การเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางการเงินและนโยบายการเงิน (1)
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ประเด็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในหมู่นักลงทุนและนักธุรกิจคือการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนอย่างยิ่งของประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักของโลก
ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น กล่าวโดยรวมคือ
1. ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศดังกล่าวได้ลดดอกเบี้ยระยะสั้นลงไปใกล้ศูนย์และให้คำมั่นสัญญาว่าดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับต่ำดังกล่าวไปอีก 2-3 ปี
2. ธนาคารกลางของสหรัฐ อังกฤษและญี่ปุ่นได้พิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อซื้อพันธบัตรระยะยาว แปลว่าธนาคารกลางคุมทั้งดอกเบี้ยระยะสั้นและดอกเบี้ยระยะยาว ส่วนยุโรปนั้นตลาดก็เชื่อมั่นว่าเมื่อใดที่ประเทศ เช่นสเปนขอความช่วยเหลือ ธนาคารกลางก็จะเข้ามาทำการซื้อพันธบัตรรัฐบาลในลักษณะเดียวกันคือเข้ามากดดอกเบี้ยระยะยาวให้ต่ำเพื่อช่วยรัฐบาลสเปน
3. มีนโยบายผ่อนคลายวินัยทางการเงินอย่างเห็นได้ชัด เช่นในกรณีของธนาคารกลางสหรัฐนั้นได้ตั้งเป้าเงินเฟ้อเอาไว้ที่ 2% มาโดยตลอด แต่หลังจากการประกาศมาตรการผ่อนปรนในเชิงปริมาณ (คิวอี) เมื่อต้นเดือนธันวาคมได้มีท่าทีเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือประกาศว่าจะไม่ปรับดอกเบี้ยขึ้น (จากใกล้ศูนย์ในปัจจุบัน) จนกว่าอัตราการว่างงานจะลดลงต่ำกว่า 6.5% (จากประมาณ 8% ในขณะนี้) เว้นแต่เงินเฟ้อที่ธนาคารกลางเองเป็นผู้คาดการณ์ใน 1-2 ปีข้างหน้าจะปรับสูงขึ้นกว่า 2.5% หรือการคาดการณ์เงินเฟ้อของตลาด (inflationary expectations) ในระยะยาวยังอยู่ที่ระดับต่ำ (well anchored) จะเห็นได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณว่า “เป้าจริง” คืออัตราการว่างงาน ในขณะที่ “เป้าเดิม” คือเงินเฟ้อนั้นดูจะถูก “เจือจาง” ลงไป เพราะจะเพิ่มขึ้นจาก 2.0% เป็น 2.5% ในระยะ 2 ปีข้างหน้า ส่วนญี่ปุ่นนั้นก็ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่กำลังกดดันธนาคารกลางให้ยอมรับเป้าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาที่ 2% หรืออาจจะมากกว่านั้น รวมทั้งต้องการให้พิมพ์เงินเยนออกมาในจำนวนที่ไม่จำกัดเป็นเวลาที่ยาวนานเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอีกด้วย
3 ประเด็นหลักข้างต้นนี้ทำให้มองได้ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีสภาพคล่องล้นเหลือ “ไปอีกนานหลายปี” ซึ่งในระยะสั้นก็จะทำให้เกิดเศรษฐกิจที่ “ซื้อง่ายขายคล่อง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความตั้งใจของนายเบน เบอร์นันเก้ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐที่ต้องการให้ประชาชนและนักธุรกิจเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง ทั้งนี้ขอให้ลองนึกภาพดูว่าธนาคารกลางสหรัฐนั้นตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปจะพิมพ์เงินใหม่เดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ (ปีละ 1.02 ล้านล้านดอลลาร์) ไปซื้อพันธบัตรที่มีคุณภาพสูงสุด คือพันธบัตรที่ค้ำประกันโดยอสังหาริมทรัพย์ (mortgage-backed securities) และพันธบัตรรัฐบาลจากมือประชาชน ทำให้ประชาชนต้องนำเงินที่ได้มาจากธนาคารกลางสหรัฐไปลงทุนในส่วนอื่นของเศรษฐกิจ ซึ่งย่อมจะต้องมีความเสี่ยงมากกว่า MBS และพันธบัตรรัฐบาล
บางคนอาจนึกไม่ออกว่าการพิมพ์เงินใหม่เดือนและ 85,000 ล้านดอลลาร์ (โดยไม่บอกว่าจะหยุดพิมพ์เมื่อใด) นั้นเป็นจำนวนมากหรือน้อย ก็ต้องบอกว่าเป็นจำนวนมากมหาศาล กล่าวคือก่อนวิกฤติในปี 2008 นั้นมีเงินดอลลาร์สหรัฐไหลเวียนในระบบประมาณ 8 แสนล้านดอลลาร์ และต่อมาเมื่อเกิดวิกฤติอย่างรุนแรงในปี 2008-2009 ก็ได้มีการเร่งพิมพ์เงินออกมา ทำให้งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐขยายตัวจาก 8 แสนล้านดอลลาร์มาเป็น 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ในขณะนี้ กล่าวคือในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น อาจพูดได้ว่ามาตรการผ่อนปรนทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐมีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ย 5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ใน 2 ปีข้างหน้านั้นปริมาณเงินที่จะพิมพ์ออกมาใหม่จะเพิ่มไปอีก 1 เท่าตัวคือ 1.02 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี
บางคนอาจสงสัยว่าหากจะมีการพิมพ์เงินใหม่เข้าระบบมากมายถึงขนาดนี้แล้ว เงินดังกล่าวหายไปไหนหมด คำตอบคือเงินที่พิมพ์ออกมาส่วนใหญ่นั้นธนาคารพาณิชย์นำกลับไปฝากที่ธนาคารกลางสหรัฐเพราะยังได้ดอกเบี้ยเล็กน้อยและที่สำคัญคือธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องการขยายสินเชื่อมากนักเพราะยังขาดความมั่นใจและกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดขึ้น ทำให้ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้ดูเสมือนว่าธนาคารกลางสหรัฐจะแสดงความมุ่งมั่นที่จะพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยอมให้เงินท่วมระบบจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ทั้งนี้เพราะได้ “ถลำลึกมาทางนี้และหันกลับไม่ได้แล้ว” เนื่องจากหากพยายามถอยก็คงจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่น ที่สำคัญคือนายเบอร์นันเก้ ได้เคยตำหนิธนาคารกลางของญี่ปุ่นเอาไว้เมื่อประมาณ 8 ปีก่อนว่ามิได้ดำเนินมาตรการผ่อนปรนทางการเงินอย่างจริงจัง เพียงพอและต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาวะเงินฝืดและเผชิญปัญหาการฟื้นตัวอย่างกระท่อนกระแท่นมานานกว่า 10 ปีแล้ว
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามาตรการผ่อนคลายทางการเงินของนายเบอร์นันเก้ ซึ่งทำติดต่อกันมานานจะเข้าปีที่ 5 แล้วก็ยังไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจนและต่อเนื่องมากนัก กล่าวคือโดยปกติในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวจากสภาวะถดถอยนั้นเศรษฐกิจจะขยายตัว 4-5% ต่อปี แต่ในครั้งนี้เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.5-2.5% ต่อปีและในปีนี้เอง นักเศรษฐศาสตร์ก็คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะขยายตัวเพียง 2.0%
บางคนอาจมองว่าเมื่อการพิมพ์เงินยังไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจก็ยังไม่น่าห่วงอะไรและหากธนาคารกลางสหรัฐจะทำเช่นนี้ต่อไปก็ไม่น่าจะมีข้อเสียอะไร แนวคิดดังกล่าวมักจะเป็นทัศนะของนักลงทุนในตลาดหุ้นส่วนใหญ่ ซึ่งพึงพอใจกับการที่สภาพคล่องส่วนเกินจะช่วยทำให้ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น กล่าวคือเป็นนโยบายการเงินที่ทำให้นักลงทุนมีแต่ได้ไม่มีข้อเสียอย่างน้อยในระยะสั้น
คำถามต่อไปคือนโยบายดังกล่าวนั้นมีข้อเสียหรือไม่ คำตอบคือมีแต่เสียงส่วนใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วมองว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่ผมมองว่าข้อเสียยังไม่ปรากฏมากนักในขณะนี้ แต่มีความเป็นไปได้สูงว่ามีโอกาสที่จะส่งผลที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ซึ่งผมจะเขียนถึงในครั้งหน้าครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน