วีรชัย"ย้ำศาลไร้อำนาจตีความคำร้องเขมร
จาก โพสต์ทูเดย์
"วีรชัย"แจงศาลชี้เขมรไม่คงเส้นคงวาพยายามหาข้ออ้างใหม่ ย้ำเรื่องเขตแดนอยู่นอกอำนาจศาลโลก เป็นเรื่องที่คู่ความต้องตกลงกันเอง
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวสรุปในการให้การด้วยวาจาในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ต่อ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่า ไทยยืนยันว่าปัญหาเขตแดนอยู่นอกเหนือเขตอำนาจศาล และการตัดสินของศาลในปี 2505 ก็ไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้ และให้เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของคู่ความที่จะต้องไปตกลงกันเอง
ไทยยืนยันว่าการขอตีความครั้งนี้ไม่ใช่วิถีที่ดีสุดในการเปลี่ยนแปลงสิ่ง ที่ได้ตัดสินไปแล้ว และไทยก็ไม่ร้องขอให้ศาลทำเช่นนั้น และไทยคงเส้นคงวาตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. 2505 ในแง่ขอบเขตทางภูมิศาสตร์พื้นที่พิพาท หรือ บริเวณปราสาทพระวิหาร ในแง่ความหมายคำพิพากษา
ขณะที่กัมพูชาชอบแย่งหลักฐานของไทยไปใช้ ตั้งแต่ปี 2502 และไม่มีความคงเส้นคงวา โดยขความไม่คงเส้นคงวาเรื่องที่ 1 คือ การพิจารณาครั้งแรกในปี 2502 กัมพูชาได้ขอพิจารณาเรื่องบูรณภาพเหนือปราสาท แต่ในเดือนมี.ค.2505 กลับขอให้พิพากษาเรื่องเขตแดนและสถานภาพทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก1 ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่ศาลปฏิเสธคำขอในครั้งนั้น
เรื่องไม่คงเส้นคงวาเรือที่ 2 คือ ในปี 2502 เป็นต้นมาถึงตอนนี้ ได้เห็นกัมพูชา 2 อย่าง กัมพูชาได้ยื่นแผนที่ให้ภาคผนวก1 ให้ศาลแต่วันนี้เป็นอีกฉบับและมีเส้นแบ่งที่แตกต่างกันไป แต่ยังไม่สามาถบอกได้ว่าเส้นใดกันแน่ที่อยากให้ศาลรับรอง
ในปี 2502 กัมพูชาอ้างข้อโต้แย้งมาจากผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายตนเองในเรื่องเส้นเขตแดนสัน ปันน้ำเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก1 และเบี่ยงเบนจากวัตถุประสงค์เดิม คือ การปลอมแปลงจนจำไม่ได้ และกัมพูชาปฏิเสธในเรื่องนี้ โดยปฏิเสธตามอำเภอใจว่าจะใช้เส้นใดกันแน่
แต่ในปี2505-2506 กัมพูชากลับยอมรับตามเส้นมติครม.ของไทย ตลอดจนรั้วลวดหนามและป้าย แต่ทุกวันนี้กัมพูชาไม่ยอมรับว่ามีสิ่งนี้อยู่จริง
"ในปี2506 ผู้นำสูงสุดของกัมพูชากล่าวไว้ว่าความแตกต่างระหว่างเส้นในมติครม.กับสิ่ง ที่อ้างในคดีแรกห่างกัน 2-3 เมตรเป็นเพียงเล็กน้อย แต่วันนี้ไม่อ้างเรื่องนั้น แต่กลับอ้างพื้นที่ 4.6 ตร.กม."นายวีรชัยกล่าว
นายวีรชัยกล่าวอีกว่า ในปี2554 กัมพูชาเรียกร้องเรื่องเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 แต่มาวันนี้มุ่งเน้นในพื้นที่พิพาท ซึ่งตามคำให้การลายลักษณ์อักษรระบุว่า ไม่เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันในแง่ข้อพิพาทและขอบเขต และความหมายคำพิพากษา ซึ่งไม่เกี่ยวกับคำพิพากษาปี 2505 รวมทั้งกัมพูชาพยายามอ้างว่าไทยขอให้ศาลแก้คำพิพากษาในอดีต แต่อย่าลืมว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายนำคดีนี้ขึ้นศาลไม่ใช่ไทย
“ศาลในปี 2505 ต้องการยุติเรื่องนี้ในระยะยาว ส่วนการอ้างถึงเสถียรภาพ คือ อธิปไตยเหนือปราสาท ก็เป็นเหตุผลส่วนที่ศาลได้ตัดสิน ศาลได้ตัดสินในแง่ข้อพิพาทประการเดียว แต่ไม่พูดถึงเรื่องเส้นแขตแดน และศาลไม่บอกว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นแหล่งข้อมูลเดียวว่าเส้นแบ่งเขตแดนอยู่ที่ใด”นายวีรชัย กล่าว
นายวีรชัยกล่าวว่า ไทยไม่ได้ขออะไรมากกว่าสิ่งที่เป็นของเรา ที่ศาลปี 2505 บอกว่าเป็นไปตามสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส แต่ขณะนี้กัมพูชาขอในสิ่งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล ตีความเอาเอง อ้างข้ออ้างใหม่ ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งศาลสามารถไม่รับตีความคำร้องของกัมพูชา ตามข้อบังคับ 60 ของธรรมนูญศาลโลกได้
ทำดีที่สุดแล้ว
จาก โพสต์ทูเดย์
วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเนเธอร์แลนด์ให้สัมภาษณ์นิตยสารดิฉันฉบับล่าสุด
"...ไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาอย่างไร ผมเชื่อว่าทุ่มเททำอย่างดีที่สุดแล้ว แล้วตอนจบถ้าท่านจะบอกว่า ผมไม่ได้เรื่อง ไม่ฉลาด ผมก็ยอม แต่ผมไม่อยากให้พูดว่า ไม่สู้ ไม่อยากให้บอกว่าไม่ทำ หรือทำไม่เต็มที่..."
นี่คือคำพูดบางช่วงบางตอนจากบทสัมภาษณ์พิเศษ "วีรชัย พลาศรัย" เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยกองบรรณาธิการนิตยสารดิฉัน ที่ได้สัมภาษณ์ก่อนที่ วีรชัย จะเดินทางไปให้การทางวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี2505
ผู้สนใจสามารถติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในนิตยสารดิฉัน ฉบับวันที่ 30 เม.ย.ซึ่งวางแผงแล้วในขณะนี้
“มีรง”ฉีกแผนที่เขมรเละ ซัดไม่สอดคล้องความจริง อย่าเอามาอ้างแบ่งเขตแดน
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
“อลินา มิรง”ยันแผนที่ 85d ของจริง ไม่ปลอมแปลง ศาลโลกปี 2505 ก็เคยใช้ ซัดแผนที่ภาคผนวก 1 ที่เขมรใช้อ้างมีหลายฉบับ ไม่รู้จะใช้อันไหน แถมก็คลาดเคลื่อนจากสภาพความเป็นจริง ใช้วิธีการเทียมๆ เขียนขึ้นมาใหม่ อย่าเอามาอ้างทำเส้นแบ่งเขตแดน
วันนี้ (19 เม.ย.) นางสาวอลินา มีรง (Alina Miron) ทนายความฝ่ายไทย ได้ให้การโดยวาจาต่อศาลโลก ในคดีการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิทหาร ต่อจาก ศ.อแลง แปลเลต์ โดยกล่าวว่า กัมพูชาพยายามจะเปลี่ยนคำร้องให้เป็นการตีความเรื่องเขตแดนโดยอ้างแผนที่ตาม ภาคผนวก 1 ซึ่งไม่รู้ว่าตีพิมพ์เมื่อใด อย่างไรก็ตาม ได้มีการขยายจากแผนที่เดิมมาเป็นแผนที่ตามภาคผนวกที่ 49 ซึ่งทำขึ้นในช่วงปี ค.ศ.2011-2012 นี่เอง
นางสาวมีรงกล่าวอีกว่า แผนที่ตามภาคผนวก 1 นั้นมีหลายฉบับ กัมพูชาบอกว่าฉบับที่สำคัญที่สุดคือฉบับที่ยื่นต่อศาลในปี 1959(พ.ศ.2502) ซึ่งนายบันดี ทนายความกัมพูชาบอกเมื่อวานนี้ว่าเป็นฉบับที่ถูกต้อง โดยอ้างถึงป้าย ซึ่งก็เป็นเพียงป้ายบ่งชี้ถึงเอกสารในศาล เมื่อทีมกฎหมายฝ่ายไทยไปดู พบว่า เอกสารที่นายบันดีกล่าวถึงคล้ายกับที่ยื่นในปี 2011 นอกจากนี้ ยังพบว่ากัมพูชาได้ยื่นเอกสารแผนที่หลายๆ ฉบับ ตามทั้งแผนที่ตามภาคผนวก 1 ซึ่งต้องตีพิมพ์ส่งให้คู่ความ ฝ่ายไทยได้เอกสารนี้ 3 ชุดจากกัมพูชา เมื่อเดือนมกราคม 1960 ดังนั้น ถ้าจะถืออย่างเป็นทางการ แผนที่ตามภาคผนวก 1 ไม่มีหรอก เราไม่สามารถบอกได้ว่ากัมพูชาจะใช้ฉบับไหน เพราะมีหลายฉบับ
นางสาวมีรง กล่าวอีกว่า ต่อมา กัมพูชาได้ทำการขยายภาพแผนที่เป็น map sheet 3 ซึ่งเมื่อวันจันทร์ ตนได้บอกว่า กัมพูชาอยากจะเลิกใช้แผนที่นี้ และไปใช้แผนที่ของไอบีอาร์ยู ซึ่งแผนที่นั้นทำขึ้นเมื่อปี 2011 โดยกัมพูชาเบี่ยงเบนจุดประสงค์ของผู้เชี่ยวชาญ เพราะคนทำต้องการบอกว่า เรื่องห้วยโอตาเซ็ม(ที่กัมพูชาอ้างเป็นเส้นเขตแดนในการสู้คดีปี 2505)นั้น มันบิดเบือนอย่างไร แต่กัมพูชาก็นำไปบิดเบือนเป็นอย่างอื่นตามที่ตนต้องการ นอกจากนี้ ตามแผนที่ขยาย กัมพูชาไม่เอาพื้นที่ทางตะวันออก เพราะถ้าเอาตามนั้นพื้นที่จะเป็นของไทย
ส่วนแผนที่ 85d ซึ่งตัดมาจากแผนที่ใหญ่ หรือ big map ที่ตนนำมาแสดงเมื่อวันที่ 17 เม.ย.และกัมพูชากล่าวหาว่าเราปลอมแผนที่นั้น เราไม่ได้ปลอม เราเสนอไปตามความเป็นจริง เพราะพื้นที่ทางตะวันออกเราไม่สามารถหาแผนที่ได้ เราจึงสร้างแผนที่เพิ่มเติมจากแผนที่ 1 และแผ่นที่ 2 ที่อยู่ตรงข้ามส่วนที่อยู่ในหอเอกสาร
ที่ทนายความกัมพูชาอ้างว่าในการพิพากษาคดีปี 2505 ศาลไม่ได้เอ่ยถึงแผนที่นี้นั้น ยืนยันว่าแต่ในปี 2505 มีการพิจารณาแผนที่นี้ เพราะทนายความทั้งสองฝ่ายก็ใช้แผนที่นี้ในการนำเสนอของตน และติดตั้งอยู่บนกำแพงตรงข้ามนี้ ตั้งแต่วันที่ 9-28 มีนาคม ทำไมกัมพูชาไม่บอกว่า ศาลสั่งให้ตัดเอาแผนที่นี้มาตีพิมม์ประกอบความเข้าใจคำพิพากษา
นางสาวมีรง กล่าวอีกว่า แผนที่ตามภาคผนวกที่ 1 มีปัญหาในการถ่ายทอดเส้นจากแผนที่เก่ามาใส่แผนที่ใหม่ที่ตรงตามสภาพความ ภูมิประเทศที่เป็นจริงในปัจจุบัน ทนายความกัมพูชาพยายามใช้ภาพขยายของแผนที่ และให้ตีความว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทว่าเป็นเส้นเดียวกับเส้นในแผนที่ผนวก 1 โดยใช้ภาพขยายตาม map sheet 3 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นแผนที่ที่แม่นย้ำน้อยที่สุด เพราะเป็นแผนที่ที่คลาดเคลื่อนจากภูมิประเทศที่แท้จริง
กัมพูชาจึงทำแผนที่ใหม่อีกเป็น map sheet 4 แต่ในความเป็นจริง แม่น้ำ ลำธาร ก็ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ตามความเป็นจริง ไม่แสดงภูมิประเทศที่แท้จริง ไม่พูดถึงวิธีการนำเส้นในแผนที่มาลงสู่โลกความเป็นจริง ปฏิเสธการใช้เส้นสันปันน้ำ เป็นการีไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาปี 1904 และ 1908 ที่ตกลงจะใช้เส้นสันปันน้ำ
“กัมพูชาเลือกใช้วิธีการอื่น ที่เรียกว่าวิธีการเทียม เราไม่สามรถบอกได้ว่าเขาใช้วิธีใด แต่สิ่งที่ถ่ายทอดมาบนแผนที่ มันไม่ความเป็นจริง มันมีหลายเส้นเขตแดน จึงยากลำบากในการใช้เส้นแบบนี้”นางสาวมิรงกล่าว และว่า ดังนั้น แผนที่ตามภาคผนวก 1 จึงไม่สามรถถ่ายทอดลงแผนที่ตามสภาพปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การปักปันเขตแดนได้ เพราะการถ่ายทอดออกมา มันไม่ถูกต้อง
นางสาวมีรงย้ำอีกว่า ไอบีอาร์ยู เอกก็บอกว่า วิธีแบบนี้มันไม่เหมาะสม
แผนที่ตามภาคผนวก 1 กับแผนที่ปัจจุบัน มันมีจุดร่วมกันน้อยมาก มันมีแต่กิจกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นที่พอจะตรงบ้าง เช่น วัด ส่วนภูเขา แม่น้ำ คลาดเคลี่อนหมด ฝ่ายกัมพูชาพยายามให้มันตรงกับปัจจุบัน โดยใช้ จีพีเอส 85 แต่จุดร่วมก็ไม่ได้อยู่ในจุดเดียวกัน บางจุดอยู่อยู่ใกลกันมาก มันเป็นการบิดเบือน และเบี่ยงเบนจากเส้นสันปันน้ำมาก ซึ่งไม่เที่ยงตรง
"อลินา"ชี้เขมรทำแผนที่หลายฉบับ-ข้อมูลบิดเบือน
จาก โพสต์ทูเดย์
"อลินา"ยกข้อมูลชี้ความผิดพลาดใน แผนที่1:2แสน ชี้เขมรทำแผนที่หลายฉบับสะท้อนความคลาดเคลื่อน พร้อมโชว์เส้นในแผนที่เทียบภูมิประเทศจริง
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. น.ส.อลินา มีรอง ทนายความฝ่ายไทย ขึ้นให้การทางวาจารอบ2ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี2505 โดยระบุว่าแผนที่ภาคผนวก 1 หรือ แผนที่ 1:200,000 ที่ทางกัมพูชายื่นร้องต่อศาลให้ตีความคำพิพากษาเดิมนั้นบิดเบือน ไม่เที่ยงตรง โดยเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับสภาพภูมิประเทศจริง
"ดิฉันขอย้ำว่าเราอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่โลกแห่งจินตนาการ เพราะการถ่ายทอดเส้นในแผนที่ภาคผนวก 1 ลงมายังแผนที่สมัยใหม่ในปัจจุบันมีข้อผิดพลาดในด้านภูมิประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่าแผนที่ของกัมพูชาเป็นแผนที่ที่มีความแม่นยำน้อย ที่สุด"น.ส.อลินากล่าว
น.ส.อลินากล่าวอีกว่า เมื่อแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นแผนที่ๆคลาดเคลื่อนจากภูมิประเทศที่แท้จริง กัมพูชาจึงต้องทำแผนที่ Map Sheet 4 ขึ้นมา แต่ในความเป็นจริงทางเส้นภูมิศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ หรือ ลำธาร แผนที่ดังกล่าวก็ไม่สามารถจะแสดงถึงภูมิประเทศที่แท้จริงได้ แสดงว่ากัมพูชาใช้แผนที่โดยไม่พูดถึงวิธีการที่จะถ่ายทอดเส้นบนแผนที่ลงมาใน โลกของความเป็นจริง ปฏิเสธเส้นสันปันน้ำ โดยการทำเช่นนี้เท่ากับไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาในปีค.ศ.1904 และปีค.ศ.1908
“สนธิสัญญาครั้งนั้นใช้เส้นสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ในการที่จะปักปันเขตแดน แต่กัมพูชาเลือกใช้วิธีการอื่น เป็นวิธีการเทียมที่จะถ่ายทอดเส้นเหล่านั้น โดยไม่ทราบว่าใช้วิธีการใด แต่สามารถบอกได้เลยว่าสิ่งที่กัมพูชาเขียนในแผนที่นั้น ไม่มีอยู่จริง ถึงมันอาจจะมีอยู่จริง แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดเส้นๆเดียวที่จะเป็นเส้นเขตแดนได้ แผนที่ของกัมพูชามีความผิดพลาด คลาดเคลื่อนในภูมิประเทศ ถ้าเกิดกัมพูชาไม่ได้คิดแบบนั้น คงไม่ทำแผนที่ Map Sheet 3 ที่ต่อมาขยายเป็น Map Sheet 4 ออกมา”น.ส.อลินากล่าว
ทั้งนี้ น.ส.อลินา ยังแสดงภาพประกอบการให้การต่อศาลระบุถึงการศึกษาของหน่วยวิจัยเขตแดนระหว่าง ประเทศ (ไอบีอาร์ยู) ทีเปรียบเทียบแผนที่ภาคผนวก 1 กับสภาพภูมิประเทศจริง โดย น.ส.อลินาให้การว่า ผู้เชี่ยวชาญไอบีอาร์ยูพยายามกำหนดจุดร่วมที่มีในแผนที่ปัจจุบันและแผนที่ ภาคผนวก 1 พบว่าข้อผิดพลาด คือ มีจุดร่วมน้อยมาก บนจุดร่วมพบเพียงกิจกรรมของมนุษย์ เช่น วัดที่มนุษย์สร้างขึ้น ในขณะที่ภูมิประเทศ ภูเขา หรือ แม่น้ำกลับคลาดเคลื่อนทั้งหมด
ภาพการเทียบเคียงเส้นสันปันน้ำในภูมิประเทศจริงกับแผนที่ภาคผนวก1ของกัมพูชา
น.ส.อลินา กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นผู้เชี่ยวชาญพยายามหาจุดร่วมในแผนที่ปัจจุบันโดยการจะกำหนดพิกัด ให้ตรงกันโดยใช้ระบบ WGS85 ผลที่ได้อยากถามว่ากัมพูชาต้องการจริงๆ หรือไม่ เพราะเมื่อเทียบแผนที่ภาคผนวก 1 และแผนที่จริงแล้วจะพบว่าที่ราบของกัมพูชาบางส่วนซึ่งอยู่ใต้สันปันน้ำจะ กลายมาอยู่ในเขตแดนของไทย ดังนั้นกัมพูชาจะมาอ้างสิทธิได้อย่างไรว่าการถ่ายทอดเส้นเหล่านั้นเป็นการ ปักปันเขตแดน
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญพยายามใช้วิธีการที่ผิดพลาดน้อยที่สุด โดยกำหนดจุดร่วมตรงกันระหว่าง 2 แผนที่ถึง 15 จุด พบว่ามีความเบี่ยงเบนออกจากเส้นสันปันน้ำมาก ดังนั้นแผนที่ของกัมพูชาจึงเป็นวิธีการที่ไม่เที่ยงตรง ไอบีอาร์ยูจึงแนะนำให้ใช้วิธีการธรรมชาติเท่านั้นที่เป็นเขตแดนที่มั่นคง โดยการปักปันเขตแดนโดยใช้สันปันน้ำเป็นทางเลือกที่เราต้องทำ เพราะไม่ใช่เส้นสมมติ แต่เป็นเส้นที่มีอยู่จริงๆ
น.ส.อลินา สรุปว่าการที่กัมพูชาจะใช้แผนที่โดยใช้วิธีการที่ผิดพลาดดังที่ได้กล่าวมา จะยิ่งทำให้เกิดข้อพิพาทมากขึ้น
ทนายไทยย้ำคำร้องเขมรไร้เหตุผล ศาลไม่ควรรับ ระบุคำตัดสินปี 05 ชัดเจนยู่แล้ว
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
“อแลง แปลเลต์”ย้ำบทปฏิบัติการตามคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 ชัดเจนทุกประการ ไทยได้ถอนทหารออกจากตัวปราสาทตามคำสั่งแล้ว คำร้องของกัมพูชาให้ตีความใหม่จึงไม่สมเหตุสมผล ตอกกลับเขมรไม่เคยปฏิเสธการล้อมรั้ว แถมเคยร่วมมือกับไทยดึงนักท่องเที่ยวขึ้นชมปราสาท
เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 19 เม.ย. ตามเวลาในประเทศไทย ศ.อแลง แปลเลต์ ทนายความฝ่ายไทย ได้เริ่มให้การโดยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก) เป็นรอบสุดท้าย ในคดีการตีความคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505 โดยตัวแทนฝ่ายไทยยืนยันว่า คำพิพากษาในปี 2505 ที่ออกมาเป็นบืปฏิบัติการ 3 ข้อนั้น ทั้งสองฝ่ายได้เห็นตรงกันแล้ว ปัญหาที่ตามมาจึงเป็นเรื่องของการนำบทปฏิบัติการมาประยุกต์ใช้เท่านั้น
ศ.แปลเลต์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม คำแถลงของฝ่ายกัมพูชาเมื่อวานนี้(18 เม.ย.) มีการเสนอประเด็นใหม่ คือพยายามให้ตีความไปถึงเหตุผลของที่ทำให้มาซึ่งบทปฏิบัติการ เป็นการแถลงที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีปัญหา ไม่เข้าใจกัน และไม่รู้ว่าความหมายที่แฝงมาคืออะไร กัมพูชาพยายามกล่าวอ้างว่าคำตัดสินเมื่อปี 2505 ได้ผูกพันไปถึงเรื่องเขตแดน และมีข้อกังขาเรื่องการถอนทหารของไทยออกจากปราสาทพระวิหารว่าต่อเนื่องมาถึง ปัจจุบัน ทั้งที่เราได้ถอนออกมาแล้ว มันไม่สามารถถอนได้อีก เพราะเราไม่ได้นำกำลังกลับเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นพันธกรณีเรื่องการถอนกำลัง ไม่มีปัญหาแล้ว
ส่วนการล้อมรั้วตามมติ ครม.ไทยหลังปี 1962 หลังจากมีคำพิพากษา ประมุขสูงสุดของกัมพูชาก็เคยบอกว่า อยู่ห่างออกมา 2-3 เมตร ไม่มีความสำคัญ ส่วนปี 1966 ที่กัมพูชาอ้างก็ไม่มีการประท้วง หลังจากนั้นก็มีความร่วมมือต่อกันมาเป็นระยะๆ เพื่อให้มีการเข้าถึงตัวปราสาทจากทางฝั่งไทย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรให้ตีความอีก
ศ.แปลเลต์ ยังกล่าวอีกว่า การตีความคำพิพากษาตามธรรมนูญศาลโลก มาตรา 60 นั้น ก็ต่อเมื่อมีกรณีที่ความหมายของบทปฏิบัติการมีความกำกวม แต่ในความเป็นจริง มันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมันชัดเจนในตัวของมันอยู่แล้วว่า ดินแดนของกัมพูชาก็คือดินแดนของกัมพูชา สามารถใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตนได้ เราไม่เคยโต้แย้ง ส่วนเรื่องเขตแดนศาลไม่ได้ตัดสินว่าอยู่ตรงไหน เพราะว่าคำร้องแต่แรกนั้น ต้องการให้พิพากษาว่าตัวปราสาทอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ซึ่งศาลก็ได้พิพากษาแล้วและทุกฝ่ายก็ยอมรับ ส่วนเรื่องเส้นเขตแดนที่กัมพูชายื่นคำขอใหม่นั้น ศาลได้ปฏิเสธที่จะพิจารณา มันชัดเจนอยู่แล้ว
ดังนั้น การตีความคำพิพากษาใหม่จึงไม่สมเหตุสมผลเลย คำร้องของกัมพูชาที่ขอให้ตีความคำพิพากษาใหม่ จึงไม่เป็นสิ่งที่ศาลควรจะรับฟัง และศาลควรจะปฏิเสธที่จะรับพิจารณา
ทนายไทยย้ำเขมรไร้เหตุยื่นตีความคำตัดสิน
จาก โพสต์ทูเดย์
ทนายไทยแจงศาลโลกรอบ 2 ย้ำเขมรไร้เหตุผลยื่นศาลโลกขอตีความคำตัดสิน ยืนยันไทยถอนทหารตามคำสั่งแล้ว
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นายอแลง แปลเล่ต์ ทนายความฝ่ายไทย ขึ้นให้การทางวาจารอบ 2 ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ด้วยว่า ต้องพิจารณาอย่างละเอียดในรายละเอียดของคดีและเป็นสิ่งที่เป็นจริง ดังนั้น คำถามแรกที่ต้องคลี่คลาย คือต้องรู้ว่าขอเรียกร้องของกัมพูชา แต่อำนาจศาลและการรับฟังของศาลที่กัมพูชาไม่ได้แยก 2 สิ่งนี้ ซึ่งผู้เรียกร้องไมได้แจ้งรายละเอียด
ทั้งนี้ กัมพูชาได้พูดเพียงเล็กน้อยเมื่อวานนี้ (18เม.ย.) เกี่ยวกับอำนาจศาลหรือการรับตีความ แต่นำเรื่องหนึ่งมาเป็นเหตุผลประกอบ จนมีปัญหาตามมา นอกจากนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีความสอดคล้องกับคู่ความเกี่ยวกับข้อพิพาทเกิดขึ้น ในแง่ความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ข้อบทปฏิบัติการแบบตีความ หรือการรับฟังในศาล คือ ข้อพิพาทต้องเกี่ยวข้องกับปัญหาหรือที่ตัดสินไปแล้ว คือ องค์ประกอบหรือรายละเอียดข้อบทปฏิบัติการ
นอกจากนี้ มีความกำกวม ทำให้จำเป็นต้องตีความ ซึ่งกรณีดังกล่าวการตีความต้องขึ้นอยู่กับหลักหรือมูลการให้เหตุผล หรือในสาระสำคัญของคำพิพากษานั้น แต่ส่วนตัวแปลว่าเห็นตรงกันใน 3 ข้อ ซึ่งไม่ได้ปฏิเสธว่ามีความสำคัญมีมูลหรือเหตุผล ในคำพิพากษาก็ไม่ใช่สาระสำคัญในการตีความ และกัมพูชาไม่สามารถร้องขอการตีความในลักษณะนี้ได้
"ฝ่ายไทยได้ดำเนินการถอนไปแล้ว ไม่สามารถถอนครั้งที่ 2-3-4 ได้อีก ดังนั้น ประเทศไทยถอนกำลังไปแล้ว และไม่มีการนำกำลังกลับเข้าไปอีก และการที่เรามาวันนี้เป็นเรื่องหงุดหงิดของคู่ความ เพราะไม่ใช่ข้อพิพาทในการตีความ แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติตามคำพิพากษามากกว่า"นายอแลง กล่าว
“คำนูณ” ชวนลุ้นทีเด็ด “อลินา มิรอง” ตอกฝาโลงฝังแผนที่ annex I เขมร
จาก โพสต์ทูเดย์
“คำนูณ” ชวนส่งใจช่วย “อลินา มิรอง” ปิดฉากเขมรด้วยแผนที่ “the big map” เผยค้นคว้าเตรียมงานมา 3 ปี แย้มมีหลักฐานเขมรให้สถาบัน D.A.I.สำรวจสันปันน้ำตาม map 66 c ที่สำคัญเส้นพิกัดของ map 66 c ไม่ใช่เส้นตามแผนที่ annex I ที่เขมรหวังเป็นหมัดน็อกในคำแถลงครั้งสุดท้ายแล้วด้วย
วันนี้ (19 เม.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว คำนูณ สิทธิสมาน ให้คนไทยส่งใจช่วย มิสอลินา มิรอง ในการแถลงครั้งสุดท้ายของฝ่ายไทย ดังนี้..
“ใครเป็นแฟนคลับมิสอลินา มิรอง ทนายผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ขวัญใจชาวไทย พรุ่งนี่พลาดไม่ได้ครับ เธอน่าจะขึ้นแถลงอีกรอบด้วยความมั่นใจใน 'the big map' หรือ 'map 85 d' หรือ 'annex 85 d map' ผลงานของศ.วิลเลม สเกมาฮอน-เฟรเดอริค อัครมันแห่งสถาบัน ITC เมื่อปี 2504 ที่ท่านทูตชัย พลาศรัยค้นคว้าเตรียมงานมา 3 ปี ประเด็นนี้ยังคงสำคัญนะครับที่ฝ่ายไทยจะต้องตี 'the annex I map' ให้ตายสนิท
จริงๆ เมื่อ 50 ปีก่อน 'the annex I map' ไม่เหลือราคาในศาลแล้ว กัมพูชาเองยังให้สถาบัน D.A.I. สำรวจสันปันน้ำจริง ปรากฎเป็นหลักฐาน map 66 c
เส้นสันปันน้ำตาม map 66 c ของกัมพูชาเองก็ไม่ใช่เส้นตาม the annex I map แล้ว ถ้าท่านย้อนไปดู 'the big map' ทั้งแผ่นที่ผมโพสต์ไปก่อหน้านี่ จะปรากฏเป็นเส้นสีแดง กินพื้นที่น้อยกว่า the annex I map (เส้นสีเขียวอ่อน อยู่ด้านบน) มาก
ใน the big map คือการเปรียบเทียบ 3 แผนที่ คือ 1. แผนที่จัดทำโดย ITC หลักฐานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย 2. แผนที่ D.A.I. จากผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกัมพูชา และ 3. The annex I map”
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน