สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เตือนภัย...ดักฟัง โทรมือถือ

เตือนภัย...ดักฟัง โทรมือถือ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เตือนภัย...ดักฟังโทรศัพท์มือถือ คลิปเสียงหลุด กับ 4 ความเป็นไปได้

คลิปเสียงชาย 2 คนคุยกันที่หลุดออกมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทิวบ์จนกลายเป็นประเด็นฮือฮาไปทั้งประเทศ (รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน) ทั้งยังถูกขยายผลทางการเมืองลุกลามไปถึงในกองทัพนั้น

หากเราก้าวข้ามประเด็นที่บางฝ่ายกำลังหยิบมาทะลวงฟันเปิดแผลทางการเมืองกันอยู่ แล้วไปพิจารณาถึงเรื่องมาตรฐาน "ความปลอดภัย" และ "ความเป็นส่วนตัว" ของการสื่อสารผ่านระบบโทรศัพท์มือถือทั้งในบ้านเราและในโลกปัจจุบันนี้ จะพบว่ามีประเด็นที่น่าห่วงใยอยู่ไม่น้อย

ในรายการบิสซิเนส ทอล์ค ซึ่งออกอากาศทาง "กรุงเทพธุรกิจทีวี" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์ถึงปัญหาดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจ ในตอนที่ชื่อว่า "คลิปเสียงถั่งเช่า"

นายปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญระบบคอมพิวเตอร์และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ประธานศูนย์ฝึกอบรมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และความปลอดภัยข้อมูล หนึ่งในผู้ร่วมรายการ กล่าวว่า หากพิจารณาเฉพาะประเด็นที่เป็นสาเหตุทำให้ "เสียงสนทนา" หลุดออกมาสู่บุคคลที่สาม คิดว่ามีความเป็นไปได้อย่างน้อยๆ 4 ซีนาริโอ คือ

1.มือถือของคู่สนทนาท่านใดท่านหนึ่งลืมวางสาย อาจจะกดวางไม่สนิท หรือกดโทรออกโดยไม่รู้ตัว อาจจะเพราะมือไปโดน ทำให้บุคคลที่สามซึ่งอยู่ปลายสายของโทรศัพท์ที่ลืมกดวางหรือโทรออกโดยไม่รู้ตัวนั้น ได้ยินเสียงสนทนาของคู่สนทนา นั่นหมายความว่าคู่สนทนานั่งอยู่ด้วยกัน หรืออยู่คนละที่กันแต่ใช้โปรแกรมสไกป์ในการพูดคุย อาจจะสไกป์ผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถืออีกเครื่องหนึ่งก็ได้

ข้อสังเกตของความเป็นได้ข้อนี้คือ เสียงในคลิปที่หลุดออกมาจะดังไม่เท่ากัน คือฝ่ายเจ้าของโทรศัพท์จะเสียงชัดกว่า ขณะที่คู่สนทนาซึ่งนั่งหรืออยู่ไกลออกไปจะได้ยินเสียงเบากว่า

ส่วนที่มีข่าวว่าบุคคลที่สามที่โทรเข้าไปคือ "นักข่าว" แล้วอัดคลิปเสียงมาแฉนั้น นายปริญญา เห็นว่า ไม่น่าเป็นไปได้ และหากเขาเป็นนักข่าวก็จะไม่ทำแน่นอน เพราะถูกจับได้ง่ายมาก เจ้าของเครื่องโทรศัพท์สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่าใครเป็นคนโทรเข้ามาหรือเจ้าของเครื่องโทรออกไปในเวลานั้น เรียกว่าฆ่าตัวตายได้เลย ความเป็นไปไม่ได้ในแง่ของนักข่าวเป็นคนอัดคลิปจึงค่อนข้างต่ำ

2.มือถือโดนโทรจัน หรือโดนไวรัส หรือมัลแวร์ วิธีการนี้เจ้าของเครื่องไม่ได้ยินยอม และไม่ได้พลั้งเผลอ แต่เกิดจากความจงใจของบุคคลที่สาม ถือเป็นเทคโนโลยีของผู้ที่ทำงานด้านข่าวกรองที่ก้าวหน้ามากๆ มีความเป็นไปได้ 3-4 แบบ คือ

- วางมือถือเอาไว้ เปิดเครื่องโดยไม่ได้ใส่พาสเวิร์ด จู่ๆ ก็มีคนหยิบไป พิมพ์นิดหน่อยไม่เกิน 2-3 นาทีก็เรียบร้อย โทรศัพท์เครื่องนั้นจะไม่ใช่ของเจ้าของเครื่องเดิมอีกต่อไป เพราะบุคคลที่สามจะดูได้หมด ไม่ว่าจะโทรเข้าโทรออก โทรไปหาใคร รูปภาพที่ถ่ายเอาไว้หรือที่โหลดมา เรียกว่าทุกเรื่อง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับแพลตฟอร์มของโทรศัพท์มือถือนั้นๆ ด้วย ซึ่งปัจจุบันมี 4 แพลตฟอร์ม ได้แก่ โนเกีย แบล็คเบอร์รี ไอโฟน และแอนดรอยด์ ถ้าเป็นแอนดรอยด์ก็ลงได้เลย ถ้าแบล็คเบอร์รีหรือโนเกีย เครื่องต้อง allow ถึงจะลงได้ แต่ถ้าเป็นไอโฟนต้องเจลเบรค (ปลดล็อค) ก่อน แต่ใช้เวลาและยาก ต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์มาเจลเบรค

- ส่งเอสเอ็มเอสมา หรือโทรศัพท์มาแล้วเจ้าของเครื่องกดรับก็เรียบร้อย เท่ากับส่งไวรัสเข้ามาฝังในเครื่อง แต่วิธีนี้ใช้เงินมาก และเป็นเทคโนโลยีที่ไฮเทคมากๆ

3.มือถือโดนดักจีเอสเอ็ม (จีเอสเอ็มเป็นเทคโนโลยีดิจิตอลสำหรับโทรศัพท์มือถือซึ่งใช้กันแพร่หลายที่่สุดในโลก) เนื่องจากระบบจีเอสเอ็มไม่ปลอดภัย สามารถดักสัญญาณได้ ผิดกับสไกป์ที่ไม่สามารถดักได้ ไม่มีมนุษย์คนไหนในโลกดักได้ ทำให้ผู้ก่อการร้ายใช้กันทั่ว

4.โดนเครื่องดักฟัง ซึ่งไม่ใช่จากมือถือของคู่สนทนา แต่เป็นอุปกรณ์สี่เหลี่ยมเล็กๆ วางไว้ใต้โต๊ะ หรือใส่ในกระเป๋า มีขายที่คลองถมเครื่องละ 1,500 บาท ที่ตัวเครื่องมีช่องสำหรับใส่ซิม เมื่อใส่ซิมแล้วโทรเข้าไปจะกลายเป็นไมโครโฟน ถ้าใช้วิธีนี้กับการสนทนาทางโทรศัพท์ คู่สนทนาต้องเปิดสปีคเกอร์โฟน หรือเปิดลำโพง หรือแม้แต่สไกป์อยู่ จึงจะได้ยินเสียงทั้งสองฝ่าย

นายปริญญา ยังอธิบายถึงเทคโนโลยีการดักจีเอสเอ็ม ซึ่งทำให้การสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือไม่ปลอดภัยว่า ตัวเครื่องมือถือ เราเรียกว่าอิมมี (IMEI) ถ้าเราพิมพ์ *#06# เข้าไปจะได้เลขประจำเครื่อง ตัวเลข 3 ตัวแรกบอกว่าเป็นยี่ห้ออะไร เช่น 012 คือไอโฟน 4 ถ้า 013 คือไอโฟน 4เอส หรือไอโฟน 5 ถ้า 353, 357 คือ ซัมซุงแกแลคซี อย่างนี้เป็นต้น

แต่ตัวที่ดักกันคือ อิมซี (IMSI) คือเบอร์ที่อยู่ในซิม ตัวเลข 520 คือประเทศไทย เลข 2 ตัวถัดมาคือเครือข่ายที่ใช้ เช่น 18 คือดีแทค ปัจจุบันมีซอฟท์แวร์ดักอากาศและสามารถดักค่าอิมซีได้ เรียกว่า "อิมซี แคทเชอร์" ฉะนั้นถ้าเรารู้เบอร์ของเป้าหมาย ขับรถไปใกล้ๆ สมมติเป็นโรงแรมแห่งหนึ่ง ใครใช้โทรศัพท์มือถือคุยกันอยู่ในโรงแรมนั้นเราจับคู่ได้หมดโดยไม่ต้องรู้จักคู่สนทนา และไม่ต้องเข้าไปในโรงแรม แค่นำรถที่ติดตั้ง "อิมซี แคทเชอร์" ราคาประมาณ 10 ล้านบาทไปจอด ก็จะมีชื่อขึ้นมาเลยว่าใครคุยกับใคร สามารถดึงมาฟังทีละคู่ๆ ได้เลย

นายปริญญา กล่าวอีกว่า ระบบมือถือที่ใช้อยู่คือ จีเอสเอ็ม 5/1 ถูกถอดรหัสได้หลายปีแล้ว ถือเป็นความอ่อนแอของระบบ จริงๆ ผู้ให้บริการก็มีเวอร์ชั่นใหม่ๆ แต่ต้องเข้าใจว่ามือถือมีหลายรุ่น บางรุ่นเป็นระบบเก่า ทางผู้ให้บริการจึงต้องให้บริการ จีเอสเอ็ม 5/1 ต่อไปเพื่อให้มือถือรุ่นเก่าและใหม่สามารถโทรถึงกันได้ ส่วนอีกระบบหนึ่งที่ไม่ค่อยนิยมในประเทศไทยคือ ซีดีเอ็มเอ แต่ก็มีเครื่องดักได้เหมือนกัน

"ถ้าจะสนทนาลับ ต้องการความเป็นส่วนตัวสุดๆ ก็ต้องใช้สไกป์ ถ้าใช้แอพสไกป์ทางมือถือก็อย่าเปิดสปีคเกอร์โฟน และอย่ามีโทรจันอยู่ในเครื่องก็จะปลอดภัย"

นายปริญญา กล่าวด้วยว่า อยากฝากเตือนให้ทุกคนระวังตัว เพราะคนทั่วไปไม่คิดว่ากำลังพกคอมพิวเตอร์ติดตัวอยู่ คิดว่าเป็นแค่มือถือเครื่องหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ เรากำลังพกคอมพิวเตอร์อยู่กับตัว กลายเป็นไลฟ์สไตล์ของมนุษย์ทุกวันนี้ โอกาสพลาดจากการใช้อุปกรณ์ตัวนี้จึงสูงมาก ยิ่งเป็นบุคคลสำคัญ มีตำแหน่งสูงๆ ต้องระวังมาก แม้แกระทั่งตัวเราเองคนธรรมดาเดินดินก็ต้องระวัง

"ไอโฟนที่ไม่เจลปลอดภัยที่สุด ส่วนแบล็คเบอร์รีก็โอเค เพราะไม่ค่อยมีโปรแกรมอะไร ถ้าต้องการสื่อสารที่เป็นส่วนตัวจริงๆ ก็ต้องใช้สไกป์ ส่วนแอนดรอยด์กำลังพัฒนาอยู่ ต้องเข้าใจว่าเขาเป็นระบบเปิด มีคนใช้มาก"

"นอกจากนั้นยังมีการสร้างเครือข่ายมือถือปลอม ทุกวันนี้เราไปตามตึกต่างๆ จะพบ 'จีเอสเอ็ม เบส สเตชั่น' เพื่อย้ำสัญญาณให้ชัด อาจจะมีของค่ายโน้นค่ายนี้ แต่ปัจจุบันมีอุปกรณ์ชื่อว่า 'ยูเอสอาร์พี' เป็นกล่อง สามารถเปิดค่ายมือถือเองได้เลย ราคาแค่ 3 พันเหรียญ มือถือใครมาเกาะเบสนี้อาจจะขึ้น 3 ค่ายพร้อมกันเลย การทำอย่างนี้ผิดกฎหมาย แต่ก็ต้องระวังหากเป็นเป้าหมายของการถูกล้วงความลับ เพราะเครือข่ายมือถือที่เราเกาะอยู่อาจไม่ใช่เครือข่ายมือถือของเราจริงๆ ก็ได้"

นายปริญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า โปรแกรมดักฟัง ติดตาม หรือสอดแนมต่างๆ ทุุกวันนี้มีเยอะมาก และรับลงตามร้านค้าทั่วไป ตามห้างสรรพสินค้า จึงต้องระมัดระวังให้ดี

"โปรแกรมเยอะแยะ ง่ายๆ ก็โทรเข้าโทรออกเห็นหมด ตอนนี้อยู่ที่ไหน โชว์แผนที่เลย ขับรถไปไหน จอดรถ กินข้าว เติมน้ำมัน รู้หมด โชว์แผนที่มาให้เลย การป้องกันง่ายๆ คือห้ามเจลเบรคเครื่องเด็ดขาด ถ้าไม่เจลก็ลงโปรแกรม (install) ไม่ได้ ถ้าใช้แอนดรอยด์ มีออพชันไม่ลงโปรแกรมที่ไม่น่าเชื่อถือ ก็อย่าไปกดอนุญาต ก็จะลงได้เฉพาะโปรแกรมจากกูเกิ้ลสโตร์เท่านั้น ถ้าเอาเครื่องไปอัพเดท ก็ไม่ควรปล่อยเครื่องไว้ที่ร้าน ควรเฝ้าอยู่จนทางร้านทำเสร็จแล้วรับเครื่องกลับ" นายปริญญา กล่าวในที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เตือนภัย ดักฟัง โทรมือถือ

view