จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง
ค่าเงินบาทยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้
ทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มหันหน้าเข้าหากัน เพื่อหาวิธีการแก้ไขไม่ให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก หลังจากค่าเงินบาทแข็งค่าหลุดกรอบ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐขึ้นไปแตะระดับ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ทำให้ผู้ส่งออกเริ่มวิตกกังวล
การต่อสู้ค่าเงินบาทของ ธปท. ในขณะนี้ อยู่ในสภาพของการใช้การแทรกแซงด้วยวาจา คือ ระบุว่ามีมาตรการรับมืออย่างแน่นอน และจะนำออกมาใช้เมื่อจำเป็น
ทางด้านกระทรวงการคลังก็ยืนยันว่า การกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์และการลงทุนระบบน้ำ 2 ล้านล้านบาท รัฐบาลจะกู้ส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลบาท และจะกู้ในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ค่าเงินอ่อนค่าลงได้
แต่นั่นเป็นมาตรการระยะยาว กว่ารัฐบาลจะกู้เงินทำโครงการ ผู้ส่งออกคงจะทนรับสภาพไม่ไหว ล้มหายตายจากไปเสียก่อน
ฉะนั้น มาตรการระยะสั้นต่างหากที่จะช่วยสกัดการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ที่ไหลบ่าเข้ามาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของ โลก อย่าง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทั้งหมดล้วนใช้นโยบายเดียวกันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของตัวเองให้ฟื้นขึ้นมา ด้วยการกดค่าเงินให้อ่อนค่าลง
ในสัปดาห์นี้ ทางกระทรวงการคลัง และ ธปท. จะเชิญตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมาหารือถึงปัญหาและรับฟังความต้องการของภาค เอกชน เพื่อจะนำข้อสรุปที่ได้ไปใช้ตัดสินใจว่าจะดำเนินนโยบายต่อไปอย่างไรให้มีผล เสียน้อยที่สุด
แรงเงินที่ไหลเข้ามานั้นเป็นเรื่องที่ยากจะต้านทาน อันเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจของ 3 เสาหลักเศรษฐกิจโลกที่ไม่สามารถควบคุมได้ และระยะเวลาของปัญหาอาจจะนานหลายปีกว่าปัญหาจะคลี่คลาย
ปัญหาเงินไหลเข้านี้จึงอาจจะอยู่กับประเทศในภูมิภาคนี้อีกนาน ฉะนั้น การแทรกแซงค่าเงินด้วยวาจาจึงใช้ไม่ได้อย่างแน่นอน
มาตรการที่จะสกัดเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นจึงจะต้องเป็นมาตรการที่เป็นรูปธรรม
กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ระบุว่า เอกชนขอให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องของการถือครองเงินตราต่างประเทศให้นานขึ้น
มาตรการนี้คงจะไม่ช่วยอะไร
ที่มาตรการนี้จะไม่ช่วยอะไร เพราะ ธปท.ได้ผ่อนผันการถือครองเงินตราต่างประเทศของผู้ส่งออกไปหายรอบ ล่าสุด ธปท.ก็ให้ขยายการถือครองได้นานถึง 365 วัน
ในภาวะที่ค่าเงินผันผวนและเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างไร้จุดรับ เป็นเรื่องที่เอกชนก็มองออก
ฉะนั้น การขายเงินออกเพื่อลดความเสี่ยงจึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง คงไม่มีผู้ส่งออกรายใดถือครองเงินนานเป็นปีอย่างแน่นอน
มาตรการที่จะนำมาใช้ในการรับมือเงินบาทแข็งค่าวิธีการนี้จึงใช้ไม่ได้
การที่จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็จะต้องเพิ่มต้นทุน หรือลดผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้ เพื่อให้ไม่คุ้มค่าที่จะนำเงินเข้ามาเก็งกำไรในไทย จึงจะสกัดเงินไม่ให้ไหลเข้ามาได้
มาตรการเบาที่ ธปท.ออกมาแล้ว คือ การเจาะช่องให้เงินไหลออก เปิดทางให้รายย่อยนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มได้จากปีละ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากนำเงินออกมากกว่านี้จะต้องมาขออนุญาตเป็นรายๆ ไป ก็ให้นำเงินออกไปลงทุนได้ 50 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเลย
แต่รายย่อยที่มีศักยภาพจะออกไปลงทุนต่างประเทศก็มีไม่มากเท่าไร
มาตรการที่จะได้ผลมากที่สุด น่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุนและลดผลตอบแทน
ในอดีต ธปท.ได้ใช้มาตรการเพิ่มต้นทุนมาแล้วหลายครั้ง เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมการนำเงินทุนเข้ามาในประเทศและนำเงินออกก่อนนานกว่า 1 ปี ในช่วงแรก ธปท.อาจจะถูกโจมตี แต่ในที่สุดแล้ววิธีการนี้ก็ได้ผลดีในระดับหนึ่ง
มาตรการนี้เคยถูกนำออกมาใช้และเลิกไปเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนกลับสู่ภาวะปกติ
นักวิเคราะห์มองว่า อีกไม่นาน ธปท.อาจจะนำมาตรการนี้มาปัดฝุ่นเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
และอีกแนวทางหนึ่งที่ ธปท.กำลังคิดหนัก แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะนำมาใช้
นั่นคือการลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อส่งสัญญาณให้ดอกเบี้ยในตลาดเงินลดลงด้วย
เรื่องนี้ทางเอกชนเองก็เรียกร้องกับ ธปท.เช่นกัน โดย พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า อยากให้ ธปท. เพิ่มความเข้มงวดกับเงินทุนที่ไหลเข้าที่มาเก็งกำไรในระยะสั้นให้มากขึ้น ธปท.ควรลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนไม่ให้กระทบต่อภาคการส่งออกมากเกินไป เพราะผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงไปแล้ว ทำให้การแข่งขันกับคู่แข่งทำได้ยากขึ้น อาจส่งผลต่อภาพรวมการส่งออกของประเทศไทยได้
การที่ ธปท. ไม่อยากใช้มาตรการดอกเบี้ยมาไล่เงินร้อนออกไปก็เพราะเป็นห่วงเรื่องเงินออมภาคครัวเรือนของประเทศที่ลดลงเรื่อยๆ
นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยลงอาจจะเป็นการไล่เงินฝากออกไปเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์และเก็ง กำไรในตลาดหุ้น รวมทั้งอาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำเร่งตัวสูงขึ้นได้
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในการบริหารค่าเงินนั้น ธปท.จะออกมาตรการจากเบาไปหาหนัก
และหากในที่สุดแล้ว ธปท.เอาไม่อยู่ ก็ไม่มีทางเลือกที่จะต้องลดดอกเบี้ยลง
แต่ก่อนที่ ธปท.จะลดดอกเบี้ยลง ก็จะต้องมีมาตรการคุมฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกมาก่อน
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลหลายประเทศเลือกที่จะทำ ตัวอย่างมีให้เห็นมาแล้ว ที่ฮ่องกงโดนถล่มค่าเงินในช่วงปลายปี 2555 มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าไปเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยในฮ่องกงพุ่งสูง
ราคาบ้านในฮ่องกงเพิ่มขึ้น 20% ในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากระดับต่ำสุดในปี 2551 และดันตลาดขึ้นระดับสูงเป็นประวัติการณ์ของปี 2540 การพุ่งขึ้นดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการใหม่เพื่อชะลอความร้อนแรง
อีกทั้งการที่ฮ่องกงผูกติดค่าเงินของตัวเองเข้ากับเงินสกุลเหรียญสหรัฐ ทำให้เป้าของการเก็งกำไรจนธนาคารกลางฮ่องกงต้องเข้าซื้อเงินเหรียญสหรัฐ และอัดฉีดเงินทั้งสิ้น 9,250 ล้านเหรียญฮ่องกงเข้าสู่ตลาด เพื่อควบคุมการแข็งค่าของเงินเหรียญฮ่องกง
ตามมาด้วยสิงคโปร์ ที่รัฐบาลได้ออกมาตรการให้ธุรกิจและชาวต่างประเทศที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่ออยู่อาศัยในสิงคโปร์ต้องจ่ายอากรแสตมป์เพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 15% จากราคาซื้อ และยังเริ่มคิดค่าอากรแสตมป์จากผู้ขายในอัตรา 515% จากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม เช่น คลังสินค้าและโรงงาน หากถือครองสินทรัพย์ต่ำกว่า 3 ปีโดยมาตรการดังกล่าวเริ่มบังคับใช้เป็นครั้งแรกเพื่อแก้ปัญหาการเก็งกำไร
แถมยังจะเก็บภาษีชาวสิงคโปร์ที่ซื้อบ้านหลังที่สองอีกด้วย
การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และล่าสุด ประเทศญี่ปุ่นทำให้เงินจำนวนมากไหลสู่เอเชีย ซึ่ง 12 ปีที่ผ่านมานั้น เงินทุนไหลเข้าเหล่านี้ได้ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรประเทศในเอเชียแล้ว จำนวนมหาศาล จนทำให้เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่าเงินจำนวนไหลเข้าเหล่านี้จะลงในอสังหาริม ทรัพย์มากน้อยแค่ไหน
มาตรการขึ้นภาษีซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลสิงคโปร์ อาจเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมก็เป็นได้
หาก ธปท.จะลดดอกเบี้ยลง คงหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้โมเดลเดียวกับฮ่องกงและสิงคโปร์
แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยนั้น ราคายังไม่พุ่งอย่างไร้เหตุผลเหมือนช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ราคาปรับขึ้นระมาณ 35% หรืออย่างสูงก็ไม่เกิน 10% ซึ่งเป็นราคาที่ปรับตัวเนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เป็นการปรับขึ้นเนื่องจากมีกำลังซื้อล้นหลามแต่อย่างใด
แต่ก็ไม่แน่ว่าหากลดดอกเบี้ยลงมาสถานการณ์อาจจะกลับทิศก็ได้ เพราะ ธปท.เองก็จับตาดูสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ตามหัวเมืองใหญ่ที่คึกคักมาก
เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ ธปท.จะทำ เพื่อที่จะสกัดเงินทุนไหลเข้า
แต่สิ่งที่ ธปท.จะทำนั้น จะเป็นการออกมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมเงินไหลเข้าที่อยู่ในประเทศต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำแล้วจะถูกตำหนิน้อยที่สุด
มาตรการเหล่านี้จะมีให้เห็นแน่
และหากเงินบาทหลุดกรอบ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐลงไป หากถึงจุดนั้นอาจจะเห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นได้
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน