จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...พรสวรรค์ นันทะ
ข้อถกเถียงเรื่องทิศทางดอกเบี้ยนโยบายยังคุกรุ่น หลังกระทรวงการคลัง กับ วีรพงษ์ รามางกูร ร่วมกันออกโรงกดดันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อกดดอกเบี้ยให้ต่ำลง หวังชะลอเงินทุนต่างชาติไหลเข้า และดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วจนภาคส่งออกโตพลาดเป้าหมายอีก
อัตราดอกเบี้ยจะออกหัวหรือก้อยต้องติดตามผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบาย การเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ก.พ. 2556 นี้ ว่า กนง.ทั้ง 7 คน จะมีมติอย่างไรกับการตัดสินใจดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้
หากชั่งตวงวัดด้วยเหตุผล และผลดีผลเสีย โดยไม่มีอคติ มีความเป็นไปได้สูงที่ กนง.จะมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันที่ 2.75% เพียงแต่จะลด 0.25% หรือ 0.5% ต้องลุ้น!!! แต่การลดพรวดเดียว 1% เพื่อสกัดเงินทุนให้ชะงักในรอบเดียวคงเกิดขึ้นได้ยาก
เหตุผลที่สมควรจะปรับลดดอกเบี้ยในรอบนี้ ถือว่ามีคุณูปการในทางบวกต่อเศรษฐกิจประเทศพอสมควรทีเดียว ขณะเดียวกันยังสมประโยชน์แบบวินๆ ทั้งต่อรัฐบาลและ ธปท. อีกต่างหาก ที่สำคัญแม้จะลดในจังหวะเดียวกับที่การเมืองกดดัน กนง.ก็ไม่น่าถูกครหาเรื่องความเป็นอิสระ เพราะการปรับลดมีเหตุผลรองรับเพียบ
เริ่มจาก 1.ดอกเบี้ยถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลดึงดูดเงินทุนต่างชาติไหลเข้า แม้จะไม่ใช่ปัจจัยหลักปัจจัยเดียวที่ดึงเงินทุนให้เข้ามา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าดอกเบี้ยก็เป็นปัจจัยหนึ่ง เพราะดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 2.75% สูงโด่งจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ต่ำเตี้ยติดดินเพียง 00.25% ค่อนข้างมาก
ฉะนั้น การลดดอกเบี้ยเพื่อลดส่วนต่างลงในภาวะที่สภาพคล่องแทบจะท่วมโลก เพราะทุกประเทศต่างอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเพื่อบู๊ตเศรษฐกิจตัวเอง จึงถือเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะถึงจะหยุดเงินทุนไม่ได้เบ็ดเสร็จในคราวเดียว แต่คงช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้าได้บ้างไม่มากก็น้อย เพราะหากมีการปรับลดไปรอบหนึ่งแล้ว นักลงทุนต่างชาติต้องประเมินใหม่ว่าไทยจะลดดอกเบี้ยลงต่ออีกหรือไม่
2.การลดดอกเบี้ยนอกจากจะช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้าได้แล้ว ยังช่วยลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่าได้ด้วย เพราะถ้าไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเลย ต่างชาติจะยิ่งมั่นใจว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยไร้ที่ติ เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้น่าจะโต 45% อยู่แล้ว แถมดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งสะท้อนความสามารถในการทำมาค้าขายของประเทศก็ยังเป็นบวก ภาวะนี้สวนทางกับเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่จีดีพีโตติดลบต่อเนื่อง ยิ่งจูงใจให้นักลงทุนแห่ขนเงินมาลงทุนเพิ่ม
แต่ในทางตรงกันข้าม หากปรับลดดอกเบี้ยให้เป็นนัยในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในบ้าง นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจหรือสร้างโรงงานตามกลไกปกติ ก็ยังน่าจะเข้ามาปกติ เพราะยิ่งลดดอกเบี้ยยิ่งช่วยให้ต้นทุนการลงทุนต่ำลง หนุนให้เกิดการจ้างงานทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดียิ่งขึ้น แต่เงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไรที่ไทยไม่ต้องการอาจเปลี่ยนใจเข้ามาน้อยลง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีและเติบโตต่อเนื่องค่าเงินต้องแข็ง ค่าขึ้น เมื่อต้นปีมาจนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 3% แต่การลดดอกเบี้ยลงน่าจะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง อย่างน้อยๆ ก็ช่วยไม่ให้เงินบาทวิ่งจากปัจจุบันที่ระดับ 2930 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ไปที่ระดับ 2728 บาทต่อเหรียญสหรัฐเร็วเกินไป จนกระทบเป้าหมายการส่งออกที่ปีนี้ทั้งคลังและ ธปท.คาดไว้ว่าน่าจะโตที่ 89%
3.การลดดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งเสริมกำลังซื้อของครัวเรือนในประเทศ และส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐและเอกชน เพราะช่วยลดต้นทุนทางการเงินทั้งของภาครัฐและเอกชนไปด้วยในคราวเดียวกัน ในภาวะที่ประเทศต้องปรับตัวมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และรองรับการขยายตัวในภูมิภาคอาเซียน การมีต้นทุนการเงินที่ต่ำน่าจะถือเป็นเรื่องที่ดี
4.การลดดอกเบี้ยไม่เป็นแรงกดดันเงินเฟ้อ หรือทำให้เงินเฟ้อเกินกรอบเป้าหมายของ ธปท.ที่ 0.53% แน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่จะไปกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
และ 5.การลดดอกเบี้ยนโยบายลงช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และลดการขาดทุนของ ธปท.ได้ เพราะถ้าดอกเบี้ยต่ำลง ภาระดอกเบี้ยจ่ายในการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องก็ลดลงได้ เพราะหลังเข้าซื้อเงินเหรียญสหรัฐออกจากระบบแล้ว ธปท.ก็ต้องปล่อยบาทออกไปในตลาด แล้วก็ต้องออกพันธบัตรในอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75% ดูดเงินบาทกลับไปเก็บใหม่ เพื่อดูแลให้สภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับเหมาะสม ที่สำคัญยังช่วยให้ภาระขาดทุนสะสมในปัจจุบันที่ประมาณ 5.3 แสนล้านบาท ไม่เพิ่มขึ้นด้วย
การหารือดอกเบี้ยในวันนี้ พิจารณาจากคณะกรรมการ กนง. จากปัจจัยข้างต้น ยังมีนักวิชาการแถวหน้าอยากให้กนง.กันมาพิจารณาใช้ดอกเบี้ยดูแลเงินทุนด้วย เช่นกัน เพราะการใช้ดอกเบี้ยมาช่วยในการแก้สถานการณ์เศรษฐกิจในภาวะเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องเสียหายหากกนง.จะทำ
ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร ที่เคยให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ว่า ดอกเบี้ยอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่เป็นตัวดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้าในประเทศก็ จริง แต่ไทยก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่ดึงดูดด้วย เช่น เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงบรรยากาศการลงทุนในขณะนี้ ที่ผลักดันให้นักลงทุนกล้าที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น (Risk on) ตลอดไทยเองก็ยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่พอประมาณ
“ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวกดดันให้มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาต่อเนื่อง หรืออย่างน้อยใน 2 ปีข้างหน้า และทำให้ค่าเงินบาทไทยมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 28 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ในปลายปีนี้ และอาจเห็นแตะระดับ 27 บาทในปลายปีหน้า เวลานี้จึงเห็นธนาคารกลางทั่วโลกกดดอกเบี้ยต่ำ แล้วพิมพ์เงินออกมาเยอะๆ คำถาม คือ ไทยจะตั้งดอกเบี้ยให้สูงกว่าเขาได้หรือไม่ และทำไปแล้วจะมีความเสี่ยงเงินทุนไหลเข้ามาหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจไทยเปิด ยิ่งถ้านักลงทุนมองเศรษฐกิจไทยดี ดอกเบี้ยน่าสนใจ เงินจะยิ่งไหลเข้ามามาก”ศุภวุฒิกล่าว
สอดคล้องกับความเห็น เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% แม้ว่าธปท.จะมองดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าจนส่งผลให้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพื่อชะลอปัญหาเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกก็ยังมีความเสี่ยง
ทั้งนี้ หาดูโครงสร้างความสัมพันธ์ในกนง.ทั้ง 7 คน ที่ประกอบด้วย คนในธปท. 3 คน และมาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 4 คน โดยคนในมี 1.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. 2.ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. และ 3.ทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธปท. ซึ่งถ้าโหวตตรงกันฝั่งธปท.จะมี 3 เสียง
ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คน มี 1.อำพล กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พาณิชย์และสมาชิกวุฒิสภา ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี และบริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้นเศรษฐศาสตร์ระดับต้นๆของประเทศ มีสายสัมพันธ์การเมือง 3.อัศวิน คงสิริ อดีตประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย มีสายสัมพันธ์การเมือง และ 4.ศิริ การเจริญดี กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตลูกหม้อ ธปท.
หากดูจากเสียงคนนอกและสายสัมพันธ์การเมือง จะเห็นว่าการตัดสินครั้งสำคัญนี้ ธปท.เป็นต่อ แต่เสียงจะพลิกไม่พลิกอยู่ที่เสียง กนง.ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 1 เสียงเท่านั้น ถ้า 1 เสียงนี้พลิกไปฝ่ายไหน ฝ่ายนั้นก็น่าจะชนะโหวต เนื่องจากการออกเสียงของ กนง.ครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นเอกฉันท์ เพราะน่าจะมีทั้งเสียงหนุนและค้านการลดดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ในภาวะเช่นนี้ หากธปท.เห็นว่าการลดดอกเบี้ยอาจเป็นความเสี่ยงให้เกิดภาวะฟองสบู่ในภาค ธุรกิจต่างๆ เช่น ในภาคอสังหาริมทรัพย์ หรืออาจก่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงจนเป็นอันตราย เพราะหนี้ครัวเรือนของไทยในปัจจุบันสูงขึ้นเป็น 73% ของจีดีพีแล้วนั้น ธปท.ก็สามารถตามไปกำกับควบคุมเป็นจุดๆได้ เช่น ถ้ากลัวเงินเฟ้อในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธปท.ในฐานะกำกับสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ สามารถกำหนดอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน(LTV) หรือเพิ่มเงินดาวน์ จากปัจจุบันที่ 9095% หรือดาวน์ 510% เพิ่มเป็นใช้ LTV เฉลี่ยที่ 7080% หรือดาวน์ 2030% เหมือนต่างประเทศได้
หาก กนง.มีมติปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งตรงกับความต้องการทางการเมืองก็ไม่ได้มีข้อควรครหาเรื่องความเป็นอิสระ เพราะการลดมีเหตุอันสมควร
เพราะในสุดท้าย ในสถานการณ์นี้การดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจคงแยกกันไม่ได้แล้ว ความเป็นอิสระจากการเมืองคงไม่ขาดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถึงที่สุดทุกฝ่ายต้องช่วยกันประคับประคองเศรษฐกิจให้พ้นปากเหวไปด้วย กัน
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ กนง.จะมีมติคงดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม หาก กนง.ห่วงข้อครหาเรื่องความน่าเชื่อถือและความเป็นอิสระที่ต้องปลอดจากการ เมือง
แต่เหตุผลด้านการลดดอกเบี้ยมีมากกว่า ถ้า ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ก็คงไม่ส่งผลเสียอะไร เพราะในที่สุดแล้ว หากลดดอกเบี้ยไปแล้ว แต่เงินยังไหลเข้ามาไม่หยุด ค่าเงินแข็งต่อไป ก็จะพิสูจน์ว่าที่ ธปท.ยืนยันว่าลดดอกเบี้ยไม่ช่วยอะไร
และหากเกิดฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจขึ้นจริง ธปท.ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่คนที่จะต้องรับผิดชอบชื่อ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กับ วีรพงษ์ รามางกูร ประธานบอร์ด ธปท. ที่มีวิสัยทัศน์ผิดพลาด
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน