ไขปริศนา "เงินกองทุน" กับ "สถาบันการเงิน"
โดย : ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ช่วงนี้ กระแสความคิดเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นกฎเกณฑ์ทางการเงินของสถาบันการเงินในยุโรปและสหรัฐได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ
โดยเฉพาะระหว่างผู้ออกกฎเกณฑ์ทางการเงินกับบรรดานายแบงก์ทั้งหลายบทความนี้ จะขอนำเสนอข้อโต้แย้งในประเด็นหลักๆ 3 ข้อ ดังนี้
เริ่มจาก ประเด็นแรก ซึ่งถกเถียงกันว่า "การเพิ่มระดับเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงนั้น จะส่งผลเสียต่อผู้ถือหุ้นของธนาคาร เนื่องจากจะไปลดอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ return on equity (ROE)" นั้นว่าแท้จริงแล้วจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่
คำตอบคือ การประเมินดังกล่าวถือว่าไม่ถูกต้องนัก จริงอยู่ที่ว่าการเพิ่มเงินกองทุนจะทำให้อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE ลดลง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดี ทว่าในทางกลับกัน หากเศรษฐกิจซบเซา การเพิ่มเงินกองทุนนั้นก็จะทำให้ ROE เพิ่มขึ้นเช่นกัน ด้วยการไปลดระดับความเสี่ยงของแบงก์ลง
ทั้งนี้ การประเมินประสิทธิภาพสถาบันการเงินโดยการใช้ ROE นั้น มีจุดอ่อนตรงที่มิได้คำนึงถึงขนาดและความเสี่ยงของสถาบันการเงิน ที่สำคัญ การใช้ตัววัดดังกล่าวยังพบว่ามีปัญหา หากนำแบงก์ที่มีโครงสร้างเงินกองทุนที่แตกต่างกันมาเปรียบเทียบกัน ด้วยเหตุนี้ การยึด ROE เป็นสรณะ ย่อมนำมาซึ่งความสับสนในการประเมินผลของการดำรงเงินกองทุนและมูลค่าของผู้ถือหุ้น
จากรูปที่ 1 หากพิจารณาผลกระทบสำหรับการเพิ่มขึ้นของเงินกองทุนจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 20 ต่อ ROE จะพบว่า ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ โดยความสัมพันธ์เป็นแบบเส้นตรง ซึ่งหากเส้นตรงดังกล่าวยิ่งมีความชันมากขึ้นเท่าไร นั่นหมายความว่ามีส่วนของทุนคิดเป็นสัดส่วนต่อสินทรัพย์ที่น้อยลงเท่านั้น จากรูป พบว่าเส้นที่ชันมากกว่า จะมีส่วนของทุนอยู่ที่ร้อยละ 10 ของสินทรัพย์ ส่วนเส้นที่ชันน้อยกว่า จะมีส่วนของทุนอยู่ที่ร้อยละ 20 ของสินทรัพย์ โดยเส้นทั้งสองตัดกันตรงที่ ROE เท่ากับอัตราดอกเบี้ยหลังหักภาษีของหนี้สิน (ในที่นี้เท่ากับร้อยละ 5)
โดยหากอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์มีค่าสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของหนี้สินซึ่งเท่ากับร้อยละ 5 ค่า ROE จะยิ่งมีค่าน้อยหากปริมาณเงินทุนยิ่งมีมาก ทว่าหากอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์มีค่าต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของหนี้สินซึ่งเท่ากับร้อยละ 5 ค่า ROE จะยิ่งสูงหากปริมาณเงินทุนยิ่งมีมาก ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากในกรณีหลัง การที่อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์จะมีค่าน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยของหนี้สิน ส่งผลให้การที่มีปริมาณเงินกองทุนสูงขึ้นจะช่วยเพิ่มการปกป้องความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้น และช่วยลดความเสี่ยงของแบงก์
อาจสรุปได้ว่า หนึ่ง สำหรับโครงสร้างเงินทุนหนึ่งๆ ROE สามารถที่จะสะท้อนผลกำไรจากสินทรัพย์ของธนาคารได้ อย่างไรก็ดี สำหรับแบงก์ที่มีโครงสร้างเงินทุนที่แตกต่างกัน มาตรวัด ROE อาจไม่สามารถใช้เป็นตัววัดในการเปรียบเทียบผลกำไรแบงก์ในกลุ่มดังกล่าวได้ สอง แม้การดำรงเงินกองทุนที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ ROE ของแบงก์ลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง ทว่าจะไปเพิ่ม ROE ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจซบเซาเป็นการชดเชย
สอง หลายคนอาจสงสัยว่า การที่แบงก์จะไปออกหุ้นใหม่เพื่อจะนำไปซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทอื่น ซึ่งเท่ากับว่าไปเป็นตัวกลางถือครองหลักทรัพย์ในเศรษฐกิจจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ดังรูปที่ 2 ด้านซ้ายมือที่บริษัท F ถือครองผ่านนักลงทุนโดยตรง ส่วนด้านขวามือ นักลงทุนถือหุ้นดังกล่าวผ่านแบงก์
แม้ว่าเมื่อมองโดยผิวเผิน ดูเหมือนว่าการเข้าไปถือหุ้นของบริษัท F ผ่านแบงก์หรือไม่นั้น จะไม่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนของสินทรัพย์ รวมถึงไม่มีผลต่อการกระจายของทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากท้ายที่สุดแล้ว นักลงทุนทั้งหลายก็ยังสามารถลงทุนด้วยทางเลือกการลงทุนที่ไม่ต่างจากเดิม
ทว่าแท้จริงแล้ว รูปแบบทั้งสองของการลงทุนบริษัท F นั้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจแตกต่างกันประการแรก รูปทางด้านขวามือ ที่บริษัท F ได้รับการถือหุ้นผ่านแบงก์ ทำให้เส้นทางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความยาวมากขึ้น ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Transaction Costs) ที่สูงขึ้น ประการที่สอง รูปด้านขวามือที่แบงก์ต้องถือเงินกองทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถาบันการเงินดังกล่าว สามารถทนทานต่อผลกระทบของวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า เนื่องจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว จะไปตกกับผู้ถือหุ้นที่มิใช่เจ้าหนี้ ทำให้รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือให้สิ้นเปลืองภาษีประชาชน โดยในระหว่างเดือนมกราคม 2008 ถึงเดือนสิงหาคม 2010 บรรดาแบงก์สหรัฐถือพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐไว้ราว 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 20 ของสินทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารในสหรัฐไว้เป็นเงินกองทุน สิ่งนี้ มีส่วนช่วยทำให้แบงก์สหรัฐรอดจากวิกฤตซับไพร์มมาได้แบบไม่ยากเย็นนัก
ท้ายสุด หลายท่านอาจคิดว่าปัจจัยที่ทำให้หุ้นของแบงก์มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยหากยิ่งสูง ก็จะทำให้ราคาหุ้นแบงก์นั้นสูงขึ้น ทว่าในความเป็นจริงแล้ว จากรูปที่ 3 จะพบว่าดัชนีที่มีความสัมพันธ์กับราคาหุ้นของแบงก์ต่างๆ ได้แก่ อัตราส่วนหนี้ต่อสินทรัพย์ (Leverage) ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากมีหนี้มากเท่าไร ราคาหุ้นแบงก์ดังกล่าวก็จะต่ำลงมากเท่านั้น
โดยสรุป การพิจารณาหรือวิเคราะห์หุ้นแบงก์ให้ละเอียดและถูกต้องนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่หลายท่านคิดนะครับ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน