จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ครบรอบ 16 ปี “ต้มยำกุ้ง” สะท้อนมุมมอง ศก.ไทย จะเกิด “วิกฤต” ซ้ำรอยหรือไม่ “กูรู” มองปัญหาในรอบนี้ “ภาครัฐ” จะเป็นชนวนก่อวิกฤตรอบใหม่ แนะเลิกประชานิยมแบบไม่จำกัดวงเงิน ระบุอาจไม่เจอภาวะฟองสบู่แตกแรงๆ แต่อาจเจอสภาพซึมลึกไปเรื่อยๆ จากนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ได้มองถึงอนาคตมากนัก
รายงานข่าวระบุว่า ในวันนี้ เมื่อ 16 ปีที่แล้ว (2 ก.ค.2540) เป็นวันที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศความพ่ายแพ้จากการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการปล่อย “ลอยตัว” ค่าเงินบาท ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจไทย และเป็นวันที่ภาคธุรกิจเริ่มเผชิญกับฝันร้าย จากหนี้ต่างประเทศที่ทะยานขึ้นกว่าเท่าตัว
นอกจากนี้ ยังเป็นวันเริ่มต้นของการปิดกิจการในหลายๆ ภาคธุรกิจ ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจในคราวนั้น ถือเป็นบทเรียนครั้งเลวร้ายของประเทศไทย ซึ่งประเด็นต่างๆ ที่เป็นชนวนเหตุในอดีตได้มีการนำมาวิเคราะห์วิจารณ์เพื่อเป็นแนวทางสำหรับ ภาวะในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนแสดงความกังวลว่า ปัญหาอาจเกิดซ้ำรอยเดิม และมีการเปิดเผยความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน มีดังนี้
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ภาพเศรษฐกิจในเวลานี้ถ้าดูผิวเผินอาจคล้ายช่วงวิกฤต ปี 2540 คือ มีเงินไหลเข้าประเทศจำนวนมาก เกิดการเก็งกำไรในตลาดหุ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่สถานการณ์ที่แตกต่างในขณะนี้ คือ เงินที่ไหลเข้าปัจจุบันไม่ได้เข้าสู่ภาคเศรษฐกิจแท้จริง ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดเงิน และตลาดหุ้นเป็นหลัก
จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ภาคเศรษฐกิจจริงไม่ได้พึ่งพาเงินต่างประเทศเหมือนกับเมื่อช่วงปี 2540 กล่าวคือ รอบนี้เงินที่สถาบันการเงินนำมาใช้ปล่อยสินเชื่อไม่ได้มาจากเงินกู้ยืมต่าง ประเทศ แต่มาจากเงินออมของประชาชน สะท้อนผ่านยอดสินเชื่อต่อเงินฝาก (L/D) ซึ่งปัจจุบันอยู่ราว 90% เทียบกับปี 2540 ที่พุ่งเกินกว่า 100% ดังนั้น หากเกิดภาวะเงินไหลออก ความน่ากังวลจึงไม่เท่ากับช่วงปี 2540
นอกจากนี้ ที่แตกต่างอย่างชัดเจน คือ นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันเราใช้แบบ “ลอยตัว” ปล่อยเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด ต่างจากปี 2540 ที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ทำให้ภาคธุรกิจมองข้ามความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน จึงมีการกู้ยืมจากต่างประเทศจำนวนมาก
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า เศรษฐกิจไทยในเวลานั้นมีความไม่สอดคล้องกัน (Mismatch) หลายด้าน โดยเฉพาะด้านอัตราแลกเปลี่ยน คือ มีการกู้หนี้ต่างประเทศจำนวนมาก และไม่ได้ปิดความเสี่ยงเรื่องนี้เอาไว้ เพราะขณะนั้นแบงก์ชาติใช้นโยบายกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ทำให้นักธุรกิจมองไม่เห็นความเสี่ยงในเรื่องพวกนี้
“ภาพเศรษฐกิจตอนนี้ แตกต่างจากช่วงปี 2540 ชัดเจน เพราะเราใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแบบมีการจัดการ เอกชนจึงระมัดระวังในเรื่องนี้มากขึ้น และปัจจุบันก็ไม่พบสัญญาณของการเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยน”
สำหรับประเด็นที่ผู้ว่าการ ธปท. เป็นห่วง โดยมองว่าสิ่งที่อาจสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจได้ในอนาคต คือ การตั้งความหวังที่จะให้นำนโยบายการเงินไปใช้ดูแลแก้ปัญหาในหลายๆ ด้าน เพราะนโยบายการเงินปัจจุบันถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ดูแลด้านเสถียรภาพราคา และเศรษฐกิจ แต่ขณะนี้เริ่มมีคนตั้งความหวังที่อยากให้นำไปใช้ดูแลด้านอัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายด้วย ซึ่งการคาดหวังต่อนโยบายการเงินลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก
นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมทั้งการเร่งขึ้นของราคาสินทรัพย์บางประเภทก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตาม ขณะที่ความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งสร้างความผันผวนต่อการลงทุนยังเป็นเรื่องที่ต้องคอยระมัดระวัง วิธีที่จะดูแลเศรษฐกิจได้ดีสุด คือ พยายามรักษาความสมดุลในด้านต่างๆ เอาไว้ และการดำเนินนโยบายการเงินก็ต้องเน้นความระมัดระวังไม่ทำอะไรที่สุดขั้วเกิน ไป
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มองว่าเงินทุนที่ไหลเข้าและกำลังไหลออกจากประเทศไทยในเวลานี้ไม่ได้น่า กลัวเหมือนเมื่อปี 16 ปีที่แล้ว สาเหตุเป็นเพราะปัจจุบันเราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ทำให้ภาคธุรกิจมีความระมัดระวังในเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะการกู้ยืมเงินดอลลาร์สหรัฐจากต่างประเทศ
สมัยก่อนเงินที่ไหลเข้าจะเข้าผ่านระบบแบงก์ ตอนนั้นเราเปิดให้มี BIBF (วิเทศธนกิจ) คือ กู้ยืมเงินต่างประเทศแล้วมาปล่อยให้ยืมต่อในประเทศได้ ทำให้เงินไหลเข้าระบบแบงก์ แล้วแบงก์ก็เอาไปปล่อยกู้ต่อ พอมีปัญหาเอ็นพีแอลจึงพุ่งขึ้น แต่เงินที่เข้ามาในปัจจุบันไม่ได้เข้าสู่ระบบแบงก์ เพราะส่วนใหญ่เข้าในตลาดตราสารหนี้
ส่วนจุดเปราะบางซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่นั้น นายธีระชัย ห่วงเรื่องวินัยการคลัง เพราะการดำเนินนโยบายทางการคลังช่วงที่ผ่านมาเป็นลักษณะเหยียบคันเร่งมาก เกินไป ใช้นโยบายประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลักเงินเข้าสู่มือประชาชน ในขณะที่รัฐบาลเองไม่สามารถจัดเก็บรายได้เพื่อมาชดเชย
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่มองว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันต่างจากเมื่อ 16 ปีที่แล้วค่อนข้างชัดเจน ความน่าห่วงถือว่าน้อยลง แต่ถ้าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ ตัวแปรสำคัญก็คงมาจากภาครัฐเอง
นายสมชัย ระบุว่า ช่วงปี 2540 สถาบันการเงินมีช่องโหว่จำนวนมาก มีการปล่อยสินเชื่อแบบไม่ระมัดระวัง ระดับผู้จัดการสาขาของธนาคารพาณิชย์ก็มีอำนาจในการปล่อยสินเชื่อซื้อบ้านได้ แล้ว จึงเกิดปัญหาตามมาจำนวนมาก โชคดีที่ฐานะการคลังสมัยนั้นเข้มแข็ง จึงเข้ามาช่วยแก้วิกฤตได้มาก แตกต่างจากสมัยนี้ที่ภาคการคลังอาจเป็นตัวสร้างปัญหาเอง
นอกจากนี้ ยังมีความสุ่มเสี่ยงที่ภาคการคลังอาจมีปัญหาได้ ตัวแปรสำคัญ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจช่วง 4-5 ปีข้างหน้าโตได้ 4-5% แบบนี้หนี้สาธารณะของเราอาจขึ้นไปแตะ 50-60% แค่ช่วงสั้นไม่กี่ปีหลังจากนั้นก็ปรับลงมาได้ เพียงแต่ความเสี่ยงตอนนี้อยู่ที่เศรษฐกิจโลกว่าจะเติบโตได้ดีหรือไม่ เพราะตอนขณะนี้ก็เริ่มมีสัญญาณที่ไม่ดีออกมาจากจีนบ้างแล้ว
สิ่งที่น่ากังวลขณะนี้ คือ ถ้าเศรษฐกิจจีนมีปัญหาอาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่รุนแรงได้ และผลกระทบอาจมากกว่าเมื่อครั้งซับไพรม์ของสหรัฐฯด้วย เพราะปัจจุบันไทยมีการค้าขายกับจีนมากกว่าสหรัฐฯ ในขณะที่อาเซียนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยก็มีการค้าขายกับจีนที่มากด้วย ดังนั้น ถ้าจีนมีปัญหาย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนรวมถึงไทยด้วย ถึงตอนนั้นหนี้สาธารณะของไทยคงไม่ได้อยู่ที่ระดับ 50-60% แน่นอน
นายวิรไท สันติประภพ นักเศรษฐศาสตร์อิสระ ที่มองว่าวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ต้นเหตุมาจากภาคเอกชนที่สะสมความเสี่ยงในด้านต่างๆ ไว้มาก โดยมีภาครัฐเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤต เพราะไม่ดูแลปล่อยให้เกิดฟองสบู่ในภาคต่างๆ ทั้งแบงก์ชาติยังเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทจนหมดหน้าตัก
อย่างไรก็ตาม ตลอด 16 ปีมานี้ ภาคเอกชนไทยมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมาก สะท้อนผ่านความเข้มแข็งของสถาบันการเงิน เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเกิดปัญหาขึ้น แต่สถาบันการเงินไทยยังมีกำไรดี มีฐานเงินทุนที่สูง แต่สิ่งที่ยังไม่เห็นการปรับตัวมากนัก คือ ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรัฐบาล นักการเมือง ตลอดจนหน่วยงานด้านรัฐวิสาหกิจ ซึ่งพวกนี้ล้วนแต่เป็นความเสี่ยงที่อาจพาไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในรอบใหม่ได้อีก ครั้ง
สำหรับสาเหตุที่กระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในเวลานี้ ดำเนินนโยบายโดยไม่คำนึงถึงอนาคตเลย เป็นลักษณะลิงแก้แห เพราะต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากมาตรการเศรษฐกิจที่ทำเอาไว้ในช่วงหาเสียง เลือกตั้ง โครงการส่วนใหญ่เป็นลักษณะประชานิยม มากกว่าที่จะคุยเรื่องอนาคต สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ไทยสูญเสียความสามารถการแข่งขันไปเรื่อยๆ และลดทอนศักยภาพทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ปัญหาอาจดูไม่รุนแรงเหมือนกับปี 2540 ซึ่งตอนนั้นเราสะสมความไม่สมดุลหลายด้าน เกิดเป็นฟองสบู่ พอมากเข้าสุดท้ายก็แตก ส่วนตอนนี้เราอาจไม่เจอภาวะฟองสบู่แตกแรงๆ แต่อาจเจอสภาพซึมลึกไปเรื่อยๆ จากนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ได้มองถึงอนาคตมากนัก
16 ปี ลอยตัวค่าบาท ชี้จุดอ่อนรัฐเสี่ยงวิกฤตรอบใหม่
ผ่านมาแล้ว 16 ปี กับเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย สำหรับการประกาศ "ลอยตัวค่าเงินบาท" เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 จุดเริ่มต้นวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยในเวลานั้นไทยเผชิญกับ 3 จุดอ่อนทางเศรษฐกิจ ตามที่ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ระบุไว้ในรายงาน คือ 1) การเก็งกำไรอย่างกว้างขวางในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น ท่ามกลางสภาพคล่องจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาสู่ไทยอย่างรวดเร็วเพื่อหาผลตอบ แทนส่วนต่างจากดอกเบี้ย
2) การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบตะกร้าการเงินไทยที่ไม่มีความยืดหยุ่น เพียงพอ และ 3) ระบบการเงินไทยที่ยังคงเปราะบาง ขาดการบริหารความเสี่ยง การตรวจสอบและการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ดี
แต่ปัจจุบันปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปและมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น ตามที่ "ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี" ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) และ 1 ใน 7 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวลาที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีทิศทางแกว่งตัวผันผวนตามนโยบายเศรษฐกิจเป็นระยะ ๆ เช่น หลังประกาศลอยตัวเงินบาท ค่าเงินปรับตัวร่วงจาก 25 บาท/ดอลลาร์ ไปแตะที่ 50 บาท/ดอลลาร์ ภายในปี 2541 อีกทั้งต้องยอมรับว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวไทยยังไม่พร้อมทั้งเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ภาระหนี้สิน ฯลฯ และเกิดปัญหาเป็นลูกโซ่ตามมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปมาก เนื่องจากตลาดเงินและ ตลาดทุนมีความเข้มแข็ง มีมาตรการกำกับดูแลเข้มงวด ภาคธุรกิจมีความระมัดระวังต่อการก่อหนี้ รวมถึงยังมีการบริหารสภาพคล่องอย่างเหมาะสม ดังนั้นปัญหาค่าเงินน่าจะส่งผลต่อไทยน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต แม้ว่าในช่วงต้นปี 2556 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินบาทแข็งค่าแตะ 28 บาท/ดอลลาร์ในบางช่วง
"ปัจจุบันเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าเข้าใกล้ ช่วงก่อนประกาศลอยตัวค่าบาท แต่แนวโน้มที่เงินบาทจะแข็งค่าสู่ระดับ 25 บาท/ดอลลาร์ ไม่น่าจะเห็นภายใน 1-2 ปีนี้ เพราะการจะมีอัตราแลกเปลี่ยนระดับดังกล่าว แสดงว่าเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ต้องแย่ แต่ไทยดีมาก หรืออีกด้านคือเกิดความเสียหายในเงินสกุลดอลลาร์จนอ่อนค่ารุนแรง"
โดย อธิบายให้เห็นภาพเศรษฐกิจไทยที่ไม่น่าจะซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 ไว้ว่า ภาพรวมเงินทุนเคลื่อนย้ายในปัจจุบัน ไทยมีเงินทุนไหลเข้าในปี 2556 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งมีเงินทุนไหลเข้าที่ตลาดหุ้นสุทธิ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 10,000 ล้านดอลลาร์ ดังนั้นปี 2556 อัตราแลกเปลี่ยนน่าจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยในเวลานี้อยู่ในขั้น "ดีพอใช้" มีจีดีพีระดับ 4% ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของทั้งปีน่าจะเป็นบวก แม้ดุลการค้าอาจติดลบแต่ดุลภาคบริการการท่องเที่ยวยังดี
"เศรษฐกิจ ไทยปีนี้จึงค่อนข้างสมดุล มีดุลยภาพ แปลว่าอัตราแลกเปลี่ยนก็น่าจะเคลื่อนไหวอย่างมีดุลยภาพที่ 30-31 บาท/ดอลลาร์ และคาดว่าจะสามารถรักษาระดับอย่างนี้ได้ต่อในช่วงที่เหลือของปีนี้" สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในครึ่งปีหลังคือปัญหาหนี้ครัวเรือน เนื่องจากปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่า 80% เมื่อเทียบรายได้ประชาชาติ และหากเพิ่มขึ้นต่อเนื่องย่อมสร้างจุดอ่อนให้กับระบบเศรษฐกิจไทยได้
"เวลา นี้เงินเฟ้อไม่สูง แต่ต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดว่าหนี้ครัวเรือนจะเกิน 80% ของจีดีพี หรือไม่ ซึ่งต้องระมัดระวัง โชคดีที่ปัจจุบันหนี้ภาคธุรกิจยังดี หนี้สาธารณะของรัฐบาลยังไม่เกิน 50%" ดร.ณรงค์ชัยกล่าว ขณะที่ "นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์" กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวอย่างมั่นใจว่า ยากมากที่ไทยจะประสบปัญหาคล้ายปี 2540 เพราะสถานการณ์ต่างออกไปแล้ว โดยปัจจุบันไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ มีหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 60,000 ล้านดอลลาร์ เพียงพอรองรับวิกฤตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2540 ซึ่งไทยเผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ขาดสภาพคล่อง ทุนสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศมีเพียง 40,000 ล้านดอลลาร์ แต่มีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์
พร้อมชี้ถึง ปัจจัยเสี่ยงในอนาคตคือการบริหารจัดการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่ต้องทำให้เกิดความสมดุล โดยเฉพาะความเสี่ยงในการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว หากไม่จัดการให้ดี อาจนำไปสู่บาดแผลและความสูญเสียอย่างในอดีตได้อีก เพราะวงจรของวิกฤตอาจหวนมาอีก แต่วิกฤตรอบหน้าอาจมีจุดเริ่มต้นต่างจากเมื่อปี 16 ก่อน หากรัฐบาลไม่มีความระมัดระวังในการบริหารจัดการ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน