สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เสถียรภาพทางการเงินของมาร์ค คาร์นีย์

เสถียรภาพทางการเงินของมาร์ค คาร์นีย์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สัปดาห์ที่แล้ว นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษ ได้ประกาศใช้ Forward Guidance

หรือ การใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจและสภาพของเสถียรภาพทางการเงินในอนาคตเป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ทว่า Forward Guidance ของนายคาร์นีย์ค่อนข้างจะเงื่อนไขเยอะกว่าธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางยุโรป นั่นคือ ให้สัญญาว่าจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากอัตราการว่างงานยังสูงกว่าร้อยละ 7 แต่ภายใต้เงื่อนไขว่าอัตราเงินเฟ้อต้องไม่สูงขึ้นกว่านี้ และ เสถียรภาพของระบบการเงินต้องไม่เสี่ยงมาก คาดว่าไม่น่าเร็วกว่ากลางปี 2016

แต่ก่อนอื่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ขอแยกความแตกต่างระหว่างคำว่า "ความไม่มีเสถียรภาพทางการเงิน" กับคำว่า "วิกฤตทางการเงิน" เสียก่อน โดยคำแรก หมายถึง เหตุการณ์ที่มีแรงกระเพื่อมหรือเกิดช็อกต่อระบบเศรษฐกิจด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่โตมาก ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินได้ ในขณะที่คำหลัง หมายถึง เหตุการณ์ที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงที่เกิดกับสถาบันการเงินสามารถก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจจริงได้

คำถามที่หลายคนสงสัย ได้แก่ แล้วจะวัดเจ้าตัวเสถียรภาพของระบบการเงินได้อย่างไร ตรงนี้ ยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงการเศรษฐศาสตร์และการเงิน บทความนี้จะขอประมวลอัปเดตล่าสุดว่า ในตอนนี้ว่าได้มีข้อสรุปไปถึงไหนแล้ว


เริ่มจากวิธีแรกสำหรับการวัดเสถียรภาพของระบบการเงิน ได้แก่ การใช้ข้อมูลตั้งแต่จากงบการเงินไปจนถึงข้อมูลราคาของหลักทรัพย์จากตลาดเงินและตลาดทุนเป็นมาตรวัด ดังนี้

ดัชนีที่ง่ายที่สุด ประกอบด้วย ตัวเลขทางการเงินต่างๆ จากงบดุล ซึ่งรวมถึง เงินกองทุนของสถาบันการเงิน ปริมาณหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สำรองหนี้สูญ หรือ รายการต่างๆ จากงบดุลของภาคครัวเรือนและบริษัทเอกชนต่างๆ รวมเรียกตามภาษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟว่า "ดัชนีที่แสดงความมั่นคงทางการเงิน" หรือ “Financial Soundness Indicators” ทั้งนี้ ทางการของประเทศต่างๆ ก็จะมีตัวเลขดังกล่าวของครัวเรือน บริษัทเอกชน และสถาบันการเงินต่างๆ ของประเทศตนเองอย่างละเอียด

อย่างไรก็ดี ตัวแปรหรือตัวเลขดังกล่าวคงจะสามารถเป็นเพียง inputs สำหรับการวิเคราะห์ความอ่อนแอของระบบการเงินที่ลึกซึ้งขึ้นไปเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดในการตีความของตัวมันเอง อาทิ ปริมาณหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือสำรองหนี้สูญ ก็ยังขึ้นอยู่กับว่าจะใช้มาตรฐานทางบัญชีอะไร อีกทั้งเป็นดัชนีที่ใช้วัดแบบย้อนหลังเหตุการณ์ที่ผ่านมามากกว่ามองไปข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทหรือสถาบันการเงินที่มีกำไรอยู่สูงมากๆ และมีสำรองหนี้สูญอยู่น้อยก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจจะหมายถึงระดับความเสี่ยงที่มีอยู่สูงได้เช่นกัน ดังนั้น ตัวแปรเหล่านี้จึงต้องนำไปผูกกับทฤษฎีอื่นๆ ในการที่จะทำให้สามารถทำนายเสถียรภาพทางการเงินของระบบเศรษฐกิจนั้นได้

ดัชนีที่ใช้วัดเสถียรภาพของระบบการเงินตัวที่สอง ได้แก่ อันดับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของผู้กู้ (Ratings) ที่ได้มาจากบริษัทหรือสถาบันจัดอันดับความเสี่ยง หากเปรียบเทียบกับตัวเลขที่ได้จากงบดุลตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ดูจะมีข้อได้เปรียบตรงที่ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ รวมไว้ในตัวเลขเดียวซึ่งมีนัยที่จะบอกถึงแนวโน้มในอนาคตได้ (Forward-looking) อีกทั้งยังสามารถประมาณโอกาสที่จะล้มละลายและค่าความเสียหายที่น่าจะเกิดขึ้นจากผู้กู้เหล่านี้ได้ อย่างไรก็ดี วิธีนี้ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน จากการที่การจัดอันดับเป็นไปในลักษณะรายบริษัทแล้วค่อยๆ รวมขึ้นเป็นระบบเศรษฐกิจ ย่อมจะทำให้ขาดการมองภาพใหญ่หรือความเสี่ยงที่แชร์ร่วมกันของทั้งระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งการลดอันดับความน่าเชื่อถือโดยส่วนใหญ่ก่อมักจะใช้ถูกเลื่อนออกไปให้ล่าช้ากว่าในสภาพความเป็นจริง

วิธีที่สาม ในการใช้วัดเสถียรภาพทางการเงิน ได้แก่ การใช้ราคาหลักทรัพย์จากตลาดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นระดับราคาหรือค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของราคาหลักทรัพย์เป็น Inputs เพื่อทำการป้อนเข้าไปในแบบจำลองความเสี่ยง สำหรับการคำนวณหาระดับของโอกาสความเสี่ยงของบริษัทหรือสถาบันการเงินต่างๆ ในเศรษฐกิจ หากพิจารณาแบบผิวเผิน จะพบว่าวิธีนี้ได้เปรียบวิธีอื่นๆ หลายประการ ไม่ว่าจะในมุมมองของการมองภาพเศรษฐกิจไปข้างหน้า หรือ ให้ข้อมูลของระดับเสถียรภาพทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากข้อมูลของตลาดการเงินเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังสามารถวัดระดับความเสี่ยงที่แชร์ร่วมกันของทั้งระบบเศรษฐกิจจากแบบจำลองความเสี่ยง

อย่างไรก็ดี วิธีนี้ ก็มีข้อเสียเช่นเดียวกัน นั่นคือ ข้อมูลของราคาหลักทรัพย์มิได้มีทุกบริษัท อีกทั้งราคาหลักทรัพย์ในหลายๆ ครั้งก็เกิดจากการเก็งกำไรของนักลงทุนต่างๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ การที่ระดับของดัชนีความตึงตัวทางการเงิน ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากวิธีแบบจำลองความเสี่ยง ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งค่าดังกล่าวอยู่นิ่งๆ เนิ่นนานจนเกินไป ก็เป็นสัญญาณของการเกิดวิกฤตทางการเงินได้เช่นกัน ดังรูปที่ 1

วิธีพื้นฐานแบบสุดท้ายที่นิยมใช้กัน ได้แก่ การใช้ดัชนีเตือนล่วงหน้า (Early Warning Indicator) ซึ่งใช้ฐานข้อมูลจากประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ ด้วยการหาผลต่างระหว่างราคาหุ้นทั้งตลาดในขณะนั้นกับค่าเฉลี่ยระยะยาวของราคาหุ้นทั้งตลาด และ ผลต่างระหว่างอัตราส่วนของสินเชื่อภาคเอกชนต่อขนาดเศรษฐกิจหรือจีดีพีในขณะนั้นกับค่าเฉลี่ยในระยะยาว ซึ่งโดยทั่วไปหากผลต่างของราคาหุ้นดังกล่าวเกินร้อยละ 40 หรือ หากผลต่างของอัตราส่วนสินเชื่อต่อจีดีพีดังกล่าวเกินร้อยละ 4 โอกาสที่จะเกิดวิกฤตการเงินภายในระยะเวลา 1-3 ปีก็จะมีอยู่สูง

ท้ายสุด ยังมีการใช้วิธีการทดสอบภาวะวิกฤติ (Macro Stress Testing) เพื่อทำการประมาณหรือคาดการณ์เสถียรภาพของระบบการเงิน ทว่าวิธีการดังกล่าวกลับไม่ประสบผลสำเร็จจากข้อมูลในอดีตดังรูปที่ 2

โดยสรุป การจะประเมินเสถียรภาพระบบการเงินเพื่อที่จะทำนายการตัดสินใจของธนาคารกลางในยุค Forward Guidance ครองเมือง ต้องใช้หลายๆ วิธีในการประเมินร่วมกันครับ


หมายเหตุ : หนังสือด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาคเล่มใหม่ล่าสุดของผู้เขียน “เล่นหุ้นต้องใช้ใจ... รวยได้ไม่รู้จบ” วางจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นการลงทุน ได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ bonthr.blogspot.com ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เสถียรภาพทางการเงิน มาร์ค คาร์นีย์

view