จากประชาชาติธุรกิจ
19 มีนาคม 2556 ชื่อของ ดร.สุภาพ เกิดแสง ดังกระหึ่มในวงการทรัพย์สินทางปัญญาและแวดวงอีคอมเมิร์ซ ทั้งในสหรัฐและทั่วโลก เมื่อศาลสูงสุดของสหรัฐมีคำตัดสินให้ ดร.สุภาพเป็นฝ่ายชนะคดีที่ถูกบริษัทจอห์น ไวลีย์ แอนด์ ซันส์ (John Wiley & Sons) สำนักพิมพ์ชื่อดังฟ้องร้องฐานะละเมิดลิขสิทธิ์ กรณีนำตำราเรียนของสำนักพิมพ์ที่ขายสิทธิ์พิมพ์และจำหน่ายเฉพาะในทวีปเอเชีย กลับเข้ามาขายในสหรัฐผ่านทางเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ "อีเบย์" ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายในสหรัฐ เป็นเหตุให้ทางสำนักพิมพ์ได้รับความเสียหาย
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขาเชื่อว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องถูกต้องและยืนหยัดสู้คดีกับสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่มานานกว่า4 ปีจนได้รับชัยชนะ เรื่องนี้จะส่งแรงกระเพื่อมสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างไร และผู้ประกอบการไทยควรเรียนรู้อะไรจากคดีที่เกิดขึ้น วันนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" มีคำตอบ
- ความเป็นมาของคดีที่ถูกสำนักพิมพ์ฟ้อง
ก่อนอื่นต้องเท้าความว่าก่อนหน้านี้มีคดีระหว่างบริษัทควอลิตี้คิง และบริษัทลานซ่าในสหรัฐ เกิดขึ้นประมาณ 10 ปีที่แล้ว โดยบริษัทควอลิตี้คิงนำเข้าผลิตภัณฑ์แชมพูของบริษัทลานซ่าที่จำหน่ายในตลาดต่างประเทศ กลับเข้ามาขายในตลาดสหรัฐ ในราคาที่ถูกกว่าระดับราคาที่บริษัทลานซ่าตั้งไว้สำหรับจำหน่ายในสหรัฐ ผลก็คือบริษัทลานซ่าฟ้องร้องบริษัทควอลิตี้คิง โดยอ้างว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของตนตามกฎหมายมาตรา 602 ของประเทศสหรัฐ แต่ทางควอลิตี้คิงก็อ้างว่าไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์เพราะได้ซื้อสินค้ามาแล้ว ซึ่งคนที่ซื้อสินค้าสามารถนำไปจำหน่ายต่ออย่างไรก็ได้ตามกฎหมายมาตรา 109 ของประเทศสหรัฐ (First Sale Doctrine) และในตอนท้ายบริษัทควอลิตี้คิงเป็นผู้ชนะคดี
ก่อนที่ผมจะ จำหน่ายหนังสือเรียนของ John Wiley & Sons ผมก็เห็นคำเตือนที่เขียนบนหน้าปกหนังสือในทำนองว่าห้ามจำหน่ายนอกประเทศไทย และห้ามนำไปจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาผมจึงไปค้นคว้าข้อมูลมาก่อนการขาย และพบว่าน่าจะทำได้เนื่องจากมีคดีควอลิตี้คิงเป็นตัวอย่าง
โดยผมได้นำหนังสือเรียนของ John Wiley & Sons (แบบพิมพ์จำหน่ายในต่างประเทศ) มาจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาผ่านเว็บไซต์อีเบย์จำนวน 8 ปก ปกละประมาณ 15 เล่ม ในราคาเล่มละ 50 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นราคาเทียบเคียงกับหนังสือมือสอง ขณะที่หนังสือมือหนึ่งที่จำหน่ายในสหรัฐราคาอยู่ที่ประมาณ 150 เหรียญสหรัฐ หลังจากจำหน่ายหนังสือเรียนในรูปแบบนี้มาได้ 2 ปี ทางสำนักพิมพ์ก็ยื่นฟ้องและนำหมายศาลมาบอกผมว่าละเมิดกฎหมายมาตรา 501 ของสหรัฐ ที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิ์การขาย
ตอนนั้นทั้งตกใจและแปลกใจ เพราะส่วนตัวศึกษากฎหมายมาก่อนแล้ว และเชื่อว่าทำแบบนี้ไม่ผิด อย่างไรก็ตาม แม้ควอลิตี้คิงจะเป็นผู้ชนะคดี แต่ก็มีคำตัดสินของผู้พิพากษาคนหนึ่งบอกว่า กรณีนี้ไม่ได้ตัดสินในกรณีที่สินค้าผลิตนอกประเทศสหรัฐ ซึ่งอันที่จริงเรื่องนี้ไม่น่าเป็นประเด็น
- กังวลไหมหลังจากที่ถูกฟ้องร้อง
กังวลแต่ก็ไม่ยอมแพ้ เพราะมั่นใจว่าเราศึกษากฎหมายด้านนี้มาก่อนการที่จะขายพอสมควร อีกอย่างถ้าเรายอมก็จะทำให้มีคดีติดตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการมาทำงานในวิชาชีพอาจารย์ ก็เลยจ้างทนายในสหรัฐ ซึ่งได้นำข้อมูลวิจัยด้านกฎหมายของเราไปใช้ในศาลด้วย กรณีการฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์ปกติจะเกิดการยอมความ ซึ่งก็คือคนที่ถูกฟ้องร้องยอมแพ้เสมอ ทั้งที่บางกรณีอาจไม่ได้ผิด แต่การสู้คดีมีค่าใช้จ่ายสูง เลยเป็นช่องให้บริษัทใหญ่ใช้วิธีนี้เข้ามากดดันบริษัทรายเล็ก ซึ่งถ้าผมยอมก็จะเสียค่าปรับประมาณ 10,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 290,000 บาท) แต่พอไม่ยอมก็ต้องเสียเงินมากกว่านั้นเพื่อสู้คดี
- อะไรเป็นสาเหตุที่ศาลสูงสหรัฐตัดสินให้เราเป็นฝ่ายชนะ
การต่อสู้คดีนานถึง 4 ปี จนศาลสูงสหรัฐ มีคำสั่งรับฟังคดีความระหว่างผมกับบริษัท John Wiley & Sons ทำให้กลายเป็นข่าวดัง เพราะเราแพ้คดีมาก่อนทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และการที่ศาลสูงของสหรัฐ รับพิจารณาคดียังถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะในหนึ่งปีเขาจะรับแค่ 60 คดีเท่านั้น
ส่วนเหตุผลที่ศาลสูงสุดสหรัฐ ตัดสินให้ผมไม่มีความผิดน่าจะเป็นเพราะ หากผมแพ้คดีนี้จะทำให้กฎหมาย First Sale Doctrine ใช้ไม่ได้อีกต่อไปสำหรับสินค้าที่ผลิตนอกสหรัฐ ดังนั้นผู้ผลิตจะต้องย้ายฐานการผลิตออกนอกสหรัฐทั้งหมด ไม่อย่างนั้นเจ้าของลิขสิทธิ์จะยังมีสิทธิ์เหนือสินค้าของตนเสมอ ไม่ว่าจะถูกจำหน่ายต่อกี่ทอด นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ที่ซื้อสินค้าต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนทุกครั้ง ไม่ว่าจะนำสินค้าไปทำอะไรก็ตาม
หากเทียบข้อเสียจาก 2 ฝั่ง ถ้าผมแพ้คดีจะมีข้อเสียเยอะมาก ในขณะที่การที่ผมชนะคดีจะทำให้ธุรกิจและวิถีชีวิตทั่วไปของคนสหรัฐ ดำเนินไปได้ตามปกติ ตรงนี้น่าจะเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ศาลตัดสินอย่างนี้ - ผลของคดีจะส่งผลต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างไร
ทางสำนักพิมพ์อาจผลักดันหนังสือของตัวเองให้ไปอยู่ในแท็บเลตมากขึ้นเพราะเวลาเราซื้อซอฟต์แวร์ใด ๆ ก็ตาม หากลองอ่านเงื่อนไขการซื้อจะพบว่าเป็นลักษณะการเช่าใช้ เอาไปขายต่อไม่ได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าทางสำนักพิมพ์คงจะอยากผลักดันการจำหน่ายหนังสือบนแท็บเลตมานานแล้ว เพราะจะช่วยลดต้นทุนได้ด้วย
แต่ผลกระทบที่ผมไม่อยากให้เกิดก็คือ การที่คนทั่วไปมีความคิดว่าต่อไปนี้การนำสินค้าไปจำหน่ายในรูปแบบเดียวกับ ที่ผมจำหน่ายหนังสือเรียนบนอีเบย์จะสามารถทำได้โดยไม่ต้องกลัวอะไรอีกต่อไป เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะเอากลยุทธ์อื่น ๆ มาใช้แทน ใช้กฎหมายอื่น ๆ มาฟ้องร้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำในลักษณะนี้ เพราะการแบ่งตลาดในแต่ละประเทศจะทำให้เขาได้กำไรเยอะ ส่วนตัวจึงไม่แนะนำให้มีใครทำแบบนี้เพราะเราเสียเปรียบและต้องเสียเงินมาก ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้คดี
อีกเรื่องคือคนเข้าใจผิด คิดว่าต่อจากนี้สามารถเอาของละเมิดลิขสิทธิ์มาจำหน่ายได้โดยไม่ผิดกฎหมายซึ่งมันไม่ใช่ เรื่องนี้ทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะในกฎหมายมาตรา 109 หรือ First Sale Doctrine ของสหรัฐระบุคำว่า Lawfully ที่แปลว่าต้องเป็นของที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างชัดเจนไว้แล้ว
- ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยน่าจะเรียนรู้อะไรได้จากกรณีนี้
ก่อนอื่นเลยสินค้าที่คุณจะจำหน่ายแบบอีคอมเมิร์ซต้องเป็นของที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนจะผลิตที่ไหนไม่สำคัญ ส่วนตัวมองว่าผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในไทยไม่ต้องกังวลอะไรจากกรณีนี้ เพราะไม่เคยมีคดีความแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากบ้านเราไม่มีประเด็นดังกล่าวกับเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่แล้ว เพราะสินค้าในตลาดประเทศไทยไม่ได้แพงกว่าประเทศอื่น ที่เห็นว่าแพงตอนนี้เป็นเพราะภาษีมากกว่า นอกจากนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศไทยก็ยังไม่ได้พูดถึงกรณีปัญหารูปแบบนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องระวังจึงเป็นปัญหาที่อาจเกิดจากเรื่องภาษีมากกว่า
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน