สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ม็อบเกษตรเขย่ารัฐบาล จาก ข้าว สู่ ยาง ต่อไปคือ...?

ม็อบเกษตรเขย่ารัฐบาล จาก "ข้าว" สู่ "ยาง" ต่อไปคือ...?

จากประชาชาติธุรกิจ

และแล้ววงเจรจาแก้ปัญหาราคายางพารา ที่ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแกนนำชาวสวนยาง 4 ภาค เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ก็ยังไม่ได้ผลสรุปที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

วง เจรจาระหว่าง "รัฐบาล-เกษตรกร" ที่ฝ่ายแรกนำโดย "ยุคล ลิ้มแหลมทอง" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับฝ่ายตัวแทนชาวสวนยาง นำโดยแกนนำ 2 กลุ่มหลัก นายเทอดศักดิ์ เสริมศรี ประธานคณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย

เป็นวงเจรจาที่ "ยุคล" ถูกกำชับให้ต่อรองกับชาวสวนยาง เพื่อไม่ให้รัฐบาลถูกบีบให้กลับไปใช้มาตรการ "ประกันรายได้" ที่เป็นสูตรสำเร็จของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และห้ามมิให้ประกาศรับซื้อยางในราคาสูงกว่าตลาด

ภายหลังใช้เวลาถก ปัญหากว่า 5 ชั่วโมง ผลลัพธ์ในวันนั้นเป็นเพียง "ความเห็น" ที่จะต้องโยนกลับให้เป็นหน้าที่การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) อีกครั้งหนึ่ง

หากเพียงเป็นการต่ออายุ-ยืดระยะให้รัฐบาลมี เวลาหายใจอีก 15 วันตามข้อตกลง เพื่อขยับเงื่อนไขการช่วยเหลือให้ครอบคลุมตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับชาวสวนยาง

เงื่อนไข ที่ชาวสวนยางร้องขอ ประกอบด้วย การยกเลิกหมายจับ-คดีความของกลุ่มชาวสวนยางที่ชุมนุมปิดถนน บริเวณอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

การขยายเกณฑ์การช่วยเหลือ เกษตรกร ด้านปัจจัยการผลิตที่จ่ายเงินถึงบัญชีเกษตรกรโดยตรงในอัตรา 1,260 บาทต่อไร่ จากเดิมกำหนดในอัตราไร่ละไม่เกิน 10 ไร่ต่อคนต่อปีเป็น 25 ไร่ต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นวงเงินที่เกษตรกรต่อคนจะได้รับประมาณ 31,500 บาทต่อคนต่อปี

เหตุที่เสนอให้ขยายขอบเขตการช่วยเหลือเป็น 25 ไร่ เพราะชาวสวนยางคำนวณกำไร-ขาดทุน ขอบเขตดังกล่าวถือว่าใกล้เคียงข้อต่อรองให้รัฐบาลเดินหน้าประกันราคายางที่ กิโลกรัมละ 92 บาท และจะทำให้ชาวสวนยางได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจากเดิม 728,685 คน (กรณีไม่เกิน 10 ไร่) เป็น 950,374 คน (กรณีไม่เกิน 25 ไร่)

ทั้ง นี้เมื่อคำนวณจากฐานข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรที่ระบุว่า พื้นที่ 1 ไร่สามารถผลิตน้ำยางได้เฉลี่ย 200-220 กิโลกรัม ดังนั้นการจ่ายเงินอุดหนุนที่ 1,260 บาทต่อไร่ ยิ่งเท่ากับว่าภาครัฐได้เตรียมจ่าย "เงินสด" ที่ไม่ต้องการใบเสร็จหรือคำยืนยันว่าซื้อปัจจัยการผลิตจริงแก่ชาวสวนยางที่ 5.7-6.3 บาทต่อกิโลกรัมเป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะครอบคลุมถึงเพียงแค่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน และถือเอกสารสิทธิที่ดินถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

ส่วน กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกสวนยางแบบผิดกฎหมาย-บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ ที่คาดว่ามีปริมาณกว่า 1 ล้านคน ยังต้องเจรจาหาทางออกกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียก่อน

ด้วย เหตุนี้ในวงเจรจาจึงไม่มีใครกล้าการันตีได้ว่า "ม็อบสวนยาง" ที่จะเริ่มชุมนุมในวันที่ 3 กันยายนนี้จะไม่เกิดขึ้น มีเพียงคำยืนยันจากทั้งฟากรัฐบาลและกลุ่มตัวแทนชาวสวนยาง 4 ภาค ว่าจะเจรจากับทุกกลุ่มให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

แม้ในวันเดียวกัน "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" จะระดมสมองหาทางแก้ปัญหาตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อวางแผน "ระยะยาว" ในการแก้ปัญหาล่วงหน้าไปแล้ว ผ่านวงประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ที่มี "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังเป็นประธาน

ปรากฏ เป็นแนวทางการแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนในวงเงิน 20,000 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาประกอบด้วย การจัดสรรวงเงิน 5,000 ล้านบาทให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้แก่สถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางเบื้องต้น และสนับสนุนเงินกู้ให้กับ ผู้ประกอบการ 15,000 ล้านบาทผ่านธนาคารออมสิน เพื่อสนับสนุนการขยายกำลังการผลิตและปรับเปลี่ยนเครื่องจักร

นอกจาก นั้นยังเห็นชอบให้นำเงินสงเคราะห์ที่เก็บจากผู้ส่งออกยาง หรือค่าเซส (Cess) ที่มีอยู่ 10,000 ล้านบาท มาเป็นงบฯสนับสนุนในการโค่นต้นยางที่มีอายุมากกว่า 25 ปี และหามาตรการจูงใจให้เกษตรหันไปปลูกพืชพลังงาน อาทิ ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

เป็น มาตรการที่ต้องใช้วงเงินถึง 35,000 ล้านบาท แต่กลุ่มชาวสวนยางยังไม่มีใครแสดงความมั่นใจว่า "แผนระยะยาว" ที่รัฐบาลกำหนดไว้จะสามารถแก้ปัญหาราคายางพาราได้อย่างแท้จริง

แม้ มาตรการระยะสั้น-ยาวที่ถูกกลั่นออกจากวงประชุมของ "ยุคล" และ "กิตติรัตน์" อาจทำให้กลุ่มมวลชนบางส่วนถอยกลับไปตั้งหลัก เพื่อเฝ้ารอผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่าจะเป็นไปตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างหรือไม่

ขณะที่ "ม็อบสวนยาง" บางส่วนยังคงประกาศดำเนินการตามยุทธศาสตร์ "ปิดประเทศ" ผ่านแผนขับเคลื่อนมวลชน 3+1
ทั้ง วางกำลังชาวสวนปิดถนน 3 เส้นทางหลัก ที่มุ่งหน้าสู่เหนือ ใต้ และอีสาน ประกอบด้วย การปักหลักชุมนุมที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

ขณะที่กลุ่มชาวสวนโซนภาคตะวันออกและกลาง ถูกมอบหมายให้เคลื่อนพลเข้าสู่ศูนย์กลางบริหาร ทำเนียบรัฐบาล โดยเบื้องต้นประมาณกำลังคนสูงสุดไว้ที่ 12,000 คน โดยภาพรวมตามแผน 3+1 หากระดมคนได้ตามเป้า คาดว่าจะมีชาวสวนยางร่วมชุมนุมทั่วประเทศในจำนวนหลักแสน 

เมื่อข้อ เสนอ-ทางออกที่ถูกประกาศผ่านตัวแทนของรัฐบาล ยังไม่เป็นที่พอใจกับชาวสวนยาง จึงไม่แปลกที่ฝ่ายบริหาร ยังคงออกอาการตุ้ม ๆ ต่อม ๆ เพราะหวั่นเกิดเหตุซ้ำรอย "ม็อบชาวนา" ที่เพิ่งผ่านพ้นช่วงความขัดแย้งไปได้ไม่นาน

ย้อนกลับไปเมื่อช่วง เดือนมิถุนายน 2556 ภายหลังคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติปรับลดราคารับจำนำข้าวที่ตันละ 12,000 บาท จากเดิมตันละ 15,000 บาท หลังจากพบว่ามาตรการดังกล่าวสร้างภาระขาดทุนให้กับรัฐบาลจำนวนมาก เป็นเหตุให้กลุ่มชาวนาแสดงความไม่พอใจ และประกาศชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้กลับมารับจำนำในราคา 15,000 บาทต่อตันดังเดิมและการตัดสินใจของ กขช.ยังไม่ทันผ่านพ้นข้ามคืนข้ามวัน "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ก็พลิกมติกลับมารับจำนำข้าวที่ตันละ 15,000 บาทเหมือนเดิม

โดยเหตุที่พลิกกลับมาใช้มาตรการเดิมแบบสายฟ้าแลบ เป็นเพราะเกรงว่าพลังจาก "ม็อบชาวนา" อาจสร้างความกดดันเขย่ารัฐบาลในช่วงเวลาที่กำลังเผชิญสภาวะ "ขาลง" อย่างเห็นได้ชัดทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญภาวะ "บาทแข็ง" ที่ยังไม่สามารถแกะปมออกได้ ทั้งปัญหาการเมืองที่ช่วงเวลานั้นทั้งองคาพยพของพรรคเพื่อไทยประกาศให้เริ่ม เดินหน้า "ปรองดอง" ผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เฉกเช่นเดียวกันกับเวลานี้ที่ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" และพรรคเพื่อไทยยังคงเผชิญปัญหาการเมืองไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะศึกในสภาที่ยังจ่อคิวแน่นขนัด ผ่านร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับ ทั้งวาระแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา วาระกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และวาระนิรโทษกรรม ฉะนั้นการปล่อยเวลาให้ "ม็อบเกษตรกร" ชุมนุมยืดเยื้อ จึงไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมเสถียรภาพของรัฐบาล

ยิ่ง ไปกว่านั้น สาเหตุการชุมนุมครั้งนี้ยังมีแกนนำบางส่วนเปิดเผยว่า เป็นเพราะความไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาลที่อาจเรียกว่า "2 มาตรฐาน" เปรียบเทียบการแก้ปัญหาเรื่องข้าวและยางพารา ที่ได้รับการดูแลที่แตกต่างกัน และว่ากันว่าหากแก้ปัญหาผ่านพ้นฤดูกาล "ม็อบสวนยาง" ไปได้ ยังคงมีกลุ่มเกษตรกรในหมวดอื่น ๆ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อย จ่อคิวรอทวงถามความช่วยเหลือจากรัฐบาลเช่นเดียวกัน


หวั่น"ม็อบยาง"ยื้อ! รัฐเมินประกันราคา เหตุสต๊อกท่วมโกดัง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

รัฐบาลระทึก หลังออกมาตรการสนับสนุนปัจจัยการผลิต-งดเก็บเงิน CESS ช่วยเหลือชาวสวนยาง แต่ไม่มีใครกล้าการันตีว่าเกษตรกรจะออกมาปิดถนนทั่วประเทศตามที่ขู่เอาไว้ หรือไม่ เหตุชาวสวนยางหลากหลายกลุ่มมีทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ด้านรัฐบาลยืนกรานสต๊อกยางท่วมโกดัง ยังไงก็รับซื้อเพิ่มเข้าอีกไม่ได้

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานสถานการณ์ข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั่วประเทศขอให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยมีชาวสวนยางพารากลุ่มหนึ่งได้ทำการปิดเส้นทางคมนาคมที่สี่แยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช มาตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม จนกระทั่งถึงปัจจุบันปรากฏว่า รัฐบาลโดยนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงออกมายืนยันไม่ยอมประกันราคารับซื้อยางตามที่เกษตรกรเรียกร้อง แต่จะใช้วิธีจ่ายเป็นเงินสนับสนุนปัจจัยทางการผลิตแทน โดยมีเหตุผลเบื้องหลังอยู่ที่ยางแผ่นในสต๊อกรัฐบาลที่ซื้อมาในราคานำตลาดเหลืออยู่มากกว่า 210,000 ตัน ยังไม่มีหนทางระบายออกไป

ทั้งนี้ แนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำจะประกอบไปด้วย 1) การให้สินเชื่อผู้ประกอบการภาคเอกชนเพื่อปรับปรุง

โรงงานผลิตภัณฑ์ยางพารา วงเงิน 25,000 ล้านบาท 2) การเร่งให้เกษตรกรโค่นต้นยางพาราที่มีอายุเกินกว่า 25 ปี โดยจะได้รับเงินชดเชยจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)ไร่ละ 18,000 บาท และ 3) การจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือปัจจัยการผลิตให้ชาวสวนยางเฉลี่ยไร่ละ 1,260 ล้านบาท และเมื่อคำนวณกลับมาเป็นตัวเงินช่วยเหลือราคายางให้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น กก.ละ 81 บาท หรือเฉลี่ย 5 บาท/กก.

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (บอร์ด สกย.) ได้มีมติงดเก็บเงินสงเคราะห์การปลูกยาง หรือเงินเซส (CESS) เป็นระยะเวลา 4 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2556 คิดเป็นเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลาการ "งด" เก็บเงินครั้งนี้ คำนวณจากเงินในกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางที่เหลืออยู่มีเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไปได้ระหว่าง 5-6 เดือน

"การให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางด้วยการสนับสนุนปัจจัยการผลิต กับการยกเลิกเงิน CESS ทั้ง 2 วิธีนี้ เมื่อคำนวณแล้วเงินจะไหลกลับเข้ากระเป๋าเกษตรกรประมาณ 7 บาท/ก.ก. (เงินสนับสนุนปัจจัยประมาณ 5 บาท/ก.ก.-เงิน CESS ประมาณ 2 บาท/กก.) และส่งผลให้เกษตรกรได้รับเงินเพิ่มเทียบเป็นราคายางอยู่ที่ ก.ก.ละ 84 บาท" นายยุคลกล่าว

สำหรับความคืบหน้าในการจ่ายเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับชาวสวนยางนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรกำลังดำเนินการเตรียมการขึ้นทะเบียนเกษตรกร หลังจากเสนอ ครม.ในวันที่ 3 กันยายนนี้ ล่าสุดได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมการขึ้นทะเบียน และประกาศไปยังเกษตรกรให้มาแสดงความจำนงขึ้นทะเบียนตามที่เจ้าหน้าที่นัด และได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯทำหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีการปลูกยาง ให้ประกาศจัดตั้งคณะกรรมการระดับตำบลเป็นผู้ตรวจสอบพื้นที่ทุกแปลง ซึ่งคณะกรรมการระดับตำบลจะประกอบด้วย ปลัด อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรตำบล โดยพื้นที่ปลูกยางในป่าจะต้องมีการแสดงเอกสารสิทธิที่ได้รับการอนุญาตจากกรมป่าไม้ ส่วนเกษตรกรที่ปลูกยางในเขตป่าสงวนจะพิจารณาเป็นกรณีไป

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามไปยังกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มทั่วประเทศในขณะนี้ ถึงมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนปัจจัยการผลิตและการงดเก็บเงิน CESS โดยรัฐบาลไม่ยอมที่จะออกมารับซื้อยางพาราในราคาประกัน (90-120 บาท/กก.) ตามที่ชาวสวนยางเรียกร้อง ปรากฏชาวสวนยางมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่งผลให้ไม่มีใครรับประกันได้ว่า ในวันที่ 3 กันยายนที่จะถึงนี้ จะมีการปิดเส้นทางคมนาคมทั่วประเทศตามที่ชาวสวนยาง "ขู่" ไว้หรือไม่ 

นายเพิก เลิศวังพง ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เชื่อว่า ในวันที่ 3 กันยายนนี้ยังจะมีการชุมนุมเคลื่อนไหวของม็อบชาวสวนยางอยู่ เพราะในการเจรจาระหว่างตัวแทนเครือข่ายเกษตรกร 4 ภาค มีทั้งตัวแทนที่ยอมรับและไม่ยอมรับแนวทางของเกษตรกร แต่กลุ่มของตนจะไม่เข้าร่วม เพราะไม่เห็นด้วยกับการให้รัฐบาลมารับซื้อยางในราคานำตลาด หรือประกันราคายางตั้งต้น

นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมชาวสวนยาง จ.กระบี่ กล่าวว่า ยอมรับแนวทางช่วยเหลือที่รัฐบาลเสนอจะจ่ายเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,260 บาท เพราะเมื่อคำนวณแล้วเกษตรกรได้ผลประโยชน์ดีกว่าการประกันรายได้หรือการให้รัฐบาลรับซื้อในราคานำตลาดแบบเดิม อีกทั้งวิธีการช่วยเหลือยังง่ายกว่า ไม่มีเงื่อนไขยุ่งยากเหมือนโครงการรับซื้อ เป็นการจ่ายให้เกษตรกรโดยตรงและทั่วถึง 

นายเทอดศักดิ์ เสริมศรี ประธานคณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่พอใจแนวทางของรัฐบาล แต่เหตุผลที่ยอมรับเพราะเห็นว่ามีทางเป็นไปได้ การช่วยเหลือต้นทุนการผลิตยาง 25 ไร่ ในอัตรา 31,500 บาทโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นแนวทางที่ดี ถ้าราคายางสูงขึ้นถึง ก.ก.ละ 80 บาท เมื่อบวกกับที่รัฐบาลช่วยเหลือแล้วเกษตรกรจะได้เงินเกิน กก.ละ 92 บาท


'วราเทพ'ยันรัฐไม่เลือกปฏิบัติอุ้มยาง

จาก โพสต์ทูเดย์

วรเทพ'ล่องใต้ยืนยันรัฐบาลไม่ได้เลือกปฏิบัติแทรกแซงยาง ด้านผู้ว่าฯสุราษฎร์ถกผู้นำท้องถิ่นรับมือม็อบยางปิดถนน 3 ก.ย.นี้

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างลงพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานีว่า การชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางที่มีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 ก.ย.นี้ที่สหกรณ์สุราษฎร์ธานี (โคออป) จำกัด อ.พุนพิน คาดว่า หลังจากนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์  ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีการเสนอมาตรการผ่านคณะกรรมการนโยบาย ยางแห่งชาติ(กนย.)มาแล้ว ทาง คณะรัฐมนตรี (ครม.)จะพิจารณาอนุมัติตามนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักเกณฑ์ที่ได้ขออนุมัติผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง ครม.ไปช่วยที่จะช่วยเหลือผู้ปลูกยางในเรื่องค่าใช้จ่ายไร่ละ 1,260 บาท และมีมาตรการเพิ่มขึ้นจากการประชุมเมื่อวันที่ 30 ส.ค.56 เป็นเรื่องการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนเซสในราคากิโลกรัมละ 2 บาทเป็นระยะเวลา 4 เดือน คงจะช่วยให้การเรียกร้องของเกษตรกรผู้ปลูกยางได้เบาใจ อย่างไรคงต้องมีการหารือกันต่อ

นายวราเทพ กล่าวว่า อยากจะฝากว่ารัฐบาลไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติในการช่วยเกษตรกรแตกต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นพืชใดก็ตาม มีข้อครหาว่าทำไมรัฐบาลใช้เงินไปทุ่มเทช่วยในเรื่องข้าวจำนวนหลายแสนล้าน ทำไมเรื่องของยางจึงช่วยไม่ได้ อยากจะเรียนว่ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอาจจะมีมาตรแตกต่างกัน ถ้าจะนำเรื่องเงินมาวัดจำนวนว่าเงินต้องเท่ากันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะขั้นตอนของการดูแลระบบไม่ว่าจะยางหรือข้าวแตกต่างกัน จำนวนรายได้ของครัวเรือน หรือระยะเวลาการเก็บเกี่ยวในพืชแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน

“เราพยายามอธิบายเหตุผลข้อมูลมากกว่าความรู้สึกไม่อยากให้เป็นเรื่อง พยายามแบ่งแยกความรู้สึกว่าภาคนั้นภาคนี้ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งถึงแม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากภาคใดมากหรือน้อยก็ ตามไม่เป็นเงื่อนไขการช่วยเหลือ เพราะการช่วยเหลือต้องอยู่บนฐานความเป็นธรรมเท่าเทียมกัน มาตรการที่ออกมาอาจจะยังไม่พอใจชาวสวนยางอยู่บ้าง แต่ว่าหากมีการพูดคุยกันมีการรับฟังข้อคิดมากกว่าอารมณ์ความรู้สึกหรือการ เมืองก็คิดว่าจะแก้ไขได้ และการชุมนุมใหญ่วันที่ 3 กันยายนนี้ไม่อยากมองว่ามีเบื้องหลัง แต่มองว่าเป็นความเรียกร้องของเกษตรกรจริงๆ ” นายวราเทพ กล่าว 

วันเดียวกัน นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผวจ.สุราษฎร์ธานี เชิญนายอำเภอ , สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและผู้นำท้องถิ่น ในพื้นที่ปลูกยางพารามาก ประมาณ 50 คน เช่น อ.บ้านตาขุน , พนม , เคียนซา ,   ไชยา , ท่าชนะและ อ.กาญจนดิษฐ์  เป็นต้น มาร่วมหารือและรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัด โดยเชิญนายวุฒิ สิทธิสุราษฎร์ อดีตรอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาร่วมรับฟังด้วย

นายสถาพร กล่อมเจริญ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ส.อบจ.)เขต อ.บ้านตาขุน กล่าวว่า การที่เกษตรกรชาวสวนยางต้องออกมาเคลื่อนไหว เนื่องจากไม่เคยทราบว่าราคายางในตลาดโลกที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะรัฐบาลมักอ้างอิงราคาตลาดโลกและเศรษฐกิจโลกตกต่ำมาตลอด แต่ไม่เคยบอกว่าราคามีเท่าไหร่และไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะจริงใจให้ความช่วย เหลือในการแก้ไขปัญหา

นายภิญโญ นุรักษ์ สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ต.ช้างซ้าย อ.กาญจนดิษฐ์ กล่าวว่า ยืนยันเกษตรชาวสวนยางจะอยู่ได้ที่ราคายางกิโลกรัมละ 85-90 บาท หากราคาต่ำกว่านี้ชาวสวนยางจะเดือดร้อนมาก เพราะราคาสินค้าขึ้นไปมาก

นายวุฒิ สิทธิสุราษฎร์ อดีต รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ราคายางในตลาดโลกสามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซด์อินเตอร์เน็ตต่างๆ จะแสดงราคารับซื้อขายทั้งในตลาดญี่ปุ่นและประเทศต่างๆได้ตลอดเวลาซึ่งไม่มี ใครบิดเบือนได้ และสภาพราคายางพาราในปัจจุบันหากเกษตรที่มีพื้นที่ปลูกยางไม่ต่ำกว่า 25 ไร่จะอยู่ได้ไม่เดือดร้อน แต่เป็นห่วงชาวสวนรายเล็กๆที่อาจลำบากบ้าง

นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผวจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ได้เชิญคนในพื้นที่มาหารือเพื่อต้องการรับฟังข้อมูลความคิดเห็นปัญหาความ ต้องการของเกษตรกรชาวสวนยางก่อนที่จะมีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 กันยายน เพื่อจะได้รวบรวมข้อมูลปัญหาทั้งหมดส่งไปยังรัฐบาลได้รับทราบและมีมาตรการ ความช่วยเหลือได้รวดเร็วและไม่ต้องชุมนุมยืดเยื้อนาน

“การชุมนุมใหญ่ทางจังหวัดไม่ได้ปิดกั้นและพยายามอำนวยความสะดวกในเรื่อง การรักษาความปลอดภัย การจราจรและทั้งห้องสุขาให้พร้อม” นายฉัตรป้อง กล่าว

นอกจากนี้มีรายงานว่า ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ นายคำรณ เทือกสุบรรณ นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ออกหนังสือจะนัดแถลงข่าวพร้อมคณะกรรมการ ถึงการกำหนดท่าทีในการชุมนุมใหญ่ของเกษตรกรชาวสวนยางในวันที่ 3 กันยายนนี้ด้วย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ม็อบเกษตร เขย่ารัฐบาล ข้าว สู่ ยาง ต่อไปคือ

view