เข้ามาบริหาร ประเทศ เริ่มด้วยการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีนี้ และ 20% ในปีหน้า นโยบายอย่างนี้ไม่ต้องบอกไม่ต้องถามภาคเอกชน เพราะการลดภาษีเป็นเหมือนส้มทั้งต้นหล่นทับ เห็นได้ชัดแค่เริ่มปีแรกบริษัทห้างร้านโดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลัก ทรัพย์มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นแถว ส่วนหนึ่งมาจากการเสียภาษีน้อยลง

รัฐบาลให้เหตุผลว่า การลดภาษีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความสามารถของผู้ประกอบการ และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เพื่อไม่ให้นักลงทุนหนีไปลงทุนในประเทศภาษีที่ต่ำกว่า ซึ่งนั่นเป็นเรื่องระยะปานกลางและระยาวที่ยังมองไม่เห็นผล แต่ที่เห็นชัดตอนนี้หลายบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น โดยไม่ได้นำเงินไปลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพอย่างที่รัฐบาลวาดฝันไว้

ในอีกด้านหนึ่งการลดภาษีนิติบุคคล ทำให้กรมสรรพากรรายได้วูบหายไป 1.5 แสนล้านบาท โดยการเก็บภาษีนิติบุคคลของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2555 ที่ผ่านมาอาการหนัก เก็บได้ต่ำกว่าเป้าถึง 5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การเก็บภาษีนิติบุคคลในปีงบประมาณ 2556 ยังต้องลุ้นว่าจะเข้าเป้าหรือหลุดเป้า เพราะอัตราภาษีลดลง 20% จะมีผลบังคับใช้

ส่งผลให้การลดภาษีนิติบุคคลที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่รัฐบาลได้หน้า นักลงทุนได้เงิน แต่ประเทศต้องถังแตกอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

หลังจากลดภาษีนิติบุคคล ก็มาถึงคิวการลดภาษีบุคคลธรรมดา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบภาษี เมื่อนายทุนได้ลดภาษี บุคคลธรรมดาก็ควรได้ลดภาษีด้วย เพราะไม่เช่นนั้นระบบภาษีจะเกิดการบิดเบี้ยว นายทุนเสียน้อย แต่รายย่อยเสียมาก

อย่างไรก็ตาม การลดภาษีบุคคลธรรมดาก็ไม่ผ่านไฟเขียวจากการเมือง เพราะติดปัญหารายได้รัฐบาลถังแตก ทำให้ถูกแตะเบรกมาต่อเนื่อง

ขณะที่กรมสรรพากรกดเครื่องคิดเลขทำตัวเลขเสนอกระทรวงการคลัง พบว่าการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาให้มีการปรับอัตราใหม่ให้มีความถี่มาก ขึ้นจากเดิม 10% 20% 30% 35% และ 37% เป็นแบบขั้นบันไดตั้งแต่0-35% โดยให้เพิ่มขั้นละ 5%

รายได้สุทธิ 0-1.5 แสนบาท ได้รับการยกเว้นภาษี หรือเสียภาษี 0% รายได้ 1.53 แสนบาท เสียภาษี 5% รายได้ 35 แสนบาท เสียภาษี 10% รายได้ 5-7.5 แสนบาท เสียภาษี 15% รายได้ 7.5 แสน-1 ล้านบาท เสียภาษี 20% รายได้ 1-2 ล้านบาท เสียภาษี 25% รายได้2-4 ล้านบาท เสียภาษี 30% และรายได้ตั้งแต่ 4 ล้านบาท จะเสียภาษี 35%

การปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาตามพิมพ์เขียวของกรมสรรพากร ทำให้รายได้หายไปถึง 2-3 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะเสียรายได้มากเท่าการลดภาษีนิติบุคคลธรรมดา แต่ด้วยฐานะการคลังรายได้ที่เก็บได้ไม่เข้าเป้าในปีงบประมาณ 2555 ทำให้รัฐบาลไม่กล้าเสี่ยงรีบร้อนลดภาษีบุคคลธรรมดา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดายังทำไม่ได้ แต่การสูญเสียจากการลดภาษีบุคคลธรรมดาก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลหนีไม่พ้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาว่า การให้สามีภรรยาต้องยื่นภาษีร่วมกันเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ และให้ดำเนินการแยกยื่นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 เป็นต้นไป

แม้ว่าการให้สามีภรรยาต้องยื่นภาษีรวมกันจะเขียนไว้ในประมวลกฎหมาย รัษฎากร แต่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญถือว่าอยู่เหนือกว่า ถึงกฎหมายยังไม่แก้กรมสรรพากรก็ต้องดำเนินตามคำพิพากษา

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 สามีภรรยาสามารถแยกยื่นได้ทันที ผลที่ตามมาคือ รายได้ของกรมสรรพากรหายวูบ จากที่ประเมินเบื้องต้นรายได้จะหายไป 4,000-5,000 ล้านบาท แต่เมื่อประเมินเข้าจริงๆ ในทางปฏิบัติรายได้รัฐกลับหายไปหลายหมื่นล้านบาท

