จากประชาชาติธุรกิจ
โดย ศิวพร อ่องศรี
ใครที่เมื่อตื่นนอนขึ้นมาแล้วรู้สึกมึนๆ ไม่สดชื่น สมองไม่ปลอดโปร่ง ขี้ลืม ความจำไม่ดี คิดอะไรได้ช้า นึกไม่ออก...
อาการข้างต้นเหล่านี้ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากความเสื่อมของระบบประสาทและสมอง
เพราะสมองต้องทำงานทุกวันวันละ 24 ชั่วโมง แม้ขณะนอนหลับยังคงต้องทำงาน ต้องเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตเพื่อใช้เป็นพลังงานในร่างกายและระบบการหายใจ
ดังนั้นไม่ว่าจะกินอะไร กินอย่างไร เพื่อให้สมองดี มีพลังความจำที่ดีได้นั้น จะต้องเริ่มต้นที่อาหาร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด จัดบรรยายเรื่อง "ฟิตสมองพิชิตแอดมิชชั่น" โดย ร้อยเอก นายแพทย์ สรวิชญ์ สุบุญ แพทย์ทหารทั่วไป สังกัดกองตรวจโรค หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย และเรื่อง "เพิ่มพลังสมองด้วยอาหารและโภชนาการ" โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ประธานฝ่ายวิชาการ ชมรมโภชนวิทยามหิดล และอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(ซ้าย) ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ (ขวา) ร้อยเอก นพ.สรวิชญ์ สุบุญ
เริ่มต้นที่ ร้อยเอก นพ.สรวิชญ์ได้เล่าถึงลักษณะหน่วยความจำของสมองว่า รอยหยักบนสมองสามารถเพิ่มขึ้นได้ หากมีการฝึกและการใช้อยู่ตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าสมองไม่ได้ใช้การอะไรเลย ปล่อยไปตามกาลเวลา ไม่มีการฝึกหรือการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ รอยหยักจะตื้นลงและกว้างมากขึ้นจะทำให้ปริมาณพื้นที่ที่จะจัดเก็บได้น้อยลงไปด้วย
"คนเราเกิดมาพร้อมเซลล์สมองแสนล้านเซลล์และมีการเจริญเติบโตแบ่งเซลล์ใหญ่ขึ้นจนถึงอายุ6 ขวบ หลังจากนั้น จะไม่มีการแบ่งเซลล์เพิ่มขึ้น แต่จะมีการเจริญเติบโตด้วยการขยายขนาดโตขึ้น และเมื่อเราแก่ขึ้นทุกวัน เซลล์สมองจะต้องมีตายขึ้นทุกวัน จึงทำให้เมื่ออายุเยอะขึ้น มักจะขี้ลืมบ่อยๆ ดังนั้น จะต้องมีการดูแลสมองและพัฒนาฝึกสมองด้วย
เซลล์สมองจะอยู่กันแบบเชื่อมโยง การเชื่อมโยงไม่ใช่เชื่อมเพียงจุดเดียว แต่จะมีการเชื่อมโยงแตกแขนงไปหลายส่วนหลายจุด ยิ่งมีการใช้สมองในการพัฒนาศักยภาพของสมองมากขึ้น การแตกแขนงและเครือข่ายของสมองจะยิ่งเยอะขึ้น ทำให้รอยหยักบนสมองเราเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้คนนั้นฉลาดมากขึ้น แต่เมื่อเราไม่ได้มีการใช้และพัฒนาสมองโครงข่ายของสมองจะมีการหดตัวลงมีการฝ่อ รอยหยักตื้นลง และมีความกว้างมากขึ้น" ร้อยเอก นพ.สรวิชญ์อธิบาย
ส่วนวิธีดูแลสมองนั้น ร้อยเอก นพ.สรวิชญ์แนะนำว่า สมองมีการใช้พลังงานที่สูงมาก จึงต้องมีเลือดเข้าไปหมุนเวียนและใช้ออกซิเจนสูงมาก ดังนั้น อาหารที่บำรุงสมองนั้นจะต้องเป็นอาหารที่ดี เช่น อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะมีผลดีกับสมอง เพราะองค์ประกอบของสมองส่วนใหญ่คือไขมัน การกินเพื่อบำรุงสมองควรจะต้องกินไขมันดี เช่น โอเมก้า 3
"นอกจากนี้ จะต้องมีความคิดที่ดีคิดบวกอารมณ์ดี อย่าหงุดหงิด และควรหาอากาศบริสุทธิ์ด้วยการไปพักผ่อนหย่อนใจกับบรรยากาศใหม่ๆ เพื่อเป็นการปลดปล่อยทุกอย่างที่อยู่ในหัวสมอง และควรจะทำอะไรที่ไม่ซ้ำซากจำเจ เพราะชีวิตของคนเราต้องมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และฝึกเขียนหนังสือด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด เพราะการลองทำอะไรด้วยมือที่ไม่ถนัดนั้นเป็นการกระตุ้นสมองให้มีการตื่นตัวและมีการเรียนรู้ตลอดเวลา"
การหายใจควรจะทำให้ถูกวิธีเช่นกัน ร้อยเอก นพ.สรวิชญ์ อธิบายอีกว่า จะต้องหายใจให้เต็มปอด หายใจลึกๆ ยาวๆ และปล่อยลมหายใจออกมาให้มากที่สุด ถ้าหากหายใจเข้าไปไม่เต็มที่ ปอดบริเวณส่วนล่างจะไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซ ถุงลมจะมีขนาดเล็กกว่ากลุ่มคนที่ฝึกหายใจอย่างถูกวิธี เพราะร่างกายต้องใช้ออกซิเจน โดยเฉพาะสมองต้องมีการใช้ออกซิเจนมากถึง 20-25 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น การหายใจที่ถูกต้องย่อมจะส่งผลดีต่อสมอง
"การเข้านอนแต่หัวค่ำนั้นเป็นการพักผ่อนที่ดี เพราะในขณะนอนจะมีการหลั่งสารโกรธฮอร์โมนออกมา โดยเฉพาะเด็กๆ วัยเจริญเติบโต หากเด็กๆ นอนหลับไม่เพียงพอ อาจส่งผลทำให้การเจริญเติบโตนั้นช้าลง" ร้อยเอก นพ.สรวิชญ์เล่า
ส่วนการรับประทานอาหารเพื่อบำรุงสมองนั้น จะต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในอัตราที่เหมาะสม เพราะสิ่งที่เลี้ยงสมองคือเลือด ดังนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือธาตุเหล็ก และวิตามินบี เพราะมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดและบำรุงสมอง และควรกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เพราะถ้ามีสารอนุมูลอิสระในสมองมากจนเกินไป จะทำให้เกิดอาการสมองล้า เกิดการมึนๆ คิดไม่ออก เป็นสาเหตุเริ่มต้นของการเป็นมะเร็ง สารอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ คือวิตามินซี วิตามินอี และเบต้าแคโรทีน ซึ่งจะอยู่ในประเภทผักผลไม้และผักใบเขียว
"จะต้องกินอาหารให้ตรงเวลา และควรกินแบ่งเป็น 5-6 มื้อต่อวัน โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะการแบ่งมื้อกินอาหารบ่อยๆ นั้น จะทำให้ระดับน้ำตาลคงที่ ที่สำคัญคือ อาหารเช้าห้ามงดเด็ดขาดและเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด"
ส่วนทางด้าน ผศ.ดร.เอกราช อธิบายเพิ่มเติมว่า การไม่รับประทานอาหารเช้า จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นสาเหตุทำให้สารอาหารไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้สมองเสื่อมได้ และยังมีผลต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ โดยเฉพาะโรคอ้วน
"อาหารที่ควรลด ละ เลี่ยง เพราะเสี่ยงทำลายสมอง คือแป้งและน้ำตาล หากมากเกินไปจะส่งผลให้สมองเฉื่อย การเรียนรู้และความจำลดลง และไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันสัตว์ กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู และไขมันทรานส์ หรือไขมันดัดแปลง เช่น เบเกอรี่ เฟรนซ์ฟรายส์ ครีมเทียม ไขมันเหล่านี้จะมีผลต่อสมอง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ถึง 2 เท่า"
อาหารที่ช่วยบำรุงสมองนั้น ผศ.ดร.เอกราชบอกว่า มีทั้งในข้าวกล้องงอก ปลา ไข่ กล้วย ขมิ้นชัน ใบกะเพรา เป็นต้น
"ข้าวกล้องงอก" จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด และวิตกกังวล ส่วน "ปลา" นั้นทั้งปลาทะเลและปลาน้ำจืดจะช่วยในการทำงานของสมองและความจำ ป้องกันโรคสมองเสื่อม ดังนั้น ควรรับประทานปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง จะมีประสิทธิภาพในการจดจำดีขึ้น
ส่วน "ไข่" นั้นช่วยบำรุงเยื่อหุ้มสมองและสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับความจำ และบำรุงประสาทที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจดจำของสมอง และช่วยให้การทำงานของระบบประสาทดีขึ้น ฟื้นฟูและป้องกันภาวะสมองเสื่อม "กล้วย" ช่วยให้สมองผ่อนคลายและช่วยควบคุมความดันโลหิต "ขมิ้นชัน" มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงมีประโยชน์ในการป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อม ลดภาวะการอักเสบของเซลล์สมอง ส่วน "ใบกะเพรา" ช่วยลดความเครียดทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้" ผศ.ดร.เอกราชเล่า
สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการเพิ่มพลังสมอง แต่สิ่งที่สำคัญคือการพักผ่อนให้เพียงพอและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
อย่างนี้สุขภาพดีๆ จะหนีไปไหนพ้น
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน