สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความในใจ รมต.โหนรถเมล์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว / ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

ใช่ว่าจะนั่งวางแผนโครงสร้างระบบขนส่งสาธารณะอยู่แต่ในห้องแอร์กระทรวงคมนาคม แต่สำหรับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดปฏิบัติการลงสัมผัสของจริง ไม่ว่าจะโหนรถเมล์ นั่งเรือ ล่องรถไฟ

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการที่ชัชชาติดำเนินการอยู่ขณะนี้ ไม่อาจหนีเสียงวิจารณ์ได้ว่ามีเป้าหมายอื่นแอบแฝงหรือไม่? “รมต.สร้างภาพใช่ไหม” “ต้องการเรียกเรตติ้งหรือเปล่า” หรือ “หวังกลบข่าวการเมืองร้อน”
หลากคำถามพุ่งตรงมาถึงหัวหน้านายตรวจคมนาคมต้องตอบ

“การไปนั่งรถเมล์-รถไฟ จำเป็นต้องรู้ปัญหาจริงๆ ซึ่งบางส่วนบ่นเป็นรัฐมนตรีแล้วมาทำไมให้เสียเวลา ควรไปทำงานเชิงนโยบายมากกว่า แต่ผมมองว่าทุกอย่างต้องไปด้วยกัน เพราะผลพวงส่วนหนึ่งมาจากนโยบาย ถ้าไม่เข้าใจปัญหาคงทำให้นโยบายดีไม่ได้ ดังนั้น การลงไปก็เพื่อเก็บข้อมูล และถ้าไม่ลง ก็ไม่มีทางรู้” ชัชชาติ ชี้แจง

ชัชชาติ เปิดเผยว่า สิ่งที่เขาทำเริ่มต้นจากการใช้เฟซบุ๊กเป็นสื่อกลางในการรับเรื่องร้องเรียน ข้อเสนอแนะจากประชาชน เกี่ยวกับการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้เห็นเรื่องราวมากมาย บางเรื่องไม่เคยทราบมาก่อน ซึ่งการเปิดเฟซบุ๊กไม่ใช่เปิดขึ้นมาโพสต์ข้อความเล่นๆ แต่ต้องการได้ข้อมูล และลงไปสัมผัสหาข้อเท็จจริงและมีทีมงานคอยประมวลผล ดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป

“ผมก็กังวลนะ อาจถูกมองเป็นการสร้างภาพ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีคนคอยติดตามตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะสังคมเฟซบุ๊กทุกคนความจำดี เดี๋ยวเขา ก็ต้องโพสต์ข้อความถามเราว่าที่ลงไปตรวจ ไปดูรถเมล์ รถไฟสายโน้นสายนี้ ทำไปถึงไหนแล้ว ถ้าสร้างภาพมันไปไม่รอด เพราะขณะที่เราเริ่มเดินหน้าไปประเด็นที่ 3-4 ก็จะมีคนถามว่าประเด็นที่ 1 ทำหรือยัง ดังนั้น ต้องพิสูจน์ระยะทาง ทุกประเด็นปัญหาต้องบันทึกเก็บไว้ พยายามติดตามเรื่องเก่าแล้วต้องแก้ปัญหาให้ได้ ไม่ใช่รุดหน้าอย่างเดียว”ชัชชาติ กล่าวด้วยท่าทีจริงจัง

จากการปกปิดวาระงาน จู่ๆ ปรากฏกายโหนรถเมล์ เผลอแป๊บไปนั่งรถไฟชั้นสามพบเห็นสภาพปัญหาอะไรบ้าง เจ้าตัว บอกว่า ปัญหารถเมล์กับรถไฟมันคนละเรื่อง เพราะรถไฟมีข้อเท็จจริงที่ไม่รู้อีกมาก แต่รถเมล์ส่วนใหญ่รู้ปัญหา คือ ผู้บริหารไม่กระตือรือร้น ดังนั้น การไปนั่งรถเมล์เพื่อกระตุ้น และลงไปแบบไม่บอกว่าสายไหน ซึ่งถ้าลงไปแล้วไม่พบการดูแลที่ดี ก็โดนแน่ (น้ำเสียงเข้ม) เพราะการลงมีหลายรูปแบบ ทั้งเก็บข้อมูล กระตุ้น แต่กับรถไฟคงต้องลงไปหาข้อมูล เพราะไม่ได้นั่งมานาน

“รถไฟต้องมีแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นที่ต้องดำเนินการได้ก่อน เช่น ห้องน้ำไม่สะอาด ห้องเก็บเงิน คนเมา ทำได้เลย ส่วนระยะยาว คือ โครงสร้าง ผมเคยไปคุยกับพนักงานขับรถไฟซึ่งทำงานมากว่า 30 ปี บอกว่าตู้อัดเบรกรถไฟเหลือแค่อันเดียว พนักงานมี 50 อัตรา แต่ทำงาน 20 คน ถามว่าอนาคตจะเป็นยังไง”

“คนเมาผมไม่เคยนึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่มี|ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า คนเมาทำให้ผู้โดยสารธรรมดาไม่อยากขึ้นรถไฟ ซึ่งผมเจอคนเมามากอดคอถ่ายรูปที่ตู้เสบียง และคนเมามานั่งด้วย และด่าเรื่องรถไฟให้ฟัง เรื่องขายของบนรถไฟเป็นเรื่องดี แต่มิจฉาชีพแฝงตัวเยอะมาก ฉวยของผู้โดยสารกระโดดลงรถ ถามว่า ถ้าจะเอารถไฟเป็นเส้นทางหลักจะทำอย่างไร จะต้องมีนโยบายให้เทียบเคียงกับเครื่องบิน แต่รถไฟปล่อยจนเป็นธรรมเนียม หรือห้องน้ำเก็บค่าบริการ 3 บาท ถามว่าจำเป็นจริงหรือ จะรวยขึ้นจากการเก็บ 3 บาท ไปเมืองนอกก็ไม่เห็นเก็บหรือน้อยมาก เพราะมันคือบริการพื้นฐาน ประชาชนมีสิทธิ ถามว่าไม่เก็บแล้วสกปรก ทำไม่ได้อย่างอื่นก็ไม่ต้องไปทำ บางอย่างมานั่งคิดให้ดี ก็เป็นมิติเอาไปปรับปรุงได้”

ที่ผ่านมาชัชชาติยังเคยแอบไปตรวจโรงงานซ่อมรถไฟที่มักกะสันถึงกับอึ้ง เพราะโรงงานแห่งนี้ยังใช้เทคโนโลยีตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว พบทั้งช่างซ่อม ช่างเชื่อม ยังหลอมเหล็กอยู่ในโรงงาน ทำให้เกิดคำถามว่าในเมื่ออยากเห็นระบบรางที่ดีในอนาคตจะทำแบบเดิมหรือจ้าง เอาต์ซอร์ส ปัญหาตรงนี้ต้องมีการตัดสินใจ ไม่เช่นนั้น คุณภาพจะแย่อยู่อย่างนี้

นอกจากรถเมล์ รถไฟที่ตรวจสอบแล้ว ชัชชาติ เล่าว่า เรือเคยนั่งทุกเช้า เพราะถือเป็นทางเลือกที่ดีของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเรือคลองแสนแสบมีคนนั่งเกือบ 6 หมื่นคนต่อวัน เรือด่วนเจ้าพระยา 4 หมื่นคนต่อวัน แต่ปัญหา คือ มาตรฐาน ความมั่นใจของประชาชนเรื่องความปลอดภัย คุณภาพ จึงได้กำชับเจ้าของเรือและกรมเจ้าท่าไปเขียนแผนงานมา โดยตั้งเป้าเพิ่มผู้โดยสารให้ได้แสนคนต่อวัน

ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยา ปัญหาอยู่ที่ระบบเชื่อมโยง เช่น บ้านแถวบางใหญ่จะมาขึ้นเรือแต่ไม่มีรถเมล์วิ่งผ่าน ไม่มีที่จอดรถ จะทำอย่างไรให้ทั้งหมดเชื่อมโยง ก็ให้ 2 ฝ่ายไปดู ร่วมกันคิด เพื่อให้ทำได้ครบวงจร จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประชาชน ซึ่งเปรียบได้กับรถไฟสายหนึ่ง

ส่วนปัญหาความปลอดภัยของรถตู้โดยสาร ชัชชาติ ยืนยันว่า ปัจจุบันได้ดำเนินการติดเครื่องควบคุมจับความเร็ว แต่พบปัญหา 2 ส่วน คือ หมวด 1 วิ่งเฉพาะกรุงเทพฯ ที่ได้รับสัมปทานจาก ขสมก. และหมวด 2 วิ่งต่างจังหวัด รัศมี 300 กม. ซึ่งทั้ง 2 แบบพบปัญหาคล้ายกัน คือ รถตู้หมวด 1 มีปัญหาเรื่องการวิ่งทับซ้อนเส้นทางรถผี แต่หมวด 2 ปัญหาเรื่องรถผีวิ่งทับเส้นทางไปจอดอนุสาวรีย์ แต่ต้องเข้าใจว่ารถตู้เป็นสิ่งที่คนไทยชอบ

ชัชชาติ เล่าว่า เมื่อมีจำนวนผู้ใช้มาก รถผิดกฎหมายก็ตามมาและมาเฟียคุม ดังนั้น ขั้นตอนแรกที่เตรียมดำเนินการ คือ ความปลอดภัยก่อน รถตู้ติดเครื่องควบคุมความเร็ว ทำให้ปัญหานี้น้อยลง ต่อมาจัดสถานีจอดรถให้เป็นระเบียบ หากทำเหมือนสถานีขนส่งย่อยๆ ได้จะช่วยกำจัดรถผีออกไปได้ เพราะปัจจุบันไม่มีจุดรับเป็นเรื่องเป็นราว เช่นเดียวกับ บขส.จะไม่พบปัญหานี้ ต้องเป็นรถถูกต้องเท่านั้นถึงเข้าจอดสถานีได้ และจะไม่เกิดปัญหาดังกล่าว

“รถผีได้เปรียบเพราะไม่ต้องไปจ่ายค่าทะเบียน ไม่ต้องตรวจสอบสภาพทุก 6 เดือน ดังนั้น ควรเริ่มจากการจัดจุดจอดให้ดี มีที่พักให้ประชาชน พร้อมทั้งมีความเชื่อมโยงรถถูกกฎหมายเข้ามาจุดจอด เพื่อเป็นระบบ ซึ่งได้มีการกำหนดจุดตั้งแล้ว อาทิ ซอยหมอเหล็ง พื้นที่ใต้ทางด่วน แต่มันไม่ง่าย เพราะพบแต่ผู้มีอิทธิพลทั้งนั้น”

สำหรับปัญหาแท็กซี่ ชัชชาติ พูดพลางยิ้มว่า คิดเสมอ เพราะโดนด่าเยอะสุด โดยเฉพาะเรื่องไม่รับผู้โดยสาร ซึ่งกรมขนส่งทำตลอด เช่น จับ ปรับ ล่อซื้อ แต่คิดว่าเป็นการแก้ปลายเหตุ ถามว่าจะแก้ยังไง อย่างแรกต้องมาจากจิตสำนึกของแท็กซี่ก่อน ไม่ใช่ใครมาจากไหนก็ขับได้ ต้องมีการอบรม เข้ากระบวนการ เพื่อให้เกิดความภูมิใจในอาชีพ และไปวิเคราะห์ปัญหาต้นเหตุว่าคืออะไร

“หากถามว่าทำไมแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร ขนส่งต้องไปวิเคราะห์ เช่น ไปที่ไม่มีปั๊มแก๊ส ขับกลับไม่ได้ ก็ต้องไปดู จุดไหนในกรุงเทพฯ มีปัญหาขาดปั๊มแก๊ส ราคาค่าโดยสารเป็นธรรมหรือไม่ ราคามิเตอร์เวลาช่วงรถติดมันต่ำกว่าที่ควรเป็น ทำให้แท็กซี่ไม่อยากเข้าไปในพื้นที่รถติด มิเตอร์เดินไม่คุ้มต้นทุน หากทำใจให้เป็นกลาง การรับคนคือการทำธุรกิจ ถ้าปฏิเสธเป็นเพราะได้ไม่คุ้มทุนหรือเปล่า ต้องคิดในแง่มุมเขาด้วย ขนส่งต้องไปดูตรงนี้ หรือจัดจุดจอด มีกล้องวงจรปิด ซึ่งตามห้างได้มีการดำเนินการแล้ว เช่น พารากอน เพื่อตรวจดูแท็กซี่รับผู้โดยสารหรือไม่ แต่ก็ต้องมีมือไม้ เมื่อสั่งไปแล้วต้องทำให้จบ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องลงไปช่วยดู บางทีไม่ได้ดั่งใจ ก็ต้องเอาเท่าที่ทำได้”

ดูเหมือนชัชชาติจะเข้าใจสารพัดปัญหาระบบขนส่ง แล้วจะแก้ปัญหาได้มากน้อยขนาดไหน หรือแค่จุดพลุเปิดประเด็นแล้วหายไป

“เรื่องพวกนี้มีตัวชี้วัดของแต่ละรัฐวิสาหกิจ ขสมก. รถไฟ ว่าตรงเวลาหรือไม่ หรือบางตัวอาจต้องมีการปรับตัวชี้วัด”

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเป็น รมว.คมนาคม ไม่ได้แค่ลงมาเกาะติดปัญหาปลีกย่อยระบบขนส่งสาธารณะเท่านั้น หากแต่ดำเนินการคู่ไปกับการวางนโยบาย

“ทำเฉพาะเรื่องปลีกย่อยไม่ได้ ต้องย้อนกลับมาในเชิงนโยบาย ทั้งคิด ทำ วางแผน เวลาไปจะดูเรื่องปรับโครงสร้าง เช่น รถไฟ มาดูปัญหาชีวิตจริง และทำให้เห็น เช่น การแบ่งเขต 4 เดินรถ คือ เดินรถ ช่างกล กรมโยธา สื่อสาร แต่ละคนคนละนาย ถามใครก็โยนกันไปมา เหมือนเป็น 4 บริษัทในบริษัทเดียว ไม่คล่องตัว เมื่อเห็นปัญหานี้คิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นเนื้อเดียวกัน”

ก่อนจบบทสนทนา เจ้าตัวทิ้งท้ายไปถึงรถตู้สาธารณะด้วยว่า สัปดาห์หน้าจะไปนั่งรถตู้แน่นอน จากนั้นเตรียมโดยสารรถ บขส. วางแผนนั่งไปถึงต่างจังหวัด

รถตู้-รถทัวร์ หรือแม้แต่รถแท็กซี่อย่าชะล่าใจ ไม่ช้าเกินรอ หัวหน้านายตรวจชัชชาติอาจปรากฏตัวอยู่ในรถคันใดคันหนึ่งแบบไม่ทันตั้งตัว

ส่วนจะเป็นวินไหน สายใด เตรียมพร้อมล้อหมุนกันให้ดีๆ!!!

เกาะขบวนไฮสปีดการเมือง สถานการณ์ที่ต้องยอมรับ

เข้ามาทำงานในกระทรวงคมนาคม แต่ปัจจัยการเมืองทำให้มีผลต่องาน ชัชชาติ ยอมรับว่า มีผลอยู่ แต่ก็ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะการเมืองมันเกี่ยวข้องกับทุกด้าน แต่พยายามทำเรื่องเนื้องานให้ดีที่สุดเช่น  2 ล้านล้านบาท ไม่พูดถึงเรื่องการเมือง เน้นเรื่องเทคนิคและขอบเขต ส่วนการเมืองจะพลิกโฉมอย่างไร ก็ต้องไปแก้สถานการณ์ สมมุติร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางไม่ผ่านขึ้นมา ก็ต้องหาทางทำต่อไปด้วยวิธีอื่น ไม่ได้ชีวิตจบแค่นี้ ส่วนแผนสำรองอาจจะต้องคิด คงไม่พูดดีกว่า

หากผลการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ เช่น สภาพัฒน์ฯศึกษาไม่คุ้มทุนต้องเปลี่ยนเส้นทางชัชชาติ ระบุว่า มันคนละส่วนกัน เพราะ 2 ล้านล้านบาท เป็นการให้กรอบ เตรียมเงินไว้ถ้ารัฐบาลอนุมัติทำโครงการพวกนี้ มีเงินให้ เพราะครม.ผ่านแล้ว แล้วสภาพัฒน์ฯไม่อนุมัติก็ทำไม่ได้ รัฐบาลก็พิจารณาได้ ในเรื่องกู้เหมือนกับว่าไปขอกรอบ ไว้ก่อนเพื่อเตรียมเงินไว้ มีเวลาเท่านี้ๆ แต่ละโครงการเมื่อถึงเวลา หรือโครงการใดโครงการหนึ่งไม่ผ่านอีไอเอ มันก็ทำไม่ได้ ไม่ต้องไปกู้เงินตรงนี้

“ถ้าไม่ผ่านจริงๆก็ไม่เสียสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนเพราะพูดชัดเจนแล้ว ว่า ต้องผ่านอีไอเอโครงการพวกนี้มีขั้นตอนแต่ถามว่าเราจะให้ออกพรบ.ทุกฉบับแต่ละ โครงการมันไม่ได้ต้องออกในภาพรวมไปก่อนและให้มั่นใจว่า ถ้าเกิดทำจริงๆ มันมีเงิน ที่ไปกู้มาซึ่งอยู่ในกรอบหนี้สาธารณะแต่ถ้าไม่ทำหรือไม่ผ่าน สภาพัฒน์ฯไม่เห็นด้วยกับตัวเลขก็ต้องเป็นรายโครงการไปไม่ได้ดื้อ หรือโกหกต้องทำทุกโครงการ” 

ส่วนจะอยู่ถึงลงเสาฝังเข็มหรือไม่ ชัชชาติ บอกวันต่อวัน มาตรงนี้ก็ถือว่าเกินที่คิดไว้แล้ว การเมืองมีหลายปัจจัย ก็ทำแต่ละวันให้ดีที่สุด และเชื่อว่ากระทรวงก็ต้องเดินหน้าต่อไป ใครอยู่ก็ได้ ส่วนปัญหาสส.รัฐบาลไปกว้านซื้อที่ดิน ต้องไปหาข้อเท็จจริงกันเอาเอง ข้อมูลมันตรวจสอบได้ไม่ใช่สส.รัฐบาลอย่างเดียว ฝ่ายค้านก็ซื้อได้ แนวเส้นทางไม่ได้ให้ใครเป็นพิเศษเกิดขึ้นทุกวัน เอกชนก็ซื้อเยอะแยะที่ดิน

ชัชชาติ อธิบายการทำงานสร้างความโปร่งใส ด้วยการเอาเอกชนเข้ามาร่วม และกล้ายืนตอบทุกคำถาม ถ้าเกิดมุมมิบ  ก้มหน้า ไม่ยอมคุย อย่างนี้ไม่โปร่งใส เช่น ทีโออาร์รถเมล์ ให้ซักไม่รู้กี่ร้อยคำถาม ทุกคำถามก็ตอบละเอียด จนพอใจ แต่สิ่งที่ต้องการ คือให้ช่วยกันดูตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ทำเสร็จแล้วมาด่าว่าโกง มันก็เหนื่อย เรามาย้อนอดีตไม่ได้ ถ้ามาช่วยตังแต่ต้น มาดู ร่วมตรวจสอบ ก็ไปได้ เพื่อยกระดับประเทศให้ดีขึ้น

สำหรับรถไฟความเร็วสูง ชัชชาติ บอกเป็นสิ่งทีดี เพราะเป็นตัวสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ โดยมีหลักการศึกษา มีข้อมูล แต่สุดท้ายให้ผู้มีหน้าที่อย่างสภาพัฒน์ฯชุดใหม่ มาดูตรวจเลข ตกลงไหม มาคุยในหลักการ ไม่ใช้ความรู้สึก ถ้าไม่ทำไม่มีปัญหาช่วยกันมาให้เหตุผล ไม่ใช่ทำได้พรุ่งนี้ ประเทศไทยที่ว่าไม่พร้อมอย่างน้อยก็อีก 7 ปี ตอนนั้น 55 เกือบเกษียน ถ้าบอกไม่พร้อมตอนนี้ก็ใช่ แต่ไม่ได้ซื้อตอนนี้ อีกที 7 ปี 7 ปี ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ โลกเปลี่ยนไปแค่ไหน นี่เป็นการวางรากฐานอนาคต

"บันทึกของเพื่อน"ความคาดหวังรมต.

ไม่ว่าจะเป็นกรณีรถเมล์ร่วมสาย 8 ที่ติดอันดับผู้โดยสารร้องเรียนปัญหาการใช้บริการมากที่สุด หรือภาพขบวนรถไฟสายระทมทุกข์ “ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง” ปรากฏเป็นข่าวนำไปสู่การปรับปรุงในเวลาต่อมา ล้วนมาจากการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม

เดิมที ชัชชาติ เป็นคนที่ไม่ค่อยเล่นเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะการเขียนข้อความสนุกสนานถึงเพื่อนหรือคนที่รู้จัก แต่เมื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรี เขาหันมาให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดีย โดยใช้เป็นช่องทางสื่อสารการทำงาน ตั้งแต่สื่อสารกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกระทั่งนำมาใช้เป็นช่องทางให้ประชาชนร้องเรียนเรื่องการใช้ระบบ ขนส่งสาธารณะ

ชัชชาติ ขยายความว่า เนื่องจากนายกรัฐมนตรีต้องการให้กระทรวงคมนาคมสื่อสารไปยังประชาชน ทั้งเรื่อง 2 ล้านล้านบาท โครงการต่างๆ แม้ที่ผ่านมาจะให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี แต่เป็นลักษณะวันเวย์ (สื่อสารทางเดียว) ไม่มีกลับมา แต่มีอีกกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ คือ โซเชียลมีเดีย

“ส่วนตัวไม่ได้รู้จักเท่าไหร่และไม่เคยเล่นเฟซบุ๊ก แต่สาเหตุที่มีเฟซบุ๊ก เกิดขึ้นสมัยเรียน MBA เนื่องจากอาจารย์ให้นักศึกษาแต่ละคนเปิดเอาไว้ แต่มีแล้วก็ไม่เล่น คนมาขอเป็นเพื่อนเยอะ ก็ไม่ได้รับ เพราะมองเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ถ้าดูตัวเลขกรุงเทพฯ ถือเป็นกลุ่มที่มีเฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก ถ้าสามารถสื่อข้อมูลให้เข้าใจถึงสิ่งที่ทำหรือสื่อสารกลับมาได้บ้างเป็น เรื่องดี คิดเพียงเท่านั้น และได้บอกน้องๆ ซึ่งเป็นทีมงานว่าควรทำเฟซบุ๊กดีหรือไม่ แต่การทำพยายามเน้นเรื่องเป็นประโยชน์”

ชัชชาติ อธิบายว่า กระทรวงคมนาคมมีประเด็นมาก เรื่อง 2 ล้านล้านบาท โครงการต่างๆ ที่ต้องทำความเข้าใจ โดยเน้นย้ำทุกกระทรวง แต่คมนาคมมากหน่อย และประเด็นเรื่องน้ำ หรือที่เป็นประเด็นหลัก แต่ก็โอเค

ส่วนเหตุผลที่ต้องใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวในนาม ชัชชาติ เพราะถ้าเป็นของกระทรวงคนไม่เชื่อ เพราะคุยกับใครไม่รู้ มีตัวตนหรือเปล่า พอบอกเป็น ชัชชาติ เหมือนคนมาบ่นให้รัฐมนตรีฟัง จึงเป็นเรื่องซีเรียสทำเล่นๆ ไม่ได้ เพราะคนคาดหวัง

“มีอยู่เรื่องหนึ่ง คือ เพื่อนผมเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ อ.แก่งเสี้ยน จ.กาญจนบุรี และมีปัญหาเรื่องมอเตอร์เวย์แล่นผ่านบ้านเขา เขาจึงมาโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า เฮ้ย! ชัชชาติ มอเตอร์เวย์ที่จะผ่านเมืองกาญจน์ 3-4 เส้น ผ่านหมู่บ้านเราหรือเปล่า ช่วยอธิบายหน่อยสิ ซึ่งตอนนั้นเพิ่งมีเฟซบุ๊กใหม่ๆ ไม่ได้เข้าไปอ่าน และเขาบ่นในห้องเฟซบุ๊ก เฮ้ย! สร้างภาพ ถามแล้วไม่ตอบ ไม่สนใจประชาชน ผมก็ไม่เห็นอีก เพราะเฟซบุ๊กผมไม่ได้เล่น กระทั่งไม่กี่อาทิตย์ต่อมาเขาถูกรถชนเสียชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องแรงมาก”

“ตอนเขาเสียชีวิต เราก็ไม่เห็นเฟซบุ๊ก เพื่อนมาบอกว่าเขาเขียนไว้ก่อนตาย ไปตอบเขาหรือยัง ถือว่าแรง เพราะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เนื่องจากคาดหวังกับคำตอบ ดังนั้นเป็นอุทาหรณ์ว่าเฟซบุ๊กดูเหมือนเล่นๆ แต่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะถ้าเขาเสียเวลาพิมพ์มาถึงผมได้ เขาก็เสียเวลา ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาพิมพ์ สุดท้ายผมต้องไปชี้แจงที่งานศพ จึงเป็นเรื่องเตือนใจ ถือเป็นเรื่องใหญ่”

ชัชชาติ ยอมรับว่า เฟซบุ๊กมีฟีดแบ็กกลับมาว่าประชาชนรู้เยอะ เช่น ไปตรวจรถเมล์ 1 สาย ไป 1 วัน ได้ 1 สาย ถ้าไปอย่างนี้ได้แค่นี้ เมื่อเอาลงเฟซบุ๊กจะมีคนมาช่วยตรวจอีก 100 สาย ซึ่งดูแล้วเป็นพาวเวอร์ฟูล มีพลัง แต่บางคนอาจมองว่าเป็นการสร้างภาพ แต่เฉยๆ แม้ก่อนหน้านี้ก็ทำ แต่ไม่มีเฟซบุ๊ก คนเลยไม่รับรู้ พอมีก็เล่าให้ฟังว่าไปทำอะไร การทำเฟซบุ๊กไม่ใช่สนุกหรือสร้างภาพไปเฉยๆ ต้องมีออกผลมาเป็นรูปธรรมตามสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องหรือให้คอมเมนต์มา

ชัชชาติ บอกด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ยากที่สุดไม่ใช่การทำเฟซบุ๊ก แต่เป็นเรื่องการเอาความเห็นไปปรับปรุง เพราะมีเป็นร้อยๆ พันๆ เรื่อง เลยต้องใช้ทีมงานเอาข้อมูลที่ได้รับมากรอง เช่น รถเมล์ มีคอมเมนต์ประมาณ 1,600-1,700 พูดเรื่องอะไรบ้าง จะนำมาขึ้นตารางไว้ จากนั้นต้องไปไล่ว่าทำได้หรือไม่ โพสต์ทุกครั้งจะมีคอมเมนต์กลับมา ไม่เช่นนั้นแล้วเฟซบุ๊กไร้ความหมาย เล่าเรื่องอย่างเดียว เป็นวันเวย์ แต่ที่ต้องการคือ ทูเวย์ ประชาชนว่ายังไง แม้กระทั่งด่ายังไงก็ต้องฟัง

“เวลาลงพื้นที่ เช่น นั่งรถเมล์ รถไฟ จะมีทีมงานไปบันทึกประมาณ 1-2 คน เพื่อเก็บภาพลงเฟซบุ๊ก ส่วนเนื้อหาจะเขียนเองและส่งให้ทีมงานดูว่าเป็นยังไงก่อนลง เพราะบางทีไม่ได้อ่านทุกคอมเมนต์ หากโพสต์ข้อความไม่สอดคล้องกับคอมเมนต์มันก็แปลก ดังนั้นทีมงานจะมาไล่อ่านแล้วเอาไปประมวล แบ่งปัญหาสรุปมา แต่ไม่ได้ตอบรายบุคคล จะรวมเป็นเอกสารขึ้นโพสต์ให้คนเปิดอ่านว่าเรื่องที่ร้องเรียนมาอยู่ตรงไหน”

“ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับส่วนตัวตอบเอง แต่ถ้าเป็นเรื่องเทคนิค จะให้ฝ่ายเทคนิคตอบ เพราะไม่รู้เรื่องเทคนิค เช่น รถเมล์สายนี้วิ่งหยุดแค่นี้ ทำไมไม่วิ่งต่อ โดยมีทีมงานจดไว้ให้ แล้วให้หน่วยงานนั้นมาอธิบายว่าทำไม เพราะอะไร จะมีโครงการหรือไม่ ถ้าไม่มีก็บอกว่าไม่มี คือ ต้องมี 1-2-3 คืออธิบายให้เขาทราบอย่างชัดแจ้ง”ชัชชาติ เล่าเบื้องหลัง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความในใจ รมต.โหนรถเมล์

view