สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กองทุนการออมแห่งชาติขย่มเก้าอี้รัฐมนตรีคลัง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...กนกวรรณ บุญประเสริฐ

ถึงตอนนี้สถานการณ์ความมั่นคงบนเก้าอี้ของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เริ่มจะสั่นคลอนหนักเข้าไปทุกที

เมื่อ กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ล่ารายชื่อ สส.พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 131 คน เข้ายื่นต่อ นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอถอดถอน กิตติรัตน์ ออกจากตำแหน่ง รมว.คลัง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ฐานจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการจงใจใช้อำนาจขัดต่อ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) พ.ศ. 2554 และเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

รัฐมนตรีคนไหนเจอการขอให้รัฐสภาลงมติถอดถอน ย่อมแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากล หรือไม่รัฐมนตรีผู้นั้นต้องกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง

กรณีนี้ก็ถือว่ามีปัญหา เนื่องจาก กิตติรัตน์ ในฐานะ รมว.คลัง ผู้รักษาการตามกฎหมาย เห็นว่า พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่นโยบายของพรรคเพื่อไทย จึงมิได้เร่งรัดการเปิดรับสมัครสมาชิก กอช. มิได้เร่งรัดการจัดสรรเงินให้แก่กองทุนการออมฯ ให้ครบจำนวน 1,000 ล้านบาท จากที่มีการอนุมัติก้อนแรกไปแล้ว 225 ล้านบาท เพื่อเตรียมเรื่องคนและสถานที่

ขณะเดียวกันก็มิได้เร่งรัดพิจารณาให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเลขาธิการ กอช. แม้จะมีการเลือกคนไว้แล้ว แต่ กิตติรัตน์ ก็ยังไม่ยอมลงนามแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา จนเวลาล่วงเลยมากว่า 2 ปี สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติและประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบและผู้มี อาชีพอิสระกว่า 24 ล้านคน

ที่ผ่านมา พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2554 ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 84 (4) คือจัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างทั่วถึง โดยมีสาระสำคัญใน พ.ร.บ.นี้ คือ จัดให้มีกองทุน เรียกว่า กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. อันเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และตามกระบวน กอช. จะต้องเริ่มเปิดรับสมัครสมาชิกตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 2555 เป็นต้นมา

และตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.กองทุนการออม กำหนดให้ภายใน 1 ปีแรกที่เปิดรับสมาชิก คือตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 25556 พ.ค. 2556 จะเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญใดๆ สามารถออมต่อได้อีก 10 ปี เพื่อให้มีสิทธิขอรับบำนาญได้ตอนอายุครบ 60 ปี

ผลกระทบที่เกิดจากการที่ กิตติรัตน์ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ 12 ล้านคน ต้องเสียโอกาสในการสะสมเงินเข้ากองทุนนี้โดยปริยาย

พฤติกรรมเช่นนี้ ย่อมมีเหตุผลเพียงพอให้ฝ่ายค้านยื่นเรื่องถอดถอน กิตติรัตน์ ออกจากตำแหน่ง รมว.คลัง

เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือประชาชน หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายย่อมมีความผิดเหมือนกันทั้งนั้น

ขนาดประชาชนทำผิดยังต้องรับโทษตามกฎหมาย และยิ่งเป็นรัฐมนตรีที่เป็นผู้บริหารประเทศตามกฎหมาย ยิ่งควรต้องเคารพกฎหมายและเคารพต่ออำนาจนิติบัญญัติ

ผู้ที่เป็นรัฐมนตรีและเป็นผู้ที่มีอำนาจรักษาการตามกฎหมายจะอธิบายว่า ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ ฉบับนั้น แล้วไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย ย่อมกระทำไม่ได้

ถ้ารัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ตราขึ้นมาและให้มีผลบังคับใช้ รัฐมนตรีผู้นั้นก็ต้องเสนอเรื่องต่อรัฐสภา เพื่อแก้ไขกฎหมายในประเด็นที่ไม่เห็นด้วย

ไม่ใช่ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย

แต่กรณี พ.ร.บ.กองทุนการออมฯ นั้น กิตติรัตน์ ได้แสดงเจตนาชัดเจนว่า ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย และใช้อำนาจรัฐมนตรีขัดต่อ พ.ร.บ.กองทุนการออมฯ ด้วยการตัดเรื่องการจัดสรรงบประมาณปี 2557 ให้ กอช. โดยยอมรับกลางที่ประชุมรัฐสภา ในการประชุมเพื่อพิจารณางบประมาณปี 2557 ว่า การที่รัฐบาลไม่ได้จัดงบฯ อุดหนุนเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ เพราะเห็นว่าปัจจุบันมีกฎหมายตาม พ.ร.บ.กองทุนประกันสังคม มาตรา 40 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบของภาครัฐและเอกชน สามารถส่งเงินสมทบร่วมกับภาครัฐได้อยู่แล้ว

เพียงแต่ขณะนี้มีสมาชิกอยู่แค่ 1.2 ล้านคน จึงไม่สามารถทำให้ผู้มีอาชีพอิสระสนใจการออมได้ รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการระยะยาวเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

ด้วยแนวคิดว่า ผู้ที่มีอาชีพอิสระสามารถรับสิทธิคู่ขนานการออมมากกว่า 1 หน่วยงานได้หรือไม่ พร้อมกับอ้างว่ารัฐบาลไม่ได้ละเลย หรือไม่ให้ความสำคัญกับการออมของประชาชน

แต่หากจะดำเนินการเรื่องใหม่ ควรต้องสะสางปัญหาเก่าก่อน

การยอมรับว่า ไม่สนับสนุน กอช. ของ กิตติรัตน์ ดังกล่าว ทำให้เก้าอี้ รมว.คลัง ของ กิตติรัตน์ สั่นคลอนเป็นอย่างมาก และสั่นคลอนกว่าการทำโครงการจำนำข้าวแล้วเจ๊ง เพราะหลักฐานเรื่องผลขาดทุนทางบัญชียังไม่ชัดเจนเท่ากรณีนี้

กรณีนี้ กิตติรัตน์ จะพยายามชี้แจงเหตุผลต่างๆ นานา ว่า ที่กระทรวงการคลังยังไม่จัดให้มีกองทุนเงินออม เนื่องจากกฎหมายยังไม่มีความรอบคอบ เช่น กรณีผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ส่งเงินออมเข้ากองทุน แต่เมื่อประกอบอาชีพอื่นๆ และได้สิทธิในกองทุนอื่นๆ จะยังได้สิทธิในกองทุนหรือไม่อย่างไร

รวมถึงกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ส่งเงินเข้ากองทุนจะได้รับเงินหลังอายุครบ 60 ปี ในรูปเงินบำนาญรายเดือนเท่านั้น แต่กฎหมายกองทุนการออมที่กระทรวงการคลังกำลังแก้ไข จะเปิดช่องให้มีการเลือกรับเป็นเงินบำเหน็จก้อนเดียวหรือเงินบำนาญก็ได้

นอกจากนี้ ยังพบว่ากฎหมายประกันสังคม มาตรา 40 ที่ให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระสมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคมและได้รับสิทธิ ประโยชน์ตามที่กำหนดได้ แต่พบว่าที่ผ่านมามีผู้สมัครเข้าร่วมน้อยมาก ซึ่งต้องไปหาสาเหตุว่าเป็นเพราะเหตุใด เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงกฎหมายกองทุนเงินออมแห่งชาติ

ผนวกกับบทเรียนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่ไม่สามารถให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกตามที่กฎหมายกำหนดได้ จึงทำให้ต้องมาดูเรื่องกฎหมายกองทุนเงินออมว่าจะซ้ำรอย กบข. หรือไม่

แต่คำชี้แจงของ กิตติรัตน์ ไม่ได้ทำให้ภาพและพฤติกรรมของรัฐมนตรีที่ปฏิเสธและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายลดลงเลย

ทางลงของ กิตติรัตน์ ตอนนี้คือต้องพยายามแก้ผ้าเอาหน้ารอด ชูเรื่องการกวาดต้อนคนที่มีอาชีพอิสระเข้า พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 40 แทนการตั้งกองทุนการออมฯ

และหากสาวลึกลงไปจะพบว่า แม้ที่ผ่านมารัฐบาลเพื่อไทยจะมีนโยบายดึงแรงงานนอกระบบเข้า มาตรา 40 ให้ครบ 2.6 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ แต่ที่ผ่านมาก็สามารถดึงคนเข้ามาได้แค่ 1.2 ล้านคน ซึ่งพบว่าในจำนวนนี้มีผู้ประกันตนจ่ายเงินไม่สม่ำเสมอถึงกว่า 50%

นี่คือภาพของความล้มเหลวในการดึงคนอาชีพอิสระเข้าเป็นสมาชิกตามมาตรา 40 ที่หลายคนยังไม่รับรู้

แม้ กิตติรัตน์ จะพยายามชี้แจงว่า ผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมกองทุนนี้ภายใน 360 วันนับแต่กฎหมายบังคับใช้ จะได้รับสิทธิย้อนหลังทุกคน เพราะเจตนารมณ์กฎหมายให้สิทธิกับทุกคนที่มีสิทธิเข้ากองทุนเงินออม ไม่ใช่ตีความตามตัวอักษร

แต่ไม่ว่า รมว.คลัง จะพยายามดิ้นหนีเอาตัวรอดแค่ไหน พฤติกรรม การกระทำของ รมว.คลัง ที่ผ่านมา ถือเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่า รมว.คลัง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่สนับสนุน กอช. เพียงเพราะเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ โดยที่ไม่เปิดใจให้กว้างเพื่อดูเนื้อหาสาระของกฎหมายว่ามีข้อดี สามารถช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสได้อย่างไร

นี่ยังดีที่ยังไม่ปรากฏว่ามีประชาชนผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่เสียสิทธิจากข้อบังคับของกฎหมายออกมายื่นฟ้อง รมว.คลัง ฐานทำให้เสียประโยชน์จากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นจะยุ่งไปกันใหญ่

กระบวนการหลังจากนี้ไป เมื่อฝ่ายค้านยื่นเรื่องถอดถอนแล้ว วุฒิสภาจะรับเรื่องไว้พิจารณาและตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. พิจารณา

หาก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดจริง ก็จะดำเนินการ 2 ทาง

ทางหนึ่งคือ ส่งเรื่องกลับมาให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติถอดถอน ซึ่งใช้เสียง 3 ใน 5 หรือประมาณ 90 คน ก็สามารถถอดถอนรัฐมนตรีได้

ทางที่สอง หาก ป.ป.ช.เห็นว่ามีความผิดทางอาญาด้วย ก็จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองพิจารณาตัดสิน

เก้าอี้ขุนคลังของ กิตติรัตน์ จึงสั่นสะเทือนหนักด้วยประการฉะนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กองทุนการออมแห่งชาติ ขย่มเก้าอี้ รัฐมนตรีคลัง

view