จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
แบงก์ชาติเผยหนี้ครัวเรือนปี"55 ทะยานกว่า 21.6% คนแห่กู้ซื้อ"รถยนต์-คอนโดฯ" ยังไม่พบสัญญาณหนี้เน่า แต่ยังต้องจับตา
นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ยอดการปล่อยสินเชื่ออุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 มีระดับการเติบโตอยู่ที่ 21.6% เทียบกับปี 2554 ซึ่งเติบโตที่ 15.8% สวนทางกับการขยายตัวของสินเชื่อโดยรวมทั้งระบบในปี 2555 ซึ่งมียอดคงค้างอยู่ที่ 9.6 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.7% ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตในปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 15.1%
สำหรับสินเชื่อภาคธุรกิจในปี 2555 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 10.6% ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งมีระดับการเติบโตอยู่ที่ 14.8% ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย(เอสเอ็มอี) ในปี 2555 มีระดับการเติบโตอยู่ที่ 14.1% ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 14.4%
ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อทุกประเภทนั้น ยังไม่มีสัญญาณใดที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคนั้น แม้มีระดับการเติบโตขึ้นค่อนข้างมาก แต่ถ้าเศรษฐกิจของประเทศยังเติบโตได้ดี ก็เชื่อว่าผลกระทบที่จะก่อให้เกิดปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) นั้น คงน้อยลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า มีสินเชื่อ 2 ประเภท ที่ธปท.ติดตามดูอย่างใกล้ชิด คือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ กับ สินเชื่อเพื่อซื้ออาคารชุด(คอนโดมิเนียม) โดยการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2555 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 39% ขณะที่สินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดมิเนียมเติบโตที่ 24.4%
"ถามว่าเราห่วงอะไรหรือไม่ ก็ยังไม่ห่วงมากนัก เพียงแต่ที่เราตามดูเป็นพิเศษ คือ สินเชื่อรถยนต์กับคอนโด แต่แม้ว่าเราจะตามดูใกล้ชิด ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดี ซึ่งวิธีการติดตามดูของเราก็มีหลายแบบ มีทั้งการคุยกับแบงก์พาณิชย์ หรือคุยกับผู้ประกอบการโดยตรง เพราะเราต้องมอนิเตอร์หลายๆ ด้าน เพื่อให้มีข้อมูลหลากหลายในการวิเคราะห์"นายอานุภาพกล่าว
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อในปี 2556 นั้น นายอานุภาพ กล่าวว่า น่าจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภค เนื่องจากยอดจองซื้อรถยนต์คันแรกที่ยังไม่ได้รับการส่งมอบอีก 7 แสนคัน จะทยอยส่งมอบในปีนี้ ซึ่งก็ทำให้แนวโน้มสินเชื่อโดยรวมขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพียงแต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะมากหรือน้อยแค่ไหน
"ถ้าดูทิศทางในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าสินเชื่ออุปโภคบริโภค มีระดับการเติบโตกว่าสินเชื่อธุรกิจมาหลายปีแล้ว และแนวโน้มก็น่าจะเป็นเช่นนั้นอยู่ จากโครงการรถยนต์คันแรก"นายอานุภาพกล่าว
ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้น เขากล่าวว่า ในปี 2555 มียอดคงค้างของเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.54 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2554 จำนวน 1.19 หมื่นล้านบาท ทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.3% ลดลงจากปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 2.7% โดยยอดเอ็นพีแอลที่ลดลงนั้น เป็นผลจากการรับชำระหนี้ การตัดหนี้สูญและการขายหนี้เอ็นพีแอลในส่วนของสินเชื่อธุรกิจเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ(Delinquent Loan) ในปี 2555 เพิ่มขึ้น 2.3 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 2.43 แสนล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นทั้งในสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมโลหะขึ้นมูลฐาน สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ด้วยฐานของสินเชื่อที่ขยายตัวทำให้ Delinquent Loan ต่อสินเชื่อรวมยังทรงตัวที่ 2.2%
"เท่าที่ตรวจสอบมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ พบว่ามีความระมัดระวังที่สูงอยู่ แม้กระทั่งสินเชื่อรถยนต์ที่โตมากๆ เขาก็ไม่ได้ลดมาตรฐานการปล่อยลง บางแบงก์มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นด้วย เพราะมีการเติบที่เยอะมาก และแม้คุณภาพสินเชื่อยังดี แต่แบงก์ก็ระวังและคำนึงถึงความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก จึงได้กันเงินสำรองเพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองที่ต้องกันตามกฎหมายเพิ่มขึนเป็น 157.2%"
สำหรับผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในปี 2555 มีกำไรสุทธิรวม 1.73 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.04 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21.2% โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียม เช่น ค่านายหน้าธุรกิจประกันภัยและค่าบริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ประกอบกับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 23%
ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย(ROA) เพิ่มขึ้นเป็น 1.2% และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น(ROE) เพิ่มขึ้นเป็น 9.5% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย(NIM) ทรงตัวที่ 2.5%
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน