สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สรุปคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร กรณีกัมพูชายื่นคำขอให้ศาลโลกตีความคดีปราสาทพระวิหาร

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - 1.คำฟ้องของกัมพูชา
       
       เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2554 กัมพูชายื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระ วิหารปี 2505 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
       
       1.1 กัมพูชา ระบุว่า ไทยและกัมพูชามีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 ดังนี้
       
       1.1.1 กัมพูชาเห็นว่าคำพิพากษาศาลในคดีเดิมอยู่บนพื้นฐานของการมีอยู่แล้วของเส้น เขตแดนระหว่างประเทศซึ่งถูกกำหนดและได้รับการยอมรับโดยประเทศทั้งสองแล้ว
       
       1.1.2 กัมพูชาเห็นว่า เส้นเขตแดนดังกล่าวถูกกำหนดโดยแผนที่ที่ศาลได้อ้างถึงในหน้า 21 ของคำพิพากษา (แผนที่ภาค ผนวก 1) ซึ่งแผนที่ดังกล่าวทำให้ศาลสามารถตัดสินได้ว่า อธิปไตยกัมพูชาเหนือปราสาทเป็นผลโดยตรงและอัตโนมัติของอธิปไตยกัมพูชาเหนือ ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของปราสาท
       
       1.1.3 กัมพูชาเห็นว่าพันธกรณีของไทยในการถอนทหารและเจ้าหน้าที่ออกจากบริเวณใกล้ เคียงปราสาทบนดินแดนของกัมพูชาเป็นพันธกรณีที่มีลักษณะทั่วไปและต่อเนื่อง และเป็นผลมาจากอธิปไตยแห่งดินแดนของกัมพูชาที่ศาลได้ยอมรับในบริเวณดังกล่าว
       
       1.2 กัมพูชาอ้างว่า โดยที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา เป็นผลจากข้อเท็จจริงที่ว่าปราสาทตั้งอยู่ในฝั่งกัมพูชาของเส้นเขตแดนที่ศาล ได้ยอมรับในคำพิพากษาเดิมกัมพูชาจึงขอให้ศาลตัดสินในคดีตีความนี้ว่า พันธกรณีสำหรับไทยในการถอนกองกำลังทหาร หรือตำรวจ หรือผู้เฝ้ารักษา หรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยได้ส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาท หรือในบริเวณใกล้เคียงปราสาทบนดินแดนกัมพูชา เป็นผลโดยเฉพาะของพันธกรณีทั่วไปและต่อเนื่องในการเคารพซึ่งบูรณภาพแห่งดิน แดนของกัมพูชา โดยดินแดนดังกล่าวได้รับการกำหนดในบริเวณปราสาทและบริเวณใกล้เคียงปราสาทโดย เส้นแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งศาลใช้เป็นพื้นฐานของคำพิพากษา
       
       โดยสรุป กัมพูชาอ้างว่าคำพิพากษาเดิมไม่ชัดเจน และไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตาม โดยยังมิได้ถอนกำลังทหารหรือตำรวจออกจากบริเวณใกล้เคียงปราสาท โดยกัมพูชาให้เหตุผลว่า คำพิพากษาเดิมไม่ระบุชัดเจนว่า บริเวณใกล้เคียงปราสาทครอบคลุมพื้นที่แค่ไหน ดังนั้น กัมพูชาจึงขอให้ศาลตัดสินว่าขอบเขตของบริเวณใกล้เคียงปราสาท จะต้องเป็นไปตามเส้นเขตแดนที่ปรากฏบนแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งแนบท้ายคำฟ้องของกัมพูชาในคดีเดิมตามที่กัมพูชาถ่ายทอดเส้นดังกล่าวใน ปัจจุบัน ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีขนาด 4.6 ตารางกิโลเมตร
       
       2.ข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษร (Written Observations) ของไทย
       
       เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2554 ไทยได้ยื่นข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ศาลโดยข้อสังเกตฯดังกล่าวแบ่งออก เป็น 7 บท สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
       
       2.1.บทที่ 1 : บทนำ ระบุเกี่ยวกับลำดับกระบวนพิจารณาของศาล ข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษาปี 2505 และคำขอตีความของกัมพูชาในปี 2554 โดยชี้ว่าคำขอตีความของกัมพูชามีความวกวน และมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้ศาลตัดสินในประเด็นที่ศาลได้ปฏิเสธอย่างชัด แจ้งแล้วที่จะตัดสิน ในคดีเดิมเมื่อปี 2505 ว่า เส้นเขตแดนเป็นไปตาม แผนที่ภาคผนวก1 หรือไม่ ฯลฯ
       
       2.2 บทที่ 2 : ข้อพิพาทในกระบวนการพิจารณาในคดีเดิม (2502-2505) ในบทนี้ ไทยได้วิเคราะห์ขอบเขตของข้อพิพาทในกระบวนการพิจารณาในคดีเดิม ทั้งในชั้นข้อคัดค้านเบื้องต้น (Preliminary Objections Phase) และในชั้นเนื้อหาสาระของคดี (Merits Phase) โดยชี้ให้เห็นว่าขอบเขตของข้อพิพาทดังกล่าวจำกัดเฉพาะประเด็นอธิปไตยเหนือ ปราสาทพระวิหารโดยไม่เกี่ยวกับเรื่องเขตแดน
       
       2.3 บทที่ 3 : ความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 ใน บทนี้ไทยชี้ให้เห็นว่าคำพิพากษาปี 2505 และสิ่งที่ศาล ตัดสินครอบคลุมเพียงอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเท่านั้น และศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน หรือสถานะของแผนที่ภาคผนวก 1
       
       2.4 บทที่ 4 : ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาและกัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้อง ไทยชี้ให้ศาลเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจในการตีความและไม่ควรรับคดีไว้พิจารณา การที่ศาลวินิจฉัยว่ามีอำนาจเบื้องต้นในชั้นคำสั่งออกมาตรการชั่วคราวไม่ได้ หมายความว่าศาลจะมีอำนาจในการพิจารณาคำขอตีความอันเป็นคดีหลัก โดยยกเหตุผล ดังนี้
       
       2.4.1 ไทยและกัมพูชาไม่มีข้อพิพาทเรื่องความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 เนื่องจากคำพิพากษาดังกล่าวมีความชัดเจนอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวินิจฉัยว่าไทยหรือกัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาท ศาลไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องขอบเขตของดินแดนของแต่ละฝ่าย และขอบเขตของพันธกรณีในการถอนทหาร ณ ปราสาทหรือบริเวณใกล้เคียงบนดินแดนกัมพูชา ในวรรคปฏิบัติการที่ 2 ซึ่งเป็นผลมาจากอธิปไตยเหนือปราสาทในวรรคปฏิบัติการที่ 1 ย่อมไม่อาจเกินขอบเขตของวรรคปฏิบัติการที่ 1 ได้
       
       2.4.2 ไม่มีข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีในประเด็นว่า ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้วและกัมพูชาได้ยอมรับแล้ว โดยมีหลักฐานหลายประการ อาทิ เอกสารต่างๆ ในปี 2505 โดยเฉพาะถ้อยแถลงของ รมว.ต่างประเทศกัมพูชาต่อสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2505 ว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว การเสด็จยังปราสาทของเจ้าสีหนุ ในวันที่ 5 ม.ค. 2506 และพฤติกรรมของกัมพูชาในภายหลังที่แสดงว่าพอใจกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของ ไทยแล้ว
       
       นอกจากนี้ ข้อพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษา หากปรากฏอยู่จริงก็อยู่นอกขอบเขตของข้อ 60 ของธรรมนูญศาลเกี่ยวกับการตีความ
       
       2.4.3 วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกัมพูชาที่ยื่นคำขอต่อศาลในครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อ การตีความ แต่เพื่อให้ศาลตัดสินประเด็นเรื่องเขตแดน ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลไม่ได้ตัดสินไว้ในคำวินิจฉัยเมื่อปี 2505
       
       2.5 บทที่ 5 : การตีความที่ผิดของกัมพูชาเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาปี 2505 ไทยชี้ให้ศาลเห็นว่ากัมพูชาเข้าใจความหมายของคำพิพากษาผิดในประเด็นที่สำคัญ ต่างๆ 3 ประเด็น ซึ่งในบทนี้ ฝ่ายไทยมุ่งโต้แย้งการตีความคำพิพากษาของกัมพูชา โดยยืนยันว่า
       
       2.5.1 การที่กัมพูชาตีความคำพิพากษาในประเด็นว่า ศาลตัดสินเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนเป็นการตีความที่ผิดไปจากข้อเท็จ จริง และแผนที่ไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่ไม่อาจแยกออกจากบทปฏิบัติการ
       
       2.5.2 พันธกรณีของไทยที่จะต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ไม่ใช่พันธกรณีต่อเนื่อง (Continuing Obligation) หากแต่เป็นพันธกรณีที่เฉพาะเจาะจงและในทันที (specific and immediate obligations) และ
       
       2.5.3 ไทยได้ถอนกำลังเจ้าหน้าที่แล้วเมื่อปี 2505
       
       2.6 บทที่ 6 : รายงานของผู้เชี่ยวชาญแผนที่ของฝ่ายไทย รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า
       
       2.6.1 การถ่ายทอดเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 ลงในแผนที่สมัยใหม่หรือลงในภูมิประเทศจริงจะเกิดความผิดพลาด ไม่ว่าจะใช้วิธีการใด และไม่สามารถเชื่อถือได้ เนื่องจากเทคนิคในการถ่ายทอดมีหลายวิธีซึ่งจะทำให้เกิดเส้นผลลัพธ์ที่แตก ต่างกัน และไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าวิธีการถ่ายทอดวิธีใดเหมาะสมกว่าวิธีอื่น ซึ่งความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากการใช้วิธีการต่างๆ กันอาจเป็นผลให้เกิดความแตกต่างในพื้นที่กว้างหลายกิโลเมตร ดังนั้นหากศาลจะตัดสินให้ใช้ “แผนที่ภาคผนวก 1” แทนที่จะเป็นการแก้ไขปัญหา กลับจะสร้างข้อพิพาทใหม่ให้คู่กรณี โดยเฉพาะในการเลือกจุดอ้างอิง
       
       2.6.2 International Boundary Research Unit (IBRU) ค้นพบแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 อีกฉบับหนึ่งซึ่งแตกต่างจากแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชายื่นต่อศาลฯ
       
       2.6.3 ดังนั้นศาลฯจึงไม่ควรตัดสินว่า ให้เส้นเขตแดน หรือเส้น “บริเวณใกล้เคียง (vicinity)” เป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1
       
       2.7 บทที่ 7 : บทสรุปและคำแถลง ไทยขอให้ศาลตัดสินว่า
       
       2.7.1 ศาลไม่มีอำนาจที่จะตีความและไม่สามารถรับคดีไว้พิจารณา
       
       2.7.2 หรือหากศาลเห็นว่าศาลมีอำนาจและสามารถรับคดีไว้พิจารณาได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ศาลฯจะตีความคำพิพากษาปี 2505
       
       2.7.3 หรือหากศาลเห็นว่าตนเองมีเหตุผลที่จะตีความคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว ก็ขอให้ศาลตัดสินว่าคำพิพากษาศาลในปี 2505 มิได้ตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตาม “แผนที่ภาคผนวก 1”
       
       3.คำตอบ (Response) ของกัมพูชา
       
       เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2555 กัมพูชาได้ยื่นคำตอบแก่ศาลโดยคำตอบ ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 บท สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
       
       3.1 บทนำ กัมพูชาระบุว่าข้อสรุปของฝ่ายไทยในข้อ สังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ถูกต้อง บิดเบือนข้อเท็จจริง และเต็มไปด้วยความขัดแย้งถึง 5 ประการ ได้แก่
       
       3.1.1 กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาฯปี 2505 แต่ไทยกลับหยิบยกเรื่องการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลเป็นข้อต่อสู้ ซึ่งเป็นคนละประเด็น
       
       3.1.2 ไทยกล่าวหาว่า คำขอของกัมพูชามีนัยเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาฯ หรือขอให้ศาลทบทวนคดี ทั้งๆ ที่กัมพูชากล่าวย้ำเสมอว่าต้องการขอตีความคำพิพากษาฯ ซึ่งแตกต่างกัน
       
       3.1.3 ไทยยกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังจากคำพิพากษาฯ เพื่ออ้างว่ากัมพูชาได้ยอมรับการปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว และไม่สามารถขอให้ศาลตีความได้ ทั้งๆ ที่การตีความคำพิพากษาจะต้องพิจารณาจากตัวบทของคำพิพากษาเท่านั้น
       
       3.1.4 กัมพูชาไม่ได้กล่าวอ้างว่าศาลในปี 2505 ได้ปักปันเขตแดนบนพื้นฐานของเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 ตามที่ไทยกล่าวหา และศาลไม่ได้ปักปันเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาขึ้นใหม่ เพียงแต่ยอมรับเส้นเขตแดนระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้ว
       
       3.1.5 ไทยหลีกเลี่ยงที่จะอธิบายว่าเพราะเหตุใดแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่ไม่อาจแยกจากคำพิพากษาได้และไม่สามารถตีความได้
       
       นอกจากนี้ กัมพูชาต่อสู้ว่า การที่ไทยนำเสนอว่าศาลต้องจำกัดขอบเขตของคำพิพากษาตามที่คู่ความคิดหรือ กระทำเป็นการแทรกแซงบูรณภาพและความเป็นอิสระของการดำเนินกระบวนการยุติธรรม ของศาล
       
       3.2 บทที่ 2 : ข้อเท็จจริงที่แสดงว่ากัมพูชาไม่เคยยอมรับการตีความฝ่ายเดียวของไทย กัมพูชาชี้ให้เห็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงของไทยในข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์ อักษร และนำเสนอข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาไม่เคยยอมรับการตีความฝ่ายเดียว ของไทย
       
       นอกจากนี้ การประท้วงต่างๆ ของกัมพูชาเกี่ยวกับรั้วลวดหนามตามมติคณะรัฐมนตรีไทยปี 2505 ในหลายโอกาส สะท้อนให้เห็นว่ากัมพูชาปฏิเสธที่จะยอมรับการปฏิบัติตามคำพิพากษาฯของไทยมา อย่างต่อเนื่อง และความขัดแย้งในการยื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2550 ทำให้สามารถสรุปได้ว่า มีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาซึ่งข้อพิพาทดังกล่าวคือ เหตุผลที่กัมพูชาได้ขอให้ศาลตีความในครั้งนี้
       
       3.3 บทที่ 3 อำนาจศาลและอำนาจฟ้อง:เงื่อนไขสำหรับศาลในการตีความคำพิพากษามีครบถ้วนในคดีนี้
       
       กัมพูชานำเสนอเหตุผลสนับสนุนว่าศาลมีอำนาจที่จะพิจารณาคำขอตีความคำ พิพากษาฯของกัมพูชา ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ศาลฯและศาลสถิตยุติธรรมระหว่าง ประเทศได้กำหนดไว้ในคดีก่อนๆ ทั้งในประเด็นอำนาจของศาล (Jurisdiction) และอำนาจฟ้อง (admissibility) กล่าวคือ มีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาฯ ปี 2505
       
       ทั้งนี้ ระยะเวลาที่ล่วงเลยกว่า 50 ปีไม่ทำให้สิทธิในการขอตีความคำพิพากษาเสียไป และกัมพูชาไม่ได้ยื่นขอให้ศาลตีความในประเด็นที่ศาลไม่ได้รับพิจารณาในปี 2505
       
       3.4 บทที่ 4 : การตีความที่มีความจำเป็นตามคำขอของกัมพูชา กัมพูชานำเสนอเหตุผลความจำเป็นในการตีความคำพิพากษาและแนวทางการตีความคำ พิพากษาฯ ที่กัมพูชาเห็นว่าถูกต้อง โดยวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างบทปฏิบัติการกับส่วนเหตุผลของคำพิพากษาฯ ตามแนวทางคำตัดสินของศาล อนุญาโตตุลาการและศาลระหว่างประเทศอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเหตุผลที่ไม่อาจแยกจากบทปฏิบัติการได้ และมีสถานะเป็นสิ่งที่ศาลได้ตัดสินให้มีผลผูกพัน (res judicata) ดังนั้นศาลจึงสามารถตีความได้
       
       นอกจากนี้ กัมพูชาได้ยืนยันการตีความคำพิพากษาฯ ตามคำขอของกัมพูชาวันที่ 28 เม.ย.2554 พร้อมกับโต้แย้งการตีความคำพิพากษาฯ ของไทยว่า
       
       3.4.1 กัมพูชาไม่ได้ขอให้ศาลทบทวนคำพิพากษาฯ
       
       3.4.2 กัมพูชาไม่ได้ขอให้ศาลชี้ขาดเรื่องเขตแดน และการที่ฝ่ายไทยแยกประเด็นข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกับข้อพิพาทเรื่องอธิปไตย เหนือดินแดนว่าเป็นคนละประเด็นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะข้อพิพาททั้งสองประเภทมีความสัมพันธ์กันโดยตรง
       
       3.4.3 การปฏิบัติตามคำพิพากษาฯของไทยเป็นการตีความฝ่ายเดียวที่ไม่ผูกพันกัมพูชา
       
       3.4.4 พันธกรณีในการถอนทหารตามวรรคปฏิบัติการที่ 1 ของคำพิพากษาฯ เป็นพันธกรณีที่ต่อเนื่อง
       
       3.5 บทที่ 5 : บทสรุปและคำแถลง
       
       ไทยเป็นฝ่ายที่พยายามโน้มน้าวให้ศาลทบทวนและอุทธรณ์คำพิพากษาฯ อีกทั้งข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรและเอกสารภาคผนวกของไทยมีเนื้อหาสาระไม่ เกี่ยวข้องกับการพิจารณาของศาลในการตีความคำพิพากษาฯปี 2505 ซึ่งไม่สามารถลบล้างเหตุผลของกัมพูชาที่แสดงให้เห็นว่า ศาลสามารถตีความคำพิพากษาฯได้ และการตีความที่ถูกต้องอยู่บนพื้นฐานของแผนที่ภาคผนวก 1
       
       4.คำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร (Further Written Explanations) ของไทย
       
       เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2555 ไทยได้ยื่นคำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ศาลโดยคำอธิบายฯดังกล่าว แบ่งออกเป็น 5 บท สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
       
       4.1 บทที่ 1 : บทนำ ฝ่ายไทยได้กล่าวถึงจุดอ่อนที่สำคัญของคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรของกัมพูชา ได้แก่
       
       4.1.1 คำขอตีความคำพิพากษาฯ ปี 2505 ของกัมพูชามีความสับสน และขาดความสอดคล้องกัน อาทิ เดิมใช้บทปฏิบัติการที่ 2 ของคำพิพากษาฯ ปี 2505 เป็นพื้นฐานในการขอให้ศาลฯตีความคำพิพากษาฯปี 2505 ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นมาใช้บทปฏิบัติการที่ 1 เป็นพื้นฐานด้วย
       
       4.1.2 ข้อต่อสู้ของกัมพูชาเกี่ยวกับแผนที่ภาคผนวก 1 (Annex I) ที่ว่าแผนที่ฉบับดังกล่าวเป็นเหตุผลสำคัญประการเดียวของผลคำพิพากษา ซึ่งไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล และไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
       
       4.1.3 กัมพูชาไม่ตอบบทวิเคราะห์คำพิพากษาและบริบทของการตัดสินของศาลในปี 2505 และประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องแผนที่ระวางดงรักที่ไทยได้นำเสนอในข้อสังเกต เป็นลายลักษณ์อักษรของไทย
       
       4.1.4 กัมพูชาบิดเบือนข้อเท็จจริงหลายประการ อาทิ
       
       4.1.4.1 อ้างว่าไทยขอให้ศาลแก้ไขคำพิพากษาฯ ปี 2505
       
       4.1.4.2 อ้างว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาฯ และสร้างหลักฐานทางแผนที่ที่ไม่ถูกต้อง
       
       4.1.4.3 พยายามชี้นำว่า การที่ศาล ในปี 2505 ไม่รับพิจารณาประเด็นเส้นเขตแดนและสถานะของแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเพียงเพราะเหตุผลทางกระบวนการพิจารณาคดี (ขอช้าไป) ทั้งที่จริงแล้วมีนัยด้านสารัตถะที่สำคัญ (ขอเพิ่มนอกขอบเขตคำฟ้อง)
       
       4.2 บทที่ 2 : สาระสำคัญของข้อพิพาทปี 2505 และข้อพิพาทที่กัมพูชาเสนอต่อศาลในปี 2554
       
       4.2.1 นำเสนอความแตกต่างระหว่างข้อพิพาทที่ศาลได้ตัดสินในปี 2505 และข้อพิพาทที่กัมพูชาเสนอต่อศาลในปัจจุบัน กล่าวคือ ข้อพิพาทเมื่อปี 2505 เป็นเรื่องอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารซึ่งศาลได้ตัดสินไปแล้ว แต่ประเด็นที่กัมพูชาเสนอให้ศาลตีความ เป็นพื้นที่นอกเหนือจากตัวปราสาทพระวิหารและตำแหน่งของเส้นเขตแดนระหว่าง ไทย-กัมพูชา
       
       4.2.2 เมื่อข้อพิพาทในปี 2505 กับประเด็นที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ศาลก็ไม่สามารถตีความได้
       
       4.3 บทที่ 3 : อำนาจศาล
       
       4.3.1 ไม่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับขอบเขตและความหมายของคำพิพากษาฯ ในปี 2505 ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการขอตีความ ดังนั้นกัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้อง และศาลไม่สามารถตีความคำพิพากษาฯตามที่กัมพูชาร้องขอได้
       
       4.3.2 ศาลในปี 2505 ไม่รับพิจารณาประเด็นสถานะของแผนที่ภาคผนวก 1 และตำแหน่งของเส้นเขตแดน ซึ่งมีผลทำให้ประเด็นดังกล่าวทั้งสองไม่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ศาลสามารถตี ความได้ กล่าวคือ สิ่งที่ศาลได้ตัดสินให้มีผลผูกพัน
       
       4.3.3 ความพยายามของกัมพูชามีผลเสมือนเป็นการอุทธรณ์ให้ศาลในปัจจุบันกลับมาให้ สถานะแผนที่ภาคผนวก 1 และพิจารณาเรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งไม่สามารถกระทำได้
       
       4.4 บทที่ 4 : ประเด็นที่ศาลฯ ได้ตัดสินให้มีผลผูกพัน
       
       4.4.1 แม้ศาลพิจารณาว่ามีอำนาจในการตีความคำพิพากษาฯ ปี 2505 ศาลจะสามารถตีความได้เฉพาะประเด็นที่ได้ตัดสินให้มีผลผูกพันแล้ว ซึ่งปรากฏอยู่ในส่วนบทปฏิบัติการของคำพิพากษาฯเท่านั้น
       
       4.4.2 การนำส่วนเหตุผลของคำพิพากษาฯ มาพิจารณาประกอบการตีความนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อบทปฏิบัติการมีความคลุม เครือ อย่างไรก็ดี บทปฏิบัติการของคำพิพากษาฯ ปี 2505 มีความชัดเจนในตัวอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาแผนที่ภาคผนวก 1 ประกอบการตีความ
       
       4.4.3 แผนที่ภาคผนวก 1 ไม่ใช่เหตุผลที่แยกออกจากคำพิพากษาฯ ไม่ได้ แต่เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ศาลพิจารณาเลือกใช้เท่านั้น ซึ่งในกรณีดังกล่าวศาลได้ใช้เหตุผลอื่นในการพิจารณาด้วย ได้แก่ การเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ การที่ไทยไม่ได้ยกประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารในที่ประชุมคณะกรรมการประนอม ฝรั่งเศส-สยาม ที่กรุงวอชิงตันในปี 1947 การที่ไทยผลิตแผนที่ของตนเอง 2 ฉบับที่แสดงว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในฝั่งกัมพูชา การที่ไทยนิ่งเฉยต่อหนังสือประท้วงของฝรั่งเศสและของกัมพูชาซึ่งระบุว่า อธิปไตยเหนือปราสาทเป็นของฝรั่งเศส/กัมพูชา
       
       นอกจากนี้กัมพูชาต้องการให้ตีความแผนที่ภาคผนวก 1 เส้นเขตแดน (อธิปไตยเหนือปราสาท) กัมพูชาจึงไม่สามารถนำแผนที่ภาคผนวก 1 มาใช้ประกอบการตีความบทปฏิบัติการของคำพิพากษาฯ ได้
       
       4.4.4 ฝ่ายไทยนำเสนอการตีความคำพิพากษาฯปี 2505 ที่ถูกต้อง ดังนี้
       
       4.4.4.1 “บริเวณ(ปราสาทพระวิหาร)ในดินแดนกัมพูชา” หมายถึงพื้นที่บนเขาพระวิหารที่ศาล พิจารณาเป็นการเฉพาะในกระบวนพิจารณาคดีเมื่อปี 2505 ที่ฝ่ายไทยได้ถอนทหารออก ไปแล้ว
       
       4.4.4.2 พันธกรณีในการถอนทหารเป็นพันธกรณีแบบทันทีทันใดและปฏิบัติได้ครั้งเดียว ซึ่งไทยได้ปฏิบัติโดยสมบูรณ์แล้ว
       
       4.5 บทที่ 5 : บทสรุปและคำแถลง
       
       ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นที่ศาลต้องระบุว่าศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดนในปี 2505 โดยในคำแถลงสรุป ไทยขอให้ศาลตัดสินว่า
       
       4.5.1 ศาลไม่มีอำนาจที่จะตีความและไม่สามารถรับคดีไว้พิจารณา
       
       4.5.2 หรือหากศาลเห็นว่าศาลมีอำนาจและสามารถรับคดีไว้พิจารณาได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ศาล จะตีความคำพิพากษาปี 2505 และ
       
       4.5.3 ขอให้ศาลตัดสินว่าคำพิพากษาศาล ในปี 2505 มิได้ตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1
       
       ////////////////
       
       หมายเหตุ - กองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ สรุปคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร กรณีกัมพูชายื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาคดีปราสาท พระวิหาร ปี 2505 เผยแพร่ทางเว็บไซต์ http://www.phraviharn.org


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วีรชัย พลาศรัย สรุปคำให้การ ลายลักษณ์อักษร กรณีกัมพูชา ยื่นคำขอ ศาลโลก ตีความ คดีปราสาทพระวิหาร

view