สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หนี้เน่า iBank ใครรับผิดชอบ

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

คอลัมน์ สามัญสำนึก


ขณะที่รัฐบาลนำโดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดินสายเปิดประเด็นถล่มการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ว่านำพาซึ่ง "เงินร้อน" ทะลักเข้าประเทศ สำหรับ ดร.วีรพงษ์แม้จะสวมหมวกประธานบอร์ด ธปท. แต่ก็ทำงานแท็กทีมกับรัฐมนตรีคลังกันอย่างลงตัว แบบเล่นเกมไล่ถล่ม แบงก์ชาติประเด็นการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยสูง สร้างความเสียหายให้กับ ธปท. จนทำให้เงินกองทุนของ ธปท. ณ สิ้นปี 2555 ติดลบ 5.3 แสนล้านบาท พร้อมระบุว่านโยบายดอกเบี้ยสูงดึงดูดให้เงินร้อนไหลเข้าประเทศจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ เข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนึ้ และอาจลามไปถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ จนทำให้เกรงว่าจะซ้ำรอยวิกฤตการเงินปี 2540

แม้ขณะนี้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.จะยังอยู่ในความสงบไม่ได้ออกมาตอบโต้ แต่รับรองว่าเร็ว ๆ นี้ผู้ว่าการ ธปท.ออกมาสวนหมัดเป็นชุดแน่นอน

ส่วน อีกฟาก ปัญหาหนี้เน่าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่อยู่ภายใต้การดูแล ของกระทรวงการคลังอย่าง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ก็เป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เพราะเมื่อ 2 แบงก์รัฐมีปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) พุ่งสูงกว่า 30% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท จนต้องมาขอให้กระทรวงการคลังใส่เงินเพิ่มทุน

โดยเฉพาะกรณีของ "ไอแบงก์" ที่ก่อตั้งในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กำลังจะครบ รอบ 10 ปีในเดือนมิถุนายน 2556 พบว่าธนาคารมีเอ็นพีแอลมากถึง 39,000 ล้านบาท ด้วยสัดส่วน 32% ของสินเชื่อ ทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS ของธนาคารลงมาติดลบ 5.18%

ทำให้ขณะนี้ไอแบงก์อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ จนต้องขอเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังสูงถึง 1.37 หมื่นล้านบาท

จึง มีคำถามว่า ทำไมธนาคารที่วิสัยทัศน์ว่าเพื่อเป็นช่องทางให้ชาวไทยมุสลิมเข้าถึงระบบการ เงินอย่างมีประสิทธิภาพที่มีอายุไม่ถึง 10 ปี จึงสร้างความเสียหายได้มากขนาดนั้น

จากที่ ธปท.เข้าไปตรวจสอบไอแบงก์พบว่า ระบบการจัดชั้นหนี้ของธนาคารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดไว้ ซึ่งเปิดช่องให้เกิดการทุจริตภายในองค์กร จากการตรวจสอบของ ธปท.พบว่า ลูกหนี้จำนวนมากที่ไอแบงก์จัดชั้นว่าเป็นลูกหนี้ปกตินั้น เป็นลูกหนี้ที่มีปัญหาอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน และเข้าข่ายจัดชั้นเป็นเอ็นพีแอล

โดยพบการทุจริตในไอแบงก์มีหลากหลาย รูปแบบ ทั้งปัญหาที่หลักทรัพย์ค้ำประกันไม่มีคุณภาพ แต่รับรองราคาประเมินหลักประกันสูงเกินความเป็นจริง ทั้งการเก็บค่า

หัว คิวในการปล่อยสินเชื่อ ไปจนถึงการปลอมแปลงเอกสารทั้งสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านเพื่อขอสินเชื่อ เรียกว่าซ้ำรอยประวัติศาสตร์กรณีของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ หรือบีบีซี ที่มีการทุจริตจนทำให้แบงก์เจ๊ง

นอกจากนี้ เอกสารการตรวจสอบของ ธปท. ยังพบการโยงใยการทุจริตของอดีตผู้บริหารไอแบงก์ค่อนข้างชัดเจน แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ตั้งกรรมการสอบสวนอดีตผู้บริหารไอแบงก์ กรณีมีการปล่อยสินเชื่อไม่ชอบมาพากล แต่ผลสอบที่ออกมากลับไม่พบอะไรในกอไผ่ "ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ" นั่งเก้าอี้เอ็มดีไอแบงก์จนครบวาระเมื่อปลายปี 2555 และส่งไม้ต่อให้ นายธานินทร์ อังสุวรังษี อดีตผู้บริหารบริษัทแคปปิตอล โอเค ลูกหม้อกลุ่มชินคอร์ปมานั่งเอ็มดีคนใหม่

ทั้ง นี้ มีการเล่าลือว่ากรณีทุจริตในไอแบงก์นั้นเกี่ยวข้องกับผู้มีบารมีมากอำนาจใน พรรคเพื่อไทย จึงทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในไอแบงก์ถูกกลบไว้ โดยที่ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ที่แน่ ๆ ภาระทุกอย่างจะมาตกอยู่กับประชาชนผู้เสียภาษี เพราะมาจบลงด้วยการกระทรวงการคลังใส่เงินเพิ่มทุน นี่หรือคือความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังในฐานะผู้กำกับดูแล


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หนี้เน่า iBank ใครรับผิดชอบ

view