ที่เป็นเช่นนั้น เมื่อแยกยื่นทำให้การเสียภาษีลดลงส่วนหนึ่งแล้ว ยังมีเรื่องของการหักค่าใช้จ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น เช่น การหักค่าใช้จ่ายเลี้ยงบุตรที่เดิมหักลดหย่อนได้รวมกันไม่เกิน 1.7 หมื่นบาทต่อปี แต่เมื่อแยกยื่นกรมสรรพากรต้องให้หักได้คนละ 1.7 หมื่นบาท รวมแล้วการหักค่าลดหย่อนบุตรได้ถึง 3.4 หมื่นบาท

ถือเป็นรายได้ที่หายไปไม่น้อย

จากตัวเลขการเสียภาษีบุคคลธรรมดาของกรมสรรพากร ปัจจุบันมีผู้ยื่นแบบเสียภาษีประมาณ 10 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 2 ล้านราย ที่ยื่นแบบและเสียภาษีจริง

และในจำนวนนี้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งที่มีครอบครัวและมีบุตร ทำให้การหักค่าลดหย่อนบุตรเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้รายได้ของกรมสรรพากรหายไปเป็นหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านของสามีภรรยาที่เดิมต้องหักรวมกันไม่ เกิน 1 แสนบาท เมื่อแยกยื่นจะให้หักอย่างไร โดยเฉพาะกรณีที่สามีภรรยายื่นกู้ร่วมกัน หากต่างคนต่างหักได้เหมือนลดหย่อนเลี้ยงดูบุตร รายได้รัฐบาลจะหายไปอีกไม่ใช่น้อย

อย่างไรก็ตาม ในแง่การเมืองแล้วการลดหย่อนภาษีเพิ่มมากขึ้น เป็นมาตรการที่หอมหวนที่จะผลักดันออกมาเอาใจหาคะแนนเสียงทางการเมือง

เพราะก่อนหน้านี้ กิตติรัตน์ ณ ระนองรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง สั่งการให้กรมสรรรพากรไปทำรายละเอียดการเพิ่มหักค่าลดหย่อนคู่สมรสที่ ปัจจุบันหักได้ 3 หมื่นบาท เป็น 6 หมื่นบาท ขณะที่การเพิ่มหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตรจาก 1.7 หมื่นบาท ให้ทำเพิ่มไปถึง 3.4 หมื่นบาท

การเพิ่มหักค่าลดหย่อนภาษีของฝ่ายการเมืองต้องถือว่าสวนทางกับโรดแมป ของกรมสรรพากร เพราะเห็นว่าปัจจุบันการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดามีมากถึง 12 รายการ รวมเป็นเงินที่ได้รับการลดหย่อนรวมกันถึงกว่า 1 ล้านบาท

โดยการลดหย่อนรายการใหญ่ ได้แก่ การลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน 1 แสนบาท ประกันชีวิต 1 แสนบาท ลงทุนกองทุนเพื่อการเกษียณ(อาร์เอ็มเอฟ) 5 แสนบาท กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) 5 แสนบาท เป็นต้น

ดังนั้น หากมีการลดหย่อนเพิ่มเติมอีก จะทำให้เป็นภาระทางการคลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากซึ่งอาจจะส่งผลทำให้การเก็บ ภาษีบุคคลธรรมดามีปัญหาต่ำกว่าเป้า ซ้ำรอยการเก็บภาษีนิติบุคคลในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การลดหย่อนที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งทำให้ความเป็นธรรมในระบบภาษีลดลง เพราะคนที่มีรายได้สูงมากๆ เท่านั้น ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งหมด

ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากแทบจะไม่ได้ใช้สิทธิจากการลดหย่อนของกรมสรรพากรเลย

อย่างไรก็ตาม การเมืองที่ต้องการหาคะแนนเสียงรักษาความนิยมไม่ให้ตก จึงไม่คิดมากที่จะยอมเสี่ยงออกนโยบายลด แลก แจก แถม ทางภาษีเพิ่มเติมออกมาอีกเป็นหางว่าว เพื่อมัดใจคนทำงานให้เทใจให้รัฐบาล เพราะรัฐบาลรู้ดีว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมากับฐานะการเงินการคลังของ ประเทศ ต้องใช้เวลาอีกหลายปีถึงจะเห็นผล

แต่ผลที่เห็นได้ทันที คือ คนได้ลดภาษีชอบใจ ขณะที่รัฐบาลก็ได้คะแนน ส่วนฐานะประเทศที่จะมีปัญหาตามมาเป็นเรื่องที่ซุกไว้แก้ปัญหากันดาบหน้า


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หักลดหย่อนภาษี มัดใจประชาชน อ่วม

view