จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เพราะทุกสายตาจับจ้องไปที่ผลการประชุมของ กนง.ว่าจะตัดสินใจกับดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันอยู่ที่ 2.75% อย่างไร
ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อรัฐบาลต้องการให้ลดดอกเบี้ยดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่า และดูแลเศรษฐกิจที่มีสัญญาณชะลอตัวลง
ขณะที่ ธปท.ยังรักษาจุดยืนการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพ เพราะเศรษฐกิจมีสัญญาณฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น และภัยร้ายจากเงินเฟ้อที่ยังวางใจไม่ได้หลังจากราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้การประชุม กนง. ที่ผ่านมาล่าสุดมีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม ไม่ได้ลดตามแรงกดดันทางการเมือง
การไม่ตอบสนองด้วยการลดดอกเบี้ยตามความต้องการของฝ่ายการเมือง นำไปสู่กระแสที่ว่ารัฐบาลกำลังหาช่องปลด ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ที่นั่งเป็นประธาน กนง. ออกจากตำแหน่งเพื่อเป็นการตัดเสี้ยนหนามในการลดดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการปลดผู้ว่าการ ธปท.ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหตุผลการปลดจะต้องมีความผิดที่ร้ายแรง และรัฐบาลจะชงเรื่องปลดกันเองเหมือนในอดีต ต้องให้คณะกรรมการ ธปท. เป็นคนเห็นชอบและเสนอให้รัฐบาลปลดออกจากตำแหน่งเมื่อรัฐบาลปลดผู้ว่าการ ธปท.ไม่ได้ การดำเนินการแทรกแซง กนง.เพื่อให้ลดดอกเบี้ยก็ทำได้ยาก เป็นผลให้ความขัดแย้งของรัฐบาลและ ธปท.ยังเป็นเหมือนสึนามิใต้น้ำที่รอวันปะทุ
ดังนั้นการประชุม กนง. ในวันที่ 29 พ.ค. 2556 จึงเป็นครั้งประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง เพราะไม่ว่าผลออกมาอย่างไร ย่อมส่งผลสั่นสะเทือนกับเศรษฐกิจ และคนที่เกี่ยวข้องทั้งนั้น
สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ความเห็นยังแตกเป็น 2 ฝ่าย ในฝ่ายที่ต้องการให้ลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะรัฐบาลส่งสัญญาณชัดเจนว่า กนง.ต้องลดดอกเบี้ยสถานเดียวเท่านั้น
การส่งสัญญาณยังเลยเถิดไปถึงการกำหนดอัตราที่ต้องลดถึง 1% ต่อปี ตีกันปิดทางกนง.จะลดดอกเบี้ย 0.25% เพื่อเป็นการลดกระแสกดดันทางการเมือง
ที่สำคัญรัฐบาลได้ผนึกกำลังของหน่วยงานต่างๆ กดดันให้ กนง.ลดดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ขยายตัวได้ 5.3% ต่ำกว่าที่คาด จนต้องลดประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีลงเหลือ 4.2-5.2% ต่อปี จากเดิม 4.5-5.5% ต่อปี โดยพุ่งเป้าไปที่ค่าเงินบาทแข็งทำให้การส่งออกสะดุด การขยายตัวของเศรษฐกิจจึงเซไปด้วย
สศช.ยังเรียกร้องให้ ธปท.พิจารณาลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1% เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับที่รัฐบาลกดดันให้ ธปท.ลดดอกเบี้ย
การพุ่งเป้าให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ถูกมองว่า การลดดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขค่าเงินบาทไม่มีเหตุผลที่จะกล่าวอ้างมากดดัน ธปท.ได้อีกต่อไป หลังจากที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 29-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยแข็งค่าไปถึง 28.55 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็ประสานเสียงรับลูกปรับประมาณการส่งออกจาก 8-9% เหลือ 7-7.5% เนื่องจากโดนพิษเงินบาทแข็งค่า เพื่อเป็นการกดดัน ธปท.อีกแรง ต่างจากปีที่ผ่านมาที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกไว้ 15% ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงทั้งที่สุดท้ายการส่งออกขยายตัวเพียงแค่ 4% เท่านั้น
นอกจากนี้ วีรพงษ์ รามางกูร ประธาน ธปท. ก็ออกมาขย่มองค์กรของตัวเองให้ลดดอกเบี้ย เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดหายนะทางเศรษฐกิจ เพราะผลขาดทุนของ ธปท.จะเพิ่มจากที่มีอยู่ 5 แสนล้านบาท เป็น 1 ล้านล้านบาท
ขบวนการกดดันให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยยังรวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดงที่เดินสายส่งหนังสือให้หน่วยงาน ต่างทั้งทำเนียบรัฐบาล กระทรวงการคลัง กดดันให้ ธปท. ลดดอกเบี้ย เพราะการที่ค่าเงินบาทแข็งทำให้รัฐบาลส่งออกข้าวที่รับจำนำไว้ไม่ได้
จะเห็นว่ากลุ่มก้อนที่ยืนอยู่ฝ่ายให้ ธปท.ลดดอกเบี้ย เป็นกลุ่มใหญ่และมีการกดดันในทุกรูปแบบที่จะดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรลดดอกเบี้ยก็ยังมีอยู่ นักวิชาการ นายแบงก์จำนวนไม่น้อยสนับสนุนแนวทางของ ธปท.ที่ไม่ลดดอกเบี้ยแก้ปัญหาเงินบาทแข็ง แต่ควรออกมาตรการคุมให้ตรงจุดแทนจะเกิดผลประสิทธิภาพมากกว่า
โดยนักวิชาการที่เห็นว่าไม่ควรดอกเบี้ย เพราะค่าเงินไม่ได้แข็ง เศรษฐกิจยังไม่มีปัญหา ก็ไม่ควรกระตุ้นให้เกิดปัญหาเสถียรภาพภายหลัง ซึ่งจะทำให้แก้ได้ยาก และส่งผลเสียมากกว่า
หรือแม้ตัว ประสาร ก็ยังมีท่าทีอ่อนนอกแต่แข็งใน ไม่ยอมโน้มเอนตามแรงกดดันทางการเมือง โดยก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ออกหนังสือชี้แจงการดำเนินการดูแลค่าเงินบาทให้สาธารณชนรับทราบ ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการที่ ธปท.ไม่เคยทำมาก่อน จนทำให้ถูกตีความว่า ธปท.ตั้งการ์ดสู้กับแรงกดดันจากรัฐบาล
ซึ่งหากจะตีความให้ง่ายๆ คือ ธปท.ยังเห็นว่าไม่ควรลดดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้
นอกจากนี้ล่าสุด ประสาร ยังตั้งข้อสังเกตตัวเลขเศรษฐกิจของ สศช.ที่มีหลายตัวไม่ตรงกับ ธปท. ทำให้เรื่องบานปลายถูกตีความว่า สศช.ทำตัวเลขเศรษฐกิจให้ต่ำเกินจริง ให้รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือกดดัน ธปท.ให้ลดดอกเบี้ย จน สศช.ต้องออกมาชี้แจงเป็นพัลวันว่าไม่ได้ทำตัวเลขเศรษฐกิจเอาใจรัฐบาล
ทาง สศช.ระบุว่า ธปท.จะดูตัวเลขการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์แล้วมาตัดสินว่าเศรษฐกิจ ยังขยายตัวดีไม่ได้ เพราะสินเชื่อเพื่อการบริโภคของครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์คิดเป็น 37% ของสินเชื่อทั้งระบบ โดยไตรมาสแรกยอดสินเชื่อทั้งระบบมียอดคงค้าง 7.87 ล้านล้านบาท เป็นของธนาคารพาณิชย์ 2.97 ล้านล้านบาท ส่วน 63% เป็นสถาบันการเงินของรัฐ
เมื่อดูทั้งสองด้านจะเห็นว่ามีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัว
อย่างไรก็ดี การที่สินเชื่อของธนาคารรัฐไม่มีการขยายตัว ก็ไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่าเกิดเพราะเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากในช่วงต้นปีธนาคารของรัฐแต่ละแห่งล้วนมีปัญหา
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) มีปัญหาหนี้เสียท่วมธนาคาร จำเป็นต้องเพิ่มทุน แต่คลังสั่งให้ทำแผนฟื้นฟูมาก่อนจึงจะเพิ่มทุนให้ ดังนั้น ธนาคารทั้งสองนี้แทบจะไม่มีการขยายสินเชื่อ
นอกจากนี้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน ก็เปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการธนาคารใหม่ จึงมีการปรับแผนองค์กรและปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจอยู่ การไล่ปล่อยสินเชื่อจึงยังไม่สูงมากนัก การที่สินเชื่อธนาคารของรัฐไม่ลดลง ก็ไม่สามารถวัดได้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัว
อย่างไรก็ดี จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของตัวเลขเศรษฐกิจไทย ทำให้น้ำหนักของการจะตัดสินลดดอกเบี้ยหรือไม่ดูก้ำกึ่งกัน
อย่างไรก็ตามการลดดอกเบี้ย เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของ กนง. ที่มีคณะกรรมการ 7 คน ซึ่งเป็นคนจาก ธปท. 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน ซึ่งจะพิจารณาภายใต้ข้อมูลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ที่สำคัญการพิจารณาของ หาก กนง.มองเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวเป็นสำคัญ มีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ต่อไป เพราะหากพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจด้านสังคมของ สศช.ออกมาล่าสุด ก็พบว่ามีปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่ง และประชาชนมีรายได้ไม่พอจ่าย
ขณะที่ปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่น่าไว้ใจ และปัญหาเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้นจากราคาสินค้าแพง ทำให้มีน้ำหนักว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยไว้ต่อไป
ซึ่งมีนักวิเคราะห์ของธนาคารพาณิชย์ประเมินว่านอกจาก ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม แล้วในอนาคตยังมีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกต่างหาก เพื่อสกัดเงินเฟ้อและฟองสบู่เศรษฐกิจในบางอุตสาหกรรม เป็นการตัดไฟไว้แต่ต้นลม
แต่หากทีมเศรษฐกิจของ ธปท.ตรวจสอบว่าข้อมูลเศรษฐกิจของ สศช.สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ก็อาจจะต้องยอมลดดอกเบี้ยลงเพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำจนดึงกลับขึ้นมายาก
ในภาวะไม่แน่ใจ เพื่อความปลอดภัย กนง.อาจจะลดดอกเบี้ยเป็นขั้นครั้งละ 0.25% เพื่อประเมินผลทางเศรษฐกิจอีกครั้ง
ซึ่งการลดดอกเบี้ย 0.25% แม้ว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีปัญหาความขัดแย้งของรัฐบาลและ ธปท.ปะทุขึ้นรอบใหม่ เพราะฝ่ายการเมืองตั้งป้อมไว้แล้วว่าลด 0.25% ไม่พอ
ถึงขนาด กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่แสดงจุดยืนว่า ธปท.ต้องลดดอกเบี้ยมาตลอด ให้ความเห็นไว้ก่อนการประชุม กนง.ว่า หาก กนง.ไม่ลดดอกเบี้ย หรือลดแค่สลึงเดียว ผลที่ตามมาคือ ผู้ว่าการ ธปท.จะต้องหนาวแน่ๆ
ดังนั้น การประชุม กนง.ในวันนี้ จึงเป็นนัดหยุดโลก เพราะนอกจากต้องลุ้นว่ามติของ กนง. จะออกมาอย่างไรแล้ว ยังต้องลุ้นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นจากมติที่ออกมาด้วยว่าจะทำให้ เกิดการช็อกทางเศรษฐกิจตามมาหรือไม่
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน