จากประชาชาติธุรกิจ
สัมภาษณ์พิเศษ
ไม่นานหลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีที่ ส.ว.สรรหา ยื่นเรื่องให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่อยู่ระหว่างการแปรญัตติในวาระที่ 1 ทั้ง 3 ฉบับ ของฝ่าย ส.ส.และ ส.ว.เลือกตั้ง จำนวน 312 คน ว่ามีมูลขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
ฝ่าย ส.ส.และ ส.ว.จึงงัดกลยุทธ์ตอบโต้ดุลพินิจของศาลด้วยการออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับอำนาจศาล ไม่ยอมยื่นเอกสารชี้แจงเหตุผลของการกระทำ บานปลายถึงการวิจารณ์ศาลว่าแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ และเตรียมยื่นถอดถอนตุลาการทั้งองค์คณะพ้นบัลลังก์
"ประชาชาติธุรกิจ" สนทนากับ "ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งจบการศึกษากฎหมายชั้นสูงจากเยอรมนี อันเป็นประเทศที่เป็นต้นฉบับศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไทยได้ลอกแบบศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญไทย
"ผศ.ดร.ปริญญา" กางตำรานิติศาสตร์ เริ่มต้นตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่เป็นปัญหาอย่างละเอียด ในฐานะนักวิชาการเขายอมรับว่า ไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญที่มารับวินิจฉัยคำร้องตามมาตรา 68 และยังเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำทางเพื่อเล่นการเมืองเสียเอง
- รัฐธรรมนูญมาตรา 68 เจตนารมณ์จริง ๆ เป็นอย่างไร
มาตรา 68 บทบาทของมันคือกลไกการป้องกันตัวเองของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การชุมนุม และอื่น ๆ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้ใช้สิทธิเสรีภาพพื้นฐานเหล่านั้นมาล้มล้างระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีการจำกัดขอบเขตเอาไว้ว่า บรรดาสิทธิเสรีภาพทั้งหลายนั้นจะใช้ในทางล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ จึงเชื่อมโยงกับข้อต้องห้ามของพรรคการเมือง เมื่อพรรคการเมืองใดที่ล้มล้างระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญย่อมไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ
- ตามหลักการรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีมาตรา 68 หรือไม่
ความจริงมันก็มีรัฐธรรมนูญมาตรา 28 บัญญัติไว้อยู่แล้ว ซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และเท่าที่ไม่ขัดศีลธรรมอันดีของประชาชน" แต่มันก็ไม่ได้ระบุว่าถ้าหากใช้สิทธิเสรีภาพในการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ต้องแก้ไขอย่างไร
มาตรา 68 จึงเป็นส่วนขยายของมาตรา 28 ว่าที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 28 มันหมายถึงการไม่ล้มล้างระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ และถ้าบุคคลใดพบเห็นการกระทำดังกล่าวก็ให้ร้องต่ออัยการสูงสุดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยให้หยุดการกระทำดังกล่าว
-มาตรา 68 ถือเป็นสิ่งที่สามารถถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมันเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 68 เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการเขียนเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติเดิม ถามว่าสิ่งที่เขียนใหม่จะขัดกับของเดิมหรือไม่ แน่นอนย่อมขัดอยู่แล้ว เพราะถ้าบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วมันขัดรัฐธรรมนูญเดิมทั้งหมด แบบนี้ก็ไม่สามารถแก้ได้เลย
ถามว่าถ้าเป็นอย่างนี้จะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ใช่ไหมเมื่อไม่มีการตรวจสอบ..ก็ไม่ใช่ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1) วรรค 2 บัญญัติว่า ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนรูปของรัฐจะเสนอไม่ได้ อันนี้คือขอบเขตการห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่วนเรื่องซึ่งประชาชนจะฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในมาตรา 68 และประชาชนสามารถเลือกได้ว่าจะไปฟ้องผ่านอัยการสูงสุด หรือ ฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเกิดการตีความให้ฟ้องตรงต่อศาลได้จึงกลายเป็นบรรทัดฐาน คนก็ฟ้องตรงต่อศาลทั้งหมด แล้วเขียนมาทำไมว่าให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ได้ใช้ เห็นได้ว่ามันผิดเจตนารมณ์แน่ ๆ
ผมคิดว่าเป็นสามัญสำนึกง่าย ๆ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างนี้ คนก็ไม่ไปร้องอัยการสูงสุดอีกเลย ถ้าเป็นอย่างนี้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คิดไม่ออกเหรอตอนร่าง...ใช่ไหม ซึ่ง ส.ส.ร.เขาเขียนให้มีอัยการสูงสุดขึ้นมากลั่นกรอง ถ้าเขาเขียนให้เลือกได้ทั้งสองอย่าง ก็รู้อยู่แล้วว่าอัยการสูงสุดจะไม่มีความหมาย และศาลรัฐธรรมนูญเองก็ดูเหมือนจะรู้ด้วยซ้ำไป เพราะมีหลักฐานปรากฏในเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีคดียื่นเรื่องตามมาตรา 68 ศาลก็บอกว่าต้องผ่านอัยการสูงสุด
เรื่องการถ่วงดุลอำนาจระหว่างนิติบัญญัติกับตุลาการ หากเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในยุโรปหรืออเมริกา ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติรับไม่ได้กับการตีความของตุลาการแบบนี้ เขาก็จะแก้กฎหมายหรือแก้รัฐธรรมนูญโดยใช้อำนาจนิติบัญญัติ ดังนั้นสิ่งที่รัฐสภากำลังแก้ไขมาตรา 68 จึงเป็นเรื่องการถ่วงดุลฝ่ายตุลาการ
ส่วนที่บอกว่าการแก้ไขมาตรา 68 เป็นการละเมิดอำนาจศาล ฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้ผิด คนที่พูดแบบนี้เหมือนเข้าใจหลักการแบ่งแยกอำนาจไม่ชัดเจนนัก เพราะนี่คืออำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจตุลาการเขาถ่วงดุลกัน ซึ่งการแก้ไขไม่มีผลต่อคดีที่จบไปแล้ว แต่มันจะมีผลในคดีต่อไป ว่าง่าย ๆ มาตรา 68 จะแก้หรือไม่แก้ไม่เกี่ยวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ค้างการโหวตวาระ 3 ในสภา
ดังนั้นจึงมีแนวทางออกกลาง ๆ คือ ให้ฟ้องที่อัยการสูงสุดก่อน แล้วกำหนดเป็นกรอบเวลาไว้ว่าอัยการสูงสุดต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน หรือ 90 วัน จากนั้นจึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าอัยการสูงสุดไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็ไปฟ้องตรงที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีในเมื่อมีข้อโต้เถียงว่าประชาชนจะยื่นตรงต่อศาล หรือ ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียว ก็เอาจุดดีของทั้งสองแนวทางแปรญัตติในสภา
- ขณะเดียวกันศาลบอกว่า เหตุที่รับคำร้องตามมาตรา 68 เพราะเป็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงตีความอย่างกว้างให้ประชาชนมีสิทธิยื่นฟ้องได้
คือมันอย่างนี้...ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่าตีความเพื่อเพิ่มสิทธิประชาชน แต่มันคือการเพิ่มอำนาจตัวเองด้วย มันไม่ได้เป็นการเพิ่มสิทธิประชาชนเพียงอย่างเดียว มันเป็นเรื่องซึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญพูดแค่ด้านเดียว แล้วการเพิ่มอำนาจตัวเองด้วยล่ะ
มาตรา 68 ที่ขัดแย้งกันเยอะ เพราะถ้าจะทำอะไรที่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วมันเข้ามาตรา 68 จากนี้ไปคนที่ไม่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญ มันก็มีการร้องศาลรัฐธรรมนูญได้หมด แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็อาจมีส่วนได้ส่วนเสียได้ ถ้ามีการแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญเอง ปัญหาความขัดแย้งก็ยิ่งเกิดหนักเข้าไปอีก เช่น มีคนขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตราที่ว่าด้วยเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลก็ตีความว่านี่เข้าข่ายมาตรา 68 มันก็จะมีปัญหาตามมาอีก
- การที่ศาลเพิ่มอำนาจให้ตนเอง เช่น อาจเป็นกลไกการป้องกันไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติมาลดอำนาจศาล
ผมใช้คำว่าเขาทำทางไว้ดีกว่า เอ่อ...เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่าเป็นเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ช่องทางที่พอเห็นเป็นทางมายังศาลรัฐธรรมนูญได้ก็มีแต่มาตรา 68 ถึงแม้ศาลยกคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.ว่าไม่เป็นการล้มล้างการปกครองก็ตาม แต่ศาลก็ทำเป็นทางไว้ว่าครั้งนี้ไม่ล้มล้าง เพราะยังไม่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าหากมีการดำเนินการเมื่อไหร่แล้วมีใครเห็นว่าจะเป็นการล้มล้างก็ค่อยมาร้องใหม่ เพราะมันมีทางไว้แล้ว
- มันเป็นเกมที่ศาลกำลังเปิดช่องให้ตัวเองลงมาเล่นเกมการเมืองบนกระดานหรือเปล่า
ก็...ในแง่นี้ถือว่า...ใช่ ในแง่ที่ว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญลงมาตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
- ผิดหลักการตรวจสอบถ่วงดุลและการแบ่งแยกอำนาจหรือเปล่า
ศาลตีความบางทีก็มีผิดได้ ผมย้ำอีกทีนะ กรรมการฟุตบอลตัดสินผิด เรายังต้องยอมรับเลย ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นกรรมการ ต่อให้ผิดและเราไม่เห็นด้วย เราก็ต้องยอมรับ แต่พอเกิดการตีความขึ้นมาแล้ว แล้วฝ่ายนิติบัญญัติไม่เห็นด้วยกับการตีความของศาล ถ้าเป็นฟุตบอลก็จะกลับไปเข้าเท้าของฝ่ายนิติบัญญัติอีกที ว่าง่าย ๆ ก็เป็นอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติที่เขาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่มันยาก มันยุ่ง (เน้นเสียง) ในการใช้อำนาจนิติบัญญัติถ่วงดุลฝ่ายตุลาการ เพราะพอฝ่ายนิติบัญญัติจะแก้กติกา ฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมให้แก้ขึ้นมา มันก็เลยทำให้ถ่วงดุลไม่ได้
ปัญหาทั้งหมดจึงอยู่ที่มาตรา 68 มันเป็นความระแวงของฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ก็เห็นว่าฝ่ายพรรคเพื่อไทยที่เป็นเสียงข้างมากในสภา ต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 หรืออย่างเบาลงมาก็ไปยกเลิกมาตรา 309 ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ยกเลิกการตรวจสอบถ่วงดุล ดังนั้นถ้าต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน แล้วอัยการสูงสุดเห็นว่าไม่ส่งให้ศาล เขาก็ไม่มีช่องทางในการถ่วงดุล หรือต่อกรกับพรรคเพื่อไทยได้เลย
แต่หากประชาชนฟ้องตรงต่อศาลได้ ก็แปลว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ฟ้องตรงได้ สามารถเปิดเกมได้หมด ดังนั้น เกมที่เอากลับไปที่ศาลได้เมื่อไหร่ มันก็เป็นเกมที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการ ในเมื่อตัวเองยกมือแพ้ในสภา เขาก็เลยเอาศาลรัฐธรรมนูญสู้ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงยืนยันว่าไม่ยอมให้แก้ไขมาตรา 68 เพราะถ้าให้ยื่นต่ออัยการสูงสุดก่อนเขาจะคุมเกมไม่ได้
แต่ในขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องมองด้วยว่า ส.ส.ร.เขียนให้ยื่นอัยการสูงสุดก่อนไว้เพื่ออะไร ถ้าฟ้องตรงต่อศาลได้อย่างนี้จะเขียนมีอัยการสูงสุดไว้ทำไม คนก็ไปฟ้องตรงต่อศาลกันหมดแล้ว
- แต่ข้ออ้างของฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า หากต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อนก็ไม่แฟร์สำหรับประชาชน เพราะอัยการสูงสุดมีแค่คนเดียวคอยกลั่นกรอง จะสู้ต่อศาลรัฐธรรมนูญมีตั้ง 9 คนช่วยกรองได้อย่างไร
ประเทศไหนก็แล้วแต่ที่ประชาชนฟ้องตรงได้ เขาจะเจอปัญหาว่าคดีไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเยอะมาก เช่น ประเทศเยอรมนีที่ให้ประชาชนฟ้องตรงได้ คดีเป็น 4 หมื่นคดี ทำยังไงครับ...เขาก็ตั้งคณะองค์คณะชุดเล็กขึ้นมากรอง เขาถึงไปรอด ไม่งั้นพิจารณาไม่ไหว แล้วปรากฏว่าการกรองของเขาคดีมีผ่านการกรองแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ถึงให้ประชาชนฟ้องตรงได้ แต่ก็ต้องมีการกรอง
เป็นเรื่องปกติคนก็ต้องหาที่พึ่ง เมื่อช่องทางนี้สู้แล้วแพ้ ก็จะหาช่องทางอื่นสู้ ฉะนั้น ช่องทางศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นช่องทางที่คนเห็นว่าสู้ได้ เบรกอยู่ ดังนั้นคดีไปศาลรัฐธรรมนูญเยอะแน่ถ้าไม่มีการกรอง แล้วที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่ามีเยอะ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน