จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
ในที่สุดกระทรวงการคลังก็ต้องเข้าควบคุมกิจการของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) หลังจากที่ทั้งสองธนาคารมีหนี้เสียบักโกรก ถึงขั้นกองทุนติดลบกินทุนเข้าเนื้อมากขึ้นทุกวัน
สถานะของทั้งสองแบงก์ถือว่าอยู่ในขั้นโคม่า เอสเอ็มอีแบงก์มีหนี้เสียสูงถึง 3.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 40% ของหนี้ทั้งหมด ส่งผลให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ติดลบไปแล้ว 0.95% ต้องการใช้เงินเพิ่มทุนปั๊มชีวิตอย่างน้อยถึง 6,000 ล้านบาท
ขณะที่ไอแบงก์อาการก็แย่ไม่ต่างกัน มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 30% ของหนี้ทั้งหมด ทำให้เงินกองทุนบีไอเอสติดลบถึง 5% ต้องการเงินเพิ่มทุนเพื่อให้พ้นจากวิกฤตสาหัสสากรรจ์นี้ไปให้ได้ถึง 1.4 หมื่นล้านบาท
แนวโน้มของทั้งสองแบงก์ในระยะสั้นถือว่าทรงกับทรุดไม่มีทางดีขึ้น เพราะปัญหารุมเร้าหลังจากหนี้เสียโผล่ขึ้นมาจำนวนมาก ทำให้คนขาดความเชื่อมั่นในฐานะของธนาคาร ผู้ฝากเงินเริ่มตีจาก ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่องไม่มีเงินปล่อยกู้ การระดมสร้างสภาพคล่องของธนาคารในช่วงนี้ทำให้ต้องแบกต้นทุนสูงกว่าปกติ
ขณะที่การปล่อยสินเชื่อใหม่ก็ทำไม่ได้ เพราะทั้งจากเงินขาดมือ ลูกหนี้ไม่มาขอสินเชื่อ สวนทางกับหนี้เก่าที่หลุดชั้นเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น ทำให้หนี้เสียของแบงก์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สถานการณ์ที่ย่ำแย่ ทำให้กระทรวงการคลังนั่งไม่ติด เข้าควบคุมกิจการของทั้งสองแบงก์โดยการส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปประกบการทำ งานของธนาคารตามแผนฟื้นฟูชนิดวันต่อวัน และให้มีการรายงานกระทรวงการคลังแบบทันทีทันใดหากแบงก์ไม่สามารถดำเนินการ ตามแผนฟื้นฟูที่วางไว้ได้ หรือมีปัญหาอุปสรรคทำให้ฐานะแบงก์แย่ไปกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม การปล่อยปัญหาหนี้เสียของทั้งสองแบงก์คาราคาซังมานาน จนกลายเป็นช้างตายสองตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด การต้องใช้เงินภาษีถึง 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าไปอุ้ม 2 แบงก์รัฐ ที่มีหนี้เสียรวมกันถึง 8 หมื่นล้านบาท ในยามที่รัฐบาลถังแตก การอัดเงินเข้าไปช่วยเหลือเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย
นอกจากนี้ คลังยังผวาว่าการเพิ่มทุนเพื่อแก้ปัญหาทั้งสองแบงก์รัฐ จะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ใส่เงินเข้าไปก็ไปปล่อยสนองนโยบายรัฐบาลเป็นหนี้เสีย ไม่ต่างอะไรกับการเอาเงินภาษีไปแจกชาวบ้านผ่านเอสเอ็มอีแบงก์และไอแบงก์ เพราะที่ผ่านมากระทรวงการคลังก็เพิ่มทุนให้กับสองธนาคารนับรวมกันกว่า 1 หมื่นล้านบาท ก็ไม่สามารถแก้ไขหนี้เสียให้ดีขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น กระทรวงการคลังจึงต้องยอมเจ็บไม่เพิ่มทุนให้ทั้งสองแบงก์ เพื่อส่งทีมเข้าไปสางหนี้เสียของทั้งสองแห่งเป็นเวลา 6 เดือน ให้ได้ระดับหนึ่งก่อน ว่ามีการทำตามแผนฟื้นฟูและพยายามแก้ไขปัญหาจริงหรือไม่ เพื่อสกัดวัฒนธรรมขอเงินภาษีไปล้างหนี้เสีย และปล่อยหนี้ใหม่ให้เป็นหนี้เสียเพื่อจะได้ขอเงินภาษีไปล้างผิดอีกเป็นงูกิน หางแก้ไม่รู้จักจบ
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาของกระทรวงการคลัง ทำให้วิกฤตแบงก์ลามลึกและยากแก้ไข เพราะหากเทียบมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อเงินกองทุนบีไอเอสต่ำกว่า 3% ก็ต้องส่งคนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการ มีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารแล้ว
แต่สำหรับเอสเอ็มอีแบงก์และไอแบงก์ คลังเห็นสัญญาณหนี้เสียและเงินกองทุนติดลบมานานแล้ว แต่กลับไม่ดำเนินการอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ปล่อยให้มีการดำเนินการปกติจนถึงทุกวันนี้ทำให้การแก้ปัญหายิ่งทำยิ่งแย่ลง
ซ้ำร้าย กระทรวงการคลังเองยังออกมาส่งสัญญาณผิด แม้แต่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่ออกมาระบุว่า แบงก์รัฐเงินกองทุนติดลบไม่เสียหายไม่เป็นไร เพราะรัฐบาลดูแลผู้ฝากเงินให้หมด ขณะที่แบงก์ได้รับความเสียหายจากการปล่อยกู้ตามนโยบายของรัฐบาลก็จะชดเชยให้
ทัศนคติเช่นนี้นอกจากไม่ทำให้แบงก์รัฐพัฒนา ดีขึ้นแล้ว ยังนิยมบริหารแบงก์บนความเสี่ยง เพราะไม่ต้องกลัวเสียหาย เพราะมีรัฐบาลก็ควักกระเป๋าจ่ายหมกซุกความเสียหายให้อยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ การเข้าควบคุมเอสเอ็มอีแบงก์และไอแบงก์ของกระทรวงการคลัง ก็เป็นไปแบบสุกๆ ดิบๆ ครึ่งๆ กลางๆ ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ได้ผล
ฐานะที่ย่ำแย่เช่นนี้ กระทรวงการคลังต้องใช้ความเด็ดขาดเข้าไปควบคุมกิจการทั้งหมด การยกเครื่องกรรมการหรือผู้บริหาร เพื่อส่งคนที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้าไปแก้ปัญหา เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน
การควบคุมแบงก์รัฐ ที่ทำเพียงแค่ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยดูการทำงานไม่มีอำนาจตัดสินใจหรือ สั่งการอะไรได้ ก็เป็นแค่การสร้างละครตบตาพยายามเตะถ่วงเวลาให้แบงก์รัฐหาทางแก้ปัญหาแบบซุก หนี้เหมือนที่ผ่านมา
การให้เหตุผลว่าต้องการให้เวลาแบงก์รัฐแก้ตัวทำให้ดีขึ้นก่อน ก็ไม่มีน้ำหนัก เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว กรรมการและผู้บริหารชุดปัจจุบันล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันมานานว่า ปัญหาของเอสเอ็มอีแบงก์และไอแบงก์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ธปท.เข้าไปตรวจพบความไม่ชอบมาพากล และการลงบัญชีหนี้เสียที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงเป็นเวลานานกว่าปีแล้ว แต่กระทรวงการคลังก็ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะไม่อยากให้เข้าเนื้อตัวเอง เพราะความเสียเกิดจากการปล่อยนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ ข้อมูลการตรวจสอบของ ธปท. ยังถูกการเมืองนำไปใช้เพื่อทำลายผู้บริหารฝ่ายตรงข้าม ในกรณีของไอแบงก์ ธปท.เข้าไปตรวจเจอ คลังก็ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ แต่ผู้บริหารขณะนั้นมีความใกล้ชิดเจ๊ใหญ่เจ๊เล็กทางฝ่ายการเมือง ทำให้ผลการตรวจสอบของคลังไม่พบการทุจริต
แต่ในฟากเอสเอ็มอีแบงก์ ผลตรวจสอบของ ธปท.ถูกใช้เป็นเครื่องปลดผู้บริหารออกจากตำแหน่ง ทำให้การทำงานของแบงก์หยุดชะงักเพราะไม่มีใครกล้าทำอะไร เพราะกลัวถูกเล่นงานเข้าคุกเข้าตะราง ทำให้ฐานะของแบงก์ยิ่งวันยิ่งต่ำลงทุกวัน
การที่คลังยังปล่อยให้ทั้งสองแบงก์แก้ปัญหาแบบเอาดีใส่ตัว เอาชั่วโยนใส่คนอื่น กลายเป็นปมปัญหาทำให้แบงก์ทั้งสองแห่งทรุดหนักมากกว่านี้เข้าไปอีก เพราะตอนนี้ไอแบงก์ก็จะตั้งกรรมการสอบเอาผิดผู้บริหารชุดเก่า ขณะที่เอสเอ็มอีแบงก์ก็เตรียมฟ้องศาลเอาผิดกับผู้บริหารที่ถูกปลดไปก่อนหน้า นี้ เพื่อเป็นการกลบเรื่องความเสียหายไม่ใช่มาจากนโยบายรัฐที่ผิดพลาด แต่มาจากความผิดพลาดส่วนบุคคลของผู้บริหาร
การปล่อยให้ทั้งสองแบงก์แก้ปัญหาแบบเป็นก๊กเป็นเหล่าอย่างนี้ ผลที่ตามมาทำให้แบงก์หยุดชะงักเดินหน้าไม่ได้ เพราะทุกคนจะป้องกันตัวไม่ทำอะไร เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นงานได้ แบงก์ก็ตกอยู่ในสภาพกลายเป็นผีดิบไม่มีชีวิต ไม่มีเงินฝาก ไม่ปล่อยสินเชื่อ ไม่แก้หนี้เสีย นอนรอวันให้กระทรวงการคลังใส่เงินมาชุบชีวิต หากคลังไม่ใส่เงินก็ต้องกลายเป็นแพะรับบาป ทำให้แบงก์ล้มเพราะไม่มีทุน
การแก้วิกฤตเอสเอ็มอีแบงก์และไอแบงก์ จึงต้องตกอยู่ในวังวนของปัญหาที่เพิ่มขึ้นแบบปัญหาเก่าแก้ไม่ได้ปัญหาใหม่ เข้ามาถม ยิ่งแก้ยิ่งทรุด หนี้ท่วมธนาคาร เงินกองทุนติดลบมากขึ้น
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน