สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดัชนีสีเทา ป่วนเศรษฐกิจไทย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...บากบั่น บุญเลิศ/เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรก ปี 2556 เพียงชั่วข้ามคืน เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ก่อให้เกิดคำถามในวงกว้างในแทบทุกวงการ ถึงการชะลอตัวเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าเป้าหมายจำนวนมากจนทำให้ต้องลดประมาณการ เศรษฐกิจทั้งปีว่าหดตัวมากมายขนาดนั้นเชียวหรือ?

เพราะข้อมูลดัชนีเศรษฐกิจที่ สศช. ประกาศนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกขยายตัวได้ 5.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ 0.4% ซึ่งถือว่าเป็นฐานที่ต่ำมาก และในไตรมาส 4 ปี 2555 เศรษฐกิจไทยก็ทะยานดังพลุขยายตัวได้สูงถึง 19.1%

จน สศช.ต้องตัดสินใจปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือ 4.2-5.2% จากเป้าเดิม 4.5-5.5% ทันที

ตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ต่ำได้สร้างความฉงนในวงการเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจไทยทำไมถึงหมดแรงอย่างกะทันหัน ไม่ได้มีพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวได้ดีอย่าง ที่ควรเป็น

ยิ่งเมื่อพิจารณาจากตัวเลขการส่งออกไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวได้ 4.5% ทั้งๆ ที่ฐานช่วงเดียวกันติดลบ 1.4% และการส่งออกของไทยไตรมาส 4 ปี 2555 ก็อยู่ในระดับสูงถึง 18.2% แต่อยู่ดีๆ การส่งออกก็ช็อตไปอย่างกะทันหัน

ทั้งๆ ที่ค่าเงินบาทผันผวนอย่างมากเมื่อเดือน เม.ย. 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะมีผลกระทบกับออร์เดอร์ในการส่งออกในไตรมาส 3 หรือ 4 ของปีนี้ เพราะออร์เดอร์การส่งออกมีการสั่งกันล่วงหน้า 36 เดือน

แต่ดูเหมือนว่า สศช.บอกว่าการส่งออกได้รับผลกระทบไปแล้ว และเงินหายไปร่วม 1.8 แสนล้านบาท

ส่วนตัวเลขด้านการลงทุนภาครัฐ เอกชน การบริโภคภาคเอกชน ล้วนแล้วแต่แผ่วลงเหมือนนัดกันมา ทั้งที่รัฐบาลมีการลงทุนทั้งจากในงบปกติ และการกู้เงินนอกงบประมาณ การลงทุนภาคเอกชนในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ก็บูมจนเริ่มมีสัญญาณฟองสบู่ ส่วนการบริโภคภาคเอกชนก็มีโครงการรถคันแรก การขึ้นเงินเดือน ขึ้นค่าแรง 300 บาท ที่น่าจะทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขทั้งหมดกลับสวนทางทิ่มหัวลงแทบทุกรายการ

ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่อยู่ในช่วงขาลง เป็นทางปูไปสู่ สศช. เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ สอดรับกับสิ่งที่รัฐบาลพยายามกดดัน ธปท.อย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา

ปฏิกิริยาดังกล่าวจึงทำให้ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ถึงขนาดตั้งโต๊ะแถลงตั้งข้อสังเกตตัวเลขเศรษฐกิจของ สศช. ว่ามีบางตัวเลขโดยเฉพาะการบริโภคภายในประเทศที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก กับ ธปท. และได้ให้เจ้าหน้าที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาในการประชุมวันที่ 29 พ.ค.นี้

ขณะที่ สศช. ก็ออกมาโต้กลับกระแสทำตัวเลขเศรษฐกิจเทียมว่า ไม่ทำตัวเลขเศรษฐกิจเอาใจรัฐบาลเพื่อใช้เป็นเครื่องมือบีบ ธปท. ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัย

นี่คือควันไฟที่เกิดขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ทำให้ตลาดเงินและหน่วยงานเศรษฐกิจเกิดข้อกังขา

ทั้งนี้ หากย้อนไปดูการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ของกระทรวงการคลัง เมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ก็พบว่ามีความแตกต่างจาก สศช. เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภาคเอกชนที่ สศช. ระบุว่าขยายตัวได้ 3.9% เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนระวังการใช้จ่าย โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลง ส่งผลให้การใช้จ่ายโดยรวมชะลอตัว

แต่ทว่าตัวเลขของ สศค. การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 6.9% เนื่องจากโครงการรถคันแรกที่ยังขยายตัวได้ดี ประกอบกับมีรถยนต์รุ่นใหม่ มีการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนยังขยายตัวได้

เมื่อดูตัวเลขการส่งออก สศช. ระบุว่าไตรมาสแรกขยายตัวได้ 3.8% เพราะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า แต่ตัวเลขของ สศค. การส่งออกขยายตัวได้ 4.3% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขของ สศช.ร่วม 0.5%

ขณะที่ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชน สศช.ระบุว่าขยายตัวได้ 4.2% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 20.9% ในไตรมาสที่แล้ว แต่ในส่วนของ สศค.ขยายตัวได้ 6.8% ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 43.1% ซึ่งตัวเลขต่างกันมากทั้งไตรมาสแรกของปีนี้และไตรมาสก่อนหน้า

จะเห็นว่าแม้แต่องค์กรด้านเศรษฐกิจที่เป็นแขนขาของรัฐบาลยังมีความแตก ต่างกันค่อนข้างมาก ทำให้มีปัญหาความเชื่อมั่นทางตัวเลขเศรษฐกิจปะทุขึ้นอีกครั้ง

ทำให้ทุกฝ่ายจับจ้องไปที่ สศช.ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่ามีการทำตัวเลขชงให้รัฐบาลใช้เป็นตัวกดดันให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายที่ กนง.จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า

ยิ่ง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช. ระบุในการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจว่า ธปท.ต้องลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1% เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ยิ่งทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตจากทุกฝ่ายว่า ชุดตัวเลขข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดของ สศช.มีเป้าหมายเพื่อกดดันให้ ธปท.ลดดอกเบี้ย

คล้อยหลังไม่นาน กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ก็ออกมารับลูกทันทีว่าเป็นห่วงการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ทำได้น้อย และย้ำจุดยืนเดิมว่า ธปท.ต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย

ประกอบกับในวันที่ 21 พ.ค. 2556 หลังการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจของ สศช.วันเดียวเท่านั้น ก็มีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบทันที และ ครม.ยังมีมติให้ส่งข้อมูลตัวเลขดังกล่าวไปให้ ธปท.รับทราบเพื่อใช้พิจารณาในการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่ปกติ ธปท.ก็จะติดตามตัวเลขของ สศช.อยู่แล้ว

การลื่นไหลของข้อมูลเศรษฐกิจของ สศช.ที่ดูเป็นระบบระเบียบเพื่อส่งตรงไปยัง ธปท.เพื่อเป็นแรงกดดันให้ลดดอกเบี้ย ยิ่งทำให้ข้อมูลเศรษฐกิจของ สศค.ที่แถลงออกมาสะท้อนความเป็นจริงหรือไม่ ที่สำคัญมีการประเมินภาพเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ต่ำเกินไปหรือเปล่า

เพราะไม่เพียงแต่สาธารณชนเท่านั้นที่ตั้งข้อสงสัยตัวเลขเศรษฐกิจที่ สศช.แถลงออกมาล่าสุด แม้แต่ ธปท.ที่เป็นคู่กรณีกับรัฐบาลโดยตรงก็ออกมาตั้งการ์ดสู้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจของ สศช.มีความน่าสงสัย

ขณะเดียวกันตัวเลขของ สศช.เองก็ยังไม่ตรงกับ สศค.ที่เป็นหน่วยงานของรัฐบาลเอง ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยเกิดวิกฤตความเชื่อมั่นว่าถึงที่สุดแล้วตัวเลข เศรษฐกิจของหน่วยงานไหนน่าเชื่อถือที่สุด

เงามืดแห่งความเสื่อมศรัทธากำลังคืบคลานมาครอบคลุมยังหน่วยงานเศรษฐกิจที่มีความน่าเชื่อถือเข้าให้แล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดัชนีสีเทา ป่วนเศรษฐกิจไทย

view