Currency Futures the First Financial Futures
โดย : ดร.พีรพล ประเสริฐศรี
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
หากกล่าวถึงเรื่องราวของ การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ การซื้อขายตราสารอนุพันธ์
สินค้าอ้างอิงที่ปัจจุบันผู้คนจะนึกถึงก็คงหนีไม่พ้น สินค้าจำพวกสินค้าเกษตร อาทิ ข้าวโพด ข้าวสาลี โลหะมีค่าอย่างทองคำ เงิน หรือ แพลทินัม หรือพวกดัชนีต่าง ๆ เช่น S&P500 Dow หรือแม้กระทั่งดัชนีหุ้นบ้านเราอย่าง SET50
เป็นที่ทราบกันดีว่า การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ Futures Trading นี้มีจุดเริ่มมาจากความจำเป็นในการบริหารความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตรซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ตามธรรมชาติมากมาย ซึ่งแม่แบบของการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า หรือ Futures Trading ในปัจจุบันเกิดขึ้นที่เมืองชิคาโก มลรัฐอิลินอยส์ของสหรัฐ ในค.ศ. 1852
ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่เศรษฐกิจของสหรัฐกำลังขยายตัว ตลาดสินค้าล่วงหน้าแห่งแรกในสหรัฐ ที่ชื่อว่า ตลาดหอการค้าแห่งชิคาโก หรือ Chicago Board of Trade (CBOT) ได้ถือกำเนิดขึ้นจากการร่วมมือกันของกลุ่มพ่อค้าในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์
สินค้าชนิดแรกที่มีซื้อขายโดยการนำมาทำเป็นสัญญาซื้อขายคือข้าวโพด ซึ่งเป็นผลผลิตทางเกษตรหลักในบริเวณนั้น โดยการซื้อขายช่วงแรกเป็นการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบ Forward Contracts (ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงคุณลักษณะของสินค้า Spec กันเอง) ที่ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน ซึ่งความไม่เป็นมาตรฐานนี้ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย
ดังตัวอย่างเช่น ชาวนาแถบชนบทชานเมือง CHICAGO ที่มักจะตกลงทำสัญญา FORWARD กับพ่อค้าในเมือง และเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ส่วนใหญ่จะขนผลผลิตของตนด้วยรถม้า มาส่งให้กับผู้ซื้อตามสัญญา FORWARD ที่ทำกันไว้...แต่เมื่อเดินทางมาถึง หากผู้ซื้อปฏิเสธที่จะรับมอบและจ่ายเงินตามสัญญา FORWARD นั้น ทำให้ชาวนารู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบอีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนผลผลิตมาตั้งไกล มีกรณีที่ชาวนาที่ไม่มีทางเลือกบางรายถึงกับต้องชักปืนออกขู่ผู้ซื้อว่า "เลือกเอาละกันว่า จะรับสินค้าหรือ จะรับลูกปืน"
ด้วยเหตุนี้ CBOT จึงได้เริ่มพัฒนารูปแบบการซื้อขายของตนให้เป็นสัญญาที่มีมาตรฐาน (Standardized Contracts) ในรูปแบบของ Futures Contract สินค้าข้าวโพดเป็นครั้งแรกในค.ศ.1865 ซึ่งรูปแบบดังที่กล่าวนี้ได้ถูกยกให้เป็นแม่แบบของการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า ในตลาดต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีการวิวัฒนาการต่อ ๆ กันมา
แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่า หลังจากที่ Futures Trading ได้ถูกริเริ่มที่ Chicago เป็นต้นมาตั้งแต่ค.ศ. 1865 และหลังจากเหตุการณ์สำคัญๆที่ได้เกิดขึ้นมาในโลกของเรา อาทิ การจัดตั้ง US Federal Reserve ณ Jekyll Island (ค.ศ. 1910 - 1913) สงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) Great Economic Depression (ค.ศ.1929-33) สงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-45) ระบบการเงินแบบ Bretton Woods System (ค.ศ. 1944-71) การ Shut Down US Gold Window ของประธานาธิบดี Nixon เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1971
Futures Trading ต้องรอเวลากว่า 100 ปี กว่าจะถึงเดือนพ.ค.ในค.ศ. 1972 เวลาที่ตลาด Chicago Mercantile Exchange (CME) มีขึ้นเพื่อเปิดให้มีซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นอัตราแลกเปลี่ยน หรือ Futures on Foreign Currency หรือ Currency Futures นับเป็น Futures Contract ที่มีสินค้าอ้างอิงสินทรัพย์ทางการเงินเป็นครั้งแรก (First Financial Futures) ของโลก
โดยจัดให้ซื้อขายกันในตลาดที่ได้จัดตั้งขึ้นไว้เทรดสินค้าด้านการเงินโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า International Monetary Market (IMM) อัตราแลกเปลี่ยนที่ทาง IMM นำออกมาให้ซื้อขายในค.ศ. 1972 ประกอบด้วย British Pound, Canadian Dollar, Deutsche Mark, Italian Lira, Japanese Yen, Swiss Franc, และ Mexican Peso ล้วนเป็นสกุลเงินของประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐ ณ ช่วงเวลาในขณะนั้น
มีหลายคน ณ ขณะนั้นเชื่อว่า Currency Futures หรือ FX Futures ( ที่ CME นำออกมาซื้อขายนั้น) ไม่น่าจะประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เนื่องจาก ณ ตอนนั้นระบบการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าของธนาคาร หรือ Bank Forward Market for foreign Currency มีการพัฒนาอย่างค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว จนเชื่อกันว่าไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องมี Currency Futures ซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ Currency Futures ได้มีเจริญเติบโตตามลำดับ จนปัจจุบันมี volumes การซื้อขายสูงเป็นอย่างมาก นับเป็นการพิสูจน์ว่า Currency Futures นั้นมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเหตุผลที่ Currency Futures สามารถแจ้งเกิดได้ (ทั้ง ๆ ที่มี FX Forward อยู่แล้วนั้น) น่าจะมีเหตุผลมากจากเรื่องของปริมาณขั้นต่ำในการซื้อขายซึ่งจะสูงมากในกรณีของ FX Forward ทำให้ลูกค้า Forward จำกัดเฉพาะพวกกลุ่มลูกค้าธนาคารที่มีเครดิตดี ๆ หรือมีวงเงินกับธนาคารแล้วเท่านั้น
แต่ FX Forward ก็มีข้อดีเหนือกว่า Currency Futures อยู่หลายประการเหมือนกัน อาทิ 1) สามารถกำหนดวันสิ้นอายุเมื่อไรก็ได้ 2) สามารถจะซื้อขายเป็นจำนวนเท่าไรก็ได้ (แต่ต้องสูงกว่าขั้นต่ำ) 3) ค่าธรรมเนียมเมื่อซื้อเยอะ ๆ จะถูกกว่า Futures และ 4) FX Forward โดยปกติแล้วจะมีเป็นแพคเกจควบคู่กับบริหารให้คำปรึกษาและบริหารให้กู้ยืมเงิน ซึ่งทำให้บริษัทใหญ่ ๆ ที่มี Exposure เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก็ยังคงให้ FX Forward กันอยู่
อย่างไรก็ดี Currency Futures ก็มีประโยชน์สำหรับบริษัทขนาดเล็ก ที่ยังไม่มีวงเงินกับธนาคารและประสงค์จะบริหารความเสี่ยงด้านค่าเงิน อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาลูกค้ากลุ่มสำคัญที่เข้ามาใช้ Currency Futures ของ CME อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ได้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่ทำการ arbitrage สินค้าเกษตร ข้ามระหว่างตลาด อาทิ สินค้า Wheat ระหว่าง US กับ Canada ก็นิยมจะให้ Currency Futures มากกว่า Forward เนื่องจากสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนและมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า
ปัจจุบัน Currency Futures ใน CME นี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกตลาดอัตราแลกเปลี่ยนโลกไปแล้ว เนื่องจากธนาคารต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมทำ arbitrage ระหว่าง Currency Futures และ Forward นี้โดยตรง ทำให้มีบางช่วง (อาทิ ช่วงบ่าย ๆ ในสหรัฐ) Futures จะมี Volumes มากกว่า Forward และเป็นตัวชี้นำราคาของการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน
สำหรับในประเทศไทยเรา บมจ. ตลาดอนุพันธ์ (จำกัด) มหาชน หรือ TFEX ก็ได้มีการจัดให้มีการซื้อขาย Currency Futures นั่นคือ USD/THB Futures ไว้เช่นกัน แต่เพิ่งเริ่มเมื่อปีที่แล้วใน 5 มิ.ย. 2555 ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยที่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าได้มีเครื่องมือในการจัดการความเสี่ยงด้านค่าเงิน และในอีกไม่นานนี้ก็จะมีบริการพิเศษผ่านทางธนาคารกรุงไทยสำหรับลูกค้า TFEX ให้สามารถแลกเปลี่ยนเงิน USD ได้ในอัตราพิเศษ อันจะเป็นการช่วยให้การบริหารความเสี่ยงผ่านเครื่องมือ Futures นี้สามารถกระทำได้สมตามวัตถุประสงค์
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน