สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หัวอกฝ่ายค้าน-คำแก้ต่าง อภิสิทธิ์ ประชาธิปัตย์ ยอมเจ็บตัว สู้ไม่ถอย ถ้าปล่อยผ่าน บ้านเมืองดีขึ้นตรงไหน

จากประชาชาติธุรกิจ

ปีที่ 3 แห่งสมัยประชุม วาระพิจารณากฎหมายในสภายังคงคุกรุ่นไปด้วยความขัดแย้ง อันสะท้อนให้เห็นจากการยกระดับการคัดค้านของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะฝ่ายค้าน

เหตุเพราะพรรคเพื่อไทย ฝ่ายเสียงข้างมากขนกฎหมายสำคัญ เรียงลำดับเข้าสู่สภาในคราวเดียวกัน ปรากฎทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา รวม 3 มาตรา ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และแผนการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

ร่างกฎหมายข้างต้นล้วนเป็นสิ่งที่พล พรรค ปชป. ถือธงคัดค้าน - ต่อสู้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ตามวาทกรรมการเมืองที่ปรากฎ ทั้งการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรวบอำนาจ คัดค้านกฎหมายล้างผิด หรือแม้กระทั่งเผด็จการรัฐสภา

นำมาซึ่งยุทธวิธีการคัดค้านที่รุนแรงดุเดือดของฝ่ายค้าน ที่หลุดกรอบภาพการเป็นสมาชิกสภาที่มักถูกตีตราเสมอว่าเป็น "ผู้ทรงเกียรติ"

และไม่เว้นแม้กระทั่งหัวหน้าพรรค - ผู้นำฝ่ายค้านอย่าง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายอมสลัดภาพ "สุภาพบุรุษนักเรียนนอก" สู่พฤติกรรมการคัดค้านที่ชนชั้นกลางไม่คาดคิด

 

 


 

ท่ามกลางคำถามถึงท่าทีที่เปลี่ยนไปของ "อภิสิทธิ์" และพลพรรค ปชป. "ประชาชาติธุรกิจ" สนทนากับเขา เพื่อขยายปมปัญหาข้างต้น

และบรรทัดต่อจากนี้คือจุดยืน - คำแก้ต่างจากหัวหน้าพรรคที่ยังคงยืนหยัดว่า จะคัดค้านต่อสู้ต่อไป แม้ว่าเขาและพรรคจะต้องเจ็บตัวก็ตาม

- ความพยายามค้านทุกขั้นตอนของพรรค สะท้อนให้เห็นจุดยืนอย่างไร

ผม ว่ามันทำให้ประชาชนรับรู้มากขึ้น แต่ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกันนะพูดตรง ๆ บางเรื่องที่แสดงออกไปอาจจะไม่เหมาะสม แต่ผมก็บอกว่าอย่างปีที่แล้ว ถ้าไม่เกิดความวุ่นวายในสภา ป่านนี้กฎหมายล้างผิดก็ไปขัดแย้งกันนอกสภาแล้ว

และ เรื่องรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็ไม่ควรจะมีปัญหา เพียงแต่ประธานสภาต้องเคารพสิทธิ์ของเรา ขนาดผมต้องแปรญัตติหลายมาตรา ผมยังไม่มีสิทธิ์ลุกขึ้นเสนอเลย แล้วอย่างนี้จะประชุมสภาได้อย่างไร นี่เราไม่ได้พยายามสร้างเผด็จการเสียงข้างน้อยเป็นไปไม่ได้ ผมพูดกันเสร็จ คุณลงคะแนนก็ชนะอยู่แล้ว แต่ตามระบอบประชาธิปไตยคุณต้องให้สิทธิ์เสียงข้างน้อยแสดงออกเต็มที่

- รู้ว่าแพ้ในสภาอยู่แล้ว แต่ยังให้น้ำหนักกับการแปรญัตติทุกคำทุกบรรทัด

(สวน ทันที) เราก็ต้องทำนะครับ ในอดีตก็เคยมีแบบนี้ สมัยปี 2538 รัฐบาลพยายามแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาล เราก็ค้านกันเต็มที่ จนในที่สุดพอค้านแล้วประชาชนเกิดการรับรู้ในวงกว้าง เกิดกระแสต่อต้าน สุดท้ายรัฐบาลก็ตัดสินใจว่าไม่เอาแล้ว

- หวังจะให้เหตุการณ์ซ้ำรอยประวัติศาสตร์

ใช่ ครับ แล้วอีกหลายสิ่งที่รัฐบาลทำก็ขัดรัฐธรรมนูญด้วย การที่เราคัดค้านอย่างนี้ก็เพื่อให้ประชาชนและทุกองค์กรได้รับรู้ว่ามี ประเด็นหรือแง่มุมอะไรบ้าง เขาก็มีเสียงข้างมากคะแนนก็ชนะอยู่แล้ว แต่ต้องทำกระบวนการพิจารณาให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย

- แต่เกมนี้พรรคเองก็เสียเครดิต

ก็ท่านประธานที่ปรึกษาก็ให้สัมภาษณ์ไปแล้วนะครับว่าก็คิดตรงกัน เรามีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของบ้านเมือง อาจจะต้องเจ็บตัวบ้าง

- เจ็บตัวแบบนี้คุ้มค่าหรือไม่

เรา ไม่มีสิทธิ์คิดว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม สำหรับผมต้องคิดเรื่องบ้านเมือง ที่เรามีปัญหากันทุกวันนี้เพราะมัวแต่มาคิดว่าคุ้มหรือไม่คุ้มทางการเมือง ไม่คิดว่าอะไรดีสำหรับบ้านเมือง แม้กระทั่งเรื่องเศรษฐกิจจำนำข้าวได้คะแนนเสียง ไม่ต้องสนใจว่าจะสร้างความเสียหายอย่างไร นี่ล่ะครับบ้านเมืองถึงได้เสียหาย

- แต่เป็นการเจ็บตัวในยุคที่มีหัวหน้าพรรคชื่ออภิสิทธิ์

ก็ไม่เป็นปัญหาครับ คือผมคิดว่าจุดยืนเราประกาศชัดว่าต่อต้านอะไร ผมก็พยายามเตือนลูกพรรคว่าใจเย็น ๆ

เรา ก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นหรอกครับ แต่ถามว่าจะทำอย่างไร ในเมื่อยกมือประธานก็ไม่เรียก ประท้วงประธานก็ไม่เรียก ก็ต้องยืนขึ้นทั้งพรรค เราก็ทำตามข้อบังคับ ทุกเรื่องมันมีสาเหตุนะครับ

- แต่คนข้างนอกก็จำแค่ภาพสุดท้ายของเหตุการณ์

ก็ อยู่ที่คนนำเสนอนะครับ ผมอยากจะรู้เหมือนกันว่า ระหว่างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของ ส.ส.กับการที่รัฐบาลไม่ให้สภาทำหน้าที่ อะไรเป็นปัญหาของชาติที่สำคัญกว่ากัน

- การคัดค้านทุกกระบวนการเพราะต้องการนำมวลชนสู่ท้องถนน

มัน ไปพูดว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้หรอกครับ มันก็อยู่ที่การตอบสนองของฝ่ายต่าง ๆ อย่าลืมว่าบางเรื่องโดยระบบประชาธิปไตยทั่วโลกก็บอกว่าไม่ได้จบลงที่เสียง ข้างมากอยู่แล้ว ถ้าคุณทำผิดกฎหมายก็ต้องไปที่ศาล

- แต่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า ปชป.ค้านทุกอย่าง เพราะต้องการไปสู้นอกสภา

(สวน ทันที) ใครบอกเราค้านทุกอย่าง ผมก็บอกแล้วว่ากฎหมายเป็น 100 ฉบับ ผมค้านอยู่ 3-4 ฉบับที่ขัดต่อกฎหมาย สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง ผมเห็นบางคนรังเกียจอนาธิปไตย แต่กฎหมายล้างผิดที่จะออกเป็นการรับรองว่าระบบอนาธิปไตยถูกต้องนะ

- สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำให้คนเริ่มเบื่อการเมือง

(สวน ทันที) ถูกต้อง เราก็ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ต้องถามว่ารัฐบาลอยากให้เป็นหรือเปล่าล่ะ ถ้าไม่อยากแล้วทำไมไม่ฟังเสียงเรา ถ้าอยากปรองดองทำไมไม่หยุดเรื่องอื่นไว้ก่อน

- กลับกัน ปชป.เองก็ค้านไม่ถอย

พวก ผมไม่ได้เริ่มต้นอะไร รัฐบาลเป็นฝ่ายเริ่มเรื่องว่าจะเสนอเรื่องนี้ ผลักดันเรื่องนี้ ผมมีหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ประชาชน ถ้าผมปล่อยผ่านแล้วบ้านเมืองดีขึ้นตรงไหนครับ ปล่อยให้ทำผิดกฎหมายได้ ทำผิดรัฐธรรมนูญได้หรือ นั่นเป็นหน้าที่ ผมก็ต้องยอมเจ็บตัวบ้าง

ถาม ว่าถ้าทำบางเรื่องเสร็จแล้วยุบสภา แล้วก็เอาบางเรื่องที่ถูกคัดค้านไปสร้างเงื่อนไขในการเลือกตั้ง ต่อให้คุณได้เสียงข้างมากอย่างไร คุณก็ได้เฉพาะความชอบธรรมเรื่องนโยบาย แต่คุณไม่มีสิทธิ์ทำผิดกฎหมายอยู่ดี ฉะนั้นกลับมาก็ต้องเจอกันอีก

- เป็นเหตุผลที่ทำให้ท่านเองมีท่าทีเปลี่ยนไปจากเดิม

ก็ไม่มีอะไรนี่ครับ ไปเปิดเทปสิ ถ้าไม่บิดเบือนคำพูดผมก็จะเห็นว่าไม่มีปัญหาอะไร

- แม้กระทั่งคนในพรรคก็บอกว่าท่านดูจริงจังและดุดันมากขึ้น

ก็ เป็นไปตามสถานการณ์ มันจำเป็นที่ต้องทำให้ประชาชนเห็นถึงความร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น ผมก็อยู่การเมืองมานานนะครับ ถามว่าเคยมียุคไหนที่รัฐบาลพยายามทำสิ่งที่เสียหายร้ายแรงอย่างนี้หรือไม่ ทั้งเลี่ยงระบบงบประมาณ ทั้งออกกฎหมายรับรองคนที่ทำผิด

ถามว่ามัน เคยมีแบบนี้หรือไม่ แล้ววันนี้จะบอกว่าให้ไปยืนเฉย ๆ แล้วบอกรัฐบาลว่า ขอร้องอย่าทำนะครับ มันจะสำเร็จหรือ หากเรายังต้องการรักษาความถูกต้องให้คงอยู่

- ประเมินการให้น้ำหนักเรื่องการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างไร

ก็ นอกจากความล้มเหลวในแง่ยุทธศาสตร์การบริหารเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรอบ 2 ปี ที่ซ้ำร้าย คือ การจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาล แทนที่เขาจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญขณะนี้ แต่เขากลับเบี่ยงเบนมาเป็นประเด็นการเมือง เพราะบังเอิญเป็นประโยชน์ของกลุ่ม ของพวก หรือของครอบครัวอะไรก็แล้วแต่ ตรงนี้ก็ยิ่งทำให้ความเป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมันลดลง

แต่ ในสภา 2 ปีที่ผ่านมา เราก็เสียเวลาเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎหมายนิรโทษกรรมเยอะแยะไปหมด แทนที่จะเอาเวลามาระดมสมองกันว่าจะแก้ปัญหาของแพง รายได้เกษตรกร หรือขีดควาสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างไร

- รัฐบาลพยายามตั้งสภาปฏิรูป เพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง แต่พรรคก็ปฏิเสธ

เพราะ ว่าเป็นรูปแบบที่ผมมองไม่เห็นว่าจะแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างไร เอาง่าย ๆ โจทย์ใหญ่ตอนนี้มีการปฏิรูปและปรองดอง การปฏิรูปทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว ประชาชนเขาตื่นตัวมาก องค์ความรู้ที่ใช้เราก็มีพร้อม เพราะเราตั้งคณะกรรมการกันมากี่ชุดแล้ว แต่ทั้งหมดที่การปฏิรูปไม่เดินไปข้างหน้า เพราะรัฐบาลไม่สามารถทำให้คนเขาไว้ใจและเชื่อมั่นได้ว่าจริงใจกับเรื่องนี้ แค่ไหน

ผมยกตัวอย่างเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ คุณอานันท์ (ปันยารชุน) มีคณะกรรมการปฏิรูป เสนอเรื่องปฏิรูปที่ดิน ออกภาษีทรัพย์สิน ธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน รัฐบาลที่แล้วเริ่มต้นไว้หมด แต่นี่มาถึงก็ไม่ทำเลย แล้วถามว่าคนที่เขาเคลื่อนไหวเรื่องนี้จะอยากเข้าร่วมไหม ในเมื่อรัฐบาลแสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่เอา

ส่วนเรื่องปรองดอง ก็ชัดเจนครับว่าถ้ายังไม่แสดงเจตนารมณ์ในการหยุดเรื่องที่เป็นปัญหาไว้ก่อน ทั้งนิรโทษกรรมและรัฐธรรมนูญ แล้วใครอยากจะคุยด้วย คุณชกผมตลอด แล้วก็บอกว่ามาคุยกันก่อน แต่ขณะนี้ขอชกไปก่อนด้วย (หัวเราะ)

ผมถามแบบนี้ดีกว่า ถ้าคุณจริงใจต้องการหาทางออก ทำไมไม่หยุดสิ่งที่คุณทำไว้ก่อน

- คิดว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของรัฐบาลคืออะไร

ก็ ลดกระแสการคัดค้านต่อต้าน ดีไม่ดีอาจจะใช้เวทีในการสร้างความชอบธรรมในสิ่งที่อยากจะทำ เดี๋ยวอาจจะสรุปออกมาก็ได้ว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรืออะไรก็ว่าไป

- นี่คือจุดเริ่มต้นของแนวทางการต่อสู้ในสภาของพรรคหรือไม่

ก็ เฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหา ต้องให้เห็นภาพรวมสักนิดนะครับ รัฐบาลเสนอกฎหมายมา 100 เรื่อง เราอาจจะค้านแค่ 3 เรื่อง บังเอิญเรื่องนี้ก็อยู่ในความสนใจ และเป็นเรื่องที่เราค้านมาตั้งแต่ต้น ทั้งแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งล้างผิด พวกนี้เราไม่ให้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หัวอกฝ่ายค้าน คำแก้ต่าง อภิสิทธิ์ ประชาธิปัตย์ ยอมเจ็บตัว สู้ไม่ถอย ปล่อยผ่าน บ้านเมืองดีขึ้น ตรงไหน

view