สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แมงเม่ายุคเข้าเน็ต : บทเรียนจาก Jonathan Lebed ถึงไทย (จบ)

แมงเม่ายุคเข้าเน็ต : บทเรียนจาก Jonathan Lebed ถึงไทย (จบ)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ตอนที่แล้วพูดถึงวีรกรรมในวัยหนุ่มของนายโจนาธาน เลอเบด “นักเชียร์หุ้น” สองสลึงผ่านเน็ต ผู้เคยถูก ก.ล.ต. จับกุมในข้อหา “สร้างราคาหุ้น”

ในวัยเพียง 15 ปี แต่ยืนกรานว่าเขาเพียงแต่ทำในสิ่งที่ “ใครๆ ก็ทำกัน”

ตลกร้ายของเรื่องนี้คือ ตอนที่เขายอมความกับ ก.ล.ต. เมื่อปี 2000 เลอเบดอาจไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย แต่พฤติกรรมของเขาสิบปีให้หลังน่าจะผิดกฎหมายเต็มๆ แต่ ก.ล.ต. สหรัฐกลับไม่ทำอะไร

ในวันที่เขาอายุ 15 เลอเบดอาจเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจจริงๆ ว่าหุ้นเหล่านั้น “เจ๋ง” แต่ตลาดตีราคาต่ำเกินไป ซึ่งเนื้อหาในโพสต์เชียร์หุ้นทั้งหลายแหล่ของเขาสะท้อนว่าเขาชอบหุ้นเหล่านั้นจริงๆ และการพยากรณ์แนวโน้มทั้งหลายก็ทำไปโดยเจตนาดี ไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าเขาจงใจปล่อยข่าวเท็จ

มองจากมุมของกฎหมาย เส้นแบ่งสำคัญระหว่าง “การเชียร์หุ้น” (ไม่ผิดกฎหมาย) กับ “การสร้างราคาหุ้น” (ผิดกฎหมาย) ในกฎหมายหลักทรัพย์ทุกประเทศรวมทั้งไทยด้วยนั้น อยู่ที่ “การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ” ที่ส่งผลต่อราคาหุ้น

นั่นคือ ผิดกฎหมายเต็มประตูถ้าคนปล่อยข่าว 1) รู้อยู่แล้วว่าข้อมูลนั้นเป็นเท็จ (เช่น “ปีหน้าบริษัทนี้จะได้โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ” ทั้งที่บริษัทยังไม่ได้พูด ไม่มีใครพูด และไม่มีแนวโน้มใดๆ ทั้งสิ้น) และ 2) รู้ว่าข้อมูลเท็จนั้นจะส่งผลต่อราคาหุ้น แต่ยัง 3) นำข้อมูลเท็จมาเผยแพร่ให้คนอื่นเข้าใจผิด

เนื่องจากคนปล่อยข้อมูลเท็จรู้อยู่แก่ใจว่าข้อมูลนั้นเป็นเท็จ ราคาหุ้นที่พุ่งสูงหรือดิ่งเหวตามกระแสคนที่แห่กันซื้อหรือขายหุ้นตามข้อมูลนั้นไม่นานย่อมเปลี่ยนทิศ เมื่อเหตุการณ์ปรากฏแล้วว่าข้อมูลนั้นไม่จริง นักสร้างราคาหุ้นจึงรอจังหวะทำกำไรได้อย่างง่ายดาย

กลยุทธ์ “ลากขึ้นไปเชือด” (pump and dump) ซึ่งหมายถึงการปล่อยข่าวเท็จให้หุ้นขึ้นไปสูงๆ แล้วคนปล่อยข่าวชิงทิ้งหุ้น จึงเป็นกลยุทธ์ที่ผิดกฎหมาย

ความยากอยู่ตรงที่ 1) ผู้กำกับคือ ก.ล.ต. จะแยกแยะได้อย่างไรโดยเฉพาะบนเน็ตที่คนเชียร์หุ้นกันเป็นเรื่องปกติ ก.ล.ต. จะ “รู้” ได้อย่างไรว่า นักเชียร์หุ้นคนไหนกำลังเชียร์หุ้นเฉยๆ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ (คือไม่ได้ตั้งใจจะโกหกใคร เชื่อจริงๆ ว่าหุ้นตัวนี้ดี) คนไหนกำลังเชียร์หุ้นอย่างผิดกฎหมาย คือจงใจปล่อยข่าวเท็จให้คนอื่นเข้าใจผิดเพื่อทำกำไร และ 2) ไม่ว่าผู้กำกับดูแลจะเงื้อดาบหรือไม่ นักลงทุนคนอื่นจะ “รู้ทัน” นักเชียร์หุ้นทั้งหลายทั้งที่ผิดและไม่ผิดกฎหมายได้อย่างไร จะระวังไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร โดยเฉพาะคนที่ “ติดดอย” หลังจากที่หุ้นถูกนักเชียร์ชิงขายทิ้ง

จุดเริ่มต้นอยู่ที่การออกแบบและบังคับใช้กฎการเปิดเผยข้อมูลที่ดีพอและครอบคลุมทุกคนที่เชียร์หุ้น ทั้งนักวิเคราะห์มืออาชีพ มือสมัครเล่น สื่อมวลชน สื่อพลเมือง แมงเม่า ฯลฯ

กฎการเปิดเผยข้อมูลที่ว่านี้เมืองไทยยังไม่เคยมี เพราะ ก.ล.ต. ยังไม่เคยออกกฎมา

กฎการเปิดเผยข้อมูลขั้นต่ำที่ควรมีคืออะไร และมันจะช่วยทุกคนได้อย่างไร? ลองมาดูตอนจบของหนุ่มเลอเบดกัน

ตอนที่แล้วผู้เขียนเล่าว่า ในปี 2012 เลอเบดถูกนักเล่นหุ้นที่เขียนบล็อกหลายคน “แฉ” ว่าเขาใช้กลยุทธ์ “ลากขึ้นไปเชือด” กับหุ้นราคาถูกหลายตัว จงใจปล่อยข่าวเท็จให้คนอื่นติดกับ

คนที่เขียนเปิดโปงกลโกงของเลอเบดไว้อย่างละเอียดลออที่สุดคือ ทิโมธี ไซค์ส์ นักลงทุนและบล็อกเกอร์ชื่อดัง (อ่านออนไลน์ได้จาก http://www.timothysykes.com/2012/01/exposing-convicted-penny-stock-manipulator-jonathan-lebed-of-the-national-inflation-associations-latest-pump-dump/)

ไซค์ส์อธิบายว่าหุ้น BSVN ที่เลอเบดเชียร์นั้นไม่มีอะไรดีเลย แต่การเชียร์ของเลอเบดอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู (ผ่านอีเมลที่เขาส่งให้ทุกคนที่สมัครเป็นสมาชิก) ก็ส่งผลให้ราคาพุ่งจาก 8.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น เป็น 24 ดอลลาร์ ในช่วงเวลาเพียงเดือนเดียว

ปกติบริษัทที่ราคาหุ้นเคลื่อนไหวอย่างหวือหวาจะต้องรีบออกมาประกาศทำนองว่า “เท่าที่บริษัททราบ ไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกี่ยวกับบริษัทที่ส่งผลให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวในสาระสำคัญ” ประกาศแบบนี้เป็นสัญญาณเตือนนักลงทุนว่าอาจกำลังถูกหลอก แต่กรณีของ BSVN กลับเงียบกริบ ไซค์ส์มองว่านี่แปลว่าบริษัทนี้ไม่กลัวจะถูกทางการสอบสวน หรือไม่ก็รู้ว่ากำลังถูกเลอเบดลากหุ้นขึ้นไปเชือด แต่ไม่อยากยอมรับ (อาจเป็นเพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน)

นักลงทุนอย่างไซค์ส์ “เอะใจ” ว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากล เพราะเลอเบดมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ BSVN ค่อนข้างมาก ที่รู้ก็เพราะท้ายอีเมลของเลอเบดระบุว่า “NIA (บริษัทบังหน้าของเลอเบด) ถือหุ้น BSVN จำนวน 151,900 หุ้น ราคาเฉลี่ย 9.2639 ต่อหุ้น บริษัท NIA ตกลงที่จะถือหุ้น BSVN ส่วนแรกที่ได้มา จำนวน 122,000 หุ้น ไว้ไม่น้อยกว่า 60 วัน (holding period) นับจากวันที่ NIA เสนอให้ผม (เลอเบด) ดูหุ้นตัวนี้ แต่ NIA ประสงค์จะขายหุ้นจำนวนนี้หลังวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2012 และประสงค์จะขายหุ้นที่เหลืออีก 29,900 หุ้นเมื่อใดก็ได้ นอกจากนี้ ผู้ร่วมก่อตั้ง NIA เคยได้รับบริการทางธุรกิจจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งของ BSVN”

แน่นอน ไม่มีนักเชียร์หุ้นที่อยากต้มคนอื่นคนไหนอยากบอกว่าตัวเองถือหุ้นของบริษัทที่กำลังเชียร์อยู่เท่าไรและมีความสัมพันธ์อะไรกับบริษัท เลอเบดต้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ตามกฎของ ก.ล.ต. สหรัฐ ซึ่งระบุว่า ก.ล.ต. ไม่ห้ามการเชียร์หุ้น แต่สื่อทุกค่ายทุกคน รวมทั้งจดหมายข่าวทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หรืออยู่บนเน็ต เวลาเชียร์หุ้นจะต้อง 1) พูดความจริง 2) เปิดเผยว่าตัวเองถือหุ้นของบริษัทที่กำลังเชียร์อยู่กี่หุ้น และ 3) เปิดเผยว่าได้รับค่าตอบแทนจากการเชียร์หุ้นตัวนั้นๆ หรือไม่ ไม่ว่าจะได้จากบริษัทโดยตรงหรือผู้ใดก็ตาม ถ้าได้รับค่าตอบแทน จะต้องเปิดเผยว่าได้ในรูปแบบอะไรและเป็นจำนวนเท่าไร (หลายบริษัทจ้างสื่อให้เชียร์หุ้นตัวเองไม่ต่างจากในไทย บางบริษัทตอบแทนเป็นหุ้น ไม่ใช่เงินสด)

ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตไปแล้วนานก่อนหน้านี้ว่า ก.ล.ต. ไทยไม่เคยกำกับดูแล “สื่อ” เลย ทั้งที่สื่อมีบทบาทอย่างมากต่อตลาดหุ้น และก็เป็นที่รู้กันว่า สื่อกระแสหลักบางฉบับช่วยเจ้ามือ “ปั่นหุ้น” อย่างโจ๋งครึ่ม แต่ทางการไม่เคยทำอะไร

วันนี้เราอยู่ในยุคอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลหลั่งไหลท่วมท้น ทุกคนเป็น “สื่อ” ในแง่การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ผู้เขียนเห็นว่า ก.ล.ต. จะต้องเร่งปรับเปลี่ยนบทบาทการกำกับดูแลขนานใหญ่ ในทางที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน แต่ก็สามารถบังคับใช้กฎหมายหลักทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เริ่มจากการออกแบบและบังคับใช้กฎการเปิดเผยข้อมูลสำหรับ “สื่อ” ทุกค่ายทุกแขนงทุกรูปแบบ แบบเดียวกับกฎของ ก.ล.ต. สหรัฐ ดังที่สรุปมาข้างต้น

การทำแบบนี้จะช่วยสร้างศักยภาพในการ “กำกับดูแลกันเอง” ของนักลงทุน และช่วยติดเขี้ยวเล็บให้กับเจ้าหน้าที่ในการสืบสวนกรณีสร้างราคาหุ้น ไปด้วยในเวลาเดียวกัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แมงเม่ายุคเข้าเน็ต บทเรียนจาก Jonathan Lebed ไทย (จบ)

view