จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวการเมือง
เปิดศึกอภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภาอย่างดุเดือด ในที่สุดพรรคเพื่อไทยโบกธงนำพรรคร่วมรัฐบาลผสาน สว.เลือกตั้งเทเสียงโหวตวาระ 3 ปูทางให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเเละ รมว.กลาโหม ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่มา สว.เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากมีการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะทำให้ระบบการได้มาซึ่ง สว.เป็นไปดังนี้ 1.ยุบระบบ สว.สรรหา ให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน มีวาระดำรงตำเเหน่ง 6 ปี และไม่จำกัดวาระการดำรงตำเเหน่ง 2.บุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง สส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถลงสมัครได้ 3.ผู้ที่ลงสมัคร สว.สามารถลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค การดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมือง สส.หรือ รัฐมนตรี แล้วสามารถลงสมัคร สว.ได้ทันทีโดยไม่กำหนดเวลาเว้นวรรคหลังจากลาออก
อย่างไรก็ตามระหว่างที่รัฐสภายังประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 2 ปรากฏว่า สส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ สว.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลได้มีมติรับคำร้องทั้งสิ้น 4 คำร้อง ประกอบด้วย คำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว.สรรหา, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ สส.ปชป. ,นายสาย กังกเวคิน สว.ระยอง และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สส.ปชป.แต่มีคำสั่งยกคำขอ ที่ผู้ยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวการลงมติในวาระ 3 รวมถึงยกคำขอล่าสุดของพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว.สรรหา ที่ขอชะลอการทูลเกล้าฯ สมาชิกรัฐสภาจึงสามารถเดินหน้าโหวตวาระ 3 นำไปสู่การทูลเกล้าฯ โดยปราศจากคำสั่งคุ้มครองของศาลรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเวลานี้ จึงอยู่ที่คำร้องของ สส.ปชป.และกลุ่ม สว.ที่ศาลมีมติรับคำร้องก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องจับตาว่าที่สุดแล้วศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมาแนวทางใด โดยคำร้องค้านการเเก้ไขรัฐธรรมนุญที่มา สว.ทั้งหมดแบ่งออก 9 ประเด็น ดังนี้
1. ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติหลักการและเหตุผลให้ สว.มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้วิธีการได้มาซึ่ง สว.มีลักษณะเช่นเดียวกับ สส.เพื่อให้ สว.สรรหาพ้นจากวุฒิสภานั้น เพราะทำลายการถ่วงดุลส่งผลให้พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภา บวกกับจำนวน สว.ที่มีฐานทางการเมืองเดียวกับพรรคฝ่ายข้างมาก ทำให้มีเสียงในรัฐสภาเกินกว่า 2 ใน 3 กรุยทางนำไปสู่การเกิดเผด็จการโดยรัฐสภาแบบเบ็ดเสร็จ ทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นญัตติต้องห้ามจะเสนอมิได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291(1) วรรค 2
2. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขัดต่อหลักการและเจตนารมณ์แห่งรัฐ ธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติไว้ในส่วนของคำปรารภว่า “การกำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริต เที่ยงธรรม”
3. ในร่างแก้ไขมาตรา 11 วรรค 3 ระบุว่า “เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง หรือมีเหตุอื่นใดทำให้รัฐสภาไม่สามารถพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตาม วรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จ ให้ประธานสภาฯ นำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวที่สภาให้ความเห็นชอบเสนอต่อนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ และให้นำความมาตรา 150 และ 151 ของรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับโดยอนุโลม” ซึ่งมาตรานี้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหมวด 6 มาตรา 140 และ 141 ที่กระบวนการตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญต้องผ่านวุฒิสภาให้พิจารณา 3 วาระ และเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อน
4. ร่างแก้ไขมาตรา 12 บัญญัติให้ สว.สรรหา สิ้นสุดสมาชิกภาพในวันที่ สว.ได้รับเลือกตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ ทำให้ สว.สรรหา ที่เหลือวาระดำรงตำแหน่งถึง ก.พ.2560 ต้องถูกตัดสิทธิให้เหลือเพียงเดือน พ.ค.2557 จึงเป็นการลบล้างสิทธิการดำรงตำแหน่งของ สว.สรรหา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รัฐธรรมนูญปี 50 รับรองไว้ นอกจากนี้ผลของร่างแก้ไขมาตรา 12 ยังขยายวาระดำรงตำแหน่งของ สว.เลือกตั้งเพิ่มขึ้น โดยญัตติที่เสนอโดย สว.เลือกตั้งเอง เป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122
5. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอญัตติโดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร สส.พรรคเพื่อไทย กับร่างแก้ไขฉบับที่สมาชิกรัฐสภาทำการพิจารณาเป็นคนละฉบับกัน มีเนื้อหาต่างกันหลายส่วน เช่น ร่างฉบับที่แจกจ่ายให้สมาชิกสอดแทรกหลักการ โดยกำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 116 วรรค 2 และมาตรา 241 วรรค 1 เพิ่มเข้ามา มีการแทรกข้อความเพิ่มเข้าไปในมาตรา 5 ในส่วนของมาตรา 115 (9) มีการแทรกมาตรา 6 ขึ้นมาใหม่ทั้งมาตรา เป็นต้น
6. การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2556 เวลาประมาณ 02.00 นาฬิกา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 137 วรรค 2 และฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จากกรณีมีผู้เสนอญัตติกำหนดเวลาการแปรญัตติต่างกัน คือ ภายใน 15 และ 30 วัน โดยต้องขอมติจากที่ประชุมเพื่อวินิจฉัย แต่เมื่อนับองค์ประชุมแล้วปรากฏว่าไม่ครบองค์ แทนที่นายสมศักดิ์จะมีคำสั่งให้ปิดการประชุมหรือเลื่อนการประชุม แต่กลับทำการวินิจฉัยเสียเองว่าเมื่อองค์ประชุมไม่ครบก็ต้องถือเอากำหนดเวลา ในการแปรญัตติภายใน 15 วัน
7. การประชุมรัฐสภาพิจารณาวาระ 2 วันที่ 20 ส.ค.2556 ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้วินิจฉัยตัดสิทธิสมาชิกรัฐสภาผู้สงวนคำแปร ญัตติและกรรมาธิการเสียงข้างน้อย รวม 57 คน โดยอ้างว่าคำแปรญัตติและการสงวนความเห็นของสมาชิกขัดต่อหลักการของร่างแก้ไข เพิ่มเติม ทั้งที่สิทธิในการอภิปรายสนับสนุนคำแปรญัตติของสมาชิกในวาระ 2 ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ประธานรัฐสภาจะลิดรอนไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 130 ดังนั้นการตัดสิทธิสมาชิกย่อมมีผลให้กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นไป โดยมิชอบ
8. นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 89 วรรค 4 ที่บัญญัติให้ประธานรัฐสภาและผู้ทำหน้าที่แทนประธานต้องวางตนเป็นกลางในการ ปฏิบัติหน้าที่ นายนิคมยังถือเป็น สว.เลือกตั้ง จ.ฉะเชิงเทรา แต่การทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่มีผลประโยชน์ต่อ สว.เลือกตั้งนั้น ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ที่บัญญัติว่า สส.และ สว.ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมายหรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยโดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
9. การประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 เมื่อวันที่ 10 ก.ย.เวลา 17.33 น.ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายนริศร ทองธิราช สส.พรรคเพื่อไทย จ.สกลนคร ได้ทำการกดบัตรลงคะแนนแทนสมาชิกรายอื่น การกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 130 ที่บัญญัติให้การลงคะแนนเป็นเอกสิทธิ์ของ สส.แต่ละคน และถือว่าผู้ที่ลงคะแนนให้นั้นลงคะแนนเสียงเกินกว่าหนึ่งคะแนน ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 126 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน”
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน