จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...จตุพล สันตะกิจ
ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องถึงวันนี้ เป็น “จำเลย” ในข้อหาอุกฉกรรจ์
เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นปัจจัยบ่อนทำลายการส่งออกไทยให้ทรุดฮวบ อาจขยายตัวไม่ถึง 5% หรือไม่ขยายตัว ทั้งเป็นเหตุให้รัฐบาลเก็บภาษีพลาดเป้า กระทั่งเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องปิดกิจการเพราะเจ๊งระนาว
และ “ไม่มี” ส่วนเกี่ยวข้องกับสารพัดนโยบายลด แลก แจก แถม ของรัฐบาลชุดนี้แม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็น เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท การลดภาษีนิติบุคคล 20% นอกเหนือจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทุกภูมิภาค และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต้องลดเป้าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงจาก 3.5% เหลือ 3.3% ในปีนี้
การระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลก็ไม่เว้น แต่ครานี้ค่าเงินบาทกลายเป็น “ผู้ต้องหา” ตัวสำคัญ
เมื่อ บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ควบตำแหน่งประธานอนุกรรมการระบายข้าว และเกี่ยวข้องกับทุกองคาพยพในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล รู้สึกหนักอกหนักใจว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้การส่งออกข้าวไทยได้รับผลกระทบรุนแรง
โดยเฉพาะส่งผลกระทบให้การเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ทำได้ยากลำบาก เพราะกระทรวงพาณิชย์ตั้งราคาขายข้าวสารในรูป “เงินบาท” แต่การเจรจาซื้อขายอยู่ในรูปเงิน “เหรียญสหรัฐ” เมื่อราคาขายข้าวกำหนดขายตายตัวเป็นเงินบาท หากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ราคาขายข้าวไทยในรูปเหรียญสหรัฐจึงต้องสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
“เราก็เหมือนผู้ส่งออกทั่วไป คือ ไม่รู้จะขายราคาเท่าไร เพราะเงินบาทผันผวน และหากจะขึ้นราคาขาย ผู้ซื้อก็ไม่ยอมรับ เราก็ต้องใช้วิธีการเจรจาแบบ Day by Day แน่นอนเราอาจต้องขาดทุนมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ แต่การเจรจาขายก็ยังอยู่ต่อเนื่อง ส่วนการจะขายข้าวให้ใคร ราคาเท่าไร บางทีก็ต้องดูปริมาณซื้อด้วย” บุญทรง บอก
เช่นเดียวกับ ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่ระบุว่า การส่งออกข้าวไทยในปีนี้อาจทำได้เพียง 6 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่สมาคมฯ ตั้งไว้ที่ 6.5 ล้านตัน และน้อยกว่าปีก่อนที่ส่งออกได้ 6.9 ล้านตัน
เหตุผลหลักมาจากการตั้งราคารับจำนำสูงและค่าเงินบาทแข็งค่า
ขณะที่คู่แข่งส่งออกข้าวไทยล้วนมีราคาข้าวถูกกว่าข้าวไทยทั้งสิ้น โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย พบว่า ณ วันที่ 9 พ.ค. ข้าวขาว 5% ราคาข้าวเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 559 เหรียญสหรัฐต่อตัน เวียดนาม 375 เหรียญสหรัฐต่อตัน อินเดีย 440 เหรียญสหรัฐต่อตัน และปากีสถาน 425 เหรียญสหรัฐต่อตัน
หรือเรียกได้ว่าวันนี้ข้าวขาว 5% ของไทยสูงกว่าข้าวคู่แข่ง 120180 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือ 2530% และทำให้แข่งขันในตลาดได้ยากยิ่ง
ทว่าเมื่อพิเคราะห์ผลกระทบ “ค่าเงิน” ที่มีต่อการส่งออกข้าวไทยจะพบว่าในช่วงที่รัฐบาลผันตัวมาเป็นเจ้ามือใหญ่ “ซื้อขายข้าว” ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกต้นปีที่แล้ว ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 30.2531.91 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2555 อยู่ที่ 31.08 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ค่าเงินบาทเฉลี่ยในเดือน เม.ย. อยู่ที่ 29.07 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นจาก 29.52 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในเดือน มี.ค. ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปี 2556 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 29.62 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
นั่นเท่ากับว่าค่าเงินบาท ณ ปัจจุบันเทียบกับปี 2555 พบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเฉลี่ย 4.92% เทียบกับเงินสกุลเหรียญสหรัฐ ค่าเงินรูปีของอินเดียแข็งค่าขึ้น 1.3% เทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ขณะที่ค่าเงินด่องของเวียดนามอ่อนค่าลง 0.5% เทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐ หรือต่างกันในช่วง 5% กว่าเท่านั้น
สรุปได้ว่าการแข็งค่าของเงินบาทไม่น่าจะมีผลอย่างมี “นัย” เทียบกับการตั้งราคาข้าวสูงๆ
“รัฐบาลตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกไว้สูงตั้งแต่แรก ทำให้ข้าวไทยส่งออกได้ยากเมื่อเผชิญกับค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้ต้นทุนข้าวไทยสูงเกินกว่า 800 เหรียญสหรัฐต่อตันไปแล้ว ดังนั้น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจึงเป็นเพียงผลกระทบที่มาซ้ำเติมเท่านั้น” สมพร อิศวิลานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวแห่งสถาบันคลังสมองของชาติ ตั้งข้อสังเกต
แน่นอนว่ากระทรวงพาณิชย์เองก็พยายามหาทางออกในการระบายสต๊อกข้าวสาร โดยกำหนดไว้ 2 แนวทาง คือ 1.การระบายข้าวสารแบบจีทูจีแบบ “บิ๊กล็อต” ที่ทำให้ต้อง “หั่น” ราคาขายข้าวลงกว่าปกติ และ 2.การระบายข้าวสารให้ผู้ประกอบการในประเทศเพื่อขายในประเทศหรือส่งออก
“แผนเร่งด่วนในการระบายข้าว นอกจากการเข้าทำตลาดข้าวแห่งใหม่เพิ่มและต่อเนื่องมากขึ้น ยังจะเน้นการขายข้าวล็อตใหญ่ๆ เพื่อให้การเจรจาราคามีความเหมาะสมกับราคาที่ผู้ซื้อรับได้ ที่เหลือเป็นการเปิดประมูลขายเป็นการทั่วไปให้กับผู้ประกอบการในประเทศ” วัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ
แต่เมื่อพิจารณาแล้วหนทางระบายข้าวจีทูจีล็อตใหญ่มีอุปสรรคใหญ่ให้กระทรวงพาณิชย์ต้องฝ่าฟัน
เพราะวันนี้สถานการณ์การผลิตข้าวโลกในปีนี้ “ไม่เป็นใจ” เมื่อองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ออกรายงานตลาดข้าวโลกเดือน เม.ย. 2556 ระบุว่า ผลผลิตข้าวโลกจะเพิ่มขึ้น 16 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็น 2.1% เทียบกับปีที่แล้ว โดยมีปริมาณข้าวเปลือก 746.7 ล้านตัน หรือคิดเป็นข้าวสาร 497.7 ล้านตัน
นอกจากนี้ คู่แข่งส่งออกข้าวของไทยต่างงัดกลยุทธ์ขายข้าวในราคาต่ำ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย เวียดนาม ปากีสถาน กัมพูชา และเมียนมาร์ ซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหม่ โดยเฉพาะอินเดียที่มีสต๊อกข้าวสูงกว่าสต๊อกสำรองขั้นต่ำ 2-3 เท่าตัว หรือผู้ซื้อข้าวอย่างจีนที่มีนโยบายรับซื้อข้าวในราคาต่ำเพื่อควบคุมราคา ข้าว ส่วน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไนจีเรีย ผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้น
แม้แต่กระทรวงเกษตรของสหรัฐ (ยูเอสดีเอ) ประเมินว่า ปริมาณการค้าข้าว “หดตัว” หรือความต้องการซื้อข้าวลดน้อยลง นั่นเป็นปัจจัยกระตุ้นให้การแข่งขันเพื่อส่งออกข้าวรุนแรง ตลอดจนมีการดัมพ์ขายข้าวแข่งกัน
เช่นกัน ข้อมูลการส่งออกข้าวแบบจีทูจีของรัฐบาลที่กระทรวงพาณิชย์ลงนามเอ็มโอยู “จะซื้อจะขาย” ข้าวประเทศต่างๆ พบว่าตัวเลข “ไม่น่าประทับใจ”
สมพร ให้ข้อมูลว่า ณ วันที่ 18 ก.พ. 2556 ไทยส่งออกข้าวแบบจีทูจีเพียง 9 แสนตัน จากข้าวสารในสต๊อก 16 ล้านตัน แบ่งเป็นอินโดนีเซีย 3.37 แสนตัน ฟิลิปปินส์ 3,323 ตัน จีน 1.76 แสนตัน บังกลาเทศ 97 ตัน และโกตดิวัวร์ 3.56 แสนตัน ขณะที่การส่งออกของไทย ณ วันที่ 28 เม.ย. 2556 ไทยส่งออกข้าวได้เพียง 1.33 ล้านตัน ลดลง 18.7% เทียบกับปีที่แล้ว
“ข้าวที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นข้าวเกรดพรีเมี่ยม หรือข้าวหอมมะลิและข้าวนึ่ง” สมพร ตอกย้ำ
ดังนั้น การระบายข้าวออกไปต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน ทั้งตลาดใหม่และตลาดเก่า และหากกระทรวงพาณิชย์ต้องการระบายข้าวออกในสถานการณ์นี้ และต้องระบายแน่ๆ ไม่เช่นนั้นข้าวสารจะ “เน่า” คาโกดัง ยิ่งทำให้การขาดทุนในโครงการนี้เพิ่มเป็นเท่าทวี
หรือหากกระทรวงพาณิชย์เลือกขายข้าวในประเทศ ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ “แอบ” ขายข้าวออกสู่ตลาดในประเทศจำนวนมาก สะท้อนได้จากราคาข้าวเปลือกที่รัฐบาลรับจำนำราคา 1.5 หมื่นบาท เท่ากับข้าวสารในท้องตลาด หรือบางกรณีต่ำกว่าราคารับจำนำข้าวเปลือกด้วยซ้ำ
“ข้าวที่กินในประเทศส่วนใหญ่ก็เป็นข้าวในโครงการรับจำนำแทบทั้งนั้น โดยระบายผ่านเครือข่ายบริษัทค้าข้าวรายใหญ่ 34 เจ้า ไม่นับสยามอินดิก้าฯ และโรงสีในเครือ แล้วนำไปขายต่อให้พ่อค้าในตลาด 14-15 บาทต่อกิโลกรัม เช่น ขายให้ผู้ประกอบการข้าวถุง ซึ่งเมื่อนำมาบรรจุถุง 5 กิโลกรัมขายที่ 80 บาทก็ยังพอมีกำไร”แหล่งข่าววงการค้าข้าวระบุ
นอกจากนี้ ข้าวสารบางส่วนมีการนำไป “ขายส่ง” ให้ยี่ปั๊ว หากเป็นข้าวสารคุณภาพดีก็นำออกขายในท้องตลาด ซึ่งพอมีกำไร 40-50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ส่วนข้าวคุณภาพแย่ๆ โรงสีบางแห่งซื้อมาก็จะนำไปเวียนเทียนเข้าโครงการซ้ำ แล้วนำข้าวที่ได้จากโครงการรับจำนำมาสีแปรสภาพขายในท้องตลาด
“กลไกการขายข้าวแบบจีทูจีของรัฐบาลยังทำอย่างนี้อยู่ ข้าวที่คนไทยกินก็เป็นข้าวในโครงการ แม้ว่ารัฐบาลบอกว่าจะระบายข้าวในประเทศเพิ่มก็ต้องถามว่าจะขายให้ใครกิน เพราะทุกวันนี้ก็ขายในประเทศอยู่แล้ว แต่หากกระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าทุกอย่างทำถูกต้องก็ขอให้เปิดข้อมูลมาว่าขาย ข้าวให้ใครบ้าง ปริมาณและราคาเท่าไหร่”แหล่งข่าวระบุ
การที่กระทรวงพาณิชย์บอกว่าจะขายข้าวในประเทศให้มากขึ้นในรูปเงินบาท เพื่อหลีกเลี่ยงการขายข้าวในรูปเงินเหรียญสหรัฐที่ขายได้ยาก เพราะค่าเงินบาทไม่นิ่งและจะขาดทุนหนัก นั่นเป็นความจริง “ครึ่งเดียว” เพราะโครงการเมื่อเริ่มตั้งไข่ ฟักไข่ และเป็นลูกไก่ เห็นกันชัดๆ ว่ามีผลเสียเกินเยียวยา เราจะทนอยู่หรือ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน