จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วีระศักดิ์ พงศ์อักษร
"เกมการปะทะกัน ระหว่างกระทรวงการคลัง กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ดูจะเปิดหน้าชกกันแล้ว
และยากที่จะหารือกันได้ลงตัว เพราะว่าการเจรจาไม่ได้อยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ แต่อยู่บนความไม่เชื่อใจ และแบงก์ชาติเชื่อว่าทุกอย่างที่กระทรวงการคลังตั้งโจทย์และส่งหนังสือมายังประธานบอร์ดแบงก์ชาตินั้น เป้าหมายอยู่ที่ปลด ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ และแก้ไข พ.ร.บ.แบงก์ชาติ นั่นเอง"
การปะทะกัน ระหว่าง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง ที่มี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานแบงก์ชาติ เป็นกองสนับสนุน กับอีกฝ่าย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ไม่ได้พึ่งเริ่มต้น แต่ครั้งนี้อาจจะเป็นปลายทางของความขัดแย้ง ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องล่าถอย
เกมที่ถูกบัญชาการจาก "คนไกล"...กับการแทรกซึมธนาคารกลาง ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เครือข่าย "อำนาจใหม่" ยังเข้าจัดการไม่เบ็ดเสร็จ ซึ่งนั่นรวมถึงกระบวนการศาล อีกสถาบันหนึ่ง ที่ยังยากต่อการเข้าแทรกแซง ขณะที่หลายหน่วยงานของรัฐถูก "หยิบ" มาใช้เพื่อเกมการเมือง มากกว่าที่จะทำหน้าที่รับใช้ประชาชน กับผู้ที่จ่ายเงินเดือนให้กับพวกเขา
กิตติรัตน์ และ ดร.วีรพงษ์ ถึงวันนี้ น่าจะเปิดเผยให้ "ตรงจุด" ไปเลยว่า เป้าหมายอยู่ที่เสนอคณะรัฐมนตรี ปลด ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล โดยยกเหตุของอัตราดอกเบี้ยสูง เงินทุนไหลเข้า แบงก์ชาติขาดทุนเพิ่มขึ้น มาเป็น "พยาน" หรือหลักฐานความชอบธรรม ในพันธกิจที่ "รับมาแล้ว"
เมื่อสองสัปดาห์ก่อน มีคณะทีมเศรษฐกิจกลุ่มหนึ่ง เดินทางไปสิงคโปร์ พบกับอดีตผู้นำของไทย...ไม่มีใครทราบได้ว่า "เขา" หารือประเด็นใดกันบ้าง อาจจะเกี่ยวข้องกับการปรับคณะรัฐมนตรี ก็เป็นได้ แต่เมื่อดูจากรายชื่อบุคคลที่ร่วมเดินทางแล้ว เชื่อได้ว่าน่าจะมีประเด็นแบงก์ชาติเกี่ยวข้องแน่ๆ
หลายคนอาจสงสัยว่าการปลดผู้ว่าการ ธปท. ตามกฎหมายใหม่ พ.ร.บ.ธปท. ปี 2551 สามารถทำได้หรือ? ...เรื่องนี้หากกางกฎหมายดู มาตรา 25 (1) กับ มาตรา 28/19 (5) ก็คงต้องช่วยส่งกำลังใจแรงๆ ไปยังผู้ว่าการ ธปท. โดยเฉพาะเมื่อผูกโยงเรื่องนี้เข้ากับผลการดำเนินงานของ ธปท. ที่มียอดขาดทุนจำนวนมาก
มาตรา 25 (1) ว่าด้วยเรื่อง บทบาทของคณะกรรมการ ธปท. นั้น กำหนดให้ คณะกรรมการมีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดำเนินการและการดำเนินงานของธปท. รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของผู้ว่าการ ธปท.
ส่วน มาตรา 28/19 (5) ระบุว่า ตำแหน่ง "ผู้ว่าการ ธปท." นอกจากจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว ยังสามารถพ้นจากตำแหน่งได้ต่อเมื่อ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก โดยคำแนะนำของรัฐมนตรี หรือ การเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะว่าบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ เพียงแต่มติดังกล่าว ต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกไว้อย่างชัดเจน
การปลด "ผู้ว่าการ ธปท." ออกจากตำแหน่ง ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากก็คือ ต้องตอบคำถามของ "สังคม" ให้ได้เช่นกันว่า เพราะอะไร? ...เพราะอย่าลืมว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา มีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายของธปท. และถึงแม้ว่า ธปท. จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานบ้าง แต่ก็เป็นผลขาดทุนที่เกิดจากการรักษาเสถียรภาพการเงินในประเทศ ซึ่งธนาคารกลางอื่นในอีกหลายประเทศ ก็ประสบภาวะเดียวกัน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน