จาก โพสต์ทูเดย์
รายงานพิเศษ
ปูสับสนคุ้มครองเงินฝาก 'ไอแบงก์'
- 22 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 16:58 น. |
- เปิดอ่าน 1,846 |
- ความคิดเห็น 7
กลายเป็นประเด็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ จนมีการโพสต์ข้อความกันในสังคมออนไลน์
โดย ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์
สำหรับคำสัมภาษณ์ของ นายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"ใน ประเด็นถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) ที่ประสบปัญหาหนี้เสียและประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกิจการจนมีการแห่ถอนเงิน ออกจำนวน4,800 ล้านบาท ในช่วงเวลากว่า 2 สัปดาห์ โดยนายกฯชี้แจงว่า ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล เพราะได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก
แวดวงโซเชียล "เพจสายตรงภาคสนาม" ได้ไปสืบค้น พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ได้ข้อสรุปว่า"ไอแบงก์"และสถาบันการเงินของรัฐไม่ได้รับความคุ้มครองเงินฝาก จากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ซึ่งออกในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ "สถาบันการเงิน"หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน หรือธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 4 ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นธนาคารใดสมควรจะให้มีการคุ้มครองเงินฝาก ของธนาคารตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ธนาคารนั้นเป็นสถาบันการเงิน จากข้อกฎหมายข้างต้นทำให้ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เช่น ธนาคารรัฐจะไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้
และเมื่อตรวจสอบในเว็บไซต์ของสถาบันการเงินคุ้มครองเงินฝาก http://www.dpa.or.th ได้ระบุรายชื่อสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไว้แบ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์ 31 แห่ง บริษัทเงินทุน 2 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นสถาบันการเงินของเอกชนทั้งสิ้น และไร้ชื่อการคุ้มครอง"ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย"และแบงก์รัฐอื่นๆ
สรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าวว่า ประชาชนอย่าตื่นตกใจว่าหากสถาบันการเงินของรัฐมีปัญหา เพราะรัฐบาลคุ้มครองเงินฝาก100% อยู่แล้ว ซึ่งคุ้มครองเงินฝากที่ดีกว่า สถาบันประกันเงินฝาก ที่ขณะนี้คุ้มครองเงินฝาก 50 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน
"ธนาคารของรัฐจะมีรัฐบาลหรือกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ซึ่งจะดูแลผู้ฝากเงินและค้ำประกันผู้ฝากเงิน 100% ซึ่งมีความมั่นคงอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ฝากเงินไม่ต้องตื่นตกใจแม้ว่าธนาคารของรัฐบาลไม่ได้เป็นสมาชิก สถาบันการคุ้มครองเงินฝาก หรือจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากก็ตาม"สรสิทธิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กฎหมายคุ้มครองเงินฝากก็ไม่ได้ปิดกั้นธนาคารของรัฐเข้ามาอยู่ในกฎหมายคุ้ม ครองเงินฝาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลด้วยว่าจะให้สถาบันการเงินมาอยู่สถาบันคุ้ม ครองเงินฝากหรือไม่ และถึงแม้ว่าสถาบันการเงินของรัฐไม่อยู่กับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะรัฐก็ต้องดูแล
ทั้งนี้ ปัจจุบันสถาบันคุ้มครองเงินฝากคุ้มครองเงินฝากธนาคารพาณิชย์เอกชน 31 แห่ง บริษัทเงินทุน 2 แห่ง และเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง มียอดเงินคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 50 ล้านบาท จำนวน 81.54 ล้านบัญชีคิดเป็นวงเงิน 8.86 ล้านล้านบาท
ก่อนหน้านี้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากได้เลื่อนกำหนดเพดานการคุ้มครองเงินฝากจำนวน 50 ล้านบาท ออกไปอีก 3 ปี (11 ส.ค. 2555-10 ส.ค. 2558) โดยคงระดับการคุ้มครองไว้ที่ 50 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน ตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งกำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555
การให้ข้อมูลระดับนายกรัฐมนตรีที่ผิดและไม่มีการตรวจสอบก่อน จึงทำให้ประชาชนผู้ฝากเงินแตกตื่นอย่างมาก เพราะเมื่อมีการโทรศัพท์ไปสอบถามสถาบันคุ้มครองเงินฝากจำนวนมาก และส่วนใหญ่ก็ได้รับคำอธิบายว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากไม่ได้คุ้มครองเงินฝากของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารรัฐกลายเป็นบทเรียนหนึ่ง นายกรัฐมนตรีและทีมงานต้องจดจำ และหาทางแก้ไขในการชี้แจงกับประชาชน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน