ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่อ “การนิรโทษกรรมและการปรองดอง” ในไทย
โดย : ไชยันต์ ไชยพร
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ปรกติการนิรโทษกรรมในสังคมไทยที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่มักจะเห็นด้วย และการนิรโทษก็สามารถนำมาซึ่งการปรองดอง
และสร้างความมั่นคงทางการเมืองและชีวิตมนุษย์ได้ในระดับหนึ่ง ดังเช่นในสมัยที่มีการนิรโทษกรรมนักโทษคดี 6 ตุลาคม หรือการนิรโทษกรรมอื่นๆ ในสังคมไทย แต่การบรรจุ ร่าง กม. นิรโทษกรรมเข้าสภาครั้งนี้กลับก่อให้เกิดสภาวะความขมึงเกลียวทางการเมืองที่ท่วมท้นไปด้วยความเสี่ยงที่ศักยภาพในการใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้ามได้ไม่ยากนัก ผู้เขียนได้เคยอ่านความเห็นของ อารี บาสซิน (Mr.Ari Bassin) ผู้เชี่ยวชาญแห่งศูนย์ความยุติธรรมเปลี่ยนผ่านระหว่างประเทศ หรือ JCTI ซึ่งปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้จัดการภูมิภาคเอเชีย ของศูนย์ความยุติธรรมเปลี่ยนผ่านระหว่างประเทศ และเป็นหนึ่งในคณะทำงานร่วมกับที่ปรึกษาของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ผู้เขียนคิดว่าความเห็นของเขาน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ในขณะนี้ จึงขอนำความเห็นของเขาที่สำนักข่าวอิศราได้ลงไว้เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2544 มาให้ผู้อ่านได้ลองพิจารณากันดู
อารี บาสซิน กล่าวว่า ทั่วโลกมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมาก มีผู้คนต้องถูกฆ่าตาย ข่มขืน หรือถูกเผาบ้าน ภายใต้ความขัดแย้ง รวมถึงการถูกปราบปรามและการกดขี่ของรัฐด้วย ซึ่งสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ต้องทำให้การปราบปรามและการขดขี่ของรัฐมีทิศทางเปลี่ยนไป กระบวนการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น มีอยู่หลายทางเลือก อาทิ เลือกที่จะลืมเหตุการณ์ที่ผ่านมา หรือใช้วิธีการตรวจสอบหาความจริง รวมถึงการเลือกที่จะชดเชยให้ผู้เสียหาย เพื่อที่จะปรับปรุงกลไกปฏิบัติการที่เลวร้ายให้ดีขึ้น ซึ่งทางเลือกทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) ทั้งสิ้น
บาสซินได้อธิบายโดยเน้นว่า “ความยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้เสียหาย และญาติพี่น้อง รวมถึงสังคมด้วย ซึ่งยังส่งผลให้ความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐลดน้อยลง ถือเป็นความล้มเหลวของรัฐ ที่รัฐต้องรับผิดชอบกับการกระทำที่ทำลงไป เพื่อป้องกันมิให้เกิดซ้ำอีก”
ต่อกรณีของไทย เขาเห็นว่า การที่จะนำบริบทของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาใช้กับประเทศไทย ต้องมีการพิจารณาว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านหรือไม่ ถ้าคำตอบออกมาว่า ประเทศไทยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ก็คงต้องหาคำตอบต่อไปอีกว่า อยู่ในระบบเปลี่ยนผ่านจากอะไรไปสู่อะไร โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ว่า ภายในประเทศมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางหรือไม่ มีความยุติธรรมเกิดขึ้นจริงหรือไม่ รวมทั้งต้องดูว่า ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐถูกบั่นทอนลงไปหรือไม่ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะนำพาไปสู่การปฏิบัติตามกรอบแนวคิดของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
นอกจากนี้ เขากล่าวถึงการนิรโทษกรรมว่า คำนี้กำลังเป็นคำยอดฮิต ยอดนิยม โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องการสร้างสันติภาพ ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อยุติความขัดแย้ง ซึ่งก็มีส่วนเชื่อมโยงถึงการปรองดองว่า การนิรโทษกรรมนั้น สามารถนำไปสู่การปรองดองได้จริงหรือไม่ ?
บาสซินเตือนว่า “แม้จะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่ก็ต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียด เพราะมีความซับซ้อนและลึกซึ้งมาก เมื่อมีการนิรโทษกรรมแล้ว ผู้ที่ถูกนิรโทษกรรมจะยอมปรองดองด้วยหรือไม่” ?! เพราะการนิรโทษกรรมนั้นจะถูกใช้เป็นมาตรการทางกฎหมายที่นำไปสู่การดำเนินคดี หรือเป็นมาตรการทางกฎหมายต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในเรื่องของความผิดทางอาญาที่เกิดขึ้นก่อนการนิรโทษกรรม และยังเป็นการยกเลิกภาระรับผิดทางกฎหมายก่อนที่จะนิรโทษกรรม ซึ่งเมื่อมาพิจารณากันใหม่ในอีกบริบทหนึ่ง จะมีข้อขัดแย้งอยู่ นั่นคือ การนิรโทษกรรมไม่ได้เป็นการยกเลิกภาระรับผิดทางกฎหมายที่ไม่ได้เกิดขึ้นก่อนการนิรโทษกรรม เพราะว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เหมือนเป็นการเชื้อเชิญให้คนละเมิดกฎหมาย
บาสซินกล่าวต่อว่า การนิรโทษกรรมแบ่งออกได้สี่ประเภทคือ 1.การนิรโทษกรรมตนเอง ไม่ให้ได้รับโทษทางอาญา 2.การนิรโทษกรรมทั่วไป คือการนิรโทษกรรมแบบครอบคลุม 3.นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข เป็นการกำหนดให้ผู้กระทำผิดทำตามเงื่อนไขก่อนได้รับนิรโทษกรรม และ 4.นิรโทษกรรมพฤตินัย
และเขาได้อธิบายว่า “การที่จะให้มีการนิรโทษกรรมหรือไม่นั้น ต้องมีการพิจารณาว่าเป็นการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ต้องดูกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ ตัวอย่าง ประเทศไทยมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายอย่างเข้มข้นว่า การนิรโทษกรรมอาจถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรา 32 ในเรื่องการมีสิทธิด้านต่างๆ แต่เมื่อพิจารณาดูในย่อหน้าสุดท้าย เนื้อหาที่ว่า หากถูกละเมิดสิทธิ ผู้เสียหายมีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้ ซึ่งการนิรโทษกรรมที่ไม่ตรงตามเนื้อหาดังกล่าว กล่าวได้ว่าเป็นการนิรโทษกรรมนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย”
สุดท้าย บาสซินได้ตั้งคำถามว่า หากมีการให้นิรโทษกรรมแล้วนั้นจะมีความยั่งยืนหรือไม่ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดในสังคมที่ไม่ควรมองข้ามคือ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ผู้เสียหาย รวมทั้งต้องคิดว่า หากเป็นเรานั้นจะรู้สึกอย่างไรกับการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำร้ายแรง และจะรู้สึกอย่างไร หากผลประโยชน์ของคนในสังคมนั้นสำคัญน้อยกว่าของรัฐ หากผู้คนเหล่านั้นได้รับการนิรโทษกรรม ฉะนั้น ประเทศไทยจึงต้องกลับไปพิจารณาสถานการณ์ที่ผ่านมา และเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อนำสันติภาพ และความยุติธรรมกลับสู่สังคม
และในฐานะที่เขาเป็นที่ปรึกษา คอป. ในขณะนั้น (2554) เขาจึงย้ำและสะท้อนว่า “ประเทศไทยมีการจัดตั้ง คอป. ขึ้นมาเพื่อค้นหาความจริง โดยคณะกรรมการมีหน้าที่ในการค้นหาความจริงในภาพใหญ่ ซึ่งมีอุปสรรคมากมายในการทำงาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การทำงานสำเร็จลุล่วง และมีประสิทธิภาพ”
ผู้เขียนคงไม่ต้องบอกว่า หลังจากที่ คอป. เสนอผลออกมาแล้ว เป็นอย่างไร? การปฏิเสธผลดังกล่าวถือเป็นการทำลายเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่การนิรโทษกรรมที่ให้ผลปรองดอง แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือคำเตือนของบาสซิน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทั้งทฤษฎีแนวคิดและประสบการณ์การในการประยุกต์ใช้กรอบ “ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน” นั่นคือ ในที่สุด เราก็เดินมาถึงจุดที่เขาเล็งเห็นไว้ล่วงหน้าแล้ว
และสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงที่กำลังจะเกิด ทำให้ผู้เขียนนึกถึงนักวิชาการอีกคนหนึ่ง นั่นคือ จอห์น เอลสเตอร์ (Jon Elster) ที่เขียนถึงภาพรวมของ “ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน” ในอีกแง่มุมหนึ่งไว้ว่า “ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านประกอบด้วยกระบวนการตัดสินพิพากษา กระบวนการกวาดล้าง และกระบวนการชดเชยเยียวยาที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนผ่านจากระบอบหนึ่งไปสู่อีกระบอบหนึ่ง” (“Tran- sitional justice is made up of the processes of trials, purges, and reparation that take place after the transition from one political regime to another.”) และถ้าผู้เขียนเข้าใจไม่ผิด ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านอาจจะมีแค่กระบวนการใดกระบวนการหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่ง หรือทั้งหมดที่ว่านี้ก็ได้ ส่วนปัญหาของความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เอลสเตอร์พบมาตลอดจากการศึกษา “ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน” ตั้งแต่ความขัดแย้งในสมัยกรีกโบราณที่เอเธนส์ สงครามกลางเมืองอังกฤษ และการปฏิวัติฝรั่งเศส ก็คือ ความขัดแย้งในเรื่องของรายชื่อของคนที่จะได้รับการนิรโทษ ฝ่ายหนึ่งบอกว่า มากไป ในขณะที่อีกฝ่ายว่า น้อยไป !
และที่สำคัญก็คือ เราตอบคำถามของบาสซินได้แล้วหรือยังว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านหรือไม่ ถ้าใช่ เปลี่ยนผ่านจากระบอบอะไรไประบอบสู่อะไร ? ดังนั้น ก่อนจะนิรโทษ มันต้องปฏิรูปการเมืองกันเสียก่อน ไม่ใช่ปฏิรูปไป นิรโทษไปในเวลาเดียวกัน หรือไม่ก็ต้องทดสอบกำลังกัน !
(จากส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา [HS1068A] ปีที่สาม)
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน