เสียงของประชาชน
โดย : ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
รูปธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในการแสดงความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยคือการมีเสรีภาพในการเรียกร้องหรือแสดงออก
ถึงความต้องการหรือความคิดเห็นเพื่อการปกป้องผลประโยชน์ของแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มในแง่มุมต่างๆ กัน ภายในขอบเขตตามหลักการและปรัชญาประชาธิปไตย
ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป หลักนิติธรรมหรือกฎหมายจะเป็นเครื่องมือในการยืนยันหลักการ ความหมาย ขอบเขต และแนวปฏิบัติเพื่อให้สังคมรับรู้และทำตาม โดยจะต้องมีกลไกทั้งควบคุมและกำกับให้เป็นไปตามความถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งจะต้องมีมาตรการต่างๆ ในด้านการส่งเสริมและพัฒนาในทางปฏิบัติเพื่อให้เท่าทันกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
การยอมรับและเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ด้วยการนำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาเสรีภาพในการเรียกร้องและการแสดงออกของความต้องการและความคิดเห็นของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่จึงต้องถือว่าเป็นกลยุทธ์ทางการบริหารที่รัฐต้องหันมาเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ เพราะถือว่าเป็นสาระสำคัญเชิงหลักการของทฤษฎีสัญญาประชาคมที่รัฐจะต้องปฏิบัติ
ฝ่ายประชาชนเองก็จะต้องไม่หยุดนิ่งในการเรียนรู้การขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อสร้างสรรค์กลไกและกระบวนการในการส่งเสริมและพัฒนาการสะท้อนเสียงของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยจะต้องคงหลักการมีส่วนร่วมและเคารพและยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นในสังคมด้วยเช่นกัน
สำหรับสังคมไทยจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นหลักการไว้อย่างชัดเจนแล้ว แต่ในแง่การปฏิบัติยังขาดกฎหมายในลำดับรองมารองรับเพื่อให้หลักการที่กำหนดไว้แล้วในรัฐธรรมนูญมีผลในทางปฏิบัติที่ชัดเจนด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเหลียวหลังไปมองอดีตจนมาถึงสถานการณ์ปัจจุบันของสังคมไทยที่มีการเรียกร้องความต้องการและแสดงความคิดเห็นกันมากขึ้น แม้จะได้มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง แต่ก็เห็นว่ายังอยู่ในระยะของการเปลี่ยนผ่านไปสู่วิธีการที่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย
กล่าวอีกนัยหนึ่งถือว่าพัฒนาการในการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการเรียกร้องและแสดงออกถึงความต้องการของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลตามระบอบประชาธิปไตยเป็นไปอย่างเชื่องช้าและกลัวๆ กล้าๆ เนื่องด้วยเพราะขาดมาตรการในทางปฏิบัติที่ชัดเจน จึงเป็นผลให้หลักการตามรัฐธรรมนูญไม่มีผลในทางปฏิบัติที่สมบูรณ์
มองในแง่หลักนิติธรรมของเรื่องนี้เมื่อขาดกฎหมายลำดับรองที่ชัดเจน ประชาชนผู้ใช้เสรีภาพและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจึงต่างสุ่มเสี่ยงที่จะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดและต้องโทษทางอาญาแบบคลุมเครือ โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ต้องควบคุมและกำกับดูแลความสงบเรียบร้อยไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสม เสมือนถูกบังคับให้ต้องใช้กฎหมายที่มีมาตรการแรงกว่าที่ควรเป็นแนวทางในการทำงาน ส่วนประชาชนเมื่อไม่มีกฎหมายหรือมาตรการในทางส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เสรีภาพจึงต้องใช้วิธีการกดดันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองจนอาจสร้างความเดือดร้อน ความสูญเสีย และความเสียหายที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ง่าย
ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ส่งผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมในสังคมไทยเพราะหัวใจสำคัญของหลักการเหล่านี้คือการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งจะต้องมีเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นเป็นแกนกลางเพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ และเพื่อให้เกิดกลไกและกระบวนการในการควบคุมและกำกับดูแล
ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เมื่อยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นหัวใจจึงต้องมีการบริหารสังคมและกฎหมายเพื่อให้เสียงของประชาชนได้รับฟังและสะท้อนความต้องการได้อย่างหลากหลาย เท่าเทียมและเสมอภาค มิติของเรื่องนี้จึงควรเน้นไปที่การส่งเสริมและคุ้มครองมากกว่าการปราบปรามเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านของสังคมเกิดกระบวนการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการพัฒนาประชาธิปไตยโดยมีหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนเป็นเสาหลักค้ำยัน
กฎหมายที่มีเนื้อหาในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนถือว่าเป็นกลไกที่สำคัญในช่วงเวลานี้ แต่สำหรับปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นจึงควรบริหารการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่โดยตระหนักถึงพื้นฐานหลักสิทธิมนุษยชนจะทำให้ผ่านพ้นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ไม่ก่อให้เกิดการชะงักงันของพัฒนาการประชาธิปไตย
นวัตกรรมสังคมและกฎหมายเพื่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเป็นกลไกสำคัญของยุคนี้
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน