สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กฏหมายทวงหนี้แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จตุพล สันตะกิจ

บรรดาลูกหนี้ที่ระทมจมกองหนี้คงต้องร้องเพลงรอกันพักใหญ่ๆ กว่าร่าง พ.ร.บ.ทวงหนี้ พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เห็นชอบหลักการวันที่ 6 ส.ค. จะสะเด็ดน้ำและมีผลบังคับใช้

โดยเฉพาะยามนี้ ยามที่กระเป๋าเงินของครัวเรือนนับล้านเต็มไปด้วย “สลิปแจ้งหนี้” ส่วนลูกหนี้หลายแสนคนอยู่ในภาวะจนตรอกถูกตามทวงหนี้ให้ได้อับอายมานักต่อนัก แม้ว่าปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกำหนดกติกาการทวงหนี้ที่ให้ความเป็นธรรมกับลูกหนี้อยู่แล้วก็ตาม

หากจะว่าไปแล้ว ร่างกฎหมายทวงหนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ แต่ผลักดันกันมานาน กระทั่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. ...” เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2553 หรือเมื่อ 3 ปีก่อน และร่างกฎหมายถูกปรับปรุงเนื้อหาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็น ร่าง พ.ร.บ.ทวงหนี้ พ.ศ. ... คุ้มครองลูกหนี้โดยตรง ไปจนถึงผู้ค้ำประกันสินเชื่อ

เมื่อพิจารณาร่างกฎหมายทวงหนี้ฯ พบว่า มุ่งประเด็นไปที่การกำกับดูแลการทวงหนี้ของเจ้าหนี้ เช่น ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (NonBank) ตลอดจนบริษัทเอกชนที่รับจ้างทวงหนี้ที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ไม่ให้กระทำการหยามหมิ่นน้ำใจลูกหนี้จนเกินขอบเขต ทั้งการข่มขู่ หรือทำให้อับอาย

นั่นเพราะนิยาม “สินเชื่อ” ที่ปรากฏในร่างกฎหมาย หมายถึง “สินเชื่อที่ให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดา โดยการให้กู้ยืมเงิน การให้บริการบัตรเครดิต การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิง ธุรกรรมแฟกเตอริง และสินเชื่อรูปแบบอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน...” เรียกว่ามีขอบเขตหนี้ที่เป็นของสถาบันการเงินแบบครอบจักรวาลก็ว่าได้

ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ จะต้องจดทะเบียนประกอบธุรกิจตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และต้องเสียค่าธรรมเนียมตามที่กฎกระทรวงกำหนด ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น “นักทวงหนี้เถื่อน” ไม่แคล้วจะติดอยู่ในบัญชีดำกลายผู้มีอิทธิพลตามนิยามของกระทรวงมหาดไทย และขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศได้แล้ว 825 ราย

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ร่างกฎหมายทวงหนี้ฉบับนี้มีความแตกต่างจากกติกาการทวงหนี้ของแบงก์ชาติกำหนด เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้มีบทกำหนดลงโทษในกรณีที่ผู้ทวงหนี้กระทำการทวงหนี้โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายฉบับนี้ ทั้งโทษจำคุก โทษปรับ และโทษทางการปกครอง คือ การปรับไม่เกิน 1 แสนบาท แล้วแต่กรณี

อาทิ มาตรา 9 (2) ใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่น ถากถาง หรือเสียดสีลูกหนี้หรือผู้อื่น มาตรา 9 (3) แจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่หากเป็นการทวงหนี้ในลักษณะที่เป็นการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น ตามมาตรา 9 (1) ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

เมื่อมองในฝั่งผู้ทวงหนี้อาจไม่เห็นด้วยนัก ในกรณีกฎหมายกำหนดโทษทางอาญาและทางแพ่งไว้ เพื่อเปิดช่องให้ผู้แอบอ้างดัดหลังบริษัทรับจ้างทวงหนี้

“ธุรกิจทวงหนี้ได้จัดตั้งชมรมการติดตามหนี้ที่เป็นธรรมและกำหนดมาตรฐานการทวงหนี้ ปัญหาการร้องเรียนการติดตามทวงหนี้ก็ไม่ค่อยมีแล้ว แต่ที่น่าห่วงคือการกำหนดบทลงโทษทั้งจำคุกและปรับ เกรงว่าผู้ทวงหนี้จะถูกกลั่นแกล้งได้” ประชา ชัยสุวรรณ ประธานชมรมผู้ติดตามหนี้ที่เป็นธรรม และผู้จัดการ บริษัท เชฎฐ์ คอลเลคชั่น แมนเนจเมนท์ ระบุ

แต่ถ้ามองจากฟากฝั่งผู้ถูกติดตามทวงถามหนี้ กลับมีความเห็นที่แตกต่าง ประพัฒน์ ยับสุวรรณกุล ที่ปรึกษาชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ระบุว่า ปัจจุบันยังมีการทวงหนี้ที่ทำให้ลูกหนี้ต้องอับอาย มีการแฟ็กซ์แจ้งหนี้ไปที่ทำงานของลูกหนี้ บ้างก็แต่งตัวเป็นเจ้าพนักงานศาลก็มี ลูกหนี้หลายรายต้องอับอาย บางรายถึงกับช็อกตายไปเลยก็มี

“บางรายถูกตามทวงหนี้ให้ได้รับความอับอายจนต้องไปกู้ยืมหนี้สินนอกระบบ หรือกู้ยืมบัตรเครดิตอื่นที่ผู้ทวงหนี้แนะนำ จนกลายเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่มีทางออก เพราะอย่างที่รู้กันบริษัทรับจ้างทวงหนี้จะได้รับส่วนแบ่ง 3040% ของมูลหนี้ และวันนี้จะพบว่าธุรกิจทวงหนี้ทำรายได้ให้สำนักงานทนายความมากกว่าการว่าคดีด้วยซ้ำ” ประพัฒน์ ให้ความเห็น

เมื่อพิเคราะห์ร่างกฎหมายฉบับนี้ แน่นอนว่าย่อมจะส่งผลดีกับบรรดาลูกหนี้ที่จะได้รับการปฏิบัติที่สมควรและเป็นธรรม ทั้งยังเป็นการปฏิรูประบบการทวงหนี้ครั้งใหญ่ ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบการปล่อยสินเชื่อในอนาคตด้วยก็ได้

อาทิ กติกาการทวงหนี้ที่เข้มข้นและคนทวงหนี้ยังเสี่ยงติดคุกได้อีก จะส่งผลให้การติดตามทวงหนี้คืนกลับมาได้ต้องลดโดยปริยาย เพราะคนทวงหนี้ไม่อาจงัด “กลเม็ด” ที่เคยสร้างแรงกดดันบีบจนลูกหนี้ทนไม่ไหวและต้องวิ่งวุ่นหาเงินมาจ่ายหนี้จนได้ อีกแล้ว ส่งผลให้หนี้ที่เคยติดตามทวงได้เป็นกอบเป็นกำ ต้องลดลงตามสัดส่วน

นอกจากนี้ ต้นทุนการติดตามทวงถามหนี้ที่เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อธุรกิจทวงหนี้ต้องจดทะเบียนและเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ก็จะมีผลให้ส่วนแบ่งหนี้ที่ติดตามทวงคืนได้ต้องเปลี่ยนไป คือ บริษัทรับจ้างทวงหนี้อาจเรียกส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น หรือกลับกัน แบงก์อาจส่งผลให้ส่วนแบ่งน้อยลงก็ได้ เพราะหนี้สินที่ติดตามทวงถามได้ลดลง

แต่เงื่อนไขตรงนี้จะมีส่วนให้บรรดาสถาบันการเงินที่เคยเร่งปล่อยกู้แบบไม่ลืมหูลืมตา หวังเป้ากำไรสูงๆ เป็นที่ตั้ง จะต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นก็เป็นได้

โดยเฉพาะสภาพปัจจุบันที่หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 8 ล้านล้านบาท คิดเป็นเกือบ 80% ของจีดีพี และแต่ละเดือนหนี้เสียจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20-30% เทียบกับปีที่แล้ว

ทว่าการออกกฎหมายทวงหนี้มีข้อสันนิษฐานมุมหนึ่งว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และจะไม่ทำให้การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลลดลง เพราะปัจจุบันสินเชื่อส่วนบุคคล เช่น บัตรเครดิต เก็บอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงถึง 28% จากที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 15% เทียบกับต้นทุนการเงินของแบงก์อยู่ที่ 3-4%

“แบงก์ชาติเป็นผู้ทำผิดกฎหมายเสียเอง ปล่อยให้แบงก์และนันแบงก์ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสูงถึง 28% ถ้าปล่อยสินเชื่อ 100% มีหนี้เสีย 10% ก็ยังกำไร เหตุใดจึงไม่แก้ไขที่ต้นตอ ส่วนแบงก์เองก็มีข้อมูลเครดิตบูโรอยู่แล้ว แต่ก็ยังปล่อยกู้คนกลุ่มนี้ เพราะผลตอบแทนสูง” ประพัฒน์ วิเคราะห์

ข้อสันนิษฐานที่มองต่างมุม ก็ชวนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องขบคิดว่า ทำอย่างไรจะดูแลไม่ให้ลูกหนี้ถูกขูดรีดจนสะบักสะบอมทั้งกายและใจ เช่นกัน ดังนั้น น่าตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจปล่อยกู้หนี้สินนอกระบบที่เฟื่องฟูอยู่แล้วจะยิ่งขยายตัวมากขึ้นเพราะผลพวงกฎหมายทวงหนี้ก็ได้ เพราะเมื่อแบงก์เข้มงวดมากขึ้น แต่หนี้นอกระบบปล่อยกู้กันง่าย แถมยังไม่มีกฎหมายหรือกำหนดวิธีปฏิบัติที่ชัดแจ้ง คนร้อนเงินก็จะหันเหกู้หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น

และแม้ว่าวันนี้รัฐบาลจะโชว์ว่าจะมีการจัดทำบัญชีดำแก๊งทวงหนี้ดอกโหดทั่วราชอาณาจักร แต่น่าจะทำได้แค่ปราม เพราะการบังคับใช้กฎหมายในการดูแลลูกหนี้อยู่กับการใช้อำนาจและดุลพินิจของเจ้าหน้าที่

ปรากฏการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในยามธุรกิจทวงหนี้ที่เข้าสู่ขาลง หน่วยงานที่ต้องรับบทหนักมากขึ้นก็คือ ศาล เพราะหากการตามทวงหนี้โดยบริษัททวงหนี้ไม่ได้ผล ทางออกของเจ้าหนี้ที่จะตามทวงหนี้คืน ไม่พ้นต้องนำคดีฟ้องร้องสู่ศาล ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง และเจ้าหนี้จะโยนภาระไปให้ลูกหนี้แทน ซึ่งลูกหนี้ก็เสียเปรียบอยู่ดี

สรุปแล้วการมีกฎหมายควบคุมพฤติกรรมทวงหนี้ เป็นผลดีกับลูกหนี้อาจเป็นเพียงภาพลวงตาก็ได้ หากไม่แก้ไขปัญหาให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง คือ การปล่อยสินเชื่อ ควบคุมสัญญาปล่อยกู้ที่ไม่เป็นธรรม ไปจนถึงปลายทาง คือ การฟ้องร้องลูกหนี้ในศาลที่ลูกหนี้ต้องไม่เสียเปรียบเจ้าหนี้

ไม่เช่นนั้น สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมอุดมไปด้วยหนี้ ต้องวิ่งขึ้นโรงขึ้นศาลกันขาขวิด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

view