จุดเริ่มและจุดจบ ของ Ongoing Currency Wars
โดย : ดร.พีรพล ประเสริฐศรี
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่าประเด็นเรื่องของ “สงครามค่าเงิน” หรือหากแปลตรง ๆ ตัวจากคำภาษาอังกฤษว่า Currency Wars ก็คือ “สงครามเงินตรา”
ถูกนำขึ้นมาประเด็นอีกครั้งทั้งในเวทีระดับโลกไม่ว่าจะเป็น G7 หรือ G20 ที่กำลังดำเนินการประชุมในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ อันมีเหตุมาจากการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของเงินเยน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นไปตามนโยบายของ ซินโซะ อาเบะ (Shinzo Abe) นายกฯ ญี่ปุ่นคนใหม่ผู้ซึ่งชนะการเลือกตั้งมาอย่างถล่มทลายเมื่อปลายปีที่แล้ว
นายกรัฐมนตรี อาเบะ ประกาศไว้ชัดเจน เป็นนโยบายตั้งแต่ช่วงหาเสียงครับว่า หากชนะการเลือกตั้งจะมีนโยบายกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 2% ต่อปี (จากเดิม 1% ต่อปี) ซึ่งถ้าหากมีการต่อต้านจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan : BOJ) หรือ บีโอเจ ก็จะให้มีแก้กฎหมายบังคับให้บีโอเจ ยอมให้ได้ (Japan’s Abe issues ultimatum to BoJ, Financial Times, 23 ธันวาคม 2555) โดยนายอาเบะ ได้ประกาศจะส่งผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่ และรองผู้ว่าการอีก 2 คน เข้ามาแทน กลุ่มของนายมาซากิ ชิรากาวา ผู้ว่าคนปัจจุบันที่จะครบวาระ 5 ปีในเดือนเมษายนนี้
อย่างไรก็ดี ยังไม่ทันรอให้ครบวาระเลยครับ นายมาซากิ ชิรากาวา ผู้ว่าบีโอเจ ก็ได้ตัดสินใจประกาศจะลาออกล่วงหน้าก่อนครบวาระ เพื่อเปิดทางให้ นายอาเบะ สรรหาผู้ที่เหมาะสมซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นนานฮารุฮิโกะ คูโรดะ ผู้บริหารสูงสุดของธนาคารเพื่อพัฒนาแห่งเอเชีย (Asia Development Bank: ADB) หรือ เอดีบี คนปัจจุบัน
เป็นที่ทราบกันดีนะครับว่าประเทศญี่ปุ่น ประสบภาวะเศรษฐกิจแบบเงินฝืด Japanese-style Deflation Economy ตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 (พ.ศ. 2533) โดยมีเหตุมาจากการแตกของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์และฟองสบู่ในตลาดหุ้น แต่ทางการญี่ปุ่นในตอนนั้นมิยอมให้เกิดการ Clean up ของระบบการเงิน แต่เลือกที่จะอัดฉีดทั้งด้านการเงินและการคลัง ซึ่งในช่วง 20 ปีต่อมาก็ยังไม่สามารถนำพาญี่ปุ่นออกจากภาวะเงินฝืดนี้ได้อย่างชัดเจน ทำให้เป็นที่กล่าวกันว่าช่วงเวลาเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วง 2 ทศวรรษที่หายไปของญี่ปุ่น หรือ 2 Japan’s Lost Decades (อ่านรายละเอียดได้ในบทความของผมเรื่อง 2 ทศวรรษที่หายไป...ในถิ่นอาทิตย์อุทัย, กรุงเทพธุรกิจ 9 กันยายน 2553 ครับ)
เมื่อกล่าวถึงนโยบายการเงินในปัจจุบัน ทางการญี่ปุ่นได้ออกมาปฏิเสธนะครับว่าญี่ปุ่นมิได้มีนโยบายในการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน แต่การดำเนินนโยบายการเงินของบีโอเจ ตามนโยบายของนายชินโซะ อาเบะ แต่เป็นเพียงกำหนดนโยบายเงินเฟ้อเป้าหมาย หรือ Inflation Targeting ที่แบงก์ชาติหลาย ๆ ประเทศก็ได้ทำกัน
แต่เมื่อมาพิจารณาภาวะการซื้อขายในตลาดเงิน (Currency) นับตั้งแต่นายอาเบะ เข้ารับตำแหน่ง ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างทันตาเห็นครับ โดยค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงจาก 78 เยนต่อ 1 ดอลลาร์เมื่อช่วงตุลาคม ปี 2555 มาอยู่ที่ประมาณ 93.3 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ ณ วันที่ 13 ก.พ.หรือเป็นการอ่อนค่าลงถึงเกือบ 20 % ในช่วงเวลาเพียง 3 เดือน ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการของทฤษฎีอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity :PPP) ที่กล่าวไว้ว่า เมื่อประเทศใดมีอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ค่าเงินของประเทศนั้นย่อมอ่อนค่าลงไป
ในความเป็นจริง สงครามค่าเงิน หรือ Currency Wars หรือการแข่งกันให้ค่าเงินของประเทศตนอ่อนค่าลง (Competitive Devaluation) มิได้เพิ่งมาเริ่มต้นในช่วงนี้นะครับ แต่ได้มีจุดเริ่มและเกิดขึ้นมาอย่างเงียบๆ แล้วตั้งแต่ช่วงวิกฤตซับไพร์ม ซึ่งหลายประเทศมีแรงจูงใจที่จะแข่งกันทำให้ค่าเงินของประเทศตนอ่อนค่าลงเพื่อเป็นการเพิ่มการส่งออก เพิ่มการจ้างงาน รวมถึงเป็นการเพิ่มอัตราการโตของจีดีพีของประเทศนั้น ๆ โดยผู้แรกที่นำเอาคำว่า“Currency Wars” มากล่าวต่อสาธารณชนก็คือ รัฐมนตรีคลังของบราซิล กุยโด แมนเตก้า (Guido Mantega) ที่ออกมาบ่นว่า การแข่งกันให้ค่าเงินของแต่ละประเทศอ่อนค่าลง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกของบราซิล เมื่อวันที่ 27 กันยายน ปี 2553
ล่าสุด ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ปี 2556 แถลงการณ์ของที่ประชุม G7 ได้ออกมาก็เป็นไปอย่างที่ญี่ปุ่นได้กล่าวไว้ล่วงหน้า ก่อนเข้าประชุมครับว่า ที่ประชุม G7 ยืนยันครับว่านโยบายการเงินและการคลังของประเทศสมาชิกจะยังคงมุ่งเน้นถึงวัตถุประสงค์ภายในของแต่ละประเทศด้วยเครื่องมือที่ไม่เป็นการตั้งเป้าไปที่อัตราแลกเปลี่ยน
การที่ไม่มีการตระหนักถึงว่าได้มี Currency Wars เกิดขึ้นแล้วของกลุ่ม G7 ในครั้งนี้ คงเป็นแค่จุดเริ่มครับที่แต่ละประเทศที่มีแรงจูงใจที่จะทำ Competitive Devaluation ด้วยเครื่องมือใดก็แล้วแต่ ซึ่ง “ผล” ที่จะตามมาของ International Currency Wars ในครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นภาวะเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นไปทั่วโลก (Worldwide Inflation)
แต่หากจะถามต่อไปถึง “จุดจบ” หรือ Endgame ของ Currency Wars นั้น ผมขอเห็นด้วยกับแนวคิดของ Jim Rickards (ผู้แต่งหนังสือ Currency Wars: the making of the next global crisis) ผู้ซึ่งได้ทำนาย Endgame ของ Currency Wars ไว้เป็น 4 แนวทางได้แก่
1.การมีเงินสกุลสำรองของโลกเพิ่มขึ้นอีกหลายสกุลนอกเหนือจากเงิน US Dollar (Multiple Reserve Currencies)
2.เงินสำรองของโลกเปลี่ยนไปเป็น Special Drawing Rights ของ IMF แทน US Dollar
3.การกลับไปใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของ Gold Standard
4.เกิดภาวะสับสนอลหม่าน หรือ Chaos
Richards ส่วนตัวเห็นว่าแนวทางที่ 1 หรือการที่โลกจะมี Multiple Reserve Currencies มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด และมีความเป็นไปได้สูงว่า Endgame ของ Currency Wars ในครั้งนี้ น่าจะจบแบบแนวทางที่ 4 นั่นคือ ภาวะ Chaos แล้วน่าจะตามมาด้วยการกลับไปใช้ Gold Standard (รายละเอียดเพิ่มเติม หาอ่านได้ในหนังสือ Currency Wars นะครับ)
ท้ายนี้ ไม่ว่า Endgame ของ Currency Wars นี้จะเป็นอย่างไร พวกเราในฐานะประชาชนคงต้องเลือกการลงทุนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่สุดนะครับ ซึ่งหากพิจารณาดูตัวอย่างจากประเทศยักษ์ใหญ่อย่างรัสเซียและจีน ที่มีการค่อยๆ ทยอยสะสมทองคำเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว (Putin Turns Black Gold to Bullion as Russia Outbuys World, Bloomberg, 11 กุมภาพันธ์ 2556) หรือ ประเทศเยอรมนีที่พยายามจะขอคืนทองคำของตนที่ฝากไว้กับสหรัฐมาเก็บรักษาไว้เอง (The Germans Want Their Gold Reserves Back In Germany, Forbes 19 มกราคม 2556) การทยอยสะสมทองหรืออย่างน้อยมีการลงทุนในทองคำในพอร์ตไว้บ้างก็น่าจะเป็นทางเลือกลงทุนที่น่าสนใจในช่วงเวลาที่เราท่านกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน