จาก โพสต์ทูเดย์
สัมภาษณ์"ประสาร ไตรรัตน์วรกุล"กับความเห็นเรื่องนโยบายระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธปท.
ความขัดแย้งในแนวคิดการดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายดอกเบี้ยระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับกระทรวงการคลังถือว่ายัง คุกรุ่นจนทำให้หลายคนเริ่มกังวล
แต่ดูเหมือนว่า ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ประสารกล่าวว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างกันของธปท.และคลังในเรื่องการดูแลเงินทุนไหลเข้าและ ดอกเบี้ยนโยบายไม่กระทบความเชื่อมั่นในเชิงนโยบาย เนื่องจากการมีความเห็นที่ต่างกันไม่ถือเป็นความขัดแย้ง ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ
ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นได้กับธนาคารกลางของทุกประเทศ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ก็เคยเกิด แต่ปัญหาของความเห็นที่แตกต่างอยู่ที่ว่า จะหาข้อสรุปในเชิงสร้างสรรได้อย่างไร
“ตอนนี้ไม่ถือเป็นความขัดแย้ง การมีความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ การมองต่างก็มีข้อดี ช่วยให้กลับมาพิจารณาให้รอบคอบ ว่าที่เรากำลังทำอยู่มีอะไรผิดพลาดหรือไม่ ช่วยเตือน ธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ให้ดูปัจจัยต่างๆให้มากขึ้นและครบถ้วน ขึ้น” ประสารกล่าว
ประสาร กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงกระทรวงการคลังและธปท.เห็นตรงกันหลายเรื่อง เช่น เห็นว่าเงินที่ไหลเข้ามามากเป็นเงินจากการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของตะวันตก และค่าเงินบาทแข็งค่าเร็ว
ส่วนที่เห็นต่างกัน คือ คนหนึ่งเห็นว่า การปล่อยเงินเข้ามามากจะก่อให้เกิดฟองสบู่ในระบบ ขณะที่อีกคนเห็นว่า การที่ดอกเบี้ยต่ำ จะเป็นสาเหตุของการเกิดฟองสบู่
คนอาจจะสงสัยว่า สบู่คนละยี่ห้อหรือไม่จึงแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตามเงินเข้ามามาก ก็ต้องมีของให้ซื้อมาก ถ้าต้องการให้เงินน้อย ราคาก็ควรต่ำ แต่ถ้าราคาต่ำก้อาจทำให้การตีราคาสินทรัพย์สูงขึ้นซึ่งก่อให้เกิดฟองสบู่ได้
“ดอกเบี้ยถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินทุนไหลเข้า แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เงินทุนจะไหลเข้าหรือไม่มีผลจากหลายปัจจัย และมีเงินเข้าจากหลายช่องทาง โดยเวลาเงินทุนจะเคลื่อนย้ายไปไหนเขาดูจากปัจจัย เช่น ความเสี่ยงประเทศ ความเสี่ยงด้านนโยบายหรือกฎเกณฑ์ ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากสภาพคล่อง ผลตอบแทน อย่างกรณี กรีซผลตอบแทนดอกเบี้ยพันธบัตรสูงถึง 30% แต่ไม่มีคนซื้อ หรืออินเดีย 7% อินโดนีเซีย 5.75% แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆที่เงินทุนจะต้องดูด้วย” ประสารกล่าว
ประสาร กล่าวต่อว่า เงินทุนแต่ละประเภทก็เลือกเข้าในปัจจัยที่แตกต่างกันด้วย เช่น ดุลบัญชีเงินเดินสะพัด เงินกู้จากต่างประเทศ เงินกู้ที่เข้ามาลงทุนสร้างโรงงาน เงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น เงินที่เข้าลงทุนในพันธบัตร ซึ่งหากดูช่องที่เข้ามาเพราะดุลบัญชีเดินสะพัดและการกู้เงินมาจากต่างประเทศ ถ้าดอกเบี้ยไทยสูงก็ไม่แน่ว่าจะเข้ามาหรือไม่ ส่วนช่องทางที่มาสร้างโรงงานและมาซื้อลงทุนในตลาดหุ้น ถ้าดอกเบี้ยต่ำก็ไหลเข้ามาแน่ เพราะดอกเบี้ยต่ำราคาหุ้นจะสูงและต้นทุนการเงินต่ำลง
ส่วนการลงทุนในพันธบัตรถ้าดอกเบี้ยสูงก็คงไหลเข้ามา
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้าย และภาวะฟองสบู่จะใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการให้น้ำหนักและการมองประเด็น ถ้าให้น้ำหนักอย่างหนึ่งอาจเห็นว่าควรลด แต่ถ้าวางน้ำหนักอีกอย่างหนึ่งอาจจะมองอีกอย่าง
การตัดสินใจดอกเบี้ยต้องขึ้นกับความเห็นของกนง.ทั้ง 7 คน ว่าจะตัดสินใจอย่างไร เพราะแต่ละคนมีความเห็นแตกต่างกันได้
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมายอมรับว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ขณะนี้ก็เริ่มนิ่งขึ้นแล้ว แต่ในระยะต่อไปยังมีโอกาสที่เงินทุนจะไหลเข้ามาได้อีก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี ต่างจากเศรษฐกิจประเทศตะวันตกที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะฟื้นเมื่อไหร่
ขณะที่การดูแลค่าเงินบาททำได้หลายทาง คือ 1.ไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้แข็งค่าขึ้นเร็ว พอแข็งไปได้ระดับหนึ่งก็จะหยุด เพราะถ้าไม่ยั้งไว้ก็จะยิ่งเก็งกำไรมากขึ้น ซึ่งกว่าจะหยุดต้องใช้เวลา วิธีนี้ผู้ส่งออกกระทบมาก
2.การเข้าแทรกแซง ซึ่งวิธีนี้สร้างผลขาดทุนให้ ธปท.เพิ่ม แต่ธปท.ก็ต้องยอมรับการขาดทุนเพื่อลดแรงกระแทกที่จะต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ
3.การสร้างทางระบายออก ด้วยการผ่อนคลายให้มีเงินทุนไหลออกได้มากขึ้น
4.การจำกัดการไหลเข้าของเงินทุน ซึ่งการทำก็มีตั้งแต่เบาไปหาหนัก เช่น การลงทะเบียนเงินทุนเข้าและออกต้องรายงาน การไปกู้เงินในต่างประเทศเข้ามาต้องลงทะเบียน จำกัดเงินที่เข้ามาให้อยู่ในเวลาที่กำหนดเช่น อยู่ไม่ต่ำกว่า 1 ปี (โฮลเดอร์ พีเรียด) หรือการกันสำรองไว้จำนวนหนึ่งหากเงินเข้ามาในระยะเวลาสั้นกว่ากำหนด เช่นที่เคยทำที่ผ่านมา เข้ามา 100 บาท เก็บไว้ 30 บาท หรือมาตรการ 30% เป็นต้น
บทเรียนที่ผ่านมาทำให้ ธปท.มีจังหวะในการเข้าแทรกแซงมากขึ้น ไม่ได้เข้าไปรั้งไว้ทุกระยะ พยามแทรกแซงให้น้อยลง ไม่แทรกแซงเลยคงทำไม่ได้ เพราะต้องลดแรงกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทำให้ ธปท.มีผลขาดทุน แต่ไม่ใช่ว่า ธปท.ไม่สนการขาดทุน ธปท.ก็พยามลดการขาดทุน
แต่ตามหลักการและหน้าที่ ธปท.ไม่ได้วัดคุณภาพงานด้วยกำไรขาดทุน แต่วัดจากเสถียรภาพเศรษฐกิจว่าดีหรือไม่ ซึ่งถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวดี ค่าเงินก็จะแข็งค่าขึ้น ขณะที่งบดุลของ ธปท.จะขาดทุน แต่ถึงจะมีการขาดทุนก็ไม่ได้กระทบความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง เพราะธนาคารกลางประเทศอื่นก็มีขาดทุน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ แม้แต่ธนาคารกลางชิลีและสวิสที่มีความน่าเชื่อถือมากก็มีผลขาดทุนได้
ในกรณีที่ขาดทุน ธปท.เชื่อว่า จะไม่รบกวนเงินจากงบประมาณ ไม่รบกวนเงินภาษีของประชาชน เพราะถ้าต้องรบกวนขนาดนั้นแสดงว่า ต้องมีความเสียหายที่แท้จริงมากในระดับเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินในอดีต
แต่การขาดทุนธปท.ในปัจจุบันไม่ได้มากขนาดนั้น
ประสาร ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันจากงบในสิ้นปี 2555 ในส่วนของบัญชีฝ่ายกิจการธนาคาร ธปท.มีผลขาดทุนสะสมอยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาท แต่ถ้าคิดบัญชีสำรองพิเศษซึ่งอยู่ในทุนสำรองเงินตรามีกำไรสะสมอยู่ประมาณ 8 แสนล้านบาท ทำให้ดูโดยรวมแล้วยังไม่ใช่ผลขาดทุน
ส่วนสาเหตุที่ขาดทุนที่ผ่านมาเนื่องจากดอกเบี้ยรับที่นำเงินไปลงทุนใน ต่างประเทศได้ผลตอบแทนเพียง 2% ขณะที่ต้นทุนดอกเบี้ยรายจ่ายอยู่ที่ประมาณ 4% บวกกับการตีราคาในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นก็ทำให้ขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน