จากประชาชาติธุรกิจ
มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีคนเผยแพร่คลิปวิดีโอหัวข้อ "ดูแล้วน้ำตาไหล ทรงพระเจริญ" เผยแพร่ลงในเว็บไซต์ยูทูบและโซเชียลมีเดีย ความยาว 27 วินาที เป็นคลิปวิดีโอ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่นที่ 38 ประจำปี 2556 เป็นช่วงที่พระราชทานปริญญาบัตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาจิตวิทยา แก่ น.ส.อภิรดี โปร่งใจ หรือ "น้องน้อย" นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ที่นั่งรถวีลแชร์ มีอาการสมองพิการ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอุปสรรคต่อการเดินและการเคลื่อนไหวของมือ เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา โดยทรงโน้มพระองค์เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรให้ น.ส.อภิรดี ไม่ถือพระองค์ สร้างความตื้นตันให้กับผู้ร่วมงานพระราชทานปริญญาบัตรอย่างยิ่ง
ทั้งนี้นายเชิดพงษ์ แก้วรักษ์ เป็นผู้โพสต์คลิปดังกล่าวเผยแพร่ทางยูทูบ และมีผู้คนเข้ามาชมคลิปนี้กันหลายหมื่นวิว
(ที่มา:มติชนรายวัน 10 มีนาคม 2556)
เปิดใจบัณฑิตสาวพิการ “น้อย-อภิรดี” เผยนาทีปลื้มปิติ พระเทพทรงถาม “รับได้มั้ย”
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
หลังจากที่คลิปวิดีโอหัวข้อ "ดูแล้วน้ำตาไหล ทรงพระเจริญ" เผย แพร่ลงในเว็บไซต์ยูทูบและถูกส่งต่อทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กอย่างแพร่หลาย ด้วยความยาว 27 วินาที เป็นคลิปวิดีโอ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโน้มพระวรกายพระราชทานใบปริญญาบัตรแก่บัณฑิตสาวพิการ นั่งวีลแชร์จนสุดพระหัตถ์อย่างไม่ถือพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่นที่ 38 ประจำปี 2556 เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา
บัณฑิตสาวพิการผู้โชคดี คือ “น้อย” อภิรดี โปร่งใจ วัย 28 ปี จากคณะศึกษาศาสตร์ ทั้งนี้เจ้าตัวได้เปิดเผยถึงนาทีแห่งความปลื้มปิติในครั้งนี้ว่า ปลื้มปิติยินดี ดีใจจนบอกไม่ถูก พระองค์ทรงมีเมตตาต่อบัณฑิตทุกคน โดยเฉพาะบัณฑิตพิการ ยิ่งใกล้ช่วงรับพระราชทานปริญญายิ่งตื่นเต้น เมื่อถึงช่วงอาจารย์อ่านรายชื่อและตนเข้าไปรับ ขณะนั้นพยายามจะรับให้ได้เหมือนกับคนอื่น แต่เพราะมือสองข้างของตนอ่อนแรง และกลัวว่าใบปริญญาจะหล่น ก็ได้ยินสมเด็จพระเทพฯ ตรัสถามว่า "จับสองมือได้มั้ย" จากนั้นทรงโน้มพระวรกายลงมามอบใบปริญญาบัตร
“วินาทีนั้นตื่นเต้นมากพยายามยื่นมือ ไปรับปริญญาบัตร แต่พระองค์คงเห็นว่าหนูรับไม่ถนัดเลยโน้มพระองค์ลงมา นำใบปริญญาใส่มือ รู้สึกเหมือนหัวใจหยุดเต้น โลกหยุดหมุน มีแต่ความรู้สึกปลาบปลื้มในหัวใจ จนบอกไม่ถูก หลังจากเสร็จพิธีท่านอธิการบดีก็มากระซิบว่า"เธอมีบุญมากเลยนะ"
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความปลื้มปีติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ แก่บัณฑิตสาวผู้พิการและครอบครัวเป็นอย่างมาก ด้วยความสำเร็จครั้งนี้ Life On Campus ถือโอกาสพูดคุยกับ “น้อย” อีกครั้งถึงชีวิตการเรียนคณะศึกษาศาสตร์ เอกจิตวิทยา ม.ราม ที่ใช้เวลาเรียนเพียง 5 ปีจนจบปริญญาตรี ด้วยเกรดเฉลี่ย 2.63
น้อย ย้อนภาพกลับไปถึงสมัยเด็กๆ อีกครั้ง เธอยอมรับว่า ชีวิตของเธอลำบาก ด้วยสภาพร่างกายที่อาภัพไม่สมบูรณ์เนื่องจากคลอดก่อนกำหนด ส่งผลให้มีอาการสมองพิการ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอุปสรรคต่อการเดินและการเคลื่อนไหวของมือ แต่เธอโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่มีพร้อมทุกอย่าง มีฐานะทางสังคมและอยู่เคียงข้างคอยเป็นกำลังใจให้เธอโดยเฉพาะคุณแม่และครอบ ครัว สอนให้น้อยรู้จักใช้ชีวิตให้มีความสุข กล้าแสดงออกเหมือนกับเด็กทั่วไป และที่สำคัญยังสนับสนุนเรื่องการศึกษาให้เธอไม่น้อยหน้าใคร ด้วยการเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จากนั้นต่อการศึกษานอกระบบโรงเรียน(กศน.) จนจบ ก่อนตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2550 ที่ ม.รามคำแหง คณะศึกษาศาสตร์ เอกจิตวิทยา ที่เธอสนใจและอยากเรียนมากที่สุด
“เหตุผลที่เรียนจิตวิทยาเพราะอยาก ศึกษาจิตใจมนุษย์ เรียนรู้บุคลิกของคน ว่าคนแบบนี้คิดอย่างไร อยากเรียนรู้การบริหารจัดการคนด้วยหลักจิตวิทยา ซึ่งน้อยตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกว่า จะใช้ความรู้ที่เรียนบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวที่บริษัท อภิรดี อพาร์ทเมนต์ ของคุณแม่”
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของสาววีลแชร์คนนี้ ไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป เพราะนอกจากเธอจะมีกำลังใจที่ดีจากครอบครัวแล้ว เธอยังมีคนดูแลที่อยู่เคียงข้างตลอด 24 ชั่วโมงมาเป็นเวลา 9 ปี อย่างพี่สมจิตร เสนาพงษ์ พี่เลี้ยงวัย 48 ปี ทุกๆ เช้าจะพาไปออกกำลังกาย ทำกายภาพบำบัดที่สนามศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กลับบ้านแต่งตัว พาไปมหาวิทยาลัย และมีหน้าที่ช่วยจดเลกเชอร์ในห้องเรียน เพื่อให้น้อยนำกลับมาทบทวนที่บ้าน
“พี่สมจิตรเป็นเหมือนแม่อีก คนหนึ่งที่ดูแลเราตลอด 24 ชั่วโมง ทุกๆเช้าจะต้องตื่นตี 5 เพื่อไปออกกำลังกาย กลับมาอาบน้ำแต่งตัว พาไปมหาวิทยาลัย คอยจดเลกเซอร์ให้ตลอด ทันบ้าง ไม่ทันบ้าง แต่พี่สมจิตรก็มีบทเรียนในแต่ละวิชาให้น้อยได้อ่านทุกครั้ง
ส่วนเรื่องการทำกิจกรรม อาจารย์อนุญาตให้น้อย นั่งดูเพื่อนทำกิจกรรม โดยที่อาจารย์จะคอยอธิบายว่า กิจกรรมทำแล้วได้อะไร จัดขึ้นเพื่อให้อะไรกับนักศึกษา และบางครั้งอาจจะเป็นหน้าที่พี่สมจิตรที่จะลงทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนแทน จนเพื่อนๆแซวให้พี่สมจิตรเรียนปริญญาอีกใบจะได้จบพร้อมกัน” น้อยเอ่ยด้วยรอยยิ้มและหันไปสบตาพี่เลี้ยงคนสนิท"
แน่นอนว่า ช่วงเวลา 5 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหงแห่งนี้ สำหรับน้อย เธอบอกว่า ที่นี้ถือว่าเป็นโลกใบใหม่ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์ใหม่ เพื่อนใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ ที่สอนให้เธอปรับตัวให้ดีขึ้น “ไม่ น่าเชื่อว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ฝ่าฟันอุปสรรคมาได้ ดีใจบอกไม่ถูก ขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่คอยสนับสนุน ขอบคุณมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ให้โอกาสเด็กพิเศษอย่างน้อยได้เรียน ไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นคนพิการแบบนี้ อยากให้ผู้ปกครองที่มีลูกหลานเป็นเด็กพิการ ร่างกายไม่สมบูรณ์ สอนให้เขากล้าแสดงออก พาไปทำความรู้จักกับโลกให้มากขึ้น อย่าเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน
น้อยขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีลูกพิการ แนะนำให้พาพวกเขาออกสังคม รู้จักโลกให้มากขึ้น ส่งเสริมให้ลูกมีการศึกษา ถึงแม้ว่าเขาจะเรียนช้ากว่าเด็กปกติเพราะการเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ นอกจากนี้น้อยอยากให้สังคมเปิดโอกาสให้คนพิการ ได้เรียนหนังสือ ได้ทำงาน และมีพื้นที่อำนวยความสะดวกให้คนพิการได้ใช้
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน
|
||||
|
|