สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สิริพรรณ อ่านเกม ส.ว. วาระซ่อนเร้น ประชาธิปัตย์ และแผนรวบอำนาจ เพื่อไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

ที่สุดแล้วกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็สามารถผ่านการพิจารณาในวาระที่ 2 ไปได้สำเร็จ แม้จะกินเวลานานกว่า 12 วัน

เหตุที่ยืดเยื้อยาวนาน มีที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ขนขุนพลเข้าร่วมแปรญัตติทุกบรรทัด ทุกวรรค ทุกคำ กระทั่งเกิดภาพการคัดค้านแบบไม่สร้างสรรค์

ขณะที่ฝั่งพรรคเพื่อไทยก็ปรากฏท่าทีในการรวบรัด ตัดตอนกระบวนการอภิปรายจากฝ่ายตรงข้าม หวังเพียงให้ร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาโดยเร็ว

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการ-คอการเมือง ที่ระบุถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ยืดเยื้อยาวนานเกินความจำเป็น กระทั่งสร้างความเบื่อหน่ายให้กับภาพการเมืองทั้งระบบ

"ประชาชาติธุรกิจ" ร่วมสนทนา สังเคราะห์ปัญหา กับ "สิริพรรณ นกสวน สวัสดี" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอเชื่อว่าทั้งพรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ต่างมีวาระซ่อนเร้นในการเคลื่อนไหวเกมดังกล่าว


- การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เรื่องที่มาของ ส.ว. ในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง

รัฐบาลพยายามเร่งเครื่องในการพิจารณา ก็ชัดเจนว่า ส.ว.บางกลุ่มกำลังจะหมดอายุ เขาก็อยากทำตรงนี้ให้เสร็จ และสร้างเงื่อนไขให้ ส.ว.กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที และรัฐบาลก็จะมีเสียงสนับสนุนในการขับเคลื่อนโจทย์ใหญ่ๆ ตามที่ต้องการได้

ส่วนด้านฝ่ายค้านที่พยายามอภิปรายยืดเยื้อ อภิปรายอย่างหนัก ก็คงเห็นภาพความคิดนี้เหมือนกัน เขาคงเห็นว่าถ้าพรรคเพื่อไทยปลดล็อกประเด็นนี้สำเร็จ การแก้รัฐธรรมนูญมาตราอื่น ๆ ก็ทำได้ง่ายขึ้น รวมถึงการผ่านร่างกฎหมายอื่น ๆ เพราะมันหมายความว่าจะทำให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลมีพลังที่ลดลง

- แต่การอภิปรายยืดเยื้อของฝ่ายค้านก็รู้ดีว่าไม่สามารถสู้เสียงข้างมากในสภาได้

ถ้าจะให้ประเมินพฤติกรรมของฝ่ายค้าน ดิฉันขอออกตัวก่อนว่าอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ แต่ดิฉันรู้สึกว่า เขา...(นิ่งคิด)... เขาเหมือนกับมีวาระบางอย่างที่ต้องการทำให้ความศรัทธาในกระบวนการรัฐสภาเสื่อมถอย และดึงการต่อสู้ออกไปไว้ที่ถนนเขารู้ดีว่าสู้เสียงข้างมากในสภาไม่ได้ ยิ่งถ้ามาตราของ ส.ว.ผ่านสภา เขาก็ยิ่งสู้ไม่ได้ ดังนั้นสิ่งเดียวที่ควรทำ คือ การสร้างพันธมิตรกับกลุ่มการเมืองนอกสภา เพื่อหวังจะใช้เป็นพลังในการต่อสู้กับรัฐบาลต่อไป 

- การสร้างความเสื่อมถอยในสภา พรรคประชาธิปัตย์เองก็เสียเครดิต

ถูกต้อง ก็มองว่านี่คือไพ่ใบสุดท้ายแล้ว หมดหน้าตักแล้ว เขาสู้แบบจนตรอกแล้ว

- การเดินเกมแบบนี้ถือว่ามาถูกทางหรือไม่

ดิฉันคิดว่าเล่นผิด ถ้าจะให้มองลึกไปกว่านั้นก็เหมือนกับเขาต้องการล้มกระดาน และหวังว่ามันจะเกิดอภินิหารให้มาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ ถามว่ามันจะเวิร์กหรือไม่ ก็คงไม่เวิร์กเท่าไร แต่มันก็ไม่มีวิธีอื่น และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็อดทนรอไม่ได้ นั่นคือในมุมมองของเขา

แต่ดิฉันเองกลับมองว่า ปชป.ควรทำหน้าที่ฝ่ายค้านต่อไป เสนอทางเลือกในเชิงนโยบายให้กับประชาชนดีกว่า เพราะเอาเข้าจริง คนเริ่มเบื่อพรรคเพื่อไทยในบางเรื่องแล้ว แม้แต่คนที่สนับสนุนก็เริ่มวิจารณ์กันเอง ถ้าให้เลือกตั้งวันนี้พรรคเพื่อไทยอาจจะยังชนะ แต่เชื่อว่าจำนวนเสียงจะลดลง และคนกลุ่มนี้จะถอยกลับไปอยู่ในกลุ่มที่ยังลังเลว่าจะเลือกพรรคไหน ซึ่ง ปชป.เองก็ไม่ได้เสนอตัวเป็นพรรคทางเลือกเท่าไรในเวลานี้ 

- ประเมินเนื้อหาสาระเรื่องที่มาของ ส.ว. ที่ผ่านวาระที่ 2 อย่างไร

หลายอย่างมันชัดเจนมาก ดิฉันถึงบอกว่าไม่เห็นด้วย พรรคเพื่อไทยต้องการเพิ่มเสียงสนับสนุนในรัฐสภา ขณะเดียวกันก็เป็นการสลายขั้วอำนาจเก่า ซึ่งกลุ่มที่ยังมีความเข้มแข้งในเวลานี้ก็คือ ส.ว. ศาล และองค์กรอิสระ 

ถามว่าทำไมต้องเริ่มที่ เรื่อง ส.ว. ก็เพราะเขาเป็นคนโหวตให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งองค์กรอิสระ เมื่อยุทธศาสตร์การเมืองเขาเริ่มต้นตรงนี้ ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยก็จะเป็น ส.ส. + ส.ว. หมายความว่าจะมีเสียงสนับสนุนมากขึ้น ขณะที่เสียงต่อต้านก็จะลดลงชัดเจน 

- การเริ่มต้นแก้ไขเรื่องที่มาของ ส.ว. จะทำให้เกิดการครอบงำอำนาจของรัฐบาล

ก็เป็นไปได้ เพราะ ส.ว.มีอำนาจให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระ ดังนั้นเขาก็มีโอกาสที่จะเลือกคนที่มีความคิดหรือจุดยืนใกล้กับพรรคเพื่อไทยมาได้มากขึ้น นั่นหมายความว่าฐานอำนาจของพรรคเพื่อไทยจะใหญ่ขึ้น 

-มองการคุมจังหวะทางการเมืองทั้งในสภา-นอกสภาของพรรคเพื่อไทยอย่างไร 

ที่ผ่านมา คุณทักษิณ (ชินวัตร) ใช้แนวนี้มาตลอด เวลาบริหารนโยบายก็เป็นลักษณะ dual track คือ ทั้งคนชั้นล่าง ชั้นบนได้ประโยชน์ เรื่องการเมืองก็เหมือนกัน เขาเดินเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ว. ก็เพราะต้องการเสียงสนับสนุนในสภา เขาเริ่มต้นสภาปฏิรูปการเมือง ก็เพราะต้องการภาพสนับสนุนจากข้างนอก จากกลุ่มนักการเมืองทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง

โดยส่วนตัวดิฉันคิดว่าเขาไม่ได้หวังให้สภาปฏิรูปการเมืองสำเร็จอะไร เขาแค่ต้องการเปิดพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งมาคุยมาต่อรองกัน และก็สร้างภาพให้เห็นว่า นี่ไงรัฐบาลใจกว้าง ยินดีรับฟังทุกฝ่าย 

ขณะเดียวกันสภาปฏิรูปการเมืองก็คือ เกมเตะตัดขา ปชป. ที่กำลังพยายามสร้างฐานมวลชนนอกสภา ถ้าถามว่าสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาจริงหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่จริง พรรคเพื่อไทยชอบเล่นเกมลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง ยกตัวอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ ที่โยนให้ 3 มหาวิทยาลัยกลับไปตีความเรื่องคำสั่งศาล แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไรต่อ ก็ทิ้งไว้อย่างนั้น มันเป็นแค่กระบวนการเตะถ่วงฆ่าเวลา 

สิ่งที่เพื่อไทยทำจริง ๆ ก็คือ คุณทักษิณต้องการเล่นเกมการเมืองโดยพยายามผูกขาด และลดอำนาจฝ่ายค้าน ก็คุณเล่นส่งเทียบเชิญไปหาหัวหน้าพรรคต่าง ๆ เขาก็ต้องร่วมอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นก็กลับมาร่วมรัฐบาลไม่ได้อีก 

- แปลว่าคุณบรรหาร (ศิลปอาชา) ที่ทำหน้าที่ประสานงานก็อยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเหมือนกัน

แน่นอน (สวนทันที) พรรคเล็ก ๆ ตอนนี้ไม่มีอำนาจต่อรองอีกต่อไปแล้ว ถ้าไม่ร่วมก็จะถูกตั้งคำถามว่าไม่ให้ความร่วมมือ และก็จะไม่ได้ร่วมรัฐบาล แต่รัฐบาลจะไม่มีทางเสียหายจากเกมนี้ แม้ว่าคู่ขัดแย้งจะไม่เข้าร่วม เพราะเขาแสดงให้เห็นแล้วว่ามีความเอื้อเฟื้อนะ แต่คุณไม่มาร่วมวงกับเรา แปลว่าคุณไม่อยากมาแก้ปัญหาประเทศ ขณะเดียวกันคู่ขัดแย้งต่างหากที่ถูกโจมตีว่าไม่จริงใจ ไม่ใจกว้าง 

นอกจากนั้นการดำเนินการเรื่องดังกล่าว มันยังมีนัยที่แสดงให้เห็นว่า ใครบ้างที่ยังยืนอยู่ตรงข้ามกับเขา และที่สำคัญยังเป็นการแสดงกองกำลังของฝ่ายตนเองให้ขั้วอำนาจตรงข้ามเห็นว่า นี่คือกลุ่มของเขาทั้งหมด คุณยังคิดจะสู้อีกหรือ ก็ต้องบอกว่า ในแง่ยุทธศาสตร์ถือว่าพรรคเพื่อไทยทำได้สุดยอด แต่ในแง่ของผลลัพธ์ที่จะมาถึงประชาชนกลับไม่มีอะไรเลย 

- ถ้ายุทธศาสตร์ดังกล่าวยอดเยี่ยม ยังมีอะไรที่เป็นจุดอ่อนไหวของพรรคเพื่อไทยอีกหรือไม่

จุดอ่อนไหวยังคงเป็นศาล และอีกประเด็นคือตัวเพื่อไทยเอง ประกอบด้วย ความจริงใจในการแก้ปัญหา การบริหารประเทศอย่างโปร่งใส และการยอมรับในกลไกการตรวจสอบ ดิฉันมองว่าพรรคเพื่อไทยจะอยู่ไม่ได้ถ้ายังเล่นการเมืองแบบผูกขาด เพราะคนเขามองออกว่า การปฏิเสธการตรวจสอบในทุกกระบวนการ จะนำไปสู่การตั้งคำถามและกระตุ้นให้กลุ่มเสียงคัดค้านออกมาเคลื่อนไหว

พูดง่าย ๆ เหมือนสมัยคุณทักษิณที่กลับมาเป็นรัฐบาลครั้งที่ 2 เขามีเสียงข้างมากเหมือนกัน จุดอ่อนในวันนั้นที่ทำให้เสื้อเหลืองออกมาเต็มถนน และเกิดการปฏิวัติ เพราะคุณทักษิณไม่ยอมถูกตรวจสอบ ไม่ยอมถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือแม้กระทั่งไม่ตอบคำถามในสภาก็ไม่ยอม นั่นทำให้เกิดความชอบธรรมของมวลชนที่จะออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องว่า คุณทักษิณทำอย่างนั้นไม่ได้ 

- แต่สิ่งที่คุณทักษิณทำก็เหมือนกับสิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์กำลังทำอยู่

นั่นไงล่ะ (สวนทันที) นั่นคือจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทยเอง รัฐบาลใด ๆ จะมีความชอบธรรมอยู่ได้ ต้องมี 3 หลักเกณฑ์ 1.มีที่มาต้องมาจากการเลือกตั้ง คุณยิ่งลักษณ์มีแน่นอน 2.การแสดงความจริงใจ การยอมรับกลไกการตรวจสอบ และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และ 3.ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์บริหารประเทศก็ไม่ได้ผ่าน 100% ซึ่งสองข้อหลักค่อนข้างมีปัญหา

สิ่งเหล่านี้ทำให้คนเกิดความกลัว กลัวในอำนาจที่ผูกขาด และความกลัวนี้ก็ทำให้ ปชป.ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ล่าสุด และก็เคยเป็นปัจจัยล้มคุณทักษิณเมื่อปี 2548 

- เงื่อนไขนี้จะทำให้รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์มีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยคุณทักษิณ

นั่นคือสิ่งที่ ปชป.กำลังทำอยู่ เขากำลังเล่นกับความกลัวอันนี้ คือ การประท้วงอย่างรุนแรงในสภา สร้างความเบื่อหน่ายในสภา กระทั่งออกไปพามวลชนมาสู้ข้างถนน

- สุดท้ายการเคลื่อนไหวทางการเมืองของทั้งเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร

ถ้าเป็นเกมนี้เราไม่ได้อะไรเลย แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญที่เขาแก้กันอยู่ ถ้าเพื่อไทยจริงใจ คุณต้องถอนเรื่องนี้ และรอสภาปฏิรูปการเมืองของคุณสรุปเรื่องที่เสนอมา ถามวันนี้เลย ถ้าสภาปฏิรูปการเมืองสำเร็จ และเสนอขอแก้ที่มาของ ส.ว.อีกรอบจะทำอย่างไร คุณจะแก้อีกรอบหรือ

- ในฐานะประชาชนควรทำหน้าที่ตามประชาธิปไตยอย่างไร 

จริง ๆ รัฐธรรมนูญมีช่องให้ประชาชนอยู่เหมือนกัน เช่น การเข้าชื่อเพื่อขอแก้รัฐธรรมนูญ หรือการเข้าชื่อคัดค้านกฎหมายต่าง ๆ ช่องทางกฎหมายสามารถทำได้ ถ้าอะไรที่คุณไม่เห็นด้วยก็ดำเนินการเข้าชื่อได้เลย แต่โดยธรรมชาติของทุกระบบการเมือง แค่เรื่องปากท้องก็ไม่มีเวลาจะทำอะไรแล้ว ดังนั้นถึงต้องถามว่าใครจะทำ ถึงต้องมีคำว่าประชาคมที่เข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีนัก

- อำนาจที่เรียกว่าประชาชนไม่เข้มแข็ง จึงต้องเผชิญเกมการเมืองแบบนี้ต่อไป

แน่นอนไม่ได้เข้มแข็ง เอาเข้าจริงถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์การเมือง ประเทศที่เจริญทุกวันนี้ ในเบื้องต้นประชาชนก็ไม่ได้เข้มแข็งมาก่อน แต่พวกเขาโชคดีที่มีผู้นำที่ไม่เห็นแก่ตัวและจริงใจในการวางรากฐานประชาธิปไตย แต่ประเทศเรายังไม่มีคนแบบนั้น เพราะเรามัวแต่ไปเน้นคนดี ภาพลักษณ์ดี ก็เท่านั้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สิริพรรณ อ่านเกม ส.ว. วาระซ่อนเร้น ประชาธิปัตย์ แผนรวบอำนาจ เพื่อไทย

view