สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลุยแก้รธน.นับถอยหลังวิกฤต

จาก โพสต์ทูเดย์

หลังประคองตัวผ่าน โค้งอันตราย ทั้งศึกซักฟอกและม็อบ เสธ.อ้าย รัฐบาลเตรียมเดินหน้าลุยเรื่องร้อนต่อเนื่อง

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

หลังประคองตัวผ่าน โค้งอันตราย ทั้งศึกซักฟอกและม็อบ เสธ.อ้าย รัฐบาลเตรียมเดินหน้าลุยเรื่องร้อนต่อเนื่อง สานต่อการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ให้สำเร็จลุล่วงอย่างที่ตั้งใจแต่แรก ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่าจะกลายเป็นการจุดชนวนให้ความรุนแรงกลับมาเกิดขึ้นในสังคมอีกรอบ

ท่าทีล่าสุดคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี “โภคิน พลกุล” เป็นประธาน มีมติสั่งลุยเดินหน้าต่อวาระ 3 ที่ญัตติค้างเติ่งอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา

หยิบยกเหตุผลตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ลงมติวาระ 3 ใน 15 วัน นับจากการลงมติวาระ 2 ไม่เช่นนั้นสมาชิกรัฐสภา ทั้ง สส. สว. อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

พร้อมอาศัยจังหวะครบรอบ 80 ปี รัฐธรรมนูญไทย ในวันที่ 10 ธ.ค. คิกออฟรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงการแก้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ผ่านคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ อิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ซึ่งมี ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ

ย้อนไปช่วงที่ผ่านมา แรงรุมเร้าจากทั้ง “ในสภา” ภายใต้การนำของประชาธิปัตย์ที่ค้านหัวชนฝา ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลลึกๆ ว่าจะเป็นการเปิดประตูให้ “คนแดนไกล” เดินทางกลับบ้าน ทว่าลำพัง 159 เสียงที่มีอยู่จะไม่อาจทัดทานได้ในการลงมติ ทำได้เพียงแค่งัดเกมยื้อ ซื้อเวลาด้วยการลากยาวการอภิปรายวาระ 2 ออกไปร่วม 15 วัน

อีกด้านหนึ่งแรงรุมเร้า “นอกสภา” จากการรวมตัวของมวลชนหลายกลุ่มที่ออกมาชุมนุมเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ จนทำให้รัฐบาลเริ่มไม่อาจหักหาญดึงดันเดินหน้าลุยแก้รัฐธรรมนูญ

จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เมื่อมีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 68 หรือไม่ ครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง แต่มีคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

เงื่อนไขสำคัญนี้ทำให้ “เพื่อไทย” ไม่อาจบุ่มบ่ามทำเร่งลงมติในวาระ 3 โดยไม่มีการทำประชามติ ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะถูกยื่นเรื่องตีความ ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างที่เดินหน้ามาตลอดต้องพังทลายลงไปในที่สุด

การเลือกจังหวะนี้สานต่อภารกิจแก้รัฐธรรมนูญ สาเหตุประการแรก เพราะจังหวะนี้ถือเป็นจังหวะปลอดภัย สถานการณ์รุมเร้าต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ดังนั้นย่อมไม่กลายเป็นปัจจัยกระหน่ำ “ซ้ำเติม” รัฐบาล ที่จะต้องเผชิญหน้ากับแรงต้าน แรงค้านจากรอบทิศทางอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ประการที่สอง ภารกิจแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นภารกิจอันดับต้นๆ ของรัฐบาล ซึ่งประกาศว่าจะเข้าไปแก้ไขด้วยเหตุผลว่าเป็น “ผลไม้พิษ” จากการรัฐประหาร แต่อีกด้านถูกดักคอจากฝ่ายต่อต้านว่าเป็นเพียงข้ออ้างที่จะเปิดทางให้ “คนแดนไกล” กลับบ้านโดยไร้ความผิด

ท่าทีรีบร้อนดึงดันที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นตลอดเวลาในช่วงการบริหารของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ว่ากันว่ามีใบสั่งมาจากต่างแดน

สอดรับกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายนายกฯ ซึ่งให้สัมภาษณ์พิเศษนิตยสาร Forbes ที่นครดูไบ เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ระบุว่า ต้องการให้เร่งผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแต่ “กับระเบิด”

“สิ่งหนึ่งที่เราต้องการทำ และเราได้สัญญาไว้กับประชาชนแต่ถูกห้ามไม่ให้ทำ นั่นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นผลพวงของรัฐประหาร ซึ่งคุณเข้าใจได้เลยว่ามันจะต้องไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าประเทศไทยยังเป็นเช่นนี้อยู่ เราจะไม่สามารถก้าวได้เร็ว เพราะเหมือนกับว่าคุณอยู่ในบ้านที่เต็มไปด้วยกับระเบิด ก่อนคุณจะก้าวออกจากบ้านไปทำงาน คุณต้องระมัดระวังเพราะอาจจะระเบิดได้ทุกเมื่อ”

ยิ่งพิจารณาลึกไปถึงเนื้อหาสาระของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สัญญาณชัดเจนของคนในรัฐบาลนี้สะท้อนออกมาว่าต้องการเข้าไปแก้ไข “องค์กรอิสระ”

เมื่อไม่อาจปฏิเสธได้ว่าจะทั้งศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ล้วนแต่หอกข้างแคร่ที่รัฐบาลไม่อาจนิ่งนอนใจ โดยเฉพาะมีหลายคดีที่ฝ่ายค้านกำลังชงเรื่องเอาผิดรัฐบาล

เงื่อนไขสำคัญที่เคยรั้งให้ “รัฐบาล” ไม่อาจรวบรัดลงมติในวาระ 3 อย่างความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการทำ “ประชามติ” ที่แม้จะมีเสียงทักท้วงว่าไม่ใช่คำวินิจฉัยก็ตาม

ประเด็นนี้ที่ประชุมคณะกรรมการคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ ได้หาทางออกเสร็จสรรพด้วยการจัดทำ “ประชามติ” ในช่วงหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามขั้นตอนหลังการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 และเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ส่องดูปฏิทิน แม้จะเปิดสภาสมัยหน้าในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ แต่ความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาลงมติในวาระ 3 น่าจะอยู่ในช่วงต้นปี ตามความเห็นของคณะทำงาน ที่เห็นควรให้มีการรณรงค์ทำความเข้าใจก่อนการลงมติ 1-2 เดือน

ต้นปีหน้าจึงเป็นอีกจังหวะที่คาดว่าการเมืองจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ทั้งในสภาที่ว่ากันว่าจะดุเดือดกว่าในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่นอกสภาการชุมนุมคัดค้านครั้งนี้ประเมินแล้วน่าจะใหญ่กว่าทุกครั้ง ที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวล่าสุดของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ที่ปลุกมวลชนออกมา “เผาหัว” ต้านรัฐบาล 2 ครั้ง หากได้ชนวนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นหัวเชื้อ หนีไม่พ้นที่จะนำพาประเทศกลับไปสู่วังวนความขัดแย้งเดิมๆ อย่างที่เคยเป็นมา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลุยแก้รธน. นับถอยหลังวิกฤต

view