สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เอเชียล้อมคอกการเงินป้องปั่นดอกเบี้ย เสริมเชื่อมั่นแบงก์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ต้องยอมรับว่า เมื่อการเดินหน้าตรวจสอบภาคธนาคารต่างๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้เผยให้เห็นปัญหาความไม่โปร่งใสของภาคธนาคารเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บรรดารัฐบาลในภูมิภาคเอเชียจึงเริ่มตระหนักได้ว่า ข่าวอื้อฉาวดังกล่าว โดยเฉพาะกับการที่ธนาคารยักษ์ใหญ่ละเมิดกฎอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคาร ของลอนดอน หรือที่รู้จักกันดีในนามดอกเบี้ยไลบอร์ จนทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาในภาคธนาคารอาจส่งผลสะเทือนความเชื่อมั่นธนาคารใน ภูมิภาค

และกลายเป็นทั้งแรงกดดันและแรงผลักดันที่ทำให้รัฐบาลทั่วเอเชียเร่งเดิน หน้าปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการตรวจสอบดูแลการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระหว่าง ธนาคารอย่างคึกคัก เพื่อป้องกันและเสริมสร้างความน่าเชื่อถือในภาคธนาคารของตนเองในขณะนี้

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ธนาคารหลายแห่งในเอเชียได้เห็นบทเรียนสำคัญและเริ่มหันมาสร้างมาตรฐาน ป้องกันไม่ให้ความเชื่อมั่นของภาคธนาคารสั่นคลอน โดย ยูริ โยชิดะ ผู้อำนวยการด้านการจัดอันดับสถาบันการเงินของ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ประจำกรุงโตเกียว ระบุว่า ธนาคารหลายแห่งในเอเชียได้เปลี่ยนเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการกำหนดอัตราดอกเบี้ย อนุพันธ์ไปเป็นเกณฑ์ที่กำหนดโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารด้วยกันเอง ตามปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารส่วนใหญ่จะกำหนดโดยการพิจารณา ของคณะกรรมการ หรือคณะทำงานจากบรรดาธนาคารที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างความเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันไม่ให้ความเชื่อมั่นของภาคธนาคารในภูมิภาคเหือดหาย เช่น หน่วยงานด้านการเงินของญี่ปุ่น (เอฟเอสเอFinancial Services Agency) ซึ่งทำหน้าที่ออกกฎระเบียบและดูแลการทำงานของสถาบันการเงินทั้งหมดภายใน ประเทศ จะกำหนดบทลงโทษต่อธนาคารอาร์บีเอสโทษฐานหละหลวมต่อหน้าที่ในอีกไม่กี่เดือน ข้างหน้า ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าบทลงโทษดังกล่าวน่าจะเกี่ยวเนื่องตั้งแต่การสั่งให้ปรับ ปรุงพัฒนาการดำเนินงานของธนาคารไปจนถึงการระงับการค้าบางส่วนของธนาคารอาร์ บีเอสในญี่ปุ่น

ด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินแห่งสิงคโปร์ (เอ็มเอเอสThe Monetary Authority of Singapore) ก็เริ่มเดินหน้าตรวจสอบระบบไซบอร์ (Sibor) อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารของสิงคโปร์ที่กำหนดโดยคณะทำงานจากหลายๆ ธนาคารเช่นเดียวกับไลบอร์อย่างเข้มงวด รวมถึงเกณฑ์อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างธนาคารอื่นๆ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ธนาคารหลายแห่งได้ให้นักค้าเงินตราแลกเปลี่ยนในสังกัดของตนเองลาหยุดในช่วง เวลาที่มีการตรวจสอบ

ขณะที่ธนาคารกลางของมาเลเซีย ได้สั่งให้ธนาคารภายในประเทศของตนเองอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดขึ้นภาย ในประเทศเท่านั้น แทนที่จะอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนรายวันซึ่งกำหนดโดยบรรดาธนาคารในสิงคโปร์ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของสิงคโปร์ สั่งให้มีการตรวจสอบบรรดาผู้ค้าเงินตราต่างประเทศของตนเองว่า มีความพยายามควบคุมระบบอัตราดอกเบี้ยหรือไม่

และล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางแห่งฮ่องกงประกาศ จัดการลิดรอนอำนาจการกำกับตรวจตราด้านการเงินจากสมาคมธนาคารแห่งฮ่องกง โดยโอนอำนาจดังกล่าวไปให้กับสมาคมตลาดอนุพันธ์ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการเงินแห่งฮ่องกง (เอชเคเอ็มเอ Hong Kong Monetary Authority) แทน

นอกจากนี้ ธนาคารกลางแห่งฮ่องกงยังระบุว่า จะยุติการใช้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารซึ่งตลาดส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้ ขณะที่ในเดือน ธ.ค. เอชเคเอ็มเอเพิ่งจะสั่งให้ตรวจสอบธนาคารยูบีเอส เอจี ว่ามีความพยายามควบคุมอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมของฮ่องกง หลังได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ต่างชาติเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการ ประพฤติมิชอบของธนาคารดังกล่าว

เรียกได้ว่า เป็นความพยายามที่นักวิเคราะห์ลงความเห็นตรงกันว่า ล้วนเป็นไปเพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม ระหว่างธนาคาร ทั้งของไฮบอร์ (ฮ่องกง) ไทบอร์ (ญี่ปุ่น) และไซบอร์ (สิงคโปร์) ทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน ก็เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันความผิดพลาดหรือเรื่องอื้อฉาวแบบกรณีของอัตราดอกเบี้ยไลบอร์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

อลัน อีวินส์ ที่ปรึกษากฎหมายจากเอลเลน แอนด์ โอเวอรี ในฮ่องกง ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการสืบสวนตรวจสอบระเบียบกฎเกณฑ์กับทางธนาคาร ยอมรับว่า มาตรการของเอชเคเอ็มเอสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนที่จะรักษา เสถียรภาพของเรือท่ามกลางความคลางแคลงใจที่อาจมีต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ของฮ่องกง

“และเป็นการแสดงให้เห็นความอุตสาหะของฮ่องกงที่จะปรับปรุงพัฒนาให้ได้ตาม มาตรฐานสากล พร้อมๆ กับการแสดงให้เห็นความเข้มงวดในการควบคุมดูแลประเด็นอ่อนไหวต่างๆ ของฮ่องกง” อีวินส์ แสดงความเห็น

ความเคลื่อนไหวของฮ่องกงในครั้งนี้ เป็นไปตามคำแนะนำของ มาร์ติน วีธเลย์ สมาชิกองค์กรที่ดูแลสถาบันการเงินทั้งหมดในอังกฤษ (เอฟเอเอส) ซึ่งเคยออกกฎให้กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และการซื้อขายล่วงหน้าแห่ง ฮ่องกง (The Securities and Futures Commission) และยังมีบทบาทสำคัญในการร่างแนวทางการกำหนดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่าง ธนาคารของคณะกรรมการไอโอเอสซีโอ

ทั้งนี้ เป็นที่ยอมรับกันดีในหมู่นักการธนาคารทั้งหลายว่า แนวทางของ วีธเลย์ ที่ให้สมาคมนายธนาคารแห่งอังกฤษลดบทบาทดูแลอัตราดอกเบี้ยไลบอร์ ถือเป็นกฎทองสำคัญที่ใช้เป็นมาตรฐานสำหรับการร่างกฎระเบียบการควบคุมดูแล อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมทั้งหมดของภาคธนาคารในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ทว่า แม้กระแสสืบสวนธนาคารและภาคการเงินในหลายประเทศทั่วโลกจะเป็นไปอย่างเข้มข้น แต่นักวิเคราะห์ยอมรับว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลนโยบายการเงินการธนาคารไม่ ค่อยจะกระตือรือร้นสักเท่าไรนัก สังเกตได้จากการออกมาตรการสนับสนุนระบบการติดตามตรวจสอบการกำหนดอัตรา ดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร

ทั้งนี้ ความเห็นจากนักล็อบบี้ส่วนหนึ่ง ระบุชัดว่า การเคลื่อนไหวเพื่อยกเครื่องภาคธนาคารในภูมิภาคเอเชียล้วนอยู่ในลักษณะของ การรอให้องค์กรคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์นานาชาติ (ไอโอเอสซีโอ – International Organization of Securities Commission) ตีพิมพ์คู่มือเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร ซึ่งมีกำหนดจะตีพิมพ์ในเดือน เม.ย.นี้

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์หลายสำนัก ยอมรับว่า ด้วยขนาดของตลาดการเงินในเอเชียที่เล็กกว่าและมีสภาพคล่องน้อยกว่าตลาดการ เงินในสหรัฐและยุโรป ส่งผลให้ความวิตกกังวลว่าจะมีการควบคุมอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารภายใน ภูมิภาคไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความพยายามที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความน่าเชื่อถือ ให้กับภาคธนาคารของประเทศนั้นๆ ขณะเดียวกันก็เป็นแรงกระทุ้งสำคัญให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งยังคงล่าช้าหรือนิ่งเฉย ให้เร่งปฏิรูปภาคธนาคารของตนเอง ก่อนที่จะเกิดเรื่องอื้อฉาวบานปลายจนยากเกินแก้ไขเสียแล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เอเชีย ล้อมคอก การเงินป้อง ปั่นดอกเบี้ย เสริมเชื่อมั่น แบงก์

view