ปัญหาการอ้างอิงกรณีฮิตเลอร์กับเสียงประชาชน
โดย : ไชยันต์ ไชยพร
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
จากวิกฤติการเมืองในบ้านเรา ส่งผลให้มีการอ้าง “กรณีฮิตเลอร์” มาสนับสนุนอยู่หลายครั้ง
ล่าสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ คุณวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ได้กล่าวไว้ในปาฐกถาที่ธรรมศาสตร์ รังสิต 4 เมษา 56 ว่า “ย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ ฮิตเลอร์ ก็เป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อชนะการเลือกตั้งได้ ก็แก้ไขกฎหมายเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง ในที่สุด ผู้นำเสียงข้างมาก็นำพาประเทศเยอรมนีไปสู่หายนะ ทำให้ประเทศเยอรมนีมีบทเรียน จึงมีศาลรัฐธรรมนูญขึ้น....” ต่อมา ดร. โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่า กทม. โพสต์ไว้ว่า “....เรื่องฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง ข้อความนี้ไม่สอดคล้องกับความจริง แม้ฮิตเลอร์จะมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นการเลือกตั้งที่โกงมา รวมทั้งการทำลายคู่แข่ง ที่สำคัญไม่ได้ชนะด้วยเสียงส่วนใหญ่ การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2476 ฮิตเลอร์ได้คะแนนเสียง 44% ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง และแม้ฮิตเลอร์จะชนะการเลือกตั้งใน 33 จาก 35 เขตเลือกตั้ง ก็ไม่ใช่โดยเสียงส่วนใหญ่อยู่ดี ดังนั้น การที่ฮิตเลอร์นำเยอรมนีเข้าสู่สงคราม จึงไม่ใช่มติของชาวเยอรมันส่วนใหญ่” จากข้อความทั้งสอง ผู้เขียนขอเสนอข้อมูลที่เรียบเรียงมาเพื่อเปรียบเทียบ
เส้นทางการเมืองของฮิตเลอร์เริ่มจากการทำประชามติปี 1929 ที่ช่วยยกระดับอุดมการณ์นาซีขึ้นมา ประชามติดังกล่าวเกิดจากปัญหาสนธิสัญญาแวร์ซายน์ที่เยอรมนีร่วมลงนามหลังพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งคนเยอรมันเห็นว่า ข้อผูกพันในสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เป็นสนธิสัญญาที่ทำให้คนเยอรมันต้องตกอยู่ในสภาพเป็นทาสต่อฝ่ายชนะสงคราม ทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ กลุ่มชาตินิยมเยอรมันเสนอให้มีการทำประชามติไม่รับสนธิสัญญานั้น และกำหนดโทษหากข้าราชการเยอรมันคนใดยังปฏิบัติตามข้อผูกมัดในสนธิสัญญาดังกล่าว แม้ผลประชามติจะมีเพียง 13% เท่านั้นที่เห็นด้วย แต่สิ่งที่ตามมาคือ ผู้คนเริ่มเกิดความนิยมในพรรคนาซี ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์เยอรมัน ชื่อของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หัวหน้าพรรคนาซีได้กลายเป็นที่รู้จักจดจำไปทุกครัวเรือน ทำให้พรรคนาซีได้ที่นั่ง 11% ในการเลือกตั้งเดือนธันวาคมในปีเดียวกัน
ต่อมาวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศปี 1930 ได้เพิ่มโอกาสทางการเมืองให้กับฮิตเลอร์ ด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเยอรมันยังไม่ลงตัว ต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพลังทางการเมืองที่แตกต่างกันสุดขั้ว ทั้งฝ่ายขวาจัดและซ้ายจัด พรรคการเมืองกลางๆ ก็ไม่สามารถรับมือกับสภาวะความขัดแย้งทางการเมือง ต่อมา กันยายน 1930 มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกครั้ง จากการเลือกตั้งครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการแตกตัวของรัฐบาลผสม ซึ่งถูกแทนที่โดยรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยมีนายกรัฐมนตรีไฮน์ริช บรันนิง แห่งพรรค Centre ซึ่งบริหารราชการภายใต้กฎหมายภาวะฉุกเฉิน ที่ออกโดยประธานาธิบดีไฮดินเบอร์ก และการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้กฎหมายพิเศษนี้ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ที่แผ้วทางไปสู่รูปแบบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจในตัวคนคนเดียว (authoritarian) ในเวลาต่อมา และในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวนี้เองที่พรรคนาซีได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นมาเป็น 18.3% และได้ 107 ที่นั่งในสภา กลายเป็นพรรคที่ใหญ่เป็นอันดับสองในสภา ในปีเดียวกันนั้น ฮิตเลอร์ได้ขึ้นให้การให้ศาลต่อคดีที่สองนายทหารถูกข้อหาเป็นสมาชิกพรรค National Socialist German Workers Party ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสุดโต่งรุนแรงและผิดกฎหมาย พรรคการเมืองนี้ฮิตเลอร์เคยเป็นผู้นำ (เขาเคยนำกลุ่มคนในพรรคนี้ในการพยายามทำรัฐประหารในปี 1923 แต่ไม่สำเร็จ) ฮิตเลอร์ยืนยันในคำให้การในศาลว่า พรรคการเมืองของเขาจะไม่ทำผิดกฎหมาย และจะยึดมั่นแนวทางการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยในการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งคำให้การดังกล่าวของเขาได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากฝ่ายนายทหาร
ในปี 1932 ฮิตเลอร์ลงสมัครแข่งขันในตำแหน่งประธานาธิบดีกับฮินเดนเบอร์ก โดยมีกลุ่มนายทุนนักอุตสาหกรรมที่ทรงอำนาจให้การสนับสนุน แต่เขาก็ยังไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ ด้วยเหตุที่กลุ่มชาตินิยม กลุ่มนิยมเจ้าและกลุ่มคาทอลิก และพรรคสาธารณรัฐและกลุ่มสังคมประชาธิปไตยยังเทความนิยมให้ฮินเดนเบอร์ก อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ได้ทำให้ฮิตเลอร์กลายเป็นผู้ทรงพลังทางการเมืองขึ้นมาจากการได้ที่สองรองจากประธานาธิบดี แต่จากการที่รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้นักการเมืองที่ทรงอิทธิพลยิ่งสองคน อันได้แก่ Franz von Papen และ Alfred Hugenberg รวมถึงนักอุตสาหกรรมและนักธุรกิจอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ได้ทำหนังสือถึงประธานาธิบดีฮินเดนเบอร์กเพื่อขอให้เขาแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี “ที่เป็นอิสระจากพรรคการเมืองต่างๆ ใสภา” เพื่อที่จะได้สามารถนำไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนที่สร้างความพอใจให้กับประชาชนเยอรมันนับล้านๆ คนได้
แม้ว่าฮินเดนเบอร์กจะลังเลใจที่จะทำตามคำแนะนำนั้น แต่หลังการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรสองครั้งต่อมาเดือนกรกฎาคมและพฤศจิกายน 1932 ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเองได้ ในที่สุด ฮินเดนเบอร์กก็ตัดสินใจแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลผสมสองพรรค นั่นคือ พรรคนาซีของฮิตเลอร์กับพรรค German National People (DNVP) หลังจากรัฐบาลผสมได้เริ่มทำงานต้นปี 1933 สถานการณ์ทางการเมืองก็ยังอยู่ในสภาวะสับสนวุ่นวาย มีการใช้ความรุนแรง มีการพยายามเผาอาคารรัฐสภา โดยกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของพวกคอมมิวนิสต์หัวรุนแรง มีการจับกุมสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ถึง 4,000 คน จากความวุ่นวายดังกล่าว ฮิตเลอร์ต้องการให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ด้วยเขาหวังที่จะได้คะแนนเสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ในที่สุด กุมภาพันธ์ 1933 ประธานาธิบดีฮินเดนเบอร์กก็ตัดสินใจยุบสภา แม้ว่าพรรคนาซีจะได้คะแนนเสียงมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถเป็นเสียงข้างมากได้ เพราะได้คะแนนเพียง 43.9% ทำให้ฮิตเลอร์จำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรค DNVP อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในการรับตำแหน่งครั้งนี้ ฮิตเลอร์ได้แสดงจุดยืนที่จะประนีประนอมขบวนการปฏิวัตินาซีของเขากับกลุ่มชนชั้นนำในฝั่งอำนาจเก่า และยอมรับความสำคัญของกองทัพ
อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ก็ไม่ละทิ้งความพยายามที่จะกุมอำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ รัฐบาลของเขาได้เสนอกฎหมาย “Enabling Act” ต่อสภาเพื่อที่จะให้คณะรัฐมนตรีของเขามีอำนาจนิติบัญญัติเต็มที่เป็นเวลาสี่ปี แม้ว่ากฎหมายในลักษณะนี้จะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ความแตกต่างในครั้งนี้ก็คือ กฎหมายนี้ยอมให้มีการเบี่ยงเบนจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้ แต่ลำพังคะแนนเสียงของฝ่ายรัฐบาลนั้นไม่พอที่จะผ่านกฎหมายนี้ในสภาได้ ทำให้ฮิตเลอร์ต้องอาศัยพรรคการเมืองอื่น นั่นคือ พรรค Centre ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นที่สามในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา โดยฮิตเลอร์ยอมรับเงื่อนไขของพรรค Centre เพื่อแลกกับคะแนนเสียงในการผ่านกฎหมายนั้น แม้ว่าจะมีพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยจะพยายามคัดค้านกฎหมายดังกล่าว มีการขัดขวางไม่ให้สมาชิกพรรคเข้าประชุมสภา แต่ที่สุด กฎหมายดังกล่าวก็สามารถผ่านสภาและทำให้รัฐบาลของฮิตเลอร์ได้กลายเป็นรัฐบาลเผด็จการไปในทางปฏิบัติ แต่ในทางหลักการถือว่าเป็นไปตามกลไกรัฐสภา
หลังจากสามารถควบคุมฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติได้อย่างเต็มรูปแบบ ฮิตเลอร์และพันธมิตรทางการเมืองของเขาได้ลงมือจัดการกับคู่แข่งทางการเมืองที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์และพรรค Social Democrat ฮิตเลอร์ได้สั่งเจ้าหน้าที่ให้ไปทำลายที่ทำการของสหภาพแรงงานทั่วประเทศ และนำไปสู่การยุบสหภาพแรงงานในที่สุด มีการจับกุมผู้นำแรงงาน และจำนวนหนึ่งถูกส่งไปยังค่ายกักกัน ฮิตเลอร์ให้มีการจัดตั้งองค์กรแรงงานใหม่ขึ้นโดยยึดอุดมการณ์ของพรรคนาซีเป็นปณิฐาน กรกฎาคม 1933 ได้มีการประกาศว่า พรรคนาซีเป็นพรรคเดียวในเยอรมนีที่ถูกกฎหมาย พฤศจิกายน 1933 ฮิตเลอร์ทำประชามติครั้งแรกในระบอบของเขาต่อกรณีที่เขาต้องการจะให้เยอรมนีถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติภายใต้บรรยากาศอันร้อนระอุของความรู้สึกชาตินิยมของผู้คน ซึ่งผลการลงคะแนนเสียงท่วมท้นถึง 95% สนับสนุนการถอนตัวดังกล่าว ขณะเดียวกัน ฮิตเลอร์ก็ถือโอกาสใช้เสียงประชามติที่สนับสนุนญัตตินโยบายต่างประเทศดังกล่าวเชื่อมโยงกับนโยบายภายในประเทศของเขาด้วย กล่าวได้ว่า การทำประชามติครั้งแรกนี้ถือเป็นหมากการเมืองที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในกระบวนการขับเคลื่อนสู่การรวบอำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จของเขาในเวลาต่อมา
ต่อมาปี 1934 ก่อนการเสียชีวิตของประธานาธิบดีฮินเดนเบอร์กในวันที่ 2 สิงหาคม เพียงหนึ่งวัน ฮิตเลอร์ให้คณะรัฐมนตรีของเขาเสนอกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐไวมาร์ที่เดิมทีกำหนดไว้ว่า เมื่อประธานาธิบดีเสียชีวิต จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ แต่กฎหมายที่เสนอมานั้นกลับกำหนดให้ควบรวมสองตำแหน่งไว้เข้าด้วยกัน นั่นคือ ทั้งตำแหน่งประธานาธิบดี และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั่นคือ ยกเลิกตำแหน่งประธานาธิบดีไป และกำหนดให้มีตำแหน่งประมุขของรัฐ (head of state) ที่ดำรงตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า “ผู้นำ (Fuhrer)” โดยควบรวมนายกรัฐมนตรีที่มีอยู่เดิมด้วย ฮิตเลอร์ได้จัดให้มีการลงประชามติรับรองร่างกฎหมายควบรวมอำนาจสองตำแหน่ง และรับรองตัวเขาให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้ ผลการลงคะแนนเสียงประชามติ 84.6% เห็นด้วยกับร่างกฎหมายและรับรองให้ฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ควบรวมอำนาจเบ็ดเสร็จ จากตำแหน่งดังกล่าวนี้ ฮิตเลอร์ก็ได้กลายเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกด้วย นับตั้งแต่ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจสมบูรณ์ครั้งนั้นเป็นต้นมา ไม่มีใครและกลไกใดที่จะสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการของเขาได้เลยยกเว้นการพยายามลอบสังหาร หรือการพ่ายแพ้สงครามและการฆ่าตัวตายของฮิตเลอร์เท่านั้น
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน