บทเรียนม็อบยาง-การเมือง ต้องมีก.ม.คุม
โดย : ไพศาล เสาเกลียว, ปกรณ์ พึ่งเนตร
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
บทเรียนม็อบยางพารา-การเมือง ต้องมีกฎหมายคุมการประท้วง-จลาจล
เป็นบทสรุปรวบยอดจาก รศ.ดร.ประธาน วัฒนวาณิชย์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงภายในมาอย่างช่ำชอง และเคยยกร่างเป็นตุ๊กตาก่อนที่ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือที่รู้จักกันในนาม "พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ"
แต่ถึงกระนั้น แม้ในการคลี่คลายการชุมนุมของชาวสวนยาง รัฐบาลไม่ได้เลือกใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทว่าในการชุมนุมของกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า รัฐบาลกลับใช้มาตรการเข้มตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทั้งประกาศเขตห้ามเข้า และปิดถนนหลายสาย จนก่อความเดือดร้อนไปทั่ว ทั้งๆ ที่ดีกรีความรุนแรงน้อยกว่าม็อบชาวสวนยางอย่างมาก
นี่จึงกลายเป็นปัญหาที่ยังไม่มีทางออกของสังคมไทย...
"การชุมนุมทางการเมือง หรือการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯเข้าไปจัดการไม่ได้เลย ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ เพราะกฎหมายความมั่นคงเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการระงับยับยั้งกรณีเกิดภาวะที่เป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างรุนแรง เช่น การก่อกบฏ หรือก่อการร้าย ซึ่งมาตรการที่กฎหมายให้อำนาจล้วนเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งสิ้น"
"แต่การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง จึงไม่ควรใช้กฎหมายความมั่นคงที่มีบทบัญญัติในการละเมิดสิทธิของประชาชนเข้าไปจัดการ หากการชุมนุมนั้นมีการกระทำผิดกฎหมาย ก็ต้องใช้กฎหมายปกติเข้าไปแก้ไข ไม่ใช่ไปใช้กฎหมายพิเศษ" รศ.ดร.ประธาน ชี้ปม
เขาขยายความว่า ตำรวจสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายทั่วไป เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ในการจัดการการชุมนุมที่ผิดกฎหมายได้อยู่แล้ว และการแก้ไขปัญหาการชุมนุมโดยเฉพาะที่เกิดจากความเดือดร้อนของประชาชนหรือเกษตรกร วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือผู้มีอำนาจในรัฐบาลต้องไปพูดคุยเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน
"การจัดการโดยให้เจ้าหน้าที่รัฐระดมกำลังเข้าไปควบคุมฝูงชน ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง เนื่องจากอารมณ์ของผู้ชุมนุมถูกปลุกให้เกิดความรู้สึกต่อต้านอำนาจรัฐอยู่แล้ว และมีผลประโยชน์ได้เสีย การควบคุมจึงยาก ทางที่ดีที่สุดต้องแก้ที่ต้นเหตุ นั่นก็คือรัฐบาลส่งคนที่มีอำนาจไปเจรจาต่อรอง"
อย่างไรก็ดี เมื่อการชุมนุมบานปลายกลายเป็นความรุนแรง เช่น ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หรือการปิดถนนและทางรถไฟที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช จนหลายฝ่ายเรียกร้องให้ใช้กลไกตามกฎหมายพิเศษเข้าไปจัดการ แต่ รศ.ดร.ประธาน กลับมองไปอีกทางหนึ่ง
"การชุมนุมของผู้ที่เดือดร้อนจากปัญหาต่างๆ เป็นสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งกติการะหว่างประเทศก็ให้การยอมรับ ขณะที่รัฐธรรมนูญของไทยเองก็รับรองสิทธิการชุมนุมโดยสงบ การปะทะเจ้าหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ไม่จำเป็นต้องนำกฎหมายความมั่นคงมาใช้ เพราะตำรวจมีอำนาจในการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดอยู่แล้ว"
เขาชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นปัญหา เป็นเพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายการชุมนุมทางการเมือง และกฎหมายการควบคุมการจลาจลมาใช้บังคับโดยตรง จึงต้องเลี่ยงไปใช้กฎหมายอื่น เช่น กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ซึ่งอาจไม่เหมาะกับการรับมือการชุมนุม
หลักการสำคัญของกฎหมายการชุมนุมทางการเมือง หรือการชุมนุมในที่สาธารณะ คือ ต้องมีการควบคุมสิทธิในการชุมนุมเพื่อไม่ให้กระทบสิทธิของบุคคลอื่น การจัดการชุมนุมต้องมีผู้รับผิดชอบ มีตัวตนชัดเจนว่าใครเป็นแกนนำ ถ้าไปก่อความเสียหายหรือกระทำผิดกฎหมาย ผู้ที่จัดการชุมนุมต้องรับผิดชอบ
ปัญหาหนึ่งที่เคยถกเถียงกันก็คือ ผู้ที่จะจัดชุมนุมต้องขออนุญาตก่อนหรือไม่ และรัฐไม่อนุญาตได้ไหม
รศ.ดร.ประธาน บอกว่า จริงๆ แล้วหลักคือต้องอนุญาต แต่มีเงื่อนไขไม่ให้มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ส่วนกฎหมายควบคุมจลาจลนั้น หลักการคือการวางมาตรการควบคุมเมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองแล้วปรากฏการณ์กระทำผิดทางอาญาที่รุนแรง ลุกลาม ซึ่งต้องมีผู้รับผิดชอบเช่นกัน และจะมีการกำหนดนิยามในกฎหมายว่าการก่อจลาจลต้องมีคนร่วมอย่างน้อยกี่คน
"นานาชาติเขามีกฎหมาย 2 ฉบับนี้กันนานแล้ว แต่รัฐบาลไทยไม่กล้าเสนอ เพราะกลัวว่าจะถูกคัดค้านจากกลุ่มเอ็นจีโอและนักสิทธิมนุษยชนโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิประชาชน ทางที่ดีรัฐบาลควรอธิบายให้กลุ่มที่คัดค้านได้เข้าใจถึงความจำเป็นของการมีกฎหมายทั้งสองฉบับ ซึ่งข้อดีที่สุดก็คือการหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะผิดวัตถุประสงค์ ขณะที่กฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่ก็ยังมีขอบเขตแคบเกินไปสำหรับควบคุมการชุมนุม"
ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับประเทศที่มีการชุมนุมประท้วงบ่อยครั้งอย่างเมืองไทย!
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน