สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ใกล้หมดยุคชุมนุมไล่รัฐบาล

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ปกรณ์ พึ่งเนตร



ผ่านไปแล้วสำหรับเวที "ผนึกกำลังสู่อนาคต : เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์" ที่ระดมอดีตผู้นำและผู้เชี่ยวชาญ

ด้านการจัดการความขัดแย้งชื่อดังระดับโลก มาร่วมปาฐกถาและแสดงความคิดเห็น

ประโยชน์ที่สังคมไทยได้รับดูจะเป็นเรื่องเก่าๆ ที่รับรู้กันอยู่แล้ว และผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารน่าจะทราบกันดี (เพราะหลายคนที่เข้าร่วมเวทีไม่ได้เพิ่งมาเมืองไทยเป็นครั้งแรก) ที่สำคัญคือบทสรุปที่ดูเหมือนจะตอกหน้าประเทศเจ้าภาพเองนั่นก็คือ การปรองดองจะเกิดไม่ได้หากคนในชาติยังไม่คิดปรองดอง

ปัญหาของบ้านเรานั้น นอกจากคู่ขัดแย้งและบรรดากองเชียร์จะยังไม่คิดปรองดองแล้ว ยังชิงไหวชิงพริบ ชิงความได้เปรียบทางการเมืองกันอย่างหน้าไม่อายด้วย เชื่อได้เลยว่าเช้าวันนี้ต้องมีสื่อเลือกข้างตัดทอนข้อความของผู้ร่วมเวทีทุกคนเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มพวกตน

เช่น บทปาฐกถาของ โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะถูกฝ่ายหนึ่งชูประเด็นว่า "นายแบลร์บอกว่าแก้รัฐธรรมนูญเป็นแค่เปลือก" และ "ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของคนส่วนใหญ่ที่เข้าไปมีอำนาจ" ขณะที่อีกฝ่ายก็จะชูประเด็นว่า "อดีตผู้นำอังกฤษบอกว่ากระบวนการยุติธรรมต้องปราศจากการแทรกแซงและอคติ" เป็นต้น

จากนั้นก็จะโต้เถียงกันไปมาอีกสักพัก แล้วก็เปลี่ยนหัวข้อไปทะเลาะกันเรื่องอื่นต่อ...

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคู่ขัดแย้งหลักและกองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายยังมีพฤติกรรมเช่นนี้ ขณะที่ประชาชนซึ่งไม่ได้เลือกข้างเลือกฝ่ายรู้สึกเบื่อหน่ายและเอือมระอา

ความเบื่อหน่ายยังลุกลามไปถึงเรื่องการชุมนุมทางการเมืองด้วย เห็นได้จากความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าของม็อบสวนลุมฯที่นำโดย "กองทัพประชาชนล้มระบบทักษิณ" ตามด้วยการพยายามปลุกกระแสการเมืองบนท้องถนนของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

และล่าสุดคือม็อบชาวสวนยางที่ปิดถนนและทางรถไฟมานานข้ามสัปดาห์ที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช แม้จะมีความเคลื่อนไหวคึกคักในช่วงแรกๆ ถึงขนาดนัดชุมนุมปิดถนนทั่วประเทศในวันที่ 3 ก.ย. แต่ล่าสุดก็ออกอาการแผ่ว...
การชุมนุมที่ อ.ชะอวด ถูกตั้งคำถามว่าสร้างเงื่อนไขจนทำให้ประชาชนทั่วไปเดือดร้อนมากเกินไปหรือไม่ ทั้งรถไฟหยุดวิ่ง รถยนต์ต้องไปวิ่งอ้อม

ที่สำคัญต้องยอมรับว่าการชุมนุม จากประเด็นความเดือดร้อนของเกษตรกร แทบไม่เคยล้มรัฐบาลได้ แม้จะมี "การเมือง" ให้ท้ายก็ตาม

ในห้วงที่เหตุการณ์เดือนตุลาฯที่เป็นการแสดงออกของพลังมหาชนและนิสิตนักศึกษาผ่านการชุมนุมทางการเมืองกำลังเวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง คือ 40 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 และ 37 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ผมคิดว่าการชุมนุมเพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกำลังทำยากขึ้นทุกที โอกาสของความสำเร็จดูจะลดน้อยลงเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญมาจากความเบื่อหน่าย และประชาชนทั่วไปเหนื่อยล้ากับความขัดแย้งที่ยังมองไม่เห็นบทจบ ทั้งยังกลัวภาพความยืดเยื้อรุนแรงดังที่เกิดขึ้นในอียิปต์และซีเรียด้วย

ยิ่งพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลชุดนี้มีฐานมาจากมวลชนที่ร่วมชุมนุมทางการเมืองอย่างแข็งกร้าว และยังคงรวมตัวกันเหนียวแน่น จึงดักทางการชุมนุมของกลุ่มอื่นได้หมด ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐบาล (ไม่ใช่ของรัฐ) ก็มีความช่ำชองมากขึ้นเรื่อยๆ (โดยเฉพาะ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร) จนม็อบขยับไม่ได้และฝ่อไปในที่สุด

พื้นที่สร้างความเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงย้ายไปอยู่ใน "โซเชียลมีเดีย" หรือ "สื่อสังคมออนไลน์" ซึ่งมีการส่งข้อมูลกันอย่างกว้างขวาง หลากหลาย รวดเร็ว และลึกกว่าสื่อกระแสหลัก (แต่ไม่รับประกันความถูกต้อง)

ปรากฏการณ์จากการเลือกตั้งใหญ่ที่มาเลเซียและกัมพูชาปรากฏให้เห็นแล้วว่า พลังของโซเชียลมีเดียสั่นคลอนอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลเผด็จการในเสื้อคลุมประชาธิปไตยได้เหมือนกัน...

น่าคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปของประเทศไทยจะมีเซอร์ไพรส์แบบนั้นหรือไม่ แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ พรรคการเมืองคู่แข่งของพรรคเพื่อไทยยังไม่อาจสร้างความหวังให้กับคนไทยที่ยังไม่เลือกข้างได้

มีแต่เกมการเมืองที่น่าเบื่อหน่าย ซึ่งจะยิ่งช่วยให้พรรคเพื่อไทย ครองอำนาจได้ยาวนานขึ้นไปอีก!


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ใกล้หมดยุค ชุมนุมไล่รัฐบาล

view