กลไกใหม่ๆ สำหรับ "การเงินเพื่อสังคม" (1) : สิบวิธีที่การเงินจะเป็น "พลังที่ดีงาม" ในสังคม
โดย : สฤณี อาชวานันทกุล
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
.นักการเงินบางคนเลวร้าย แต่ทุกสาขาอาชีพก็มีคนเลวเหมือนกัน
บางทีความแย่ของนักการเงินดูใหญ่โต มโหฬารในจินตนาการของเรา เพราะนักการเงินหลายคนทำเงินจากมันได้มากเหลือเกิน แน่นอนว่าเราอยากได้สังคมที่เท่าเทียมกันกว่าเดิม สังคมที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าได้เติมเต็มชีวิตและได้ความเชื่อถือขั้นพื้นฐาน จากคนอื่น แต่เราต้องคิดว่าจะเท่าเทียมกันกว่าเดิมได้อย่างไรโดยไม่กระทบกับเป้าหมาย หรือก่อกวนมาตรฐานการดำรงชีวิตของเรา
เมื่อมองไปข้างหน้า เราจะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้การเงินทำงานสู่สังคมที่เราทุกคนสุขสบาย และกระตุ้นให้เราเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยในเวลาเดียวกัน ผมมองว่าจะทำแบบนี้ได้ เราต้องปรับแก้โครงสร้างเชิงสถาบันบางประการของสถาบันการเงิน เพื่อให้มันทำงานดีกว่าเดิมเพื่อทุกคน และขยายขอบเขตของการเงินไปครอบคลุมความเสี่ยงและกิจกรรมต่างๆ ของเรามากขึ้น นั่นแปลว่าเราจะต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน ไม่ใช่โยนนักการเงินจำนวนมากเข้าคุกหรือไล่ปิดสถาบันการเงิน
ใน Finance and the Good Society (การเงินกับสังคมที่ดี) หนังสือเล่มใหม่ของผม ผมเสนอความคิดบางประการที่เราจะทำอย่างนี้ได้ในสังคมที่รุ่มรวยด้วย เทคโนโลยีและข้อมูล
1. สนับสนุนบรรษัทเพื่อสังคม (benefit corporation)
กฎหมายที่อนุญาต “บรรษัทเพื่อสังคม” (benefit corporations) ฉบับแรกถือกำเนิดในมลรัฐแมรีแลนด์ ปี 2010 จากการริเริ่มของ B Lab องค์กรไม่แสวงกำไร วันนี้แปดมลรัฐมีกฎหมายทำนองเดียวกัน บรรษัทเพื่อสังคมคือบริษัทแสวงกำไรที่มีเป้าหมายทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมนอก เหนือจากการทำกำไร บรรษัทรูปแบบนี้แต่ละแห่งสามารถนิยามเป้าหมายของตัวเอง และจะดึงดูดผู้มีอุดมการณ์เดียวกันมาเป็นนักลงทุน ผมเดาว่าความคิดนี้จะสุดท้ายจะได้รับชัยชนะ จะสร้างบริษัทที่ทำกำไรได้มากที่สุดหลายแห่งเพราะพวกเขาจะดึงดูดพนักงานและ ได้รับการสนับสนุนจากชุมชน วิกิพีเดียซึ่งนักเขียนล้วนแล้วแต่ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นตัวอย่างอันน่า ทึ่งว่า เป้าหมายสาธารณะสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้มากเพียงใด
2. สร้างสิ่งที่ผมเรียกว่า องค์กรไม่แสวงกำไรแบบมีส่วนร่วม (participation nonprofits)
องค์กรไม่แสวงกำไรแบบมีส่วนร่วมอาจดำเนินกิจการโรงเรียน โรงพยาบาล หรือบริการอื่นๆ แต่ระดมทุนจากการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนไม่ต่างจากบริษัททั่วไป บริษัทแบบนี้จะจ่ายเงินปันผลจากผลกำไรเข้าบัญชีพิเศษในนามของผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นจะได้หักภาษีจากเงินลงทุน (ไม่ต่างจากเงินบริจาค) แต่สามารถใช้ปันผลในบัญชีนี้เพื่อการกุศลเท่านั้น รวมถึงการซื้อหุ้นในองค์กรไม่แสวงกำไรแบบมีส่วนร่วมอื่นๆ หรือใช้เงินนั้นเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินกับตัวเองที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เช่น เวลาเกิดวิกฤตสุขภาพ องค์กรไม่แสวงกำไรแบบมีส่วนร่วมจะทำให้การบริจาคเงินเป็นเรื่องสนุกกว่าเดิม สำหรับผู้บริจาค เพราะพวกเขาสามารถมองดูเงินนั้นก่อดอกออกผล ถ้าลงทุนอย่างชาญฉลาดจะรู้สึกว่าได้เติมเต็มชีวิต ได้รับคำขอบคุณจากคนอื่น
3. สร้างสิ่งที่ผมเรียกว่า สินเชื่อบ้านชนิดปรับโครงสร้างอัตโนมัติ (continuous-workout mortgage)
สัญญาสินเชื่อบ้านชนิดปรับโครงสร้างอัตโนมัติจะระบุตั้งแต่ต้นว่า ยอดหนี้คงเหลือจะถูกลดเวลาเกิดเหตุการณ์อย่างเช่นราคาบ้านตก หรือเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ในวิกฤตการเงินปัจจุบัน เราฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าส่วนหนึ่งเพราะมีเจ้าของบ้านน้อยรายที่ปรับโครง สร้างสินเชื่อได้สำเร็จ ส่งผลให้วิกฤตนี้รุนแรงกว่าที่ควร เพราะคนที่มูลค่าบ้านลดต่ำกว่ามูลค่าหนี้จะไม่อยากใช้จ่าย หรือไม่อยากเปลี่ยนงาน เราสามารถออกแบบสินเชื่อให้ระบุเงื่อนปรับโครงสร้างไว้ล่วงหน้า และให้ปรับโครงสร้างโดยต่อเนื่องได้ด้วย เปลี่ยนทุกวันตามการเปลี่ยนแปลงในฐานะทางเศรษฐกิจของเจ้าของบ้าน
4. สร้างตลาดจัดการความเสี่ยงสำหรับอสังหาริมทรัพย์
ในปี 2006 ผมกับเพื่อนร่วมงานทำงานกับ Chicago Mercantile Exchange ริเริ่มตลาดซื้อขายล่วงหน้าตลาดแรกในโลกสำหรับบ้านเดี่ยว ตลาดนี้ยังเดินหน้าแต่มีปริมาณการซื้อขายเบาบางมาก กลุ่ม CME เพิ่งออกอ๊อปชั่นบนราคาบ้านซึ่งอาจทำให้มันเดินหน้าอีกครั้ง ถ้าหากโครงการนี้ไม่สำเร็จ เราต้องหาวิธีอื่นที่จะทำให้ตลาดแบบนี้เดินได้ ประโยชน์ของมันคือช่วยให้ผู้ออกสินเชื่อบ้านเอกชนใช้เป็นเครื่องมือจัดการ ความเสี่ยง จะได้ทำเรื่องต่างๆ อย่างเช่นยอมให้สินเชื่อบ้านชนิดปรับโครงสร้างอัตโนมัติ โดยไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงมากเกินไป ถ้าหากเรามีตลาดแบบนี้ เราก็อาจป้องกันวิกฤตการเงินได้ส่วนหนึ่ง
5. เพิ่มพลังนักล็อบบี้ให้เป็นตัวแทนประชาชน 99% ไม่ใช่คนที่รวยที่สุด 1%
อาชีพนักล็อบบี้ไม่มีอะไรแย่ในตัวเอง เพราะพวกเขามอบข้อมูลที่จำเป็นให้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติ กลุ่มผลประโยชน์ทุกกลุ่มควรมีนักล็อบบี้ รวมถึงชนชั้นแรงงานและคนจน การล็อบบี้เกี่ยวกับการเงินสำคัญเป็นพิเศษเพราะเราคาดหวังไม่ได้ว่าผู้ออก กฎหมายจะเชี่ยวชาญเรื่องการเงินที่เข้าใจยาก ปัญหาที่ผ่านมาคือนักล็อบบี้ของภาคการเงินมีทรัพยากรมหาศาลมากขึ้นมากตลอด หลายสิบปีที่ผ่านมา ขณะที่นักล็อบบี้ของกลุ่มอื่นๆ ไม่มีทรัพยากรที่ทัดเทียม เราต้องสนับสนุนให้การล็อบบี้มีสมดุลที่ดีกว่านี้
6. สนับสนุนกลไกจัดการความเสี่ยงสำหรับคนจนที่จนที่สุด
วันนี้โลกมีคนหลายพันล้านคนที่ยังชีพด้วยเกษตรกรรมแบบพออยู่พอกิน เกษตรกรควรสามารถประกันผลผลิตทางการเกษตรจากความล้มเหลวที่เกิดจากดินฟ้า อากาศไม่เป็นใจ ที่ผ่านมาประกันผลผลิตใช้ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องยากที่จะรับรองผลผลิต (ว่าใครผลิตได้จริงๆ เท่าไร) และดังนั้นจึงเกิดปัญหาจริยวิบัติ (moral hazard) วันนี้ในเมื่อการรายงานสภาพอากาศละเอียดกว่าเดิมมาก และนักปฏพีวิทยาก็เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างผลผลิตกับสภาพดินฟ้าอากาศมาก ขึ้น เราก็สามารถใช้ประกันบนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่ส่งผล ต่อผลผลิตทางการเกษตร ที่ผ่านมาการใช้ประกันลักษณะนี้ยังเติบโตได้ช้า ถึงแม้จะมีโครงการนำร่องหลายโครงการที่ธนาคารโลกและองค์กรอื่นๆ ให้การสนับสนุน เราจะต้องทดลองรูปแบบทางการตลาดของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะทำถูก
7. สร้างหนี้สาธารณะในรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้น
วันนี้รัฐบาลประเทศต่างๆ มักจะใช้ตราสารหนี้รูปแบบเดิมๆ ในการรองรับผลขาดดุลของรัฐ ผิดกับภาคเอกชนที่ใช้ตราสารหนี้ ตราสารทุน และเครื่องมือทางการเงินอีกหลากหลายรูปแบบ ก้าวแรกควรให้รัฐบาลสามารถขายหุ้นคล้ายกับหุ้นของบริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผมกับเพื่อนร่วมงานชาวแคนาดา มาร์ค คัมสตรา (Mark Kamstra) เคยเสนอว่าแทนที่รัฐบาลที่ขาดดุลจะไปกู้เพิ่ม รัฐบาลควรขายสิ่งที่เราเรียกว่า “ทริล” (trills) แต่ละทริลสัญญาว่าจ่ายเงินปันผลเท่ากับหนึ่งในหนึ่งล้านล้านจีดีพีทุกปี ไปตลอดชั่วชีวิตของผู้ถือ คนที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอาจชอบการลงทุนแบบนี้ ส่วนรัฐก็จะมี ‘ฟูก’ รองรับวิกฤตการเงินเพราะถ้าหากเกิดวิกฤต เงินปันผลที่รัฐต้องจ่ายก็จะลดลงตามไปด้วย
8. ออกตราสารหนี้นโยบายสาธารณะที่เปลี่ยนมือได้
คนแรกที่นำเสนอความคิดนี้คือ รอนนี โฮเรช (Ronnie Horesh) จากนิวซีแลนด์ เขาเสนอให้รัฐออกตราสารหนี้ซึ่งจะจ่ายผลตอบแทนเมื่อเป้าหมายของนโยบาย สาธารณะอะไรสักอย่างบรรลุผล เช่น สาธารณชนตระหนักในประเด็นสำคัญมากขึ้น หรืออัตราการเกิดอาชญากรรมลดลงถึงเป้าที่ตั้งไว้ ตราสารหนี้แบบนี้จะสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนช่วยแก้ปัญหา ผู้ประกอบการจะได้กำไรถ้าหากเขาซื้อตราสารหนี้และลงมือแก้ปัญหา ไม่ต้องรอจนถึงวันที่บรรลุเป้าหมายนโยบายสาธารณะก็ได้ เพราะถ้าหากตราสารหนี้ชนิดนี้ซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ในตลาด ราคาของตราสารก็จะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อคนเห็นแนวโน้มว่าปัญหาจะได้รับการ แก้ไข
โปรดติดตามตอนต่อไป
**************
แปลและเรียบเรียงจาก “Ten Ways Finance Can be a Force for Good in Society” โดย ศาสตราจารย์ Robert Shiller, ตีพิมพ์ครั้งแรกใน Huffington Post, http://www.huffingtonpost.com/robert-shiller/ten-ways-finance-force-for-good_b_1417927.html
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน