สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดัชนี ความสามารถด้านการค้า SMEs ไทยในตลาดการค้าโลก

จากประชาชาติธุรกิจ


ความสามารถด้านการค้าระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน และเป็นสิ่งบ่งบอกถึงโอกาสในการขยายตัวของสภาวะเศรษฐกิจ และเป็นภาคธุรกิจสำคัญที่สร้างรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นใน ประเทศ

Word Economic Forum : WEF ได้จัดทำรายงาน The Global Enabling Trade Report 2009 ซึ่งเป็นการสำรวจเกี่ยวกับสถิติด้านการค้าของแต่ละประเทศในโลกจำนวน 121 ประเทศที่เกิดขึ้นในปี 2009 โดยผลสำรวจซึ่งแสดงดัชนีภาคการค้า (The Enable Trade Index) เพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการค้าของแต่ละประเทศ ซึ่งค่าดัชนีการค้าของประเทศไทยมีค่าดัชนีเท่ากับ 4.18 หรืออยู่ในอันดับที่ 50 จากประเทศที่สำรวจจำนวน 121 ประเทศ หรืออาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีความสามารถด้านการค้าอยู่ในระดับปานกลาง

สำหรับ ประเทศที่มีค่าดัชนีการค้าอยู่ในอันดับที่ 1 ตามรายงานการศึกษาฉบับนี้คือ สิงคโปร์ (5.97) และอันดับที่ 2 คือ ฮ่องกง (5.57) แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะในประเทศที่อยู่ในทวีปเอเชียที่มีค่าดัชนีความสามารถ เหนือประเทศไทยก็คือ ญี่ปุ่น ในอันดับที่ 23 (4.78) เกาหลีใต้ ในอันดับที่ 26 (4.73) มาเลเซีย ในอันดับที่ 28 (4.70) และจีน ในอันดับที่ 49 (4.19) ซึ่งอยู่เหนือประเทศไทย ไปเพียงอันดับเดียวเท่านั้น

เมื่อ พิจารณาเฉพาะประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ประเทศไทยจะเป็นรองเฉพาะสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น

โดยถ้าศึกษาถึง ที่มาของการกำหนดอันดับ หรือการให้คะแนนเกี่ยวกับปัจจัยในการกำหนดค่าดัชนีความสามารถด้านการค้า จากรายงานฉบับนี้ จะพบเห็นประเด็นสำคัญต่าง ๆ ซึ่งภาคการค้าของประเทศไทยสามารถนำมาปรับปรุงการดำเนินการหลาย ๆ อย่างในอนาคต โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใน

ภาค การค้า เนื่องจากเกณฑ์การพิจารณาค่าดัชนีความสามารถทางการค้าจะแสดงใน 4 ด้านหลัก คือ ความสามารถในการเข้าตลาด (market access) พิธีการผ่านแดน (border administration) สาธารณูปโภคด้านการขนส่งและการสื่อสาร (transportation and communication infrastructure) และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ (business environment)

ซึ่ง เมื่อพิจารณาค่าดัชนีต่าง ๆ ของประเทศไทย แม้ว่าจะอยู่ในอันดับรวมที่ 50 แต่พบว่าคะแนนความสามารถในการเข้าตลาดของไทยอยู่ในอันดับที่ 98 คะแนนด้านพิธีการผ่านแดนของไทยอยู่ในอันดับที่ 41 คะแนนด้านสาธารณูปโภคด้านการขนส่งและการสื่อสารของไทยอยู่ในอันดับที่ 40 และคะแนนด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจของไทยอยู่ในอันดับที่ 59

สิ่ง เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าจุดอ่อนสำคัญของภาคการค้าของไทยคือ ความสามารถในการเข้าตลาด ซึ่งเกิดจากกรอบนโยบายด้านการค้าที่จะทำให้ผู้ส่งออกของไทยสามารถนำสินค้า ออกสู่ตลาดต่างประเทศ หรือการนำสินค้าจากต่างประเทศเข้าสู่ตลาดไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก ข้อมูลสถิติทางการสำรวจภาคการค้าของประเทศไทย ด้านธุรกิจการค้าและบริการ พบว่าสถานประกอบการด้านธุรกิจการค้าที่มีอยู่ประมาณ 48% จะเป็นธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเกือบทั้งหมดหรือมากกว่า 98% มีจำนวนคนทำงานตั้งแต่ 1-15 คน และมักจะไม่มีการจัดตั้งเป็นนิติบุคคล โดยจะดำเนินการในรูปแบบส่วนบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนที่ไม่เป็นนิติบุคคลมากกว่า 90% จึงกล่าวได้ว่าเกือบทั้งหมดของผู้ประกอบการธุรกิจการค้าของประเทศไทย เป็นผู้ประกอบการ SMEs แทบทั้งสิ้น ในขณะที่ธุรกิจการค้าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจค่อนข้างสูงกล่าวคือ ธุรกิจค้าปลีกสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้กว่า 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจค้าส่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้กว่า 360,000 ล้านบาทของมูลค่าการค้าโดยรวม

จากข้อมูลสถิติของการประกอบธุรกิจการ ค้าของประเทศไทยที่เป็นอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ในดัชนีอันดับความสามารถทางการค้าของประเทศไทยจากรายงานของ WEF เนื่องจากรูปแบบการจัดตั้ง ขนาด ลักษณะธุรกิจของภาคการค้าไทย อยู่ในการดำเนินการในการขายปลีกสินค้าที่เป็นการรองรับตลาดในประเทศเป็นหลัก

โดยสำหรับในตลาดต่างประเทศ ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้ามักจะเป็นผู้ดำเนินการค้าด้วยตนเอง หรืออาจอาศัย ผู้ประกอบการภาคการค้าซึ่งเป็นธุรกิจ การค้าขนาดใหญ่ หรือเป็นธุรกิจการค้าที่มีการลงทุนหรือมีการร่วมลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านเครือข่ายหรือช่องทางในการกระจายสินค้าไปยัง ตลาดโลกได้มากกว่า รวมถึงความได้เปรียบด้านภาษาหรือขั้นตอนกฎระเบียบระหว่างประเทศ และการคาดการณ์ความต้องการของตลาดโลกหรือลักษณะสินค้าต่าง ๆ ที่ตลาดโลกต้องการได้ดีกว่า

จากประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ภาคการค้าไทยยังมีความอ่อนแอหรือด้อยประสิทธิภาพในด้านการ เข้าตลาด ที่สะท้อนออกมาในค่าดัชนีการค้า เมื่อเปรียบเทียบกับภาคการค้าของสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ซึ่งปัจจัยทุกด้านอยู่เหนือประเทศไทย หรือแม้แต่เมื่อเทียบกับประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค่าดัชนีความสามารถในการเข้าตลาดของประเทศไทยยังด้อยกว่ากัมพูชา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในขณะที่ปัจจัยด้านอื่นประเทศไทยมีความได้เปรียบมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด และยังสะท้อนให้เห็นว่า SMEs ไทยภาคการค้ายังมีบทบาทต่อมูลค่าทางการค้าน้อยกว่าธุรกิจการค้าขนาดใหญ่ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ SMEs ภาคการค้าไทยจะได้มีการปรับบทบาท และปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการค้าในด้านที่ยังเป็นจุดอ่อนเกี่ยวกับความ สามารถในการเข้าตลาดนี้อยู่

หมายเหตุ - บทความจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.

view