สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นารีนครา เรื่องเล่า 3 หญิงแกร่งจีน พระราชนิพนธ์แปล ทูลกระหม่อมน้อย

จากประชาชาติธุรกิจ



ในบรรณพิภพไทย ความเป็นปราชญ์ ผสานกับพระปรีชาสามารถด้านอักษรศาสตร์ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจักษ์ชัดผ่านงานวรรณกรรมอันเปี่ยมไปด้วยความรู้แฝงพระอารมณ์ขัน ผลิผลเป็นบทพระราชนิพนธ์อันลุ่มลึกทั้งมุมมองและภาษาสละสลวยนับร้อยเรื่อง

โดยเฉพาะเรื่องราว "แดนมังกร" ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยใน "จีนวิทยา" มากเป็นพิเศษ และทรงมีความรู้อักขระจีนอย่างลึกซึ้งถึงรากวัฒนธรรมจีน

จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงแปลหนังสือของจีนหลายเรื่อง แม้จะมีพระราชกิจมากมายตั้งแต่เช้าจรดค่ำ แต่พระองค์ทรงใช้พระวิริยะแปลหนังสือเล่มใหม่เรื่อง "นารีนครา" หรือชื่อภาษาจีนว่า "ทา-เตอ-เฉิง" นวนิยายสมัยใหม่ของนักเขียนหญิงชื่อดังชาวจีน "ฉือลี่" ทรงแปลให้พสกนิกรชาวไทยได้อ่านเรื่องราวของสตรีแดนมังกร อันเป็นยุคที่บทบาทสตรีกำลังมีความสำคัญในเวทีโลก

ดังใจความตอนหนึ่งจากพระราชนิพนธ์คำนำในหนังสือ มีพระราชดำรัสไว้ว่า "นวนิยายเรื่องนารีนคราได้สะท้อนวีรกรรมอันเกิดจากดวงใจแกร่งแท้ดั่งเหล็กกล้าของหญิง ซึ่งได้ดำเนินมาแล้วในอดีต ดำรงอยู่ในปัจจุบัน และจะสืบเนื่องต่อไปในอนาคต"

จวบจนเช้าวันที่ 28 มีนาคม 2556 ที่ห้องบอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาเสด็จฯ ทรงเป็นประธานในงานแนะนำพระราชนิพนธ์แปล "นารีนครา" และพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำหนังสือด้วยพระองค์ไว้อย่างน่าสนใจว่า

"ถึงจะได้แปลวรรณกรรมจีนมาหลายเรื่องแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้อธิบายเรื่องที่แปลด้วยตนเอง สำหรับเนื้อหารายละเอียดนั้น ก็ไม่อยากจะกล่าวมาก เพราะถ้าเล่าเรื่องหมดแล้วก็ไม่มีใครอ่าน (เสียงหัวเราะจากผู้เข้าเฝ้าฯดังขึ้น) สาเหตุที่เลือกแปลเรื่องนี้ เพราะวันหนึ่งเดินทางไปประเทศจีน แล้วได้อ่านหนังสือที่วางไว้บนเครื่องบิน ก็มีหน้าศิลปวัฒนธรรม พูดถึงเรื่องประวัติและผลงานของคุณฉือลี่ แต่ตอนนั้นยังไม่มีหนังสือเล่มนี้ ส่วนใหญ่นักเขียนผู้นี้จะเขียนเกี่ยวกับบทบาทสตรีจีน ซึ่งเป็นด้านหนึ่งของวัฒนธรรมจีนที่น่าสนใจ ต่อมากลับจากเมืองจีนได้สักพักหนึ่ง ครูสอนภาษาจีนคนเก่า ชื่อครูจู ได้นำนิตยสารเล่มหนึ่ง รวบรวมนวนิยายขนาดสั้นของจีน จึงเลือกนำเรื่องของฉือลี่มาแปลเป็นภาษาไทย โดยยังไม่มีการแปลเป็นภาษาอื่น ๆ ที่จะนำมาเปรียบเทียบได้ บางครั้งแปลหนังสือบางเรื่องที่ตีพิมพ์นานแล้ว ยังได้อาศัยแนวจากภาษาต่างประเทศนำมาตรวจสอบ เรื่องนี้ยังไม่มีแปล ถือเป็นการแปลเองจริง ๆ"

เนื้อหาของหนังสือ "นารีนครา" ดำเนินเรื่องผ่านตัวเอกเป็นผู้หญิง 3 วัย แต่ต้องผกผันมาเกี่ยวพันกัน เป็นเสมือนตัวแทนของหญิงรุ่นเก่า, รุ่นกลาง และ

รุ่นใหม่ สะท้อน "ความเป็นหญิง" ไปพร้อมกับฉายภาพสังคมจีนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน โดยมีฉากหลังเป็น "นครอู่ฮั่น"

"มี่เจี่ย"
หญิงสาวที่มีส่วนผสมของวัฒนธรรมจีนเก่าและจีนใหม่ เคยผ่านการเป็นทหารมาก่อน มีบุคลิกโผงผาง ตรงไปตรงมา เวลานางโกรธราวกับทหารกำลังปะทะฉะกับผู้อื่น ทว่าก็แฝงความอ่อนโยนข้างในจิตใจ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเล่าถึงสตรีนางนี้และแม่สามีว่า

"ตอนที่สามีเสียชีวิต มี่เจี่ยก็โศกเศร้ามาก สุขภาพทรุดโทรม เพราะอาจรู้สึกสำนึกผิดตอนที่สามียังมีชีวิตแอบนอกใจนิด ๆ อาจทำให้รู้สึกในคุณงามความดีของสามีมากขึ้น แต่ว่าคนที่ช่วยให้มี่เจี่ยพ้นจากความโศกเศร้า นั่นคือ แม่สามี เป็นหญิงอายุมาก มีความคิดความอ่าน แม้จะรู้ว่า ลูกสะใภ้มีความประพฤติออกนอกแถวไปสักหน่อย แต่พยายามที่จะรักษาครอบครัวไว้ โดยไม่เคยว่ากล่าว"


เพราะได้กำลังใจจากแม่สามี โอบอุ้มให้มี่เจี่ยลุกขึ้นมาทำธุรกิจสร้างเนื้อสร้างตัวอีกครั้ง ด้วยการเปิด "ร้านขัดรองเท้า" และรับ "เฝิงชุน" เธอเป็นเหมือนตัวแทนของ "ผู้หญิงรุ่นใหม่" หญิงสาวหน้าตาสะสวย หน้าที่การงานดี แต่งอนสามี จึงมาสมัครเป็น "ผู้หญิงขัดรองเท้า"

พระองค์ทรงอธิบายถึงสตรีนางนี้ว่า "สตรีคนสุดท้าย (เฝิงชุน) มีปัญหาครอบครัว จึงคิดแก้ปัญหาด้วยการมาทำงานหนัก เป็นกรรมกร หวังประชดสามีให้กลับมาเห็นใจ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นเช่นนั้น สามีก็ไม่กลับมาเห็นใจ แล้วมาเฉลยตอนสุดท้ายว่า ทำไมจึงเกิดเรื่องเช่นนี้"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รับสั่งทิ้งปมปริศนาน่าฉงนไว้ให้ผู้อ่านกลับไปติดตามกันเองว่า เพราะเหตุใด แต่ตอนจบนั้นนำไปสู่การฉายภาพของสังคมจีนในอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ

"นารีนครา" เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผู้อ่านจะได้รับความรู้ พร้อมเข้าใจสังคมจีน เพลิดเพลินกับข้อคิดที่ซ่อนไว้ในแต่ละบรรทัดอย่างสนุกสนาน

"เรื่องราวเกี่ยวกับชาติจีน ไม่ใช่มีแต่เรื่องบุคคลสำคัญที่ประวัติศาสตร์จดไว้เท่านั้น แต่การที่เราจะเข้าใจคนชาตินั้นให้ดี ต้องเข้าใจความเป็นอยู่ ความนึกคิดของคนธรรมดา ๆ ในแง่มุมต่าง ๆ ตั้งแต่ได้อ่านวรรณกรรมจีน ทำให้เข้าใจเรื่องจิตใจของคนจีนสมัยต่าง ๆ ว่าทำไมถึงคิดอย่างนั้น อาจจะเคยมองในแง่มุมของเรา แล้วเรารู้สึกว่าไม่ถูกใจ เมื่อได้อ่านสิ่งที่ผู้เขียนถ่ายทอดออกมา ทำให้รู้สึกเข้าถึงจิตใจ แล้วก็เห็นใจบุคคลที่มีบทบาทหรือได้รับผลกระทบเหตุการณ์บ้านเมือง แล้วถ้านำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านคนไทย ก็จะทำให้เข้าใจจีนได้ดีขึ้น ถือเป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งจะช่วยสร้างเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนกับคนไทยในแง่ประชาชนให้ดียิ่งขึ้น"

นี่คือรับสั่งของพระองค์ ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของหนังสือที่จะช่วยเชื่อมสัมพันธไมตรีไทย-จีนได้แล้ว ยังทรงมองถึงประโยชน์การเลือกแปลวรรณกรรมจีนว่า

"ประการแรกคือ ได้รู้จักศัพท์และสำนวนต่าง ๆ ทำให้เข้าใจภาษาจีนได้ดีขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนภาษาจีน เมื่อแปลเสร็จแล้วแทนที่จะทิ้งไว้เฉย ๆ ก็นำมาเขียนตีพิมพ์ และขอให้ผู้รู้หลายท่านช่วยขัดเกลา"

แต่ที่น่าสังเกต คือ บทประพันธ์แปลนวนิยายจีนเกือบทุกเล่มเป็นผลงาน "นักเขียนสตรี" เช่นเดียวกับที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รับสั่งว่า "ข้อคิดที่นึกขึ้นมาได้ตอนแปลเรื่องนี้ แปลวรรณกรรมจีนมาหลายเรื่อง นอกจากคุณหวัง เหม่ยแล้ว ล้วนเป็นนักเขียนสตรีทั้งนั้น คิดว่าต่อไปจะแปลเรื่องจากนักเขียนสตรีมากขึ้นสักเรื่องสองเรื่อง และตอนหลังอาจจะมีการรวมเล่ม แล้วให้วิจารณ์เรื่องนักเขียนสตรีในยุคต่าง ๆ ถือเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ถ้าแปลไหวก็จะทดลอง"

ฉะนั้น โปรดติดตามเล่มต่อไป...โดยพลัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นารีนครา เรื่องเล่า หญิงแกร่งจีน พระราชนิพนธ์แปล ทูลกระหม่อมน้อย

view