จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"ประสาร"เปิดใจปมดอกเบี้ย ยอมรับหวั่นไหวแรงกดดันจากรัฐบาล-ภูมิใจในสิ่งที่เชื่อ ยันไม่มีล็อบบี้ กนง. ตัดสินใจเป็น"อิสระ-ถ่วงดุล"
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา มีมติ 6 ต่อ 1 ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% โดย กนง.ให้เหตุผลในการพิจารณามาจากการขยายตัวเศรษฐกิจและราคาสินทรัพย์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับรัฐบาลและประธานคณะกรรมการ ธปท. ที่ต้องการเห็นดอกเบี้ยลดลงเพื่อชะลอเงินไหลเข้า
มติของ กนง. ดังกล่าว ทำให้ภาพความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล กับ ธปท. ในเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ฝ่ายการเมืองสร้างแรงกดดันกับธปท.ในการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า โดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ทำหนังสือถึงนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธปท. โดยระบุว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบ หากการดำเนินนโยบายของธปท.สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ
จดหมายของ นายกิตติรัตน์ เกิดขึ้นในช่วงที่มีเม็ดเงินไหลเข้าประเทศค่อนข้างมาก ส่งผลให้ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นกว่า 2% ตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยนายกิตติรัตน์เห็นว่าต้นตอมาจากดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าสหรัฐที่เป็นแหล่งทุนจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หรือ คิวอี ซึ่งทำให้มีเงินในระบบเพิ่มขึ้น และเงินส่วนหนึ่งไหลเข้ามาเพื่อหาส่วนต่างดอกเบี้ย
แต่ผู้บริหาร ธปท. กลับเห็นต่างออกไป โดยเห็นว่าเงินไหลเข้ามาเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทย จะเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยของไทยไม่ใช่ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงในภูมิภาคนี้ และหากลดดอกเบี้ยก็จะส่งผลกระทบอีกด้าน นั่นคือ การเพิ่มกำลังซื้อในประเทศที่จะนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ ซึ่งขณะนี้ถือว่าเริ่มส่งสัญญาณในบางส่วนแล้ว
จากความขัดแย้งดังกล่าว ทำให้เกิดประเด็นคำถามว่ารัฐบาลจะปลดผู้ว่าการธปท. หรือไม่ และรัฐบาลจะทำงานอย่างไรกับ ธปท.
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดใจกับ นายสุทธิชัย หยุ่น ประธานกรรมการบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป พร้อมกับตอบทุกคำถาม ในเวทีเสวนา "Nation Exclusive Insights for CEOs : จับสัญญาณ ค่าเงินบาท 2013 " เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา ท่ามกลางนักธุรกิจระดับซีอีโอชั้นนำที่เข้าฟังและแลกเปลี่ยนความเห็น มีรายละเอียด ดังนี้
เวลาชวนสาวมากินข้าวแล้วเขาไม่มา หมายความว่าเขาไม่ชอบเราใช่มั้ย แล้วท่านผู้ว่าการ เชิญ รมว.คลัง มากินข้าว แต่เขาไม่มา แสดงว่าอะไร?
ความจริง คือ ปกติแล้วทุกสิ้นปีกระทรวงการคลังกับธปท.จะต้องหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีถัดไป และกฎหมายยังกำหนดให้กระทรวงการคลังกับธปท. ต้องประชุมร่วมกันทุกไตรมาส ซึ่งตอนที่เรากำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เราก็จะกำหนดวันที่ประชุมร่วมกันในแต่ละไตรมาสไปเลย บังเอิญไตรมาสแรกของปีนี้ ไปตรงกับวันที่ 21 ก.พ. ซึ่งเป็นวันก่อนประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 1 วัน บอร์ด กนง.จึงเสนอว่าควรเชิญ รมว.คลัง มาหารือพร้อมทานข้าวร่วมกันหลังจากประชุม กนง. เสร็จ เพียงแต่บังเอิญ รมว.คลัง ท่านติดธุระ ไม่สามารถมาได้ อาจเพราะเราไปเปลี่ยนวันนัดหมายด้วย
ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีทั้งจดหมาย มีทั้งประธานบอร์ดธปท.และรมว.คลัง ย้ำนักย้ำหนา หรือแม้แต่ในจดหมายยังระบุให้ระมัดระวังการดำเนินนโยบายการเงินที่อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ แถมบอกว่าบอร์ดธปท. ต้องรับผิดชอบ แปลว่าอะไร ความรู้สึกของบอร์ด ธปท. ที่มีต่อจดหมายนี้ เป็นอย่างไร?
ความจริงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยเวลานี้ มันมีความซับซ้อน ถ้าเราเลือกดูบางส่วน อาจทำให้คิดว่าไปสร้างความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยได้ เช่น กรอบนโยบายการเงินที่เราดำเนินการอยู่เวลานี้ บางช่วงอาจจำเป็นต้องอาศัยระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น ดังนั้นเราก็ต้องปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาด
ส่วนเงินบาทที่แข็ง บางท่านอาจมองว่า ไปกระทบต่อภาคส่งออก ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวได้ ซึ่งถ้าคนให้น้ำหนักทางบัญชีการเงิน เขาอาจดูว่าเงินบาทที่แข็งทำให้ธปท.ขาดทุน ก็จะมีความกังวลกัน ซึ่งธปท.ก็พยายามทำความเข้าใจกับคนเหล่านี้ว่า หน้าที่ของ ธปท. คือ ดูแลรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ แม้บัญชีธปท.มีขาดทุนบ้างก็ไม่เป็นไร ส่วนผู้ส่งออกนั้น โลกในขณะนี้มันเปลี่ยนแปลงไป เราจะแข่งขันเฉพาะราคาอย่างเดียวไม่ได้ ภาพธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัว ซึ่งธปท.ก็ต้องอธิบายตรงนี้ด้วย
เป็นเรื่องปกติหรือไม่ ที่ รมว.คลัง ทำจดหมายลักษณะนี้ บอร์ด ธปท.ในอดีตเคยมีหรือไม่?
บังเอิญโครงสร้าง ธปท. มีการปรับเปลี่ยน โดยมาใช้กฎหมายใหม่เมื่อปี 2551 ซึ่งกฎหมายใหม่จะมี บอร์ดด้านนโยบาย 3 ชุด คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) คณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) และมีบอร์ดธปท. ซึ่งดูแลงานโดยทั่วไปอีก 1 ชุด แต่ละชุดก็มีหน้าที่แตกต่างกันไป เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องใหม่ ก็พยายามทำความเข้าใจกันว่า บอร์ดแต่ละชุดทำหน้าที่อะไรบ้าง อีกทั้งตัวท่านประธานกับผู้ว่าการธปท. ก็เป็นคนละคนกัน ไม่เหมือนอดีตที่ ประธานกับผู้ว่าการธปท.เป็นคนเดียวกัน เมื่อความเข้าใจเรื่องนี้ยังไม่ตรงกัน จึงมีเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นมา
ถือเป็นเรื่องดีหรือไม่?
ผมว่า เวลาจะช่วยให้เราได้เรียนรู้ ซึ่งบางคนก็บอกว่ากฎหมายปัจจุบันดีอยู่แล้ว เพราะโครงสร้างกฎหมายออกแบบให้มีการถ่วงดุลกันหลายด้าน อย่างการตัดสินดอกเบี้ยนโยบาย ก็ไม่ได้ตัดสินโดยตัวผู้ว่าการธปท.เพียงคนเดียวเหมือนอดีต แต่ยังมีรองผู้ว่าการธปท.อีก 2 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 4 คน อีกทั้งระบบใหม่เมื่อมีการตัดสินใจแล้ว ก็ต้องออกมาแถลงข่าว เปิดเผยการประชุม เปิดเผยเสียงโหวตให้สาธารณชนได้รับทราบ
มติ 6 ต่อ 1 ของ กนง. แปลว่า ส่วนใหญ่เห็นไปทางเดียวกับธปท. ทั้งที่ก่อนหน้าคนมองว่าเสียงจะก้ำกึ่ง หรืออาจให้ลดลงสัก 0.25% ทำไมผลส่วนใหญ่ออกมา จึงคล้อยตามที่ผู้ว่าการ ธปท.นำเสนอ?
ในการประชุมมีการพิจารณาเรื่องต่างๆ เยอะมาก เสียงส่วนใหญ่มองว่า สถานการณ์ต่างประเทศเวลานี้ได้ผ่านช่วงเลวร้ายสุดไปพอประมาณแล้ว อีกทั้งอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวแข็งแกร่ง การเติบโตทางเศรษฐกิจดีเกินกว่าคาด และในประเทศตอนนี้ก็มีปรากกการณ์ที่ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับขึ้น สินเชื่อก็โตร้อนแรง
แต่อาจมีบอร์ดบางท่านที่เห็นต่างไปบ้าง โดยมองว่า เงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามีความเสี่ยง จึงเสนอให้ลดดอกเบี้ยลงมา ในขณะที่บอร์ดเสียงข้างมาก 6 เสียง มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างดอกเบี้ยกับเงินทุนไหลเข้ามีน้อย บางท่านก็มองว่า ดอกเบี้ยแม้จะมีความสัมพันธ์กับเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ก็มีปัจจัยอื่นประกอบกันให้เงินทุนไหลเข้าด้วย ถ้าอยากบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้าย ควรต้องทำหลายด้านประกอบกัน หากลดดอกเบี้ยลงแค่ 0.25% เพียงอย่างเดียว เกรงว่าจะเป็นการ “เสียของ” เพราะทำไปแล้ว นอกจากไม่ช่วยชะลอเงินไหลเข้า ยังไปสร้างผลข้างเคียงให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพทางด้านราคาได้
การประชุม กนง. มีการประชุมกลุ่มย่อยนัดแนะกันก่อนแล้วค่อยมาโหวตกันข้างในหรือไม่ จะรู้ก่อนหน้านี้ไหมว่าใครโหวตอะไร?
เป็นการเดากันมากกว่า ไม่ได้มีการตกลงกันก่อน ซึ่งปกติก่อนประชุมทีมงานธปท.จะเชิญกรรมการ กนง. ที่สนใจมาร่วมรับฟังข้อมูลเศรษฐกิจมหภาค และก่อนประชุมอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ทีมงานจะส่งรายงาน 2 ฉบับ เล่มสีแดงและน้ำเงิน ซึ่งเป็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอย่างละเอียด กับรายงานการวิเคราะห์ของทีมงานให้บอร์ดแต่ละท่านได้นำไปอ่าน รวมทั้งยังจัดเตรียมทีมงานที่คอยตามประกบบอร์ดแต่ละท่าน โดยบอร์ด 1 ท่าน ต่อเจ้าหน้าที่ 1 คน เผื่อกรณีที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม
หลังจากนั้น ก่อนประชุม 3 วัน จะส่งรายงานอีก 1 เล่ม เป็นเล่มสีเขียว ซึ่งเป็นรายงานการวิเคราะห์ของทีมงาน ธปท. ให้บอร์ดได้นำไปพิจารณา และในวันประชุมบอร์ดแต่ละท่านก็จะนำรายงานทั้ง 3 เล่มนี้มาประชุมด้วย
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะไม่พยายามสร้างบรรยากาศที่เป็นลักษณะการล็อบบี้ เพราะบอร์ดจากภายนอกเวลามาประชุม ก็มักจะเตรียมข้อมูลของตัวเองมาเสริมด้วย ซึ่งเราให้อิสระในการคิด อย่างการประชุมรอบที่ผ่านมา ผมเองยังคาดเดาไม่ออกเลยว่าจะเป็นอย่างไร
มติที่ออกมาในทางตรงข้ามกับการเมือง และมีความเสี่ยงว่าจะทำให้ผู้ว่าการธปท.ตกงาน ตรงนี้ลังเลหรือไม่?
ถ้าบอกว่าไม่มีเลยก็คงเป็นการกล่าวเท็จ...แต่เรื่องนี้เคยมีประสบการณ์ที่ได้เจอมาในอดีต ถ้าใครเคยไปห้องผู้ว่าการธปท. ตรงทางเดินระหว่างทางเข้าจะมีรูปอดีตผู้ว่าการแต่ละท่านติดอยู่ ผมเวลาเดินผ่าน ก็จะเห็นรูปอดีตผู้ว่าการบางท่านที่เคยมีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน ซึ่งทุกครั้งที่เดินผ่าน ผมจะขอขมาท่านอยู่ตลอด
จำได้ว่าสมัยที่ผมเข้าทำงานที่ ธปท.ใหม่ๆ และอดีตผู้ว่าการท่านนี้นั่งเป็นผู้ว่าการธปท.อยู่ ตอนนั้นก็มีแรงกดดันจากภาครัฐเสนอให้ลดดอกเบี้ยลง แต่สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนั้นในความจริงควรต้องปรับขึ้น ซึ่งสมัยนั้นอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ผู้ว่าการ ธปท.เพียงคนเดียว ท้ายสุดท่านตัดสินใจลดดอกเบี้ยลง แต่ท่านก็ยังโดนเรียกตัวไปพบ และเหตุการณ์หลังจากนั้นไม่กี่วัน ทางรัฐบาลได้เสนอชื่อผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่เข้า ครม. ซึ่งท้ายที่สุดท่านอดีตผู้ว่าการท่านนั้น ก็ยังต้องออกจากตำแหน่งอยู่ดี
กลับมาที่คำถาม...เหตุการณ์วันนั้น ทำให้ผมนั่งคิดว่า ยังไงตอนนั้นท่านก็ต้องถูกปลดอยู่แล้ว ถ้าท่านตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ก็คงจะมีความภูมิใจมากขึ้น แม้จะต้องออกจากตำแหน่งไป ก็ทราบมาว่าหลังพ้นตำแหน่งไปท่านเองก็เสียใจที่ตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งถ้าท่านตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย หลังพ้นตำแหน่งไป ท่านคงมีความรู้สึกที่ดีขึ้นกว่านั้น มีความภูมิใจได้ทำในสิ่งที่เราเชื่อ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันถือว่าโชคดีที่ การตัดสินใจไม่ได้ขึ้นกับผู้ว่าการธปท.คนเดียวแล้ว ยังมีคนอื่นร่วมตัดสินใจ อีกอย่างน้อย 6 ท่าน
ไม่สามารถโน้มน้าว รมว.คลัง ได้หรือว่า จุดยืนของธปท.และกนง.น่าจะเป็นประโยชน์กว่าจุดยืนของคลัง?
ผมไม่อยากสรุปแบบนั้น เพราะเราเข้าใจว่าท่านเป็นห่วงอะไร ท่านห่วงเรื่องเงินบาทที่แข็งจะกระทบภาคส่งออก ซึ่งเราก็พยายามดูว่าจะทำยังไงได้บ้างที่จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา
ถ้าผู้ว่าการ ‘ประสาร’ มาเป็นรมว.คลัง จะมองคล้ายๆ กับ รมว.คลัง หรือไม่ มุมมองของธปท.กับคลังต่างกันหรือไม่?
อยู่ที่การให้น้ำหนักว่าเรื่องอะไร แต่ที่น่าสนใจ คือ ในยามนี้จะบอกว่า ธปท. อิสระไม่รับผิดชอบต่อประชาชนหรือรัฐบาลเลยก็ไม่ได้ เพราะเจตนาของกฎหมายปี 2551 คือ สร้างความรับผิดชอบร่วมกัน อย่างเป้าหมายเงินเฟ้อนั้น กนง. ก็ไม่ได้เป็นผู้กำหนด เพราะผู้กำหนดสุดท้าย คือ ครม. เนื่องจากเป้าหมายแต่ละปี ต้องผ่านการอนุมัติจาก ครม. เมื่อ ครม.อนุมัติออกมาแล้ว ธปท.ก็มีหน้าที่ต้องทำให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น ซึ่งต้องให้อิสระ ธปท.ในการดำเนินการ และถ้า ธปท.ทำแล้ว ไม่ได้ผล ก็ต้องชี้แจงกับรัฐบาลด้วย จึงเป็นเหตุว่า ทุกครั้งที่ กนง. ตัดสินใจดำเนินการนโยบายอะไร ต้องเปิดเผยในรายงานการประชุมด้วย
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน