ลด-ไม่ลดดอกเบี้ย เลือก'ค่าเงิน-ฟองสบู่'
โดย : ศรัณย์ กิจวศิน
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศึกคลัง-แบงก์ชาติ สงครามความคิด! ลด-ไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย ทางเลือกระหว่าง "ค่าเงิน-ฟองสบู่"
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ อาจเป็นการตัดสินใจที่ยากอีกหนึ่งครั้งสำหรับกนง.ที่ต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง “ลด” หรือ “ไม่ลด” อัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
เนื่องจากธปท.กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ออกมาเรียกร้องหลายครั้งให้ "ลดดอกเบี้ย"เพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า และเขียนจดหมายถึงประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)โดยตรง
ประเด็นลดดอกเบี้ยมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็น โดยผู้ที่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ยนโยบาย ให้เหตุผลว่าดอกเบี้ยปัจจุบัน เป็น “ตัวการหลัก” ที่ดึงดูดเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างประเทศให้เข้ามาเก็งกำไร ด้วยการกินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย เพราะสูงถึง 2.75% เทียบกับดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ ที่ 0.25%
อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทย) หนึ่งในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ มองว่า การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติรอบนี้ แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะครั้งนี้มีสัญญาณของการเก็งกำไรอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงควรใช้วิธีลดดอกเบี้ยลง เพื่อสกัดการเก็งกำไรตรงนี้ หรือไม่ก็ออกมาตรการที่เป็นลักษณะการจำกัดระยะเวลาการถือครองสินทรัพย์ในประเทศไว้อย่างน้อย 1 ปี
สาเหตุที่ เธอมองเช่นนั้นเพราะ ในช่วง 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงต่อเนื่อง และมีโอกาสพลิกเป็นขาดดุลในบางปีด้วย ดังนั้นตามพื้นฐานเศรษฐกิจแล้ว ค่าเงินบาทควรเคลื่อนไหวทรงตัวหรืออ่อนค่าลง แต่เงินบาทช่วง 1 เดือนมานี้กลับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสัญญาณชัดเจนว่าเกิดจากการเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ
"การลดดอกเบี้ยน่าจะเป็นวิธีที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด แต่ก็อาจมีผลข้างเคียง คือ ยิ่งไปกระตุ้นการใช้จ่าย เร่งการเติบโตของสินเชื่อ แต่ถ้าดูการเติบโตของสินเชื่อในขณะนี้จะเห็นว่า การเติบโตที่เร่งขึ้นมานั้นไม่ได้เกิดจากตัวสินเชื่อเอง แต่เกิดจากมาตรการของภาครัฐ ดังนั้นหากจะเลือกวิธีลดดอกเบี้ยลง ก็อาจต้องนำมาตรการอื่นมาใช้ควบคู่ไปด้วย เช่น มาตรการด้าน Macro Prudential หรือการกำกับดูแลผ่านสถาบันการเงิน"อุสรากล่าว
อีกหนึ่งความเห็นที่เสนอให้ แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ยนโยบายลง คือ พชรพจน์ นันทรามาศ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะเชื่อว่า “ดอกเบี้ย” คือตัวการสำคัญ ที่ทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างมาก เพราะดอกเบี้ยไทยเวลานี้ มีส่วนต่างกับดอกเบี้ยสหรัฐค่อนข้างมาก จึงดึงดูดให้เงินทุนเหล่านี้ไหลเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ เพื่อเก็งกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย
แต่ฝ่ายที่ “ไม่เห็นด้วย” มองว่า ดอกเบี้ยแม้เป็นหนึ่งในปัจจัยเร้าที่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่ก็เป็นเพียงแค่ปัจจัยรอง หรือ “น้ำจิ้ม” เท่านั้น เพราะ “เมนูหลัก” ที่จะเชื้อเชิญเหล่าเงินทุนเคลื่อนย้าย ให้เข้ามาหาผลตอบแทนจนอิ่มเอม คือ “ภาวะเศรษฐกิจ”
เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่าประเด็นเรื่อง “ดอกเบี้ย” กับ “อัตราแลกเปลี่ยน” อาจไม่ง่ายเหมือนในทฤษฎี เพราะถ้าย้อนไปดูในปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ(คิวอี) รอบ 2 ออกมา ตอนนั้นอัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ราวๆ 1.75% แต่ปรากฎว่า เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นถึง 6%
"ผมมองว่าปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า ที่เป็นตัวหลักๆ ในการดึงดูดเงินทุนเคลื่อนย้าย จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ก็ออกมาเติบโตได้ค่อนข้างดี แม้ว่าเราจะมีปัญหาในภาคการส่งออก ส่วนที่บอกว่าอยากให้ลดดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินทุนไม่ให้ไหลเข้านั้น ถามว่าต้องลดลงเท่าไรถึงจะได้ผล และผมเชื่อว่ายิ่งถ้าดอกเบี้ยลดลง ก็จะยิ่งทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น"
นอกจากนี้ “ฮ่องกง” มักเป็นประเทศที่ถูกหยิบยกขึ้นเปรียบเทียบในเรื่องของ “ดอกเบี้ย” กับ “อัตราแลกเปลี่ยน” โดยฮ่องกงถูกเรียกเป็นประเทศ “หัวมงกุฎ ท้ายมังกร” ..คำเรียก หัวมงกุฎ เพราะฮ่องกงผูกติดค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากต้องการอาศัยความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งทำให้ฮ่องกงต้องผูกอัตราดอกเบี้ยไว้กับสหรัฐด้วย อัตราดอกเบี้ยนโยบายของฮ่องกงจึงอยู่ในระดับเดียวกับสหรัฐที่ 0.25%
ส่วน “ท้ายมังกร” เป็นคำเปรียบเทียบสภาพเศรษฐกิจของฮ่องกงที่ค่อนไปทางจีน โดยเศรษฐกิจฮ่องกงมีความสัมพันธ์กับจีนค่อนข้างมาก และที่ผ่านมาเศรษฐกิจเติบโตได้ดีสวนทางกับเศรษฐกิจสหรัฐที่ฮ่องกงผูกค่าเงินเอาไว้ ..ด้วยเหตุนี้จึงมีเงินทุนไหลทะลักเข้าในฮ่องกงจำนวนมาก จนทางการฮ่องกงต้องข้าแทรกแซงในตลาดเงิน
นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้จึงมองว่า แม้ฮ่องกงมีอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% เท่าสหรัฐ แต่เงินทุนก็ยังไหลทะลักเข้าลงทุนจำนวนมาก นั่นก็เพราะ ฮ่องกงมีเศรษฐกิจที่เติบโตดี จึงเป็นที่มาของคำอธิบายว่า “ดอกเบี้ย” ไม่ใช่ตัวการหลักที่ดึงดูดเงินทุนเคลื่อนย้าย
แต่นักเศรษฐศาสตร์อีกกลุ่ม มองว่า กรณีนี้ถือเป็นคนละประเด็นกับไทย เพราะเงินที่ไหลเข้าฮ่องกง เป็นการเล่นเก็งกำไรว่า ฮ่องกง จะเลิกนโยบายผูกติดค่าเงินกับสหรัฐ ดังนั้นเป้าหมายจึงไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ย
อีกประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มไม่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ย เพราะ “ดอกเบี้ยแท้จริง” (ดอกเบี้ยนโยบายหักเงินเฟ้อ) ของไทยติดลบต่อเนื่องเป็นเวลานานในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552-ปัจจุบัน) จะเห็นว่าสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ราคาอสังหาริมทรัพย์ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ธปท. เกรงว่า หากดอกเบี้ยแท้จริงยิ่งติดลบ ความเสี่ยงการขยายตัวของ “ฟองสบู่”
แต่สุดท้าย ต้องดูว่ากนง.จะให้น้ำหนัก“ดอกเบี้ย”ต่อเงินทุนไหลเข้ามากน้อยแค่ไหน และมองความเสี่ยงจาก “ดอกเบี้ยแท้จริงที่ติดลบ” กับ “ฟองสบู่”อย่างไร
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน