จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ปิดโครงสร้างแบงก์ชาติ อำนาจ-หน้าที่ 4 บอร์ด คลายข้อกังขาความเป็น "อิสระ" ทางนโยบาย!!!
จากกรณีข้อถกเถียงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เกี่ยวกับบทบาทอำนาจหน้าที่ ซึ่งจากการพิจารณาโครงสร้างและข้อกฎหมายของ ธปท. ระบุชัดถึงอำนาจและหน้าที่ของกรรมการแต่ละชุด มีดังนี้
การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ธปท. เป็นไปตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีคณะกรรมการ 4 คณะ คือ คณะกรรมการ ธปท. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการตรวจสอบ ทำหน้าที่กำกับดูแลการตรวจสอบกิจการของ ธปท.
คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ผู้ว่าการ ธปท. เป็นรองประธาน และรองผู้ว่าการ 3 คน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกห้าคน เป็นกรรมการหน้าที่และความรับผิดชอบ
คณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการและการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551
ทั้งนี้ มีกำหนดการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ในวันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือน
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee) หรือ กนง.
กนง.เป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งรับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงิน โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ ธปท. อย่างใกล้ชิดในการติดตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้ การกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของ กนง. จะพิจารณาจากข้อมูลต่างๆ ที่ ธปท. นำเสนอให้ทราบ จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวไปกลั่นกรองพิจารณาในที่ประชุม เพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายการเงินต่อไป
กนง.ที่คณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. 3 ท่าน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คน
กนง.จะมีกรรมการทั้งหมด 7 คน โดยมีผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธาน เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมติที่ กนง. กำหนด และเพื่อให้มีการเชื่อมโยงกับคณะกรรมการด้านนโยบายอื่นๆ ของ ธปท.
นอกจากนั้น มีรองผู้ว่าการอีก 2 คนและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 4 คนเป็นกรรมการใน กนง. เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจผู้ว่าการ ธปท. ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
อำนาจหน้าที่ของ กนง. ระบุไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย ดังนี้
1.กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศ โดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
2. กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
3. กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายตาม (1) และ (2)
4. ติดตามการดำเนินมาตรการของ ธปท. ตาม (3) ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ พ.ร.บ. ธปท. ฉบับใหม่กำหนดให้ กนง. จัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินของปีถัดไปภายในเดือน ธ.ค.ของทุกปี เพื่อเป็นแนวทางให้แก่รัฐ และ ธปท. ในการดำเนินการ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคา โดยทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและให้รัฐมนตรีเสนอเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ได้ทำความตกลงร่วมนั้นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ และ กนง. มีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกหกเดือน
ประมาณทุก 6 สัปดาห์ หรือ ปีละ 8 ครั้ง กนง.จะประชุมร่วมกันเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะมีผลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อพิจารณากำหนดแนวนโยบายการเงินที่เหมาะสม
ในการประชุม คณะเลขานุการจะรายงานข้อมูลล่าสุดทั้งด้านการเงิน การคลัง การต่างประเทศ และการผลิต ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่จะกระทบราคาสินค้า อาทิ ราคาน้ำมันโลก นโยบายการเงินของประเทศอื่นๆ หรือราคาสินค้าเกษตรโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อให้ กนง.หารือถึงความเป็นไปได้ในการประมาณการแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ
คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (Financial Institutions Policy Committee) หรือ กนส.
กนส. เป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของ ธปท. ซึ่งรับผิดชอบด้านการกำหนดนโยบายระบบสถาบันการเงินของ ธปท. ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม รอบคอบ เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพมั่นคง
ทั้งนี้ หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินตาม พ.ร.บ. ธปท. พ.ศ. 2551
1. กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
2. ติดตามการดำเนินงานของ ธปท. ในการเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน และการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
3. กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสถาบันการเงิน
4. กำหนดนโยบายการเปิดและปิดสาขาสถาบันการเงิน
5. กำหนดอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ที่สถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
6. เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันการเงินรายใหม่
คณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.)
กรช. เป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งรับผิดชอบด้านการกำหนดนโยบายการชำระเงินของ ธปท. สอดคล้องกับพัฒนาการ ของภาคธุรกิจ และพัฒนาการด้านเทคโนโลยีการชำระเงิน โดยให้กรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกไม่เกินหนึ่งวาระ
กรช. มีหน้าที่และความรับผิดชอบ วางนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินที่ ธปท. กำกับดูแลและระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยตลอดจนดำเนินไปด้วยดีอย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามการดำเนินงานของ ธปท. ในการจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน
คณะกรรมการตรวจสอบ หมายถึง คณะกรรมการซึ่งมีอำนาจหน้าที่ กำกับดูแล การปฏิบัติงานภายในให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีระบบการจัดทำรายงานทางการเงินที่มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง เป็นที่น่าเชื่อถือ มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญโดยครบถ้วนและเป็นไปตามหลักสากล มีระบบการควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายในที่มีมาตรฐานรัดกุมเพียงพอ
หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ มีดังนี้
1. ให้ข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายบริหาร เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
2. สอดส่องดูแลให้รายงานทางการเงินมีความถูกต้องเชื่อถือได้ มีการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญโดยครบถ้วน และเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป
3. กำกับดูแลให้ธนาคารมีระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ รัดกุม ตามกรอบการควบคุมภายในที่ได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐานสากล
4. กำกับดูแลการปฏิบัติงานภายในธนาคาร ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง และจรรยาบรรณของธนาคารแห่งประเทศไทย
5. ส่งเสริมความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชีภายนอก ฝ่ายตรวจสอบกิจการภายใน รวมทั้งให้มีการประสานงานระหว่าง ผู้สอบบัญชีภายนอก ฝ่ายตรวจสอบกิจการภายในฝ่ายบริหาร และคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ จะมีการจัดประชุมอย่างน้อยปีละ 6 ครั้ง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน