ดัชนีชี้วัดการปกครองตามหลักนิติธรรมในประเทศอาเซียน
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
The World Justice Project เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี และเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา
มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมแห่งการมีโอกาส และเท่าเทียมกันโดยการขยายการปกครองด้วยหลักนิติธรรมให้กว้างขวางทั่วโลก ด้วยเห็นว่าการปกครองด้วยหลักนิติธรรม จะช่วยประชาชน และสังคมให้ประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้า จะช่วยลดการคอร์รัปชัน ช่วยให้สาธารณสุขดีขึ้น ขยายการศึกษา ช่วยประชาชนให้พ้นจากความยากจน ปกป้องพวกเขาจากความอยุติธรรมและภยันตรายทั้งปวง จะก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีรัฐบาลที่รับผิดชอบตรวจสอบได้ และเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน
The World Justice Project ได้จัดทำดัชนีชี้วัดการปกครองตามหลักนิติธรรมประจำปีออกเผยแพร่มาแล้ว 2 ฉบับ ฉบับล่าสุดอันเป็นฉบับที่ 3 เป็นฉบับประจำปี 2555-2556 มีประเทศที่สำรวจตรวจสอบให้คะแนนเพื่อการจัดทำดัชนี รวม 97 ประเทศ ใช้ตัวชี้วัดทั้งหมด 48 ข้อเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ประกอบด้วยมิติทางกรอบความคิดประมาณ 9 มิติ คือ อำนาจของรัฐบาลมีขีดจำกัด ไม่มีคอร์รัปชัน ความสงบเรียบร้อย สิทธิขั้นพื้นฐาน รัฐบาลที่เปิดกว้าง การบังคับใช้กฎหมาย ความยุติธรรมทางแพ่ง ความยุติธรรมทางอาญา และความยุติธรรมกด้านอื่นๆ นอกจากทางแพ่งและอาญา การให้คะแนนและการจัดอันดับ วิเคราะห์จากข้อมูลจากแหล่งข้อมูลสองแหล่ง คือแหล่งข้อมูลที่มีความอิสระโดย The World Justice Project ในแต่ละประเทศ และการทำโพล General Population Poll และโดยการตอบคำถามที่มีคุณภาพตามคำถามที่ทันสมัย จากประชาชน 97,000 คนและผู้เชี่ยวชาญ 2,500 คนทั่วโลก
ในการจัดทำดัชนีของ The World Justice Project ได้แยกกลุ่มประเทศตามภูมิภาคและอนุภูมิภาค และแยกตามรายได้ของประเทศซึ่งมี 4 ระดับ คือ รายได้สูง รายได้ปานกลางค่อนข้างสูง รายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ และรายได้ต่ำ
สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ The World Justice Project ได้สำรวจและจัดทำดัชนีมี 7 ประเทศ คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยจัดอยู่ในกลุ่มเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แยกตามรายได้ คือ กัมพูชา อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม อยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ มาเลเซีย และไทยอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง สิงคโปร์ รายได้สูง ปรากฏผลดังนี้ (เรียงตามลำดับอักษร)
กัมพูชา อยู่ในอันดับต่ำกว่าประเทศอื่นเกือบทั้งหมดในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในทุกมิติ ภาพรวมของสภาพแวดล้อมเรื่องกฎหมายและองค์กรยังอ่อนแอ ซึ่งถูกย้ำจากคะแนนต่ำจากเรื่องหลักๆ รวมทั้งเรื่องอำนาจของรัฐบาลที่มีมากมาย (อยู่อันดับที่ 90) การบังคับใช้กฎระเบียบ การเข้าถึงความยุติธรรมทางแพ่ง คอร์รัปชันที่มีสูง (อยู่อันดับที่ 80) สิทธิในทรัพย์สินอ่อนมาก และตำรวจนอกรีตที่ใช้อำนาจมิชอบยังเป็นปัญหาใหญ่ แต่ในทางกลับกัน กัมพูชามีอัตราการทำผิดทางอาญาต่ำกว่าประเทศในกลุ่มรายได้น้อยด้วยกัน
อินโดนีเซีย อยู่ในลำดับต้นไม่เกินครึ่งของทั้งหมดในทุกมิติในกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ ได้อันดับหนึ่งในกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำสำหรับการตรวจสอบอำนาจของรัฐบาล (ได้อันดับที่ 29 ของทั้งหมด) และความเปิดกว้างของรัฐบาล (ได้อันดับที่ 35 ของทั้งหมด) ประชาชนชาวอินโดนีเซียได้สิทธิค่อนข้างสูงในการมีส่วนร่วมในการบริหารกฎหมายเหนือกว่าประชาชนในประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ในอีกด้านหนึ่งประเทศก็เผชิญกับความท้าทายในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและศาล คอร์รัปชันมีสูง อยู่อันดับสุดท้ายของกลุ่มภูมิภาคนี้ และเป็นลำดับที่ 85 ของทั้งโลก ศาลเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาล แต่ได้รับผลกระทบจากผลประโยชน์ของเอกชนที่มีอำนาจและการคอร์รัปชัน ระบบศาลยุติธรรมทางแพ่งยังด้อยพัฒนา (อยู่ในลำดับที่ 66 ของทั้งหมด และเป็นอันดับ 10 ของกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ) โดยพิจารณาจากส่วนที่ประชาชนไม่สามารถจุนเจือในการใช้บริการทางกฎหมาย การหย่อนประสิทธิภาพของกลไกในการบังคับคดี และระยะเวลาที่ยาวนานของการดำเนินคดี ตำรวจที่ใช้อำนาจนอกลู่นอกทาง และสภาพที่เลวร้ายของที่คุมขัง เป็นปัญหาที่สำคัญ
มาเลเซีย รัฐบาลมาเลเซียเป็นรัฐบาลที่รับผิดชอบตรวจสอบได้ เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงด้วยกัน ถึงแม้การแทรกแซงทางการเมืองและการหย่อนการลงโทษจะมีปรากฏอยู่ ระบบศาลทางแพ่งอยู่ลำดับที่ 39 ของโลก และลำดับที่ 8 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง มาเลเซียมีคะแนนดีในเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ อยู่ในลำดับหนึ่งของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ถึงแม้การใช้อำนาจเกินเลยของตำรวจจะเป็นปัญหา การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการเป็นไปอย่างจำกัด การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน (อยู่ในลำดับที่ 73) ส่วนมากจะเป็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
ฟิลิปปินส์ ค่อนข้างโดดเด่นท่ามกลางประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ สำหรับเรื่องการมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบอำนาจของรัฐบาล (อยู่ในอันดับ 6 ของกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ) รวมทั้งสังคมพลเมืองที่มีชีวิตชีวา สื่อที่เสรี และตุลาการที่อิสระ ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับ 5 ของกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ ในเรื่องการมีประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย การขัดแย้งของพลเมืองและความรุนแรงทางการเมืองเป็นความท้าทายที่สำคัญ ประเทศมีปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน (อยู่ลำดับที่ 55 ของทั้งหมด) โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการละเมิดต่อชีวิตและความสงบสุขของประชาชน ตำรวจที่ใช้อำนาจไม่ชอบ การละเมิดหลักการ และสภาพเลวร้ายของที่คุมขัง ระบบศาลยุติธรรมทางแพ่งได้คะแนนแย่ (ลำดับที่ 84 ของทั้งหมด) อันเนื่องจากการหย่อนประสิทธิภาพของกลไกการบังคับคดี การคอร์รัปชันในหมู่ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดีที่ยาวนาน
สิงคโปร์ ได้รับการจัดอันดับเป็นที่หนึ่งในการดูแลความปลอดภัยให้พลเมือง และอยู่ในลำดับต้นๆ ในมิติด้านอื่นอีกสี่ด้าน การบริหารรัฐกิจมีประสิทธิภาพ คอร์รัปชันมีน้อย (อยู่ในลำดับที่ 7 ของทั้งหมด) ระบบยุติธรรมทางอาญา อยู่ในกลุ่มมีประสิทธิภาพสูงสุด (ลำดับ 3 ของทั้งหมด) คะแนนต่ำสุดอยู่ในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน (ลำดับที่ 26 ของทั้งหมด) ซึ่งสะท้อนถึงข้อจำกัดของเสรีภาพในการพูดและการชุมนุม
ประเทศไทย ได้รับคะแนนสูงในเรื่องอาชญากรรมที่มีน้อย ระบบความยุติธรรมทางอาญาที่มีประสิทธิภาพ (ลำดับที่ 35 ของทั้งหมด) และลำดับ 7 ในกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม การขัดแย้งของประชาชน และความรุนแรงทางการเมืองเป็นปัญหาสำคัญ การคอร์รัปชันเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และตำรวจ และได้รับคะแนนต่ำในมิติของระบบยุติธรรมทางแพ่ง (ลำดับที่ 88 ของทั้งหมด) ส่วนหนึ่งเนื่องจากการดำเนินคดีที่ล่าช้า และความยุ่งยากในการปฏิบัติตามคำสั่งศาล
เวียดนาม เผชิญกับความท้าทายในเรื่องความรับผิดชอบและถูกตรวจสอบได้ที่มีจำกัดของฝ่ายบริหาร (ลำดับที่ 82 ของทั้งหมด) ฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการถูกแทรกแซงโดยนักการเมือง หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายมีความคลุมเครือและไม่มีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะเริ่มมีการปฏิรูปกันบ้างแล้ว การคอร์รัปชันมีอยู่ทั่วไป ระบบยุติธรรมทางแพ่งถึงแม้จะเข้าถึงได้ แต่ก็ถูกกัดกร่อนโดยคอร์รัปชันและการแทรกแซงทางการเมือง เวียดนามได้คะแนนดีในเรื่องความสงบเรียบร้อย (อันดับที่ 24 ของทั้งหมด) แต่การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นเสรีภาพในการแสดงความเห็น การเข้าสมาคมเป็นเรื่องที่น่าห่วง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน