สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มันสมองธนาคารกลางสหรัฐปี 2013

มันสมองธนาคารกลางสหรัฐปี 2013

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ณ นาทีนี้ ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมายังมีความไม่ชัดเจนเท่าไรนักว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนแล้วหรือไม่

การที่จะตัดสินใจว่าธนาคารกลางสหรัฐจะทำ QE เพิ่มเติมหรือไม่นั้น ในทางปฏิบัติ จะตัดสินโดยใช้วิธีการโหวตของสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ จึงน่าสนใจที่จะมาทำความรู้จักกับสมาชิกคณะกรรมการดังกล่าวกันเสียก่อน เนื่องจากประธานธนาคารกลางสหรัฐ ดร. เบน เบอร์นันเก้ในทางนิตินัยมิใช่เป็นเพียงคนเดียวที่มีเสียงเด็ดขาดในการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ

สำหรับคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐชุดปัจจุบันนั้น มีทั้งกลุ่มที่ชอบควบคุมอัตราเงินเฟ้อ (Hawkish) และกลุ่มที่ชอบกระตุ้นเศรษฐกิจ (Dovish) ทีนี้ ผู้เขียนขอแบ่งสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐชุดปัจจุบัน ออกเป็นทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้

หนึ่ง กลุ่มที่อยากจะให้ยกเลิกการทำ QE และเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อจะเกิดขึ้น มีอยู่ 2 ท่าน ได้แก่ นายเอสเตอร์ จอร์จ และ นายเจมส์ บูลลาร์ด เรียกกลุ่มนี้ว่า Hawkish แม้ในระยะหลังนายบูลลาร์ดจะเริ่มลดระดับความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อลง แต่ผู้เขียนก็ยังเห็นว่าเขายังมีความเป็น Hawkish สูงอยู่

สอง กลุ่มที่อยากจะให้ลดปริมาณการทำ QE ได้แก่ นายเจโรม พาวเวล นางซาราห์ บลูม ราสกิน และนายเจเรมี สทีน โดยกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ก็ยังคล้อยตามนายเบอร์นันเก้ หากต้องโหวตประเด็นนโยบายการเงิน

สาม กลุ่มที่รอดูตัวเลขเศรษฐกิจในอนาคตเพื่อประเมินว่า ควรจะลดการทำ QE หรือไม่ ได้แก่ นายเบน เบอร์นันเก้ นายวิลเลียม ดัดลีย์ และ นายเดเนียล ทารูโร

และสี่ กลุ่มที่เห็นว่าต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทำ QE และคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไปอีกหลายปี กลุ่มนี้ ได้แก่ นางเจเน็ต เยลเลน นายชารล์ส อีแวน และ นายเอริค โรเซมเก้น ซึ่งเรียกคนกลุ่มชอบกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า ชาว Dovish โดยเฉพาะนางเยลเลน

จะเห็นได้ว่า จากองค์ประกอบดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นไป ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐไม่สะดุดอะไรแรงๆ เสียก่อน ธนาคารกลางสหรัฐก็มีโอกาสลดปริมาณการทำ QE ได้เหมือนกัน เนื่องจาก 5 ใน 11 เสียง คะแนนเทออกไปทางนั้น ซึ่งกุญแจสำคัญอยู่ที่นายเบอร์นันเก้ ว่าจะคิดเห็นเป็นเช่นไร เนื่องจากท่านประธานยังสามารถโน้มน้าวกลุ่มที่สองให้เห็นตามได้

มีเกร็ดเล็กๆ ในแวดวงเฟดว่า เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว สมาชิกในคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐที่ถือเป็นขาประจำของการโหวตให้ยุติ QE และเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ววัน รวมถึงมีอิทธิพลทางความคิดต่อสมาชิกอื่นๆ เป็นอย่างมากได้แก่ ดร. นารายานา โคเชอราโคต้า ได้มีความเห็นที่ถือว่าตรงกันข้ามกับนายเบอร์นันเก้อย่างสิ้นเชิง โดยเขาคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจสหรัฐเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเชื่อว่าอัตราการว่างงานที่จะไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ (Structural Unemployment rate) ได้สูงอยู่ราวร้อยละ 8 แล้ว จึงส่งผลให้มาตรการนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดๆ มิได้ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น รังแต่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ดี หลังจากที่นายเบอร์นันเก้ปิดห้องโน้มน้าวความเชื่อของนายโคเชอราโคต้า ด้วยการเปรียบเทียบแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆ ในการอธิบายสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสหรัฐ พร้อมๆ กับอัตราการว่างงานของสหรัฐที่ลดลง นายโคเชอราโคต้าจึงคล้อยตามและสนับสนุนมาตรการ QE ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ได้ทำให้ฉันทามติของคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจเทมาทางผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบเต็มตัว เนื่องจากนายโคเชอราโคต้ามีอิทธิพลต่อความเห็นของสมาชิกท่านอื่นค่อนข้างมาก ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้เฟดมีความเป็น Dovish มาก ดังเช่นปัจจุบัน

สมาชิกที่ถือว่าชอบกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตมากกว่าการดูแลอัตราเงินเฟ้อมากที่สุด ณ นาทีนี้ คือ ตัวเก็งประธานธนาคารกลางสหรัฐคนต่อไป นามว่า ดร. เจเน็ต แยลเลน ซึ่งปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ

ต้องบอกว่าแนวคิดของนางเยลเลนคล้ายคลึงกับนายเบอร์นันเก้ คือ ใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐเป็นหลัก ทว่าในช่วงหลัง นางมักจะเลือกนโยบายที่มีความเข้มข้นของการผ่อนคลายมากกว่านายเบอร์นันเก้ โดยความเชื่อดังกล่าวได้รับการบ่มเพาะจากการเป็นนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์เป็นเวลากว่า 30 ปี จนได้มาเป็นประธานที่ปรึกษาให้กับประธานาธิบดี บิล คลินตัน ในปี 1997 และเข้ารับตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ สาขาซานฟรานซิสโก ในปี 2004 จนกระทั่งได้เข้ามาเป็นรองประธานธนาคารกลางสหรัฐเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ผู้เขียนขอสรุปว่า สำหรับคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐชุดนี้ ยังมีนายเบอร์นันเก้เป็นกุญแจหลักในการกำหนดทิศทางว่านโยบายการเงินสหรัฐจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรครับ

หมายเหตุ หนังสือด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาคของผู้เขียน “จิบกาแฟ ท่องเน็ต เล่นหุ้น...ก็รวยได้” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 มีวางจำหน่ายทั่วประเทศ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ bonthr.blogspot.com ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มันสมอง ธนาคารกลางสหรัฐ ปี 2013

view