จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ต้นปีหน้าที่ระเบียบการกำกับสถาบันการเงินบาเซิล 3 กำลังเริ่มจะถูกนำมาใช้ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย
ในช่วงต้นปีหน้าที่ระเบียบการกำกับสถาบันการเงินบาเซิล 3 กำลังเริ่มจะถูกนำมาใช้ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยนั้นได้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์หลายประการเกี่ยวกับแนวทางการกำกับสถาบันการเงินฉบับใหม่ในวงกว้าง ผู้เขียนจึงขอรวบรวมข้อวิจารณ์ดังกล่าว และตรวจสอบความคิดเห็นต่อคำวิจารณ์เหล่านั้นจาก ดร.มาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางของแคนาดาและประธานคณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงินคนปัจจุบัน ที่กำลังจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางของอังกฤษคนใหม่ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีหน้า เป็นต้นไป ซึ่งเป็นชาวต่างประเทศที่โดดอาสามากุมบังเหียนแบงก์ชาติอังกฤษเป็นคนแรก
คำวิจารณ์แรก กฎเกณฑ์ทางการเงินใหม่ที่กำลังจะเริ่มใช้มีความซับซ้อนมากเกินไปจริงหรือ? กระแสของประเด็นดังกล่าวเริ่มมีคนกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่นายแอนดรูว์ เฮล เดน ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางอังกฤษ ได้ให้ความเห็นถึงพัฒนาการของระเบียบการเงินโลกว่ากำลังพึ่งพาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการหาคำตอบสุดท้ายของการประเมินความเสี่ยงมากเกินไป จนอาจทำให้ผลลัพธ์ของการวิเคราะห์ความเสี่ยงมิได้สะท้อนถึงระดับความเสี่ยงที่แท้จริงของธุรกิจเท่าที่ควร ทั้งนี้นายเฮลเดนให้ความเห็นว่าการวัดระดับความเสี่ยงแบบที่เรียบง่ายกว่า อาทิ การใช้อัตราส่วนหนี้ต่อสินทรัพย์ หรือ อัตราส่วน Leverage ซึ่งตัวเลขดังกล่าวหาได้โดยตรงจากงบดุล น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับการบริหารความเสี่ยงที่ดีในอนาคต
ในประเด็นนี้ นายคาร์นีย์โต้แย้งแบบง่ายๆ ว่า การใช้ระเบียบทางการเงินในยุคเริ่มต้นหรือบาเซิล (ฉบับที่) 1 โดยใช้การวัดความเสี่ยงแบบเรียบง่ายดังที่นายฮาร์เดนได้กล่าวไว้นั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าวิกฤติเศรษฐกิจก็ได้เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงปี 1970
คำวิจารณ์ที่สอง กฎเกณฑ์ทางการเงินใหม่ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นกันชนให้กับความเสียหายต่อสถาบันการเงินแล้วนั้น ยังมีส่วนไปเพิ่มค่าใช้จ่ายของสถาบันการเงินต่างๆ ให้เพิ่มขึ้น จนไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่จะได้รับ โดยค่าใช้จ่ายและประโยชน์ที่ได้รับจากบาเซิล 3 นั้น ทาง Bank for International Settlement (BIS) ได้วัดผลประโยชน์สุทธิ แสดงไว้ดังรูป โดยที่เส้นสีเขียวแสดงกรณีที่เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และสีแดงหมายถึงกรณีที่เศรษฐกิจดำเนินไปตามวัฏจักรปกติ
คำวิจารณ์ที่สาม วิกฤติทางการเงินเป็นเรื่องที่คล้ายกับภัยธรรมชาติซึ่งจะเกิดขึ้นทุก 10 ปี ซึ่ง นายเจมี ไดอามอน ซีอีโอ ของ เจพี มอร์แกน เคยใช้คำตอบนี้ ตอบคำถามของลูกสาวที่ถามว่า เหตุใดวิกฤติการเงินโลกจึงเกิดขึ้น ทั้งนี้ ระเบียบทางการเงินก็ไม่สามารถป้องกันวิกฤตินี้ได้ เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นเที่ยวล่าสุด มาจากความมีอภิสิทธิ์ของสหรัฐต่อความเป็นไปของเศรษฐกิจและการเงินโลก
ในเรื่องนี้ นายคาร์นีย์ชี้ให้เห็นจากวิกฤติซับไพร์มที่ผ่านมาว่า ประเทศที่เสริมสร้างกฎเกณฑ์ทางการเงินให้แข็งแกร่งอย่างประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมถึงออสเตรเลีย โดยส่วนหนึ่งเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เคยประสบในวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 ทำให้สามารถรับมือวิกฤติในเที่ยวนี้ได้ดี เป็นบทพิสูจน์ในเบื้องต้นว่าการป้องกันการเกิดวิกฤติมิให้เกิดหรือลดโอกาสการเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ หากภูมิคุ้มกันของระบบการเงินได้ถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
คำวิจารณ์สุดท้าย สถาบันการเงินของแคนาดาที่นายคาร์นีย์ทำหน้าที่เป็น ประธานธนาคารกลางอยู่นั้น สามารถยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอานิสงส์ของการบริหารความเสี่ยงของแบงก์ชาติแคนาดา ที่ใช้หลักการแบบหลวมๆ ในการดูแลสถาบันการเงิน มิได้มาจากการใช้กฎเกณฑ์ ทางการเงินที่มีความซับซ้อนแต่อย่างใด
ประเด็นดังกล่าว นายคาร์นีย์ได้ออกโรงชี้แจงว่า วิธีการโดยภาพรวมของการกำกับระบบสถาบันการเงินในแคนาดา เริ่มจากการใช้มาตรฐานขั้นต่ำว่าสถาบันการเงินต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างไร จากนั้น จึงเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งในแคนาดาเลือกวิธีที่มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นในการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อไป ซึ่งทำให้ระดับเงินกองทุนของแบงก์ต่างๆ มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลกต่างก็มีระดับเงินกองทุนที่มากน้อยแตกต่างกัน นอกจากนี้ ประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วก็มีระดับเงินกองทุนที่แตกต่างกัน ตามระดับความพร้อมและรับความเสี่ยงที่ตนเองกำลังประสบอยู่
แต่ท้ายสุดแล้ว ความพยายามครั้งใหม่ที่จะกำกับสถาบันการเงินให้สามารถทนทาน ความเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจจะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้น เวลาเท่านั้นที่จะเป็น เครื่องพิสูจน์ครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